สันติภาพกับความรุนแรง
ผู้เรียบเรียง : ดร.ชลัท ประเทืองรัตนา
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดนัย มู่สา
สันติภาพกับความรุนแรง[1]
สันติภาพ
สันติภาพหรือสันติสุข[2] (Peace) เป็นสิ่งที่พึงประสงค์ในสังคม แม้ว่าในโลกจะมีการนิยามความหมายที่แตกต่างกันไป แต่มีจุดร่วมของความหมายที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เช่น ไม่มีความรุนแรงทางกายภาพ ไม่มีความเหลื่อมล้ำหรือมีความเหลื่อมล้ำไม่มาก มีการเคารพสิทธิมนุษยชน เคารพความเท่าเทียมกันของมนุษย์ ยอมรับความแตกต่างหลากหลาย การให้อภัย ไม่มีการปลูกฝังให้เกิดความเกลียดชังต่อกัน เป็นต้น จากที่กล่าวมาเป็นสิ่งที่ทุกสังคมน่าจะต้องการสถาปนาให้สันติภาพเกิดขึ้น แต่หลายประเทศยังคงห่างไกลจากแนวคิดดังกล่าว
สันติภาพจากแนวคิดของ Aron (1966) มุ่งเน้นไปที่สันติภาพจะเกิดขึ้นได้หากปราศจากสงคราม หรือความรุนแรงทางตรงในรูปแบบอื่น ๆ แต่นิยามแบบแคบเช่นนี้เพียงพอหรือไม่ในการให้คำจำกัดความของคำว่าสันติภาพ Lederach[3] นักวิชาการและนักขับเคลื่อนงานด้านสันติภาพได้ขยายความถึงสันติภาพแบบกว้างไว้ โดยเห็นว่าเกี่ยวข้องกับ ความปรองดอง ความเป็นหนึ่งเดียว การอยู่ดีกินดี ความปลอดภัย การให้ความเคารพ ความรู้สึกการเป็นอิสระเนื่องจากได้รับการปลดปล่อยจากความรู้สึกด้านลบ ในขณะที่ Galtung[4] บิดาแห่งสันติศึกษายุคใหม่ให้ความสำคัญกับทั้งการไม่มีความรุนแรงทางกายภาพควบคู่ไปกับการมีสังคมที่เป็นธรรม Galtung ได้แบ่งสันติภาพ ออกเป็น 2 แบบ คือ
(1) สันติภาพทางบวก
(2) สันติภาพทางลบ
สันติภาพทางลบนั้น เป็นเพียงความพยายามที่จะมีสันติภาพเพื่อยุติสงครามเท่านั้น แต่สันติภาพทางบวก หมายถึง การไม่มีสงครามและการทำให้ความรุนแรงในเชิงโครงสร้างหมดไปและทำให้เกิดความเป็นธรรมขึ้นในสังคม
สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ (Institute for Economics and Peace-IEP) ได้วัดระดับสันติภาพในโลกมาเกือบ 2 ทศวรรษ โดยได้นิยามถึงสันติภาพแบบกว้าง คือทั้งสันติภาพทั้งเชิงลบและสันติภาพเชิงบวก ไม่ได้กล่าวถึงสันติภาพว่าคือการปราศจากสงครามเท่านั้น แต่รวมถึงการทำให้ความรุนแรงในเชิงโครงสร้างหมดไปและทำให้เกิดความเป็นธรรมและเกิดทัศนคติที่ดีต่อกันเกิดขึ้น ในรายงานสันติภาพเชิงลบที่ชื่อว่า Global Peace Index ได้ให้นิยามของสันติภาพไว้ คือ ปราศจากความรุนแรงหรือความกลัวต่อความรุนแรง โดยมีตัวชี้วัดหลัก 3 ด้าน คือ
(1) ความขัดแย้งภายในและระหว่างประเทศที่ยังคงดำรงอยู่
(2) ความมั่นคงและปลอดภัยในสังคม
(3) การทหาร
ในรายงานสันติภาพเชิงบวกที่ชื่อ Positive Peace Index/Report ได้อธิบายไว้ว่า สันติภาพเชิงบวกเป็นการอธิบายถึง โครงสร้าง ทัศนคติ และสถาบัน ที่ทำให้สังคมมีสันติภาพที่ยั่งยืน หากสังคมใดมีคะแนนสันติภาพเชิงบวกสูง บ่งชี้ถึงการมีสังคมที่สันติสุขและการอยู่ร่วมกันในสังคมได้เป็นอย่างดี ตัวชี้วัดที่สถาบันเศรษฐศาสตร์และสันติภาพ ใช้วัด ประกอบด้วย
(1) ด้านการยอมรับสิทธิของผู้อื่น
(2) การกระจายทรัพยากรอย่างเท่าเทียมกัน
(3) การไหลเวียนอย่างอิสระของข้อมูล
(4) ความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนบ้าน
