สำรวจเขตปกครองท้องถิ่นชนบทอเมริกา : เคาตี้แจสเปอร์ รัฐเท็กซัส
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร
วารสารสถาบันพระปกเกล้า 2551 ฉบับ 1
สำรวจเขตปกครองท้องถิ่นชนบทอเมริกา : เคาตี้แจสเปอร์ รัฐเท็กซัส
ห่างไปทางด้านตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองออสตินที่เป็นเมืองหลวงของรัฐเท็กซัสของสหรัฐอเมริกา คำนวณเวลาเดินทางด้วยรถยนต์ประมาณ 3 ชั่วโมง ก็จะถึงเมืองแจสเปอร์ซึ่งเป็นที่ตั้งของที่ทำการเขตปกครองที่เรียกว่า เคาตี้ ( County ) ของรัฐแท็กซัสแห่งหนึ่ง
รูปแบบเขตปกครองส่วนท้องถิ่นที่เรียกกันว่า เคาตี้ของสหรัฐอเมริกานี้ เป็นเขตปกครองที่น่าสนใจศึกษาหาความรู้อยู่มากที่เดียว การศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับเขตปกครองท้องถิ่นประเภทนี้ มิใช่มุ่งศึกษาเพื่อจะเอามาเป็นแบบอย่างของการปกครองท้องถิ่นของไทยแบบใดแบบหนึ่ง หากเพื่อมีความเข้าใจและรู้ถึงการจัดรูปแบบการปกครองท้องถิ่นอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งมีทั้งความแตกต่างและความเหมือน มีทั้งข้อดีและข้อด้อย มีทั้งส่วนที่เหมาะสมในสังคมของอเมริกา และส่วนที่เป็นปัญหา
ที่น่าสังเกตก็คือรูปแบบเขตปกครองที่ให้มีการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่นนั้นมีมานานก่อนที่สหรัฐอเมริกาจะประกาศเอกราชเมื่อ ค.ศ. 1776 เสียด้วยซ้ำไป เพราะอังกฤษเองก็มีแนวคิดเรื่องกระจายอำนาจเพื่อให้คนในท้องถิ่นรับผิดชอบและให้บริการสาธารