การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 1 วันที่ 15 พฤศจิกายน 2476

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 10:41, 30 มีนาคม 2552 โดย Tora (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าใหม่: {{รอผู้ทรง}} ---- '''ผู้เรียบเรียง''' ชาย ไชยชิต และ รศ.ดร.นครินทร...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

บทความนี้อยู่ในระหว่างการดำเนินการตรวจสอบความถูกต้องเรียบร้อยโดยผู้ืทรงคุณวุฒิ



ผู้เรียบเรียง ชาย ไชยชิต และ รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์


รายนามผู้ทรงคุณวุฒิ รองศาสตราจารย์ นรนิติ เศรษฐบุตร รองศาสตราจารย์ ดร. นิยม รัฐอมฤต และ ศาสตราจารย์ ดร. วิษณุ เครืองาม



ภายหลังเหตุการณ์ “กบฏบวรเดช” ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2476 และบ้านเมืองกลับคืนสู่ความสงบเรียบร้อยดังเดิม รัฐบาลก็ได้จัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปเป็นครั้งแรกระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2476 ตามพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งผู้แทนตำบล และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1 พ.ศ. 2476 เป็นการเลือกตั้งโดยทางอ้อม โดยเลือกตั้งผู้แทนตำบลก่อน จึงดำเนินการเลือกสมาชิกผู้แทนราษฎรประเภทที่ 1


ผู้ที่จะได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนตำบลจะต้องมีคุณสมบัติดังที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง และเฉพาะผู้ที่ไปลงชื่อสมัครไว้ต่อกรมการอำเภอ เมื่อเลือกตั้งผู้แทนตำบลเสร็จแล้วจึงดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรสำหรับจังหวัดนั้น ๆ ส่วนผู้ที่จะได้เข้ารับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรก็จะต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการเลือกตั้ง เสมือนเนผู้สมัครเป็นผู้แทนตำบล และเฉพาะผู้ที่ไปลงชื่อสมัครไว้ต่อข้าหลวงประจำจังหวัด ณ ศาลากลางจังหวัด ผู้แทนราษฎรจังหวัดหนึ่ง ๆ อาจจะมีคนเดียว หรือหลายคนก็ได้สุดแต่จำนวนพลเมืองของจังหวัดนั้นจะมีมากน้อยเพียงใด ตามปกติมีจังหวัด 1 คน แต่ถ้าจังหวัดใดมีพลเมืองเกินกว่า 3 แสนคน จังหวัดนั้นมีผู้แทนราษฎรเพิ่มขึ้นอีก 1 คน ทุก ๆ 2 แสน เศษ ให้ปัดทิ้งเสีย


คุณสมบัติของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนตำบล

พระราชบัญญัติการเลือกตั้ง พ.ศ. 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2476 ฉบับที่ 2 ได้กำหนดคุณสบัติของผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนตำบลไว้ดังนี้


1. เป็นผู้มีสัญชาติไทย
2. มีอายุ 20 ปีบริบูรณ์
3. ไม่เป็นผู้วิกลจริต หรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบ
4. ไม่เป็นผู้ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลในขณะมีการเลือกตั้ง
5. ไม่เป็นภิกษุสามเณร นักพรต หรือนักบวช ในขณะที่มีการเลือกตั้ง
6. ไม่ถูกศาลพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง


ผู้มีสิทธิเลือกตั้งผู้แทนตำบลที่มีชื่ออยู่ในสำมะโนครัวตำบลใดให้ออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนตำบลของตำบลนั้น จะไปออกเสียงในตำบลอื่นไม่ได้


คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนตำบล

ผู้ที่จะสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนตำบล อาจเป็นชายหรือหญิงก็ได้ แต่ผู้สมัครรับเลือกตั้งนั้น นอกจากจะต้องเป็นผู้ที่มีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ หรือมีอสังหาริมทรัพย์หรือเกิดในตำบลนั้น ๆ แล้ว ยังจะต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้


