ขั้วอำนาจ (Polarity)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:49, 6 สิงหาคม 2567 โดย Trikao (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " '''ผู้เรียบเรียง''' ''':''' ณัชชาภัทร อมรกุล '''ผู้ทรงคุณวุฒ...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ณัชชาภัทร อมรกุล

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู

 

          ในทางความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ขั้วอำนาจ หมายถึง “การกระจายของอำนาจระหว่างรัฐในระบบระหว่างประเทศ ซึ่งไม่เคยถือว่ามีการแบ่งกันอย่างเท่าเทียม และไม่คงที่” ลักษณะการกระจายของอำนาจในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในแง่ของการเมืองระหว่างประเทศ “ขั้วอำนาจ” เป็นศูนย์กลางของอำนาจ ซึ่งแสดงออกมาในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ ความเข้มแข็งของชาติ การทหาร การทูต เศรษฐกิจ สังคมวิทยา เสถียรภาพ ผู้นำ ความมุ่งมั่น

          มหาอำนาจ (superpower) คือรัฐที่มีความโดดเด่นใน "ขนาดของประชากรและดินแดน ทรัพยากรที่มีอยู่ ความสามารถทางเศรษฐกิจ กำลังทางทหาร เสถียรภาพทางการเมือง และความสามารถทางการเมือง" (Waltz, 1979) คุณลักษณะเหล่านี้ซึ่งเรียกว่า "ศักยภาพแห่งอำนาจ" ทำให้มหาอำนาจมีความสามารถในการมีอิทธิพลทางเศรษฐกิจ ทางทหาร ทางการเมือง และทางสังคมในระดับโลก การกระจายศักยภาพแห่งอำนาจในระบบระหว่างประเทศเป็นตัวกำหนดจำนวนของมหาอำนาจและส่งผลต่อความเป็นขั้วของระบบระหว่างประเทศ หากมีมหาอำนาจมากกว่าสองประเทศ ระบบจะเป็นหลายขั้ว (multi-polar) หากมีสองประเทศ ระบบจะเป็นสองขั้ว (bipolar) ในขณะที่ระบบที่มีมหาอำนาจเพียงประเทศเดียวถือว่าเป็นระบบขั้วเดียว (unipolar) แต่เกณฑ์การแบ่งแยกระหว่างขั้วอำนาจหลาย ๆ แบบเหล่านี้อาจจะไม่ชัดเจนเสมอไป เกี่ยวข้องกับอำนาจทางทหารและเศรษฐกิจในช่วงเวลาในช่วงเวลาหนึ่ง และระบบพันธมิตรที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ๆ ความแตกต่างระหว่างขั้วอำนาจเหล่านี้สะท้อนถึงความต้องการของชาติมหาอำนาจในการแสวงหาอำนาจและลำดับต่ำสูงในความสัมพันธ์ (Waltz, 1979)

 

ความสัมพันธ์แบบขั้วอำนาจเดียว (Unipolarity)

          ความสัมพันธ์แบบขั้วอำนาจเดียวเกิดขึ้นเมื่อมีชาติมหาอำนาจเพียงขั้วเดียวหรือประเทศเดียวกำเนิดเกิดขึ้นในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ชาติมหาอำนาจนี้มีความเข้มแข็งกว่าชาติมหาอำนาจรอง ไม่ว่าจะเป็นด้านการทหาร เศรษฐกิจ และอิทธิพลทางการเมืองเหนือชาติอื่น ๆ ความเหนือกว่านี้ทำให้ชาติมหาอำนาจนั้นสามารถกำหนดประเด็นระหว่างประเทศได้ ในอดีตเรามักเคยชินกับคำว่าขั้วอำนาจ ในฐานะของการเป็นขั้วอำนาจเดียว โดยมีศูนย์กลางของขั้วอำนาจโดยมีจักรวรรดิรวบอำนาจเข้าสู่ส่วนกลาง เช่น จักรวรรดิโรมัน และจักรวรรดิอังกฤษ (John, 2020) และหลังสงครามเย็นช่วงแรก หลังจากสหภาพโซเวียตล่มสลาย อาจเรียกได้ว่าเป็นระบบขั้วอำนาจเดียวที่นำโดยสหรัฐอเมริกา

 

ความสัมพันธ์แบบสองขั้วอำนาจ (Bipolarity)

          ความสัมพันธ์แบบสองขั้วอำนาจเกิดขึ้นเมื่อชาติมหาอำนาจสองชาติมีอำนาจเกือบจะเท่าเทียมกัน และมีบทบาทในการกำหนดประเด็นต่าง ๆ ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มักจะเกี่ยวข้องกับการแข่งขันในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มีความเข้าใจกันในบางกลุ่มว่า ความสมดุลของอำนาจภายใต้ความสัมพันธ์แบบสองขั้วอำนาจเป็นช่วงเวลาที่สามารถรักษาสันติภาพระหว่างประเทศได้ดีที่สุด เช่นในช่วงสงครามเย็น เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นถึงการเผชิญหน้ากันระหว่างสองขั้วอำนาจที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำขั้วอำนาจตะวันตก เช่น เนโต้ (NATO) ส่วนสหภาพโซเวียตเป็นผู้นำขั้วอำนาจตะวันออก เช่น สนธิสัญญาวอร์ซอร์ (Warsaw Pact) โลกถูกแบ่งออกเป็นสองฝ่ายสองขั้วในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

 

ความสัมพันธ์แบบหลายขั้วอำนาจ (Multipolarity)

          ความสัมพันธ์แบบหลายขั้วอำนาจเกิดขึ้นเมื่อมีขั้วอำนาจที่สำคัญหลายตัวเกิดขึ้นในระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นช่วงระยะเวลาที่ไม่มีรัฐใดรัฐหนึ่ง หรือกลุ่มรัฐใดรัฐหนึ่งสามารถมีอำนาจเหนือตัวแสดงอื่น ๆ หรืออำนาจอื่น ๆ ได้เด็ดขาดเต็มที่ ช่วงเวลาแบบนี้ทำให้ระบบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมีความสลับซับซ้อนมาก ตัวอย่างในประวัติศาสตร์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่โลกมีหลายขั้วอำนาจ คือช่วงสงครามสามสิบปีในยุโรป (ค.ศ. 1618-1648) และในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และสงครามโลกครั้งที่สอง

          ในปัจจุบัน การเกิดขึ้นของกลุ่ม BRICS (ที่ประกอบไปด้วยบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้) มักจะถูกมองว่าเป็นตัวอย่างของความสัมพันธ์แบบหลายขั้วอำนาจ กลุ่มเศรษฐกิจกลุ่มนี้มีอิทธิพลอย่างมากทั้งในระดับภูมิภาคและในระดับโลก และสามารถท้าทายต่อมหาอำนาจตะวันตกได้ แม้ว่าจะไม่ได้เป็นอำนาจที่สมมาตรแต่ก็ทำให้เห็นความพยายามที่จะทานอำนาจกับความเป็นขั้วอำนาจเดียวของสหรัฐอเมริกา

 

บรรณานุกรม

John, J. T. (2020, August 31). Institute of World Politics. Retrieved from Polarities We Have Known: https://www.iwp.edu/articles/2020/08/31/polarities-we-have-known/

Waltz, K. (1979). Theory of International Politics. Massachusetts: Addison-Wesley Publishing Company.