เหตุการณ์รัฐประหาร 2557
รัฐประหาร 2557 (22 พ.ค. 2557)
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ความนำ
เหตุการณ์รัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 ถือเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 13
ของประเทศไทยภายหลังจากได้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองมาสู่ระบอบประชาธิปไตย โดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นเป็นหัวหน้าคณะ
ได้ทำการยึดอำนาจจากรัฐบาลรักษาการของพรรคเพื่อไทย ซึ่งมีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล ดำรงตำแหน่ง
เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี ภายหลังจากที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีพร้อมด้วยรัฐมนตรี
รวม 9 คน ได้ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีจากการมีมติโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี นับเป็นเหตุการณ์ต่อเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองครั้งสำคัญที่มวลมหาประชาชน หรือคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์
ทรงเป็นประมุข (กปปส.) นำโดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ หรือ “ลุงกำนัน” ได้ออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาล
ของนางสาวยิ่งลักษณ์ จนกระทั่งอดีตนายกรัฐมนตรีตัดสินใจประกาศยุบสภาเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ แต่ทว่า
ความตึงเครียดทางการเมืองที่โหมระอุกลับไม่มีทีท่าคลี่คลายลงแต่อย่างใด กองทัพภายใต้การนำของ
พลเอกประยุทธ์ที่เข้ามามีบทบาทสร้างพื้นที่ในการเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้งแต่ไม่เป็นผล จึงได้ทำการยึดอำนาจ
ในที่สุด
จาก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสู่พลังมวลมหาประชาชน
กำเนิดของขบวนการมวลมหาประชาชน หรือคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เกิดขึ้นจากวิกฤต
ความชอบธรรมของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ที่ได้ตัดสินใจเดินหน้าผลักดันร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม
แก่ผู้ซึ่งกระทำความผิดเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง การแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ที่ถูกเสนอโดยนายวรชัย เหมะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดสมุทรปราการ พรรคเพื่อไทย และคณะ หรือที่ถูกเรียกว่า
“ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแบบเหมาเข่ง” หรือ “ร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมฉบับสุดซอย”
ที่หลายฝ่ายวิจารณ์ว่าเอื้อประโยชน์ให้กับอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร ผู้ลี้ภัยการเมืองอยู่ในต่างประเทศ
จากเหตุการณ์ดังกล่าวรัฐบาลถูกแรงต้านอย่างหนักจากทั้งภายในและนอกสภา โดยเฉพาะการที่สมาชิกบางส่วนของพรรคฝ่ายค้านอย่างพรรคประชาธิปัตย์ได้เคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลด้วยการจัดตั้งเวทีการชุมนุมบนท้องถนน โดยเริ่มต้นที่บริเวณสถานีรถไฟสามเสนเป็นแห่งแรกและได้ขยายไปสู่พื้นที่อื่นๆ แกนนำคนสำคัญอย่าง
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วยแกนนำและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร
อีกหลายคนของพรรคตัดสินใจลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคเพื่อมาเป็นแกนนำการชุมนุม
แม้จุดเริ่มต้นของการชุมนุมจะเริ่มมาจากประเด็นต่อต้านร่างพระราชบัญัติญัตินิรโทษกรรม แต่เมื่อการชุมนุมต่อต้านลุกลามออกไป จนส่งผลให้รัฐบาลยอมถอนร่างพระราชบัญัติญัติดังกล่าวออกจากระเบียบ
วาระการพิจารณาของสภา ทว่าการชุมนุมที่ถูกจุดติดขึ้นแล้วกลับได้ยกระดับจากการต่อต้านร่างพระราชบัญญัติ
นิรโทษกรรมมาสู่ปฏิบัติการขับไล่รัฐบาล นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ผู้คร่ำหวอด
ในวงการเมืองได้ผันบทบาทกลายมาเป็น “ลุงกำนัน” ของผู้ชุมนุมที่เรียกตนเองว่ามวลมหาประชาชน จัดการชุมนุมขึ้นต่อเนื่องโดยปักหลักอยู่บนถนนสายประวัติศาสตร์อย่างถนนราชดำเนิน รวมถึงมีการจัดตั้งเวทีในลักษณะคู่ขนานขึ้นในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่บริเวณศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะที่เป็นอีกหนึ่งเวทีใหญ่ แกนนำได้ประกาศเจตนารมณ์ของการชุมนุมเพื่อที่จะโค่นล้ม “ระบอบทักษิณ” ที่ถูกมองว่าคือสาเหตุแท้จริงที่นำมาสู่วิกฤตหลายๆ อย่างของประเทศ
