ร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ภาริณ จารุทวี

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์ ดร.จำลอง โพธิ์บุญ

สิทธิในอากาศสะอาดและสิทธิมนุษยชน

                 ในวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2565 สมัชชาสหประชาชาติ ได้มีข้อมติสหประชาชาติซึ่งรองรับว่าประชากรทุกคนบนโลกนั้นมี สิทธิ ในสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งสิ่งดังกล่าวนั้นร่วมถึงการมีน้ำที่สะอาด อากาศที่สะอาด และภูมิอากาศที่มีความเสถียร[1] โดยโฆษกสหประชาชาติได้เสริมว่าข้อมติดังกล่าวนี้จะช่วยทำให้ประเทศสมาชิกบังคับใช้มาตรการทางสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมตามพันธกรณีของตนได้เร็วยิ่งขึ้น[2] เช่นนี้จึงเห็นได้ว่าสิทธิในอากาศสะอาดนั้นเป็นสิทธิที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นส่วนหนึ่งของสิทธิมนุษยชน

                 อนึ่งการริเริ่มของสิทธิในอากาศสะอาดมีขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดยเกิดจากความพยายามระหว่างประเทศที่ห้ามมิให้ใช้ฟอสฟอรัสขาวในการอุตสาหกรรมการผลิตไม้ขีด โดยความพยายามดังกล่าวนี้มีความมุ่งหวังเพื่อทำให้สถานที่ในการทำงานนั้นมีความปลอดภัยและดีต่อสุขภาวะมากขึ้น ซึ่งความพยายามดังกล่าวจึงนำไปสู่การมีปฏิญญาสตอกโฮล์ม (Stockholm Declaration) ใน พ.ศ. 2515 อันถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของพันธกรณีของนานาประเทศในเรื่องสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน[3]

                 นอกเหนือจากสหประชาชาติแล้วนั้น องค์การอนามัยโลก ได้ออกแนวปฏิบัติเรื่องมลพิษทางอากาศที่กำหนดขีดจำกัดในการปล่อยมลพิษทางอากาศจากการเผาเชื้อเพลิงจากฟอสซิล ขีดจำกัดของฝุ่น PM 2.5 และ ขีดจำกัดของไนโตรเจนไดออกไซด์ (ก๊าซมลพิษทางอากาศ) จากเครื่องยนต์ดีเซล ที่เข้มงวดขึ้น และเน้นย้ำว่าสิทธิในอากาศสะอาดนั้นความเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน[4]

                 ในการนี้ ดร.เดวิด อาร์. บอยด์ ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมแห่งองค์กรสหประชาชาติ ได้มีรายงาน เลขที่ A/HRC/40/55 ซึ่งได้วางหลักเจ็ดประการที่ประเทศต่าง ๆ จะต้องคำนึงถึงหากมีความต้องการที่จะทำให้อากาศมีคุณภาพสูงขึ้น โดยหลักดังกล่าวประกอบด้วย

                 1. การเฝ้าติดตามคุณภาพอากาศและผลกระทบของอากาศต่อสุขภาพ

                 2. การรายงานต่อสาธารณะเรื่องคุณภาพอากาศ

                 3. การจัดทำกฎหมาย ข้อบัญญัติ และมาตรฐานเรื่องคุณภาพอากาศ

                 4. การจัดทำแผนการเรื่องคุณภาพอากาศ

                 5. การปรับใช้และบังคับใช้กฎเรื่องคุณภาพอากาศ

                 6. การประเมินผลและปรับปรุงมาตรฐานและแผนเรื่องคุณภาพอากาศ

                 7. การปกป้องผู้พิทักษ์สิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อม[5]


กฎหมายอากาศสะอาดในต่างประเทศ

สหราชอาณาจักร

                 ในสหราชอาณาจักรมีการเสนอ ร่างกฎหมายอากาศสะอาด (สิทธิมนุษยชน) โดยกฎหมายดังกล่าวจะเป็นการกำหนดอย่างชัดเจนว่าการหายใจอากาศที่สะอาดนั้นเป็นสิทธิมนุษยชน[6] โดยร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ได้มีชื่อเรียกว่า กฎหมายของเอลล่า (Ella’s Law) เนื่องจากเอลล่าเป็นคนแรกในประเทศอังกฤษที่ได้รับการระบุว่ามลพิษทางอากศเป็นสาเหตุการตายของเธอ โดยการตายของเด็กหญิงเอลล่าเป็นการจุดประกายให้รัฐบาลมีกฎหมายดังกล่าวนี้[7]