(5) การพัฒนาทุนมนุษย์ระดับสูง
(6) การคอร์รัปชันในระดับต่ำ
(7) สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ดี
(8) การปฏิบัติงานได้ดีตามหน้าที่ของรัฐบาล
จากที่ศึกษามาข้างต้น สามารถกล่าวได้ว่า การศึกษาสันติภาพของประเทศตะวันตกส่วนหนึ่ง เน้นศึกษาสันติภาพที่เกี่ยวข้องกับทั้งสันติภาพเชิงลบและสันติภาพเชิงบวก ซึ่งเราจำเป็นต้องเข้าใจสันติภาพว่า มากไปกว่าความรุนแรงทางกายภาพเท่านั้น แต่ยังมีความรุนแรงเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมที่ฝังลึก ซ่อนอยู่ข้างใต้ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่มีพลังในการส่งผลต่อความรุนแรงทางกายภาพได้เป็นอย่างดี ในขณะที่ การศึกษาสันติภาพของประเทศตะวันออกส่วนหนึ่ง เน้นไปที่ความคิดว่าการทำให้เกิดสันติภาพไม่อาจมองข้ามการศึกษาสันติภาพจากภายในตนเอง โดยแต่ละปัจเจกบุคคลมีความสำคัญ การมีจิตใจที่บริสุทธิ์ดีงาม คิดดี ทำดีต่อผู้อื่น มีการทบทวนตนเอง เข้าใจตนเองอย่างสม่ำเสมอว่าเราไม่ได้เกิดมาเพื่อยึดตนเองเป็นศูนย์กลางโดยละเลยการเข้าใจบุคคลอื่น พลังที่เกิดจากสันติภาพภายในเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ จากปัจเจกบุคคลที่คิดจะทำงานเพื่อส่วนรวม ต้องพัฒนาจิตของตนเองเสียก่อน แล้วขยายไปสู่การทำงานช่วยเหลือคนอื่นในบ้าน ชุมชน ประเทศและภูมิภาค จะเห็นได้ว่าการศึกษาสันติภาพของ 2 บริบทนี้ มีจุดเน้นที่แตกต่างกัน แต่ไม่ได้แยกการศึกษาจากกันอย่างเด็ดขาด ในด้านการศึกษาสันติภาพเชิงลบ เชิงบวก การศึกษาสันติภาพภายในและภายนอก
ความรุนแรง
เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นไม่จำเป็นต้องนำไปสู่ความรุนแรง ความรุนแรงมิใช่ผลของความขัดแย้ง แต่เป็นวิธีที่มนุษย์เลือกใช้ กล่าวคือจะเลือกใช้วิธีการเจรจา พูดคุยหรือวิธีที่ใช้ความรุนแรง การเลือกใช้วิธีความรุนแรงก็เป็นเพียงวิธีการแก้ไขความขัดแย้งวิธีหนึ่งเท่านั้น[5] ความรุนแรงทางกายภาพเป็นปรากฎการณ์ที่คนทั่วไปเห็นได้อย่างชัดเจน แต่ไม่เพียงพอในการอธิบายความรุนแรงที่มีความสลับซับซ้อนที่เกิดขึ้น เราจึงควรเข้าใจความรุนแรงใน 3 ระดับ หรือ 3 ชั้น
ความรุนแรง (Violence) 3 ชั้น หรือ 3 หน้าของความรุนแรง
การทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นได้อย่างครอบคลุมและรอบด้าน ไม่เพียงแต่พิจารณาจากปรากฏการณ์ความรุนแรงทางกายภาพที่เกิดขึ้นเท่านั้น ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นเพียงส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งที่โผล่พ้นเหนือน้ำขึ้นมา แต่ส่วนที่ซ่อนอยู่ข้างใต้น้ำที่มองไม่เห็น จำเป็นต้องมีการพิจารณาอย่างลึกซึ้ง ว่าอะไรที่มารองรับการใช้พฤติกรรมความรุนแรงที่เกิดขึ้น เป็นคำอธิบายที่สร้างความชอบธรรมในการใช้ความรุนแรง รวมถึงระบบโครงสร้างที่ไม่ได้เน้นไปที่ตัวบุคคลที่เป็นผู้กระทำความรุนแรง แต่โครงสร้างที่ทำให้เกิดผลกระทบความรุนแรงต่อมนุษย์ คำอธิบายความรุนแรงทั้ง 3 ระดับนี้ Galtung[6] ได้เป็นผู้อธิบายไว้ คือ