การชุมนุมขับไล่รัฐบาลของมวลมหาประชาชนซึ่งเป็นเสมือนชื่อเล่นของคณะกรรมการประชาชน
เพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) อาจมองได้ว่านี่คือการสานต่อเจตนารมณ์ของขบวนการพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
หรือที่เรียกว่า “คนเสื้อเหลือง” ที่เคยออกมาชุมนุมเพื่อโค่นล้ม “ระบบทักษิณ” ในช่วงปลายปี พ.ศ.2547 จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 และยังมีบทบาทในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลพรรคพลังประชาชนในสมัยรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ในช่วงปี พ.ศ.2551
รวมถึงยังเป็นคู่ขัดแย้งตรงข้ามกับฝั่ง “คนเสื้อแดง” หรือขบวนการแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ในเหตุการณ์วิกฤตการเมืองในช่วงปี พ.ศ.2553
ปฏิบัติการทางการเมืองของขบวนการ กปปส. จึงมุ่งมั่นที่จะโค่นล้มรัฐบาลพรรคเพื่อไทยของ
นางสาวยิ่งลักษณ์ที่ถูกมองว่าเป็นอีกช่วงของระบอบทักษิณ ทางแกนนำได้นำพามวลชนจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ ที่สำคัญคือปฏิบัติการ “ดาวกระจาย” เข้ายึดสถานที่ราชการหลายแห่ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการ “ชัตดาวน์กรุงเทพฯ” รวมถึงการนำพามวลชนเดินขบวนเพื่อประกาศเจตนารมณ์การเคลื่อนไหวและเรี่ยไรเงินจากผู้สนับสนุน โดยกล่าวว่าจะนำไปช่วยเหลือชาวนาที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรับจำนำข้าวที่ถูกโจมตีว่าเป็นการดำเนินนโยบายที่ทุจริตและผิดพลาดของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์จนส่งผลเสียหายกับประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง ปฏิบัติการต่างๆ เหล่านี้ดำเนินไปพร้อมกับภาพของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นเป็นระยะ เช่น มีการขว้าง
ปาระเบิดใส่ขบวนของผู้ชุมนุม หรือการพบวัตถุระเบิดในบริเวณเส้นทางเดินของผู้ชุมนุม เป็นต้น เหตุการณ์เหล่านี้ยิ่งส่งผลให้สถานการณ์การเผชิญหน้าระหว่างมวลมหาประชาชนและรัฐบาล ตลอดถึงประชาชนที่สนับสนุนแนวทางการเมืองแต่ละฝ่ายทวีความตึงเครียดขึ้นทุกขณะ
วิกฤตการเมืองและการยึดอำนาจ
ภายใต้สถานการณ์ความขัดแย้งที่ทวีขึ้น ในที่สุดนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี
และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในขณะนั้นได้ประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร และกำหนดให้มีการเลือกตั้ง
ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2557 โดยการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นครั้งนี้ พรรคประชาธิปัตย์ได้บอยคอตไม่ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ขณะที่ในหลายหน่วยเลือกตั้งมีชุมนุมของกลุ่ม กปปส. พยายามเข้าขัดขวางผู้มาใช้สิทธิ และในภายหลังต่อมาศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้งที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2557 เป็นโมฆะ เนื่องจากไม่สามารถจัดการเลือกตั้งทุกหน่วยให้แล้วเสร็จในวันเดียวกันได้
ต่อมาศาลรัฐธรรมนูญยังได้มีคำวินิจฉัยให้นางสาวยิ่งลักษณ์ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยรัฐมนตรีรวมทั้งหมด 9 คน ในกรณีใช้ตำแหน่งแทรกแซงการโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ออกจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) โดยให้ไปปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ตามคำฟ้องของนายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกวุฒิสภา คณะรัฐมนตรีจึงมีมติให้นายนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล
ปฏิบัติหน้าที่แทนในตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี แม้จะอยู่ในฐานะรัฐบาลรักษาการ แต่กลุ่ม กปปส. ก็ยังคงเดินหน้ากดดันรัฐบาลอย่างหนัก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ผู้ซึ่งถูกจับตามองในฐานะผู้นำกองทัพซึ่งเป็นสถาบันที่ทรงอำนาจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะวิกฤตหัวเลี้ยวหัวต่อ จึงได้ประกาศกศอัยการศึก
ในวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2557 และมีการจัดตั้งกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (กอ.รส.)