                 โดยร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้จะมีการกำหนดให้มาตรฐานคุณภาพอากาศเป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก บังคับให้รัฐบาลให้ความสนับสนุนหน่วยงานรัฐส่วนท้องถิ่นเพื่อทำให้คุณภาพอากาศดีขึ้น กำหนดให้หน่วยสิ่งแวดล้อมและคณะกรรมการการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศพิจารณาประเภทมลพิษและปริมาณมลพิษทุกปี อีกทั้งจัดตั้งคณะกรรมการภาคประชาชนเพื่ออากาศสะอาด (Citizens’ Commission for Clean Air) เพื่อตรวจพิจารณาว่ารัฐมนตรีได้กระทำตามกฎหมายดังกล่าวหรือไม่[8]

                 ทั้งนี้ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นร่างกฎหมายที่แยกต่างหากจาก พระราชบัญญัติสิ่งแวดล้อม ซึ่งวางกรอบการจัดการคุณภาพอากาศในท้องถิ่นและกำหนดหน้าที่ของหน่วยงานรัฐในท้องถิ่นในการจัดการมลพิษทางอากาศ และพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ซึ่งกำหนดให้เจ้าหน้าที่รัฐในท้องถิ่นสามารถจัดการกับควันที่ปล่อยจากปล่องของอาคาร เครื่องต้ม และโรงงานอุตสาหกรรม[9]

สหรัฐอเมริกา

                 ในสหรัฐอเมริกานั้น มีพระราชบัญญัติอากาศสะอาด (Clean Air Act) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกจากรัฐบาลกลาง (Federal Law) ดังนั้นการบังคับใช้จึงครอบคลุมทุกรัฐในประเทศ โดย มาตรา 112 ของพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวได้ระบุถึงที่มาของมลพิษ โดยแบ่งที่มาเป็นสองประเภทดังนี้

                 1. ที่มาหลัก หมายถึง ที่มาของมลพิษหรือกลุ่มที่มาของมลพิษที่ติดอยู่กับที่ ซึ่งที่มาดังกล่าวได้ปล่อยหรือมีแนวโน้มว่าจะปล่อยมลพิษ 10 ตันต่อปีหรือมากกว่า หรือ 25 ตันต่อปีในกรณีเป็นมลพิษประเภทต่างกัน

                 2. ที่มาตามพื้นที่ หมายถึง ที่มาของมลพิษที่ติดอยู่กับที่ซึ่งมิใช่ที่มาหลัก[10]

                 ในการบังคับใช้นั้นพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดให้หน่วยพิทักษ์สิ่งแวดล้อมกำหนดมาตรฐานสำหรับมลพิษทางอากาศ โดยมาตรฐานดังกล่าวจะต้องผ่านการพิจารณา ปรับปรุง และบังคับใช้โดยรัฐบาลเพื่อรับรองว่ากฎหมายดังกล่าวนั้นได้รับการปฏิบัติตามที่กำหนด โดยพระราชบัญญัติดังกล่าวสามารถใช้บังคับแก่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อนึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวได้มีมาตรฐานที่กำหนดไว้เป็นสองประเภทหลัก กล่าวคือ มาตรฐานที่กำหนดประเภทมลพิษ เช่น โอโซน (O3), ฝุ่น (PM), คาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ฯลฯ และ มาตรฐานที่กำหนดตามเทคโนโลยี โดยกฎหมายจะกำหนดเพียงปริมาณของมลพิษที่ห้ามมิให้ผู้ปล่อยมลพิษปล่อยเกิน แต่มิได้กำหนดเทคโนโลยีใด หรือเครื่องมือใดที่ผู้ปล่อยมลพิษจะต้องใช้ เช่นนี้เพื่อให้กฎหมายสามารถปรับตามเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา[11]

ร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาดในประเทศไทย

                 ในปัจจุบันประเทศไทยได้มีการริเริ่มร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด โดยร่างกฎหมายดังกล่าวที่เข้าสู่การพิจารณาของสภา มีทั้งสิ้น 7 ฉบับ โดยแต่ละฉบับมีความเหมือนและแตกต่างกันของนิยามและกลไกบังคับใช้ดังนี้

ผู้เสนอ นิยาม กลไกบังคับ กลไกทางเศรฐศาสตร์
คณะรัฐมนตรี ฉบับรัฐบาล[12] “อากาศสะอาด”

หมายความว่า อากาศที่ไม่มีสารมลพิษ หรือมีสารมลพิษเจือปนอยู่ในปริมาณที่ไม่เกินมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด ตามประกาศคณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด[12]

