พรรคเป็นธรรม
ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุทธิกานต์ มีจั่น
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ
พรรคเป็นธรรม (Fair Party) เป็นพรรคการเมืองไทยที่จดทะเบียนก่อตั้งพรรค เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2561 โดยใช้ชื่อว่า พรรคกลาง (Moderate Party) ซึ่งมี นายชุมพล ครุฑแก้ว เป็นหัวหน้าพรรคและเปลี่ยนมาใช้ชื่อ พรรคเป็นธรรม โดยมี ดร.ปิติพงศ์ เต็มเจริญ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรกรุงเทพมหานคร ซึ่งมีฉายา "ทายาทเจ้าพ่อรถทัวร์สายใต้" ของตระกูลเต็มเจริญซึ่งเป็นเจ้าของกิจการรถร่วมของบริษัทขนส่ง (บขส.) 14 จังหวัดภาคใต้ในนามกลุ่มไทยเดินรถ[1] เข้ามาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค ตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน พ.ศ. 2563 โดยมีนายกัณวีร์ สืบแสง นักมนุษยธรรมและสิทธิมนุษยชน อดีตหัวหน้าสำนักงานภาคสนามของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เป็นเลขาธิการพรรคและประธานยุทธศาสตร์พรรค โดยมี ดร.ชุมพล ครุฑแก้ว อดีตหัวหน้าพรรคกลางมาดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาพรรคเป็นธรรม ทั้งนี้พรรคเป็นธรรมมีการแต่งตั้งกรรมการบริหารพรรค จำนวน 14 คน โดยมีที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของพรรคอยู่ที่ ต.บางม่วง อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี[2]
ภาพ : ตราสัญลักษณ์ของพรรคเป็นธรรม

อุดมการณ์และค่านิยมของพรรคเป็นธรรมถ่ายทอดผ่านตราสัญลักษณ์ของพรรค ประกอบด้วยตัวอักษร “ป” และ “ธ” มารวมกันอยู่ในวงกลม ย่อมาจากคำว่า “เป็นธรรม” ตัวอักษร ป หมายถึง ประชาธิปไตย ระบอบการปกครองที่ถือมติปวงชนเป็นใหญ่ ทั้งยังหมายถึงปฏิรูปหรือการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงอย่างเหมาะสมไปสู่สิ่งที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังหมายรวมถึง ปฏิบัติ คือ การดำเนินการไปตามระเบียบแบบแผน และปัญญา หมายถึง ความรอบรู้ ส่วนตัวอักษร ธ หมายถึง ธรรม คือ คุณความดี ความชอบ ความจริง ความถูกต้อง หลักธรรมะ หลักกฎหมาย หลักธรรมชาติ ความเท่าเทียมกัน ซึ่งความหมายโดยรวมของ “ปธ” คือ ประชาธิปไตยที่เป็นธรรม พรรคเป็นธรรมจึงเป็นพรรคที่มีความพร้อมที่จะนำการเปลี่ยนแปลงทุกสรรพสิ่งให้ดีขึ้นสู่ความเท่าเทียมกันด้วยความยุติธรรมและเป็นธรรม
ในด้านสีที่ใช้ในตราสัญลักษณ์นั้น สีน้ำเงิน หมายถึง ความจริง ความน่าเชื่อถือ ความสงบเรียบร้อย ความมั่นคงศรัทธา ความมีเอกภาพราบรื่น เป็นสีที่มีพลังกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ มีอิสระ แสดงถึงความรู้ ความเฉลียวฉลาด ความมีตรรกะ มีเหตุผล ความไว้เนื้อเชื่อใจและความเป็นมืออาชีพ ส่วนสีส้ม หมายถึง สีแห่งพลังของความกระตือรือร้น มีชีวิตชีวา กล้าผจญ สนุกสนาน มีสุขภาพที่ดี รักความเป็นธรรม มีความรอบรู้ มีเสน่ห์ มีความมั่นใจและมีความปรารถนาอันแรงกล้า เป็นสีที่กระตุ้นพลังงาน ส่งเสริมการมีปฎิสัมพันธ์ทางสังคม มองโลกแง่ดีและพร้อมจุดประกาย ตลอดจนการสื่อสาร ในขณะที่รูปทรงวงกลมสื่อความหมายถึง ความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคนในชาติที่กลมกลืนปรับตัวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ ส่วน คำภาษาอังกฤษ FAIR นั้น มีการให้ความหมายในแต่ละพยัญชนะดังนี้ F (Friends) มีเพื่อน A (Ability) มีความสามารถ I (Innovation) มีนวัตกรรม และ R (Responsibility) มีความรับผิดชอบ[3]
ในปี พ.ศ. 2565 ข้อมูลจากฐานข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งระบุว่า พรรคเป็นธรรม มีสมาชิกทั้งหมด 10,018 คน แบ่งเป็นภาคเหนือ จำนวน 790 คน ภาคกลางจำนวน 2,121 คน ภาคตะวันออก เฉียงเหนือ จำนวน 3,477 คน และภาคใต้ จำนวน 3,630 คน ในขณะที่พรรคเป็นธรรมมี สาขาพรรคทั้งหมด 4 แห่ง กระจายในภูมิภาคต่าง ๆ ภาคละ 1 แห่ง และมีตัวแทนพรรคการเมืองเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 2 คน[4]
การก่อตั้ง "พรรคเป็นธรรม"
ความพยายามในการก่อตั้งพรรคเป็นธรรมเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่ ดร.ปิติพงศ์ เต็มเจริญ ยังเป็นผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรระบบบัญชีรายชื่อของพรรคเสรีรวมไทย โดยได้มีกระแสข่าวว่า ดร.ปิติพงศ์ ได้ปรึกษาหารือกับ พล.ท.ภราดร พัฒนถาบุตร อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) และสมาชิกพรรคเพื่อไทย ถึงการตั้งพรรคการเมืองใหม่ในปีกประชาธิปไตยที่มีแนวทางการดำเนินงานทางการเมืองตามแนวทางของตนเอง[5]
หลังจากการจัดตั้งพรรคเป็นธรรมในเวลาต่อมา ที่กำเนิดขึ้นท่ามกลางบริบททางการเมืองใหม่ ที่เน้นคุณค่าของประชาธิปไตยและประชาชนเป็นหลัก จึงได้มีการประกาศอุดมการณ์พรรค โดยชี้ให้เห็นว่า ความไม่เป็นธรรม คือ สนิมของการเมือง เศรษฐกิจ และสังคมไทยที่บ่อนทำลายชาติ ศาสนาและกษัตริย์เป็นเวลานาน ส่งผลให้การบริหารจัดการประเทศในทุกมิติ เกิดความเหลื่อมล้ำขัดแย้ง ปิดกั้นโอกาสของส่วนรวม แต่เกิดประโยชน์เฉพาะกลุ่ม ทำให้ศักยภาพของประเทศมีความถดถอย เสื่อมโทรมแทนที่จะพุ่งไปข้างหน้า เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งรวมถึงความอยู่ดี กินดี มีความสุขอย่างกว้างขวางและทั่วถึงให้กับประชาชนทุกพื้นที่ ด้วยความเชื่อมั่นในประชาธิปไตยและความศรัทธาในความเป็นธรรม ทำให้จุดยืนและอุดมการณ์ของพรรคเป็นธรรม คือ ประชาธิปไตยที่เป็นธรรมที่เปิดโอกาสแห่งความเป็นธรรมทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การศึกษา คุณภาพชีวิตและกฎระเบียบต่าง ๆ ให้เกิดการพัฒนาตอบสนองต่อความต้องการที่แท้จริงของทุกชนชั้น ทุกเพศทุกวัย[6]
ภาพ : แสดงสื่อประชาสัมพันธ์ของพรรคเป็นธรรม [7]

พรรคเป็นธรรมในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566
ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2566 พรรคเป็นธรรมซึ่งได้หมายเลข 3 ได้ส่งผู้สมัครระบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 9 คน ในขณะที่ส่งผู้สมัครระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง จำนวน เขต 11 คน ประกอบด้วย ในกรุงเทพมหานคร จำนวน 3 เขต นราธิวาส จำนวน 1 เขต จังหวัดปัตตานี จำนวน 4 เขต และจังหวัดยะลา จำนวน 3 เขต โดยพรรคไม่เสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคเป็นธรรม นโยบายสำคัญที่พรรคเป็นธรรมใช้ในการหาเสียง อาทิ การยุบการปกครองส่วนภูมิภาคและสนับสนุนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดมาจากการเลือกตั้ง นอกจากนี้พรรคเป็นธรรมยังมีนโยบายที่โดดเด่นในการพัฒนาและแก้ปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ภาคใต้ เช่น การส่งเสริมให้ขนส่งสาธารณะทั่วจังหวัดมีราคาถูก การพัฒนาเศรษฐกิจชายแดน การสร้างสันติภาพในปัตตานี การยกเลิกกฎหมายพิเศษทุกฉบับที่ใช้ในปาตานี การถอนทหารออกจากพื้นที่ปาตานีและการยุบศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เป็นต้น[8] มีการใช้การรณรงค์ “พาทหารกลับบ้าน” ซึ่งหมายถึง “ถอนทหารพ้นชายแดนใต้” และนโยบายที่มุ่งเน้นสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นประเด็นเชิงนามธรรมที่ไม่มีพรรคการเมืองใดนำมาใช้ในการหาเสียงมากนัก[9] นอกจากนี้ยังมีการใช้สโลแกน #อยู่เย็นเป็นธรรม ในการเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์
ภาพ : การประชาสัมพันธ์กิจกรรมทางการเมืองของพรรคเป็นธรรม[10]
![]() |
![]() |
![]() |
![]() |
ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า แม้พรรคเป็นธรรมไม่ได้รับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต แต่ได้คะแนนในระบบบัญชีรายชื่อ จำนวน 181,226 คะแนน ส่งผลให้ได้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ 1 ที่นั่ง ได้แก่ นายกัณวีร์ สืบแสง ผลคะแนนดังกล่าวได้รับการวิเคราะห์ว่า เป็นผลจากนโยบายด้านสิทธิมนุษยชนที่เสนอสำหรับแก้ปัญหาชายแดนใต้ที่ได้รับความสนใจจากผู้ลงคะแนนเสียง
ตาราง : แสดงคะแนนที่พรรคเป็นธรรมได้รับในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบเบ่งเขต พ.ศ. 2566[11]
นายมุสตารซีดีน วาบา |
ปัตตานี |
เขต 1 |
719 คะแนน |
นายดุนยา เบญฮาริศ |
ปัตตานี |
เขต 2 |
472 คะแนน |
นายมูฮัมหมัดกัสดาฟี กูนา |
ปัตตานี |
เขต 3 |
750 คะแนน |
นายสุไฮมี ดูละสะ |
ปัตตานี |
เขต 4 |
838 คะแนน |
นายยามารุดดิน ทรงศิริ |
ยะลา |
เขต 1 |
3,125 คะแนน |
นายซูพียัน ดารีอิโซ๊ะ |
ยะลา |
เขต 2 |
987 คะแนน |
นายอับดุลเลาะ สิเดะ |
ยะลา |
เขต 3 |
1,098 คะแนน |
นายอาฟิส ยะโกะ |
นราธิวาส |
เขต 3 |
613 คะแนน |
นายเดโชนุชิต นวลสกุล |
กรุงเทพมหานคร |
เขต 1 |
356 คะแนน |
นายปิติพงศ์ เต็มเจริญ |
กรุงเทพมหานคร |
เขต 3 |
247 คะแนน |
นางสาวเอษณา จรัสสุริยพงศ์ |
กรุงเทพมหานคร |
เขต 32 |
448 คะแนน |