ขึ้นโดยมีพลเอกประยุทธ์เป็นผู้อำนวยการ
ในวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2557 กองทัพโดย กอ.รส. ได้จัดการประชุมที่สโมสรกองทัพบก ถนนวิภาวดี–รังสิต โดยเชิญตัวแทน 7 ฝ่ายเข้าเจรจาเพื่อหาทางคลี่คลายสถานการณ์ ประกอบด้วย ผู้แทนคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ผู้แทนแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ผู้แทนรัฐบาล ผู้แทนพรรคเพื่อไทย
ผู้แทนพรรคประชาธิปัตย์ ผู้แทนคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) และผู้แทนจากวุฒิสภา การประชุมดำเนินไปอย่างตึงเครียดจนกระทั่งวันที่ 22 ซึ่งเป็นการประชุมครั้งที่ 2 พลเอกประยุทธ์ได้สอบถามยังนายชัยเกษม นิติสิริ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะหัวหน้าคณะฝ่ายรัฐบาล ซึ่งยังคงยืนยันว่ารัฐบาลยังไม่ลาออก
ทั้งรายบุคคลและคณะ ทำให้พลเอกประยุทธ์ประกาศในที่ประชุมถึงการยึดอำนาจการปกครอง หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ทหารจึงได้เข้าควบคุมตัวผู้ร่วมประชุมแต่ละคน และพาขึ้นรถเดินทางออกไปโดยที่ไม่ทราบเป้าหมายปลายทางในขณะนั้น
การรัฐประหารที่เกิดขึ้นมีผลทำให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 เป็นอันยุติลง โดยต่อมาพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งมีทั้งสิ้น 48 มาตรา
ที่สำคัญคือในมาตรา 44 ได้ให้อำนาจกับหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติมีอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ไม่ว่าจะเป็นการกระทำที่ผลบังคับในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหารหรือในทางตุลาการก็ตาม
บทบาทกองทัพจากผู้ป้องกันระงับเหตุความรุนแรงสู่การเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมือง
ภายหลังยึดอำนาจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกคำสั่งเรียกบุคคลต่างๆ เข้ารายงานตัวพร้อมสั่งห้ามทำกิจกรรมการเมือง โดยเฉพาะมุ่งไปยังผู้ที่อยู่ใน “ขั้วอำนาจเก่า” โดยในห้วงเวลาดังกล่าว
มีการจำกัดสิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกทางการเมืองของประชาชน ผู้ที่เคลื่อนไหวต่อต้านหรือแสดงออก
ถึงความเห็นต่างจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่างถูกจับกุมคุมขัง ดำเนินคดีหรือเรียก “ปรับทัศนคติ” โดยตลอดช่วงเวลาที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อยู่ในอำนาจ มีประชาชนถูกเรียกเข้ารายงานตัว
ในค่ายทหารหรือเข้าสู่กระบวนการ “ปรับทัศนคติ” เป็นจำนวนถึงเกือบ 1 พันรายด้วยกัน
เมื่อจัดตั้งรัฐบาลขึ้นโดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี พร้อมกับควบตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีการวางแนวทางเพื่อปฏิรูปประเทศผ่าน “แม่น้ำ 5 สาย” อันประกอบด้วย
สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และสุดท้ายคือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ซึ่งถือได้ว่าเป็นผู้ที่ถือกุมอำนาจอย่างแท้จริง รัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ประกาศถึงแผนโรดแมป (Roadmap) เพื่อปฏิรูปประเทศและสร้างความปรองดอง โดยหลังจากนั้นได้มีการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ
เป็นประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ทว่าภายหลังจากการยกร่างแล้วเสร็จ ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว
ได้ถูกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีเสียงไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ 135 เสียง ขณะที่เสียงเห็นชอบมีเพียง 105 เสียง และงดออกเสียงจำนวน 7 คน คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
จึงได้แต่งตั้งคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ขึ้น มีจำนวนทั้งสิ้น 21 คน โดยที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์
เป็นประธานคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดดังกล่าว ร่างรัฐธรรมนูญฉบับคณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญซึ่งมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธานฯ ได้ผ่านขั้นตอนให้ประชาชนออกเสียงประชามติและในที่สุดได้ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ พ.ศ.2560 ทำให้มาตรา 44 เป็นอันสิ้นสุดลง แต่อย่างไรก็ตาม
ในบทเฉพาะกาลมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ พ.ศ.2560 ก็ยังคงรับรองอำนาจพิเศษทั้งหลายของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ยังคงอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ภายหลังการเลือกตั้งครั้งแรกเข้ามาทำหน้าที่
เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับถาวรถูกประกาศใช้ภายหลังจากผ่านช่วงเวลาในกระบวนการร่างที่ยืดเยื้อยาวนาน แรงกดที่มีต่อรัฐบาลของคณะรักษาความสงบแห่งชาติให้รีบให้มีการจัดการเลือกตั้งจึงทวีขึ้นทุกขณะ ทั้งแรงกดดันจากนานาประเทศ รวมถึงประชาชนในประเทศเองได้มีการแสดงออกและจัดกิจกรรมทางการมเมืองเพื่อเรียกร้องให้มีการจัดการเลือกตั้ง อาทิ การเคลื่อนไหวของ “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” ที่ประกอบด้วยนักกิจกรรมทางการเมืองและประชาชนจำนวนหนึ่งซึ่งจัดกิจกรรมในรูปแบบของการนัดชุมนุมและปราศรัยช่วงสั้นๆ ตามสถานที่สำคัญต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เป็นต้น ภายหลังจากที่รัฐบาลได้ประวิงเวลาเข้าสู่การเลือกตั้งโดยได้มีการประกาศเลื่อนการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจากกำหนดเดิมหลายต่อหลายครั้ง จนในที่สุดรัฐบาลก็ได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไป พ.ศ.2562 และกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2562 โดยในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นนี้มีหลายพรรคการเมืองถูกจัดตั้งขึ้นมาใหม่ และที่สำคัญคือพรรคพลังประชารัฐที่ประกาศสนับสนุนและได้เสนอชื่อของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี
ของพรรค ทำให้หลายฝ่ายมองว่านี่คือความพยายามสืบทอดอำนาจของพลเอกประยุทธ์และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ผ่านพรรคการเมืองในระบบรัฐสภา จากกระแสเรียกร้องกดดันให้มีการจัดการเลือกตั้งตลอด
ช่วงที่ผ่านมาจึงถูกปรับเปลี่ยนมาเป็นการรณรงค์เรียกร้องเพื่อต่อต้านการสืบทอดอำนาจของพลเอกประยุทธ์
และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
บทสรุป
แม้กองทัพจะเข้ามามีบทบาทในฐานะคนกลางที่พยายามสร้างพื้นที่เจรจาให้กับทุกฝ่ายเพื่อคลี่คลายความขัดแย้ง แต่เมื่อพลเอกประยุทธ์ได้ตัดสินใจนำกองทัพเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน ก็ได้ผลักให้กองทัพกลาย
มาเป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองกับประชาชนจำนวนมากอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง เนื่องด้วยการรัฐประการที่เกิดขึ้นนั้น เกิดห่างจากการรัฐประหารครั้งก่อนหน้าเพียงไม่ถึง 8 ปี และตลอดช่วงเวลาดังกล่าวเมืองไทยยังคงอยู่ภายใต้บรรยากาศของวิกฤตความขัดแย้งสีเสื้อที่ดำเนินยืดเยื้อและปะทุขึ้นเป็นความรุนแรงระลอกแล้วระลอกเล่า
ปฏิเสธไม่ได้ว่าประชาชนจำนวนมากคอยจับตามองบทบาทท่าทีของกองทัพด้วยสายตาที่หวาดระแวง ไม่ไว้ใจ
ว่ากองทัพจะเข้ามาแทรกแซงการเมืองเมื่อใด ยิ่งเมื่อหลังจากยึดอำนาจสำเร็จแล้วยังไม่มีแนวโน้มท่าทีที่กองทัพ
จะรีบจัดการเลือกตั้งหรือคืนอำนาจให้กลับสู่รัฐบาลพลเรือน ตรงข้ามกับยิ่งแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการสืบทอดอำนาจก็ยิ่งทำให้กองทัพและรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ต้องเผชิญกระแสต่อต้านที่รุนแรงยิ่งขึ้น มิพัก
ต้องกล่าวถึงกระแสข่าวว่าการยึดอำนาจเกิดขึ้น เกิดมาจากการสมคิดและวางแผนมาเป็นอย่างดีดังที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ได้เคยให้ข่าวไว้ว่าเขากับพลเอกประยุทธ์ได้ร่วมกันวางแผนที่จะโค่นล้มรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2553
บรรณานุกรม
“2 กุมภาฯ จากเลือกตั้ง “โมฆะ” ถึงตั้งข้อหา “คนอยากเลือกตั้ง”.” บีบีซีไทยออนไลน์. (1 กุมภาพันธ์ 2561). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-42898615>. เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564.