  • มีระบบเฝ้าระวังและฐานข้อมูล[13]
  • คณะกรรมการอากาศสะอาดจังหวัดประกาศเขตเฝ้าระวัง กรมควบคุมมลพิษเสนอต่อคณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดเพื่อพิจารณาประกาศเขตประสบมลพิษทางอากาศ[14]
  • ภาษี
  • ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษ หรือหมอกควันพิษ
  • กำหนดและโอนสิทธิการปล่อยมลพิษทางอากาศ
  • อุดหนุนบุคคล-กิจกรรมอากาศสะอาด
  • มาตรการอื่น ๆ ที่คณะกรรมการกำกับกำหนด[15]
นายอนุทิน ชาญวีรกูล กับคณะ ฉบับภูมิใจไทย -
  • มีฐานข้อมูลและแผนที่ข้อมูลสารสนเทศ[16]
  • คณะกรรมการมลพิษทางอากาศประกาศเขตมลพิษทางอากาศ[17]
  • ไม่มีรายละเอียด
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ กับคณะ ฉบับเพื่อไทย -
  • มีฐานข้อมูลและแผนที่ข้อมูล สารสนเทศ[18]
  • คณะกรรมการมลพิษทางอากาศประกาศเขตมลพิษทางอากาศ[19]
  • ไม่มีรายละเอียด
นางสาวคนึงนิจ ศรีบัวเอี่ยม กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 22,251 คน ฉบับเครือข่ายอากาศสะอาด “อากาศสะอาด”

หมายความว่า อากาศที่ไม่มีสารมลพิษ หรือไม่มีสารมลพิษเจือปนอยู่ในปริมาณที่สูงกว่าระดับปกติ อันเป็นที่ยอมรับทางวิชาการระดับสากล หรือตามที่คณะกรรมการกำกับประกาศกำหนดโดย ความเห็นชอบของคณะกรรมการร่วม เป็นเวลานานพอที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ พืช หรือ ทรัพย์สินต่าง ๆ[20]

  • คณะกรรมการร่วมตรา พ.ร.ก. กำหนดเขตพื้นที่เฉพาะ[21]
  • ภาษี
  • ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษ หรือหมอกควันพิษ
  • กำหนดและโอนสิทธิการปล่อยมลพิษทางอากาศ
  • การประกันความเสี่ยง
  • อุดหนุนบุคคล-กิจกรรมอากาศสะอาด
  • เงินบำรุงกองทุนอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ
  • ระบบฝากไว้ได้คืน
  • มาตรการอื่น ๆ ที่คณะกรรมการกำกับกำหนด[22]
นางสาวตรีนุช เทียนทอง กับคณะ ฉบับพลังประชารัฐ “อากาศสะอาด”

หมายความว่า อากาศที่ไม่มีสารมลพิษ หรือมีสารมลพิษเจือปนอยู่ในปริมาณที่ไม่เกินมาตรฐานคุณภาพอากาศสะอาด ตามที่คณะกรรมการบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาดประกาศกำหนด[23]

  • มีระบบเฝ้าระวัง ฐานข้อมูล และแผนที่ข้อมูลสารสนเทศ[24]
  • คณะกรรมการมลพิษทางอากาศประกาศเขตมลพิษทางอากาศ[25]
  • ค่าธรรมเนียมการจัดการมลพิษ
  • กำหนดและโอนสิทธิการปล่อยมลพิษทางอากาศ
  • การประกันความเสี่ยง
  • อุดหนุนบุคคล-กิจกรรมอากาศสะอาด
  • มาตรการอื่น ๆ ที่คณะกรรมการกำกับกำหนด[26]
นายร่มธรรม ขำนุรักษ์ กับคณะ ฉบับประชาธิปัตย์ “อากาศสะอาด”

หมายความว่า อากาศที่ไม่มีสารมลพิษ หรือไม่มีสารมลพิษเจือปนอยู่ในปริมาณที่สูงกว่าระดับปกติเป็นเวลานานพอที่จะทำให้เกิดอันตรายต่อมนุษย์ สัตว์ พืช หรือทรัพย์สินต่าง ๆ อันเป็นที่ยอมรับทางวิชาการระดับสากล หรือตามที่คณะกรรมการกำกับประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการร่วม[27]

  • คณะกรรมการร่วม เสนอ ครม. เพื่อตรา พ.ร.ก. กำหนดเขตพื้นที่เฉพาะ[28]
  • มาตรการอื่น ๆ ที่คณะกรรมการกำกับกำหนด[29]
นายภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ กับคณะ ฉบับก้าวไกล “อากาศบริสุทธิ์”

หมายความว่า อากาศที่ไม่มีฝุ่นพิษ หรือไม่มีมลพิษเจือปนอยู่ในปริมาณที่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ตามค่าความปลอดภัยของคุณภาพอากาศที่องค์การระหว่างประเทศกำหนด หรือตามที่ คณะกรรมการได้กำหนดไว้[30]