1. ความรุนแรงทางตรง (Direct Violence) เป็นความรุนแรงที่มีผลในเชิงการทำร้ายร่างกายและมีผู้กระทำความรุนแรง และผลของความรุนแรงเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนเป็นความรุนแรงที่มีผลในเชิงการทำร้ายร่างกายและมีผู้กระทำความรุนแรง บางครั้งเรียกความรุนแรงชนิดนี้ว่าเป็นความรุนแรงส่วนบุคคล ผลของความรุนแรงเป็นสิ่งที่เห็นได้ชัดเจน เช่น บาดแผลบนร่างกายคน รวมทั้งความเสียหายต่อทรัพย์สิน
ตัวอย่างของความรุนแรงทางตรงหรือทางกายภาพในสังคมไทย เช่น การทะเลาะวิวาทระหว่างนักศึกษา 2 สถาบัน ที่ก่อตั้งมานานนับ 90 ปี แต่มีคนเสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากการทะเลาะวิวาททุกปี และมีการตอบโต้เอาคืนกันไปมาอย่างต่อนเอง หรือตัวอย่างเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว จากข้อมูลกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัว ปี 2557-2559 โดยเฉลี่ย มีจำนวน 1,262 รายต่อปี ในส่วนของจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้เสียชีวิตในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มากกว่า 7 พันคน บาดเจ็บหมื่นกว่าคน ในส่วนของความรุนแรงทางการเมืองเป็นพลวัตแปรเปลี่ยนไปตามบริบทและสถานการณ์ มิได้หยุดนิ่งอยู่กับที่บางช่วงจะมีเหตุการณ์ความรุนแรงที่ชัดเจน แต่บางช่วงอาจเป็นช่วงที่ก่อตัวสะสมปัญหาโดยความรุนแรงยังไม่เกิดขึ้น สำหรับปรากฏการณ์ความรุนแรงทางการเมืองที่เกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงปี พ.ศ. 2549-2557 มีผู้เสียชีวิต 133 ราย ผู้บาดเจ็บมากกว่า 2,000 ราย ผู้ต้องคดีอีก 1,450 ราย และมีผู้ที่ทรัพย์สินเสียหายมากกว่า 3,000 ราย ในขณะที่ผู้ได้รับผลกระทบเองก็ต้องเผชิญกับความยากลำบากในการดำรงชีวิตของตนและครอบครัวอีกด้วย[7]
2. ความรุนแรงเชิงโครงสร้าง (Structural Violence) คือ สภาวะความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างสังคม หรือสถาบันทางสังคมที่ทำร้ายประชาชนอย่างช้า ๆ โดยการกีดกันพวกเขาจากการเข้าถึงปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพ เรียกได้อีกอย่างว่าเป็นความไม่เป็นธรรม หรือความเหลื่อมล้ำ ตัวอย่างความเหลื่อมล้ำด้านการถือครองที่ดิน ทางสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้จัดเก็บข้อมูลในส่วนนี้ในปี พ.ศ. 2560 กลุ่มผู้ถือครองที่ดิน ร้อยละ 10 มีการถือครองที่ดินมากที่สุด มีส่วนแบ่งการถือครองที่ดิน ร้อยละ 61.48 ซึ่งมีสัดส่วนสูงกว่าผู้ถือครองที่ดิน ร้อยละ 90 ที่เหลือ ที่มีส่วนแบ่งการถือครองที่ดินเพียง ร้อยละ 38.52 หรือหากพิจารณาจากบัญชีเงินฝากออมทรัพย์และบัญชีเงินฝากประจำธนาคารพาณิชย์กระจุกตัวอยู่ในกลุ่มที่มีเงินฝากไม่เกินกว่า 50,000 บาท มีจำนวน 82,188,883 บัญชีคิดเป็น 86.72 % ของบัญชีเงินฝากทั้งหมด ส่วนกลุ่มที่มีเงินฝากเกินกว่า 10 ล้านบาทขึ้นไป มีจำนวน 120,496 บัญชีคิดเป็น ร้อยละ 0.13 ของบัญชีทั้งหมด