“5 ปีผ่านมา คสช.ทำอะไรกับคนที่เห็นต่าง เสวนา “NEVER AGAIN หยุด ย่ำ ซ้ำ เดิน” กำลังพาไปเข้าใจอีกด้านหนึ่งของความสงบที่ คสช. มอบให้'.” Bottomline. (14 สิงหาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://bottomlineis.co/Social_Plitics_Never%20again>. เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564.
“คสช. ตั้ง 21 กรรมการร่าง รธน. “มีชัย ฤชุพันธุ์” นั่งประธาน มีทหารติดโผ 3 คน – ตั้งสภาขับเคลื่อนปฏิรูปฯ แล้ว.” ไทยพับลิก้า. (5 ตุลาคม 2558). เข้าถึงจาก <https://thaipublica.org/2015/10/ncpo-watch-29/>. เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564.
“จากผู้นำรัฐประหารสู่นายกฯ พลเรือน 7 ปีของ พล.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับการ ยึด-ผ่อน-รวบ อำนาจ.” บีบีซีไทยออนไลน์. (21 พฤษภาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-57196551>. เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564.
ฐิติกร สังข์แก้ว และ อรรถสิทธิ์ พานแก้ว. “แม่น้ำ 5 สาย.” สถาบันพระปกเกล้า, เข้าถึงจาก <http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title=แม่น้ำ_5_สาย>. เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564.
“ด่วน! ศาลรธน.ฟัน'ยิ่งลักษณ์'พ้นตำแหน่ง.” กรุงเทพธุรกิจออนไลน์. (7 พฤษภาคม 2557). เข้าถึงจาก <https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/580572>. เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564.
“นายกฯ แถลงด่วน สภาถอนทุกร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม วอนยุติชุมนุม.” ประชาไท. (7 พฤศจิกายน 2556). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2013/11/49647>. เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564.
“บอยคอต ไม่ลงเลือกตั้ง มติปชป..” ไทยรัฐออนไลน์. (22 ธันวาคม 2556). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.
co.th/content/390919>. เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564.
“"มาตรา 44" ครบ 200 ฉบับ ใช้ทุกประเด็นปัญหาแบบตามใจชอบ.” iLaw. (21 พฤศจิกายน 2561). เข้าถึงจาก <https://ilaw.or.th/node/5041>. เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564.
““ยิ่งลักษณ์”ประกาศยุบสภาแล้ว.” โพสต์ทูเดย์ออนไลน์. (9 ธันวาคม 2556). เข้าถึงจาก <https://www.
posttoday.com/politic/news/263681>. เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564.
“ย้อนนาที 'ประยุทธ์' ทุบโต๊ะ ยึด'อำนาจ' สู่ 'รัฐประหาร'.” ไทยรัฐออนไลน์. (23 พฤษภาคม 2557). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/content/424643>. เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564.
“รัฐบาล-กกต.เลื่อนเลือกตั้ง ครั้งที่ 5 สั่นสะเทือนโรดแมป 24 กุมภาฯ.” ประชาชาติธุรกิจออนไลน์. (7 มกราคม 2562). เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/politics/news-274655>. เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564.
“สปช.โหวตคว่ำ 21 อรหันต์ ร่างรธน.ใหม่.” ไทยรัฐออนไลน์. (7 กันยายน 2558). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/content/523451>. เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564.
“สภาฉลุย!ผ่านนิรโทษสุดซอยวาระ3.” โพสต์ทูเดย์ออนไลน์. (1 พฤศจิกายน 2556). เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/256324>. เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564.
สังศิต พิริยะรังสรรค์. (2559) เศรษฐศาสตร์การเมืองแนวใหม่ การลงโทษโดยสังคม Social Sanctions (ปทุมธานี: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยรังสิต), น.304-305.
อรรถสิทธิ์ พานแก้ว, “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง.” สถาบันพระปกเกล้า. เข้าถึงจาก <http://wiki.kpi.ac.th/index.
php?title=กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง>. เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564.
“Suthep in talks with Prayuth ‘since 2010’.” Bangkok Post online. (23 June 2014). เข้าถึงจาก <https://www.bangkokpost.com/thailand/politics/416810/suthep-in-talks-with-prayuth-since-2010>. เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2564.