แม้พรรคเป็นธรรมจะไม่ได้รับที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรจำนวนมากนักถือเป็นพรรคการเมืองขนาดเล็ก แต่กลับได้รับความสนใจมากขึ้น เมื่อพรรคเป็นธรรมได้รับเชิญเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลที่ได้ให้เหตุผลว่า พรรคเป็นธรรมมีความตั้งใจในการทำงานเพื่อสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งยังมีแนวทางที่เชื่อเรื่องการกระจายอำนาจและเชื่อในเรื่องความมั่งคั่งทางอาหารมากกว่าความมั่นคงทางทหารที่สอดคล้องกับแนวทางของพรรคก้าวไกล ดังนั้นการเชิญให้พรรคเป็นธรรมเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลจะส่งผลให้เกิดเสถียรภาพรัฐบาลและการแก้ไขเป็นรูปธรรมมากขึ้นในการทำงานร่วมกับพรรคประชาชาติและพรรคก้าวไกล[12]
อ้างอิง
[1] “รู้จัก "ดร.ปิติพงศ์ เต็มเจริญ" หัวหน้า "พรรคเป็นธรรม"”, สืบค้นจาก https://www.thansettakij.com/thailand-elections/election-monitor/565676 (19 พฤษภาคม 2566).
[2] “คณะกรรมการบริหารพรรค”, สืบค้นจาก https://party.ect.go.th/dataparty-detail/92 (19 พฤษภาคม 2566).
[3] “ข้อมูลพรรค”, สืบค้นจาก https://fairpartyofficial.com/ (19 พฤษภาคม 2566).
[4] “พรรคเป็นธรรม (ปธ.)”, สืบค้นจาก ttps://party.ect.go.th/dataparty-detail/92 (19 พฤษภาคม 2566).
[5] “รู้จัก “พรรคเป็นธรรม” - เบอร์ 3 สู่ทำเนียบฯ”, สืบค้นจาก https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/118670-fairparty.html (19 พฤษภาคม 2566).
[6] “ข้อมูลพรรค”, สืบค้นจาก https://fairpartyofficial.com/(19 พฤษภาคม 2566).
[7] “รู้จัก "ดร.ปิติพงศ์ เต็มเจริญ" หัวหน้า "พรรคเป็นธรรม"”, สืบค้นจาก https://www.thansettakij.com/thailand-elections/election-monitor/565676(19 พฤษภาคม 2566).
[8] “พรรคเป็นธรรม”, สืบค้นจาก https://www.vote62.com/party/เป็นธรรม/ (19 พฤษภาคม 2566).
[9] “รู้จัก “พรรคเป็นธรรม” - เบอร์ 3 สู่ทำเนียบฯ”, สืบค้นจาก https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/118670-fairparty.html (19 พฤษภาคม 2566).
[10] “พรรคเป็นธรรม เปิดตัวว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. ปัตตานี ยะลา นราธิวาสติดตามรับชมการ Live ทาง FB พรรคเป็นธรรม”, สืบค้นจาก https:// fairpartyofficial.com/2023/01/20/พรรคเป็นธรรม-เปิดตัวว่า/ (19 พฤษภาคม 2566) , “รู้จัก “พรรคเป็นธรรม” - เบอร์ 3 สู่ทำเนียบฯ”, สืบค้นจาก https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/118670-fairparty.html (19 พฤษภาคม 2566).
[11] “รายงานผลการเลือกตั้ง ส.ส. ปี พ.ศ.2566 อย่างเป็นทางการ”, สืบค้นจาก https://official.ectreport.com/by-party (22 พฤษภคม 2566).
[12] “รู้จัก “พรรคเป็นธรรม” - เบอร์ 3 สู่ทำเนียบฯ”, สืบค้นจาก https://www.isranews.org/article/south-news/south-slide/ 118670- fairparty.html (19 พฤษภาคม 2566).