3. ความรุนแรงเชิงวัฒนธรรม (Cultural Violence) เป็นการรองรับความรุนแรงทางตรง และโครงสร้างให้ดำรงอยู่ได้โดยชอบธรรม หรือถูกมองว่าเป็นสภาวะปกติที่คนไม่ตั้งคำถามหรือสงสัย โดยเฉพาะถ้ามีการปลูกฝังให้เกิดการเกลียดชังระหว่างสีผิว หรือคนต่างศาสนา เช่น คนผิวขาวกับคนผิวดำ ศาสนาพุทธกับอิสลาม คริสต์หรือศาสนาอื่น ๆ และถ้าคนกลุ่มหนึ่งเชื่อว่าตนเหนือกว่าหรือถูกต้องกว่าคนอื่น โอกาสที่จะเกิดความรุนแรงก็ยิ่งง่ายดายขึ้น เหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองไทยในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา เกิดการแบ่งขั้วแยกข้างเป็นสองฝ่าย จากเสื้อเหลืองเสื้อแดง มาสู่ฝ่ายอนุรักษ์นิยมและเสรีนิยม และจากการถ่ายทอดความเกลียดชังผ่านสื่อต่าง ๆ ทำให้บางคนมีความรู้สึกถึงขั้นอยากให้อีกฝ่ายหายไปแผ่นดินจะได้สูงขึ้น ดังเห็นได้จากข้อความที่ปรากฏในสื่อเป็นจำนวนมาก
จากกรณีความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เกิดขึ้นมายาวนาน หากจะนับตั้งแต่ปี 2547 มีประเด็นที่น่ากังวลที่ซ่อนเร้นอยู่ เช่น ลูกกำพร้าบางคนของคนทั้งฝ่ายรัฐและขบวนการ ต่างก็อยากจะเติบโตเป็นทหารและกลุ่มขบวนการเพื่อแก้แค้นให้กับบิดาของตนเอง ซึ่งจะทำให้วงจรของความรุนแรงยุติได้ยาก หากกล่าวถึงสถานการณ์ความรุนแรงในการก่อเหตุทะเลาะวิวาทของนักเรียนอาชีวศึกษาเกิดขึ้นอย่างกว้างขวางและมีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้นในแต่ละปีแตกต่างกันไปตามแต่บริบทของสังคมในแต่ละช่วง อาชีวะศึกษาบางแห่งมีความรุนแรงระหว่างนักศึกษา เนื่องจากการถ่ายทอดมุมมองด้านลบของรุ่นพี่บางคนให้รุ่นน้องฟัง นักเรียนอาชีวะหลายแห่งจะพูดเหมือนกันว่าเราต่างคนต่างอยู่ แต่ถ้ามาเจอกัน ถ้าไม่ทำเขา เขาก็ทำเรา และเกิดการล้างแค้นกันอย่างต่อเนื่องไม่สิ้นสุดมาถึงปัจจุบัน
บทสรุป
งานชื้นนี้เป็นการให้ความรู้ ความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับสันติภาพและความรุนแรง รวมถึงอธิบายความสัมพันธ์กันระหว่างคำดังกล่าว ซึ่งมีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กันอย่างยิ่ง สันติภาพสามารถอธิบายได้ว่าหมายถึงไม่มีความรุนแรงทางกายภาพ (สันติภาพเชิงลบ) แต่ไม่เพียงพอในการอธิบาย จำเป็นต้องอธิบายด้วยสิ่งที่ซ่อนหรือผลักดันให้เกิดหรือไม่เกิดการใช้ความรุนแรง ซึ่งรวมถึงทัศนคติและโครงสร้าง (สันติภาพเชิงบวก) การศึกษาสันติภาพยังรวมถึงการศึกษาสันติภาพเน้นไปที่ภายในจิตใจตนเอง โดยแต่ละปัจเจกบุคคลมีความสำคัญ การมีมุ่งเน้นพัฒนาจิตของตนเองเสียก่อน แล้วขยายไปสู่การทำงานช่วยเหลือคนอื่นในบ้าน ชุมชน ประเทศและภูมิภาค
ความรุนแรงเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์ การป้องกันไม่ให้คนใช้ความรุนแรงเป็นสิ่งสำคัญมาก จึงจำเป็นต้องทำความเข้าใจ 3 ชั้นของความรุนแรง คือ ความรุนแรงทางตรง โครงสร้างและวัฒนธรรม ความรุนแรงทางตรงมองเห็นได้ชัดเจน ขณะที่ความรุนแรงทางโครงสร้างและวัฒนธรรม เป็นความรุนแรงในชั้นระดับที่ลึกลงไปที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เช่น ความรุนแรงจากความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำจากการพัฒนา และความรุนแรงที่เกิดจากการถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่นปลูกฝังให้เกิดความเกลียดชังกัน ความเชื่อมโยงระหว่างสันติภาพกับความรุนแรง คือ สันติภาพเชิงลบกับความรุนแรงทางตรงซึ่งเป็นความรุนแรงที่เห็นได้ชัดเจนด้วยตาเปล่า แต่ไม่สมบูรณ์ในการอธิบายปรากฎการณ์ทางสังคม จึงต้องใช้สันติภาพเชิงบวกกับความรุนแรงเชิงโครงสร้างและวัฒนธรรมที่ส่งผลให้เกิดหรือไม่เกิดการใช้ความรุนแรงทางกายภาพ