1. มีสัญชาติไทยตามกฎหมาย
2. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต
3. ไม่เป็นผู้ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาล ในขณะมีการเลือกตั้ง
4. ไม่เป็นภิกษุสามเณร นักพรต หรือนักบวช ในขณะมีการเลือกตั้ง
5. ไม่ถูกศาลพิพากษาให้เพิกถอนสิทธิออกเสียง
6. มีอายุ 23 ปีบริบูรณ์
7. ไม่เป็นบุคคลที่มีความประพฤติเสเพลเป็นอาจิณ หรือติดยาเสพติดให้โทษ
8. มีความรู้ตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดไว้
9. ไม่เป็นบุคคลที่อยู่ในฐานะเหนือการเมือง ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 10


สำหรับความรู้ของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนตำบลนั้น ในการเลือกตั้งครั้งนี้ ตามพระราชกฤษฎีกาลงวันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2476 มิได้กำหนดไว้ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนตำบลจะต้องมีความรู้แค่ไหน ก็เป็นอันว่าแม้ผู้ที่อ่านหนังสือไม่ได้ก็สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนตำบลได้


เมื่อได้ดำเนินการออกเสียงเลือกตั้งผู้แทนตำบลเสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็จะต้องดำเนินการเลือกตั้งผู้แทนราษฎรเป็นขั้นตอนที่สองต่อไป โดยให้ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนตำบลในจังหวัดนั้น ๆ เป็นผู้ออกเสียงเลือกตั้ง กฎหมายได้กำหนดวิธีการต่าง ๆ ในการเลือกตั้งผู้แทนตำบล และผู้แทนราษฎรไว้คล้าย ๆ กัน และมีบทบัญญัติหลายอย่างที่บังคับในการเลือกตั้งผู้แทนตำบลและผู้แทนราษฎร


คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร

สำหรับคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร กฎหมายได้กำหนดไว้อย่างดียวกันกับผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนตำบลทุกประการ เว้นแต่ในด้านความรู้ซึ่งพระราชกฤษฎีกาดำเนินการเลือกตั้งมาตรา 6 กำหนดไว้ว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรต้องมีความรู้เทียบชั้นประถมสามัญ กล่าวคือ ต้องเป็นผู้ที่สอบไล่ได้ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 หรือสอบไล่ได้ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ตามแผนการศึกษาของชาติปัจจุบันขึ้นไป นอกจากนี้ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรของจังหวัดใดก็ต้องมีภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ หรือมีอสังหาริมทรัพย์ หรือเป็นบุคคลที่เกิดในจังหวัดนั้น


ในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกนี้มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ 4,278,231 คน แต่ปรากฏว่ามาใช้สิทธิเพียง 1,773,532 คน คิดเป็นร้อยละ 41.45 และได้ผู้แทนราษฎรจำนวน 78 คน แม้ว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิจะไม่ถึงครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้งก็ตาม แต่เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อ ๆ มาแล้ว ก็ปรากฏว่าจำนวนผู้มาใช้สิทธิในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกมีจำนวนสูงกว่าการเลือกตั้งทุกครั้ง การที่รัฐบาลยังไม่ให้ราษฎรเลือกตั้งผู้แทนโดยตรงนั้น ก็เนื่องจากว่า ราษฎรยังไม่เคยชินต่อการออกเสียงเลือกตั้ง และจำนวนผู้ที่อ่านออกเขียนได้ในขณะนั้นก็ยังมีจำนวนไม่มากนัก ดังนั้น รัฐบาลจึงให้มีการเลือกตั้งโดยทางอ้อมดังได้กล่าวมาแล้ว


อ้างอิง

ขจัดภัย บุรุษพัฒน์, กำเนิดพรรคการเมืองในประเทศไทย, วิทยานิพนธ์บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2510

สิริ เปรมจิตต์, ประวัติศาสตร์ไทยในระบอบประชาธิปไตย 30 ปี, พระนคร : โรงพิมพ์เฟื่องอักษร, 2505

กระทรวงมหาดไทย, รายงานการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เล่ม 1, พระนคร : โรงพิมพ์กระดาษไทย, 2500