  • มี ฐานข้อมูล แผนที่ข้อมูลสารสนเทศ และระบบแจ้งเตือนพยากรณ์
  • คณะกรรมการประจำจังหวัดประกาศพื้นที่ฝุ่นพิษอันตราย
  • ไม่มีรายละเอียด


                 ทั้งนี้ผู้เขียนมีข้อสังเกตว่าร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. .... เป็นร่างที่มีกลไกและเครื่องมือทางเศรฐศาสตร์ที่ระบุไว้โดยละเอียดที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับร่างพระราชบัญญัติฉบับอื่น ๆ


อ้างอิง


[1] Climate and Clean Air Coalition (CCAC) secretariat, 2022 UN declares healthy environment – including clean air – a human right. (https://www.ccacoalition.org/news/un-declares-healthy-environment-including-clean-air-human-right เข้าถึงเมื่อ 24-04-2024)

[2] United Nations, 2022 UN General Assembly declares access to clean and healthy environment a universal human right. (https://news.un.org/en/story/2022/07/1123482 เข้าถึงเมื่อ 24-04-2024)

[3] Moustapha Kamal Gueye และ Tim de Meyer, 2022 UN General Assembly recognizes human right to a clean, healthy, and sustainable environment (https://www.ilo.org/global/about-the-ilo/newsroom/news/WCMS_857164/lang--en/index.htm เข้าถึงเมื่อ 24-04-2024)

[4] Olivia Lai, 2021 WHO Says Clean Air is a Fundamental Human Right, Imposes Stricter Air Pollution Guidelines (https://earth.org/who-says-clean-air-is-a-fundamental-human-right-imposes-stricter-air-pollution-guidelines/ เข้าถึงเมื่อ 24-04-2024)

[5] David R. Boyd, 2019 Report of the Special Rapporteur A/HRC/40/55. Geneva. United Nations General Assembly. P. 1-20.

[6] Clean Air in London, 2021 Ella’s Law (https://cleanair.london/legal/ellas-law/ เข้าถึงเมื่อ 25-04-2024)

[7] Ella’s Law, N.D. Home (https://ellaslaw.uk/ เข้าถึงเมื่อ 25-04-2024)

[8] Ella’s Law, N.D. What would Ella’s Law do? (https://ellaslaw.uk/what-would-ellas-law-do/ เข้าถึงเมื่อ 25-04-2024)

[9] Department for Environment Food & Rural Affairs, 2022 Policy paper Air quality factsheet (part 4) (https://www.gov.uk/government/publications/environment-bill-2020/10-march-2020-air-quality-factsheet-part-4 เข้าถึงเมื่อ 25-04-2024)

[10] United States Environmental Protection Agency, 2023 Summary of the Clean Air Act (https://www.epa.gov/laws-regulations/summary-clean-air-act เข้าถึงเมื่อ 25-04-2024)

[11] Shelia Hu, 2022 The Clean Air Act 101 (https://www.nrdc.org/stories/clean-air-act-101#whatis เข้าถึงเมื่อ25-04-2024)

[12] มาตรา 4 แห่ง ร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการ เพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ....

[13] มาตรา 31 แห่ง ร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการ เพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ....

[14] มาตรา 61 แห่ง ร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการ เพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ....

[15] มาตรา 67 แห่ง ร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการ เพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ....

[16] มาตรา 26 แห่ง ร่างพระราชบัญญัติอากาศ สะอาด เพื่อประชาชน พ.ศ. ....

[17] มาตรา 43 แห่ง ร่างพระราชบัญญัติอากาศ สะอาด เพื่อประชาชน พ.ศ. ....

[18] มาตรา 26 แห่ง ร่างพระราชบัญญัติอากาศ สะอาด เพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ....

[19] มาตรา 45 แห่ง ร่างพระราชบัญญัติอากาศ สะอาด เพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ....

[20] มาตรา 3 แห่ง ร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. ....

[21] มาตรา 64 แห่ง ร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. ....

[22] มาตรา 86 แห่ง ร่างพระราชบัญญัติกำกับดูแลการจัดการอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพแบบบูรณาการ พ.ศ. ....

[23] มาตรา 4 แห่ง ร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ....

[24] มาตรา 33 แห่ง ร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ....

[25] มาตรา 65 แห่ง ร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ....

[26] มาตรา 70 แห่ง ร่างพระราชบัญญัติบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ....

[27] มาตรา 4 แห่ง ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและ รักษาอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ พ.ศ. ....

[28] มาตรา 50 แห่ง ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและ รักษาอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ พ.ศ. ....

[29] มาตรา 56 แห่ง ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมและ รักษาอากาศสะอาดเพื่อสุขภาพ พ.ศ. ....

[30] มาตรา 4 แห่ง ร่าง พระราชบัญญัติฝุ่นพิษและ การก่อมลพิษข้ามพรมแดน พ.ศ. ....