บรรณานุกรม
กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์. จำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงในครอบครัวปี 2557-2559. เอกสารอัดสำเนา
คณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ. (2558). รายงานและข้อเสนอแนะ เบื้องต้นในการสร้างความปรองดอง. กรุงเทพฯ: สำนักวิชาการ ส านักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.
ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. (2557). ท้าทายทางเลือก: ความรุนแรงและการไม่ใช้ความรุนแรง. กรุงเทพฯ: โกมลคีมทอง.
Aron, Raymond. (1966). Peace and War. New York: Doubleday.
Edward Azar. (1990). The management of protracted social conflict : theory and cases English : Print Book
Galtung, Johan. (1990). Peace by Peacefulmean Peace and Conflict Development and Civilization. London: Sage Publication Ltd.
Institute for Economics and Peace. (2022). Global Peace Index 2022. Retrieved September 5, 2022, from https://www.visionofhumanity.org/maps/#/
Lederach, John Paul. (1997). Building Peace : Sustainable Reconciliation in Divided Societies. Washington, DC: United States Institute of Peace Press.
เชิงอรรถ
[1] ดร.ชลัท ประเทืองรัตนา, นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญ สำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า
[2] ในงานชิ้นนี้นิยามความหมายของคำว่า สันติภาพและสันติสุขในความหมายเดียวกัน โดยแปลมาจากคำว่า Peace สำหรับในสังคมไทย คำว่าสันติสุขถูกนำมาใช้แทนที่คำว่าสันติภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ในสมัย รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สำหรับประเทศทางตะวันตก peace หมายถึงสันติภาพเชิงลบที่ไม่มีความรุนแรงทางกายภาพและสันติภาพเชิงบวกที่มีความเป็นธรรมในสังคม ไม่มีการปลูกฝังให้เกลียดชังกัน เคารพในสิทธิมนุษยชน และความเท่าเทียมกันของมนุษย์
[3] Lederach, John Paul. (1997). Building Peace : Sustainable Reconciliation in Divided Societies. Washington, DC: United States Institute of Peace Press
[4] Galtung, Johan. (1990). Peace by Peacefulmean Peace and Conflict Development and Civilization. London: Sage Publication Ltd.
[5] ชัยวัฒน์ สถาอานันท์. (2557). ท้าทายทางเลือก : ความรุนแรง และการไม่ใช้ความรุนแรง. กรุงเทพฯ : ของเรา (Protestista),
[6] Galtung, Johan. (1990). Peace by Peacefulmean Peace and Conflict Development and Civilization. London: Sage Publication Ltd.
[7] คณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ. (2558). รายงานและข้อเสนอแนะ เบื้องต้นในการสร้างความปรองดอง. กรุงเทพฯ: สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.