Bretton Woods System
ผู้เรียบเรียง : ณัชชาภัทร อมรกุล
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู
Bretton Woods System คือ ระบบการเงินระหว่างประเทศที่ทองคำเป็นเครื่องชี้วัดมูลค่าของเงินตราดอลลาร์สหรัฐ และเงินสกุลอื่น ๆ ผูกติดอยู่กับเงินดอลลาร์สหรัฐ เป็นระบบที่ทำให้เงินตราสหรัฐกลายเป็นเงินตราหลักของโลก โดยระบบดังกล่าวจัดตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1944 ในการประชุมที่เมือง Bretton Woods รัฐนิวแฮมป์เชียร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีประเทศเข้าร่วม 44 ประเทศ จากการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเงินและการคลัง (United Nations Monetary and Financial Conference) ระบบนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเงินและการค้าระหว่างประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยมีคุณลักษณะหลัก ๆ ดังนี้
1. การผูกค่าเงินกับทองคำ : ประเทศต่าง ๆ จะกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินของตนเองเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ และดอลลาร์สหรัฐจะผูกกับทองคำ โดยมีค่าเทียบเท่าทองคำที่ 35 ดอลลาร์ต่อออนซ์ทองคำ ซึ่งเป็นการกำหนดระบอบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ เป็นการใช้ระบบมาตรฐานปริวรรตทองคำ โดยให้มีความยืดหยุ่นผันผวนได้ ร้อยละ 1 เท่านั้น
2. การจัดตั้งสถาบันการเงินระหว่างประเทศ : มีการจัดตั้งสถาบันการเงินระหว่างประเทศขึ้น ได้แก่ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนา (International Bank for Reconstruction and Development) ต่อมาได้รวมกับสมาคมพัฒนาระหว่างประเทศ (International Development Association) เป็นธนาคารโลก (World Bank) เพื่อให้การสนับสนุนด้านการเงินและความช่วยเหลือทางเทคนิคแก่ประเทศสมาชิก
3. การควบคุมการเคลื่อนย้ายของเงินทุน : ระบบนี้มีข้อกำหนดให้ประเทศสมาชิกควบคุมการเคลื่อนย้ายของเงินทุนเพื่อป้องกันการเก็งกำไรในตลาดเงินตราระหว่างประเทศ
4. การปรับปรุงค่าเงิน (Devaluation/Revaluation) : ประเทศสมาชิกสามารถปรับปรุงค่าเงินของตนได้หากมีความจำเป็น โดยต้องได้รับการอนุมัติจาก IMF
ประโยชน์ของระบบ Bretton Woods คือ ทำให้การค้าและการลงทุนระหว่างประเทศมีเสถียรภาพ ทำให้ประเทศ 44 ประเทศ ที่เข้ามาในระบบดังกล่าวสามารถติดต่อทางการค้าระหว่างกันได้คล่องตัว สามารถควบคุมและส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศข้ามพรมแดน โดยการที่ประเทศทั้งหมด 44 ประเทศ ตกลงใจที่จะผูกค่าเงินของตนเองไว้กับดอลลาร์สหรัฐ โดยอนุญาตให้มีการเบี่ยงเบนได้เพียง 1% ทำให้ ระบบ Bretton Woods สามารถลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ ซึ่งช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างประเทศ ความเสถียรมากขึ้นในอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศยังเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการสนับสนุนการให้กู้ยืมและการให้เงินช่วยเหลือระหว่างประเทศจากธนาคารโลก
นอกจากนี้ระบบ Bretton Wood System ยังได้สร้างสถาบันทางการเงินระดับโลกอีกสองแห่ง คือ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (International Monetary Fund- IMF) และธนาคารโลก (World Bank) ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม ค.ศ. 1945 ทำหน้าที่เป็นเสาหลักสำคัญในด้านการบริหารจัดหาเงินทุนและกิจกรรมการค้าระหว่างประเทศทั่วโลก โดยวัตถุประสงค์ของ IMF คือการติดตามการแลกเปลี่ยน และระบุประเทศที่ต้องการการสนับสนุนทางการเงินระหว่างประเทศ ส่วนธนาคารโลกที่ในตอนแรกเรียกว่า ธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนา (International Bank for Reconstruction and Development) ดังที่ได้กล่าวมาแล้วถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อจัดการกองทุนที่ให้ความช่วยเหลือประเทศที่ถูกทำลายทางกายภาพและการเงินจากสงครามโลกครั้งที่สอง
ระบบ Bretton Woods ยังคงทำงานไปจนถึงปี 1971 แต่ได้หยุดลงเมื่อสหรัฐอเมริกาตัดสินใจยุติการแลกเปลี่ยนดอลลาร์กับทองคำ ซึ่งนำไปสู่การล่มสลายของระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่และการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวที่เราเห็นในปัจจุบัน (Chen, 2024)
ในปัจจุบัน แม้ว่าระบบ Bretton Woods จะไม่ดำรงอยู่แล้ว แต่สถาบันการเงินระหว่างประเทศที่ก่อตั้งขึ้น ก็คือกองทุนการเงินระหว่างประเทศและธนาคารโลก ก็ยังคงอยู่และทำหน้าที่ในระบบการเงินและการคลังของโลกต่อไป
อ้างอิง
Chen, J. (2024, june 13). investopedia. Retrieved from Bretton Woods Agreement and the Institutions It Created Explained: https://www.investopedia.com/terms/b/brettonwoodsagreement.asp
Ghizoni, S. K. (2013, November 22). Federal Reserve History. Retrieved from Creation of the Bretton Woods System: https://www.federalreservehistory.org/essays/bretton-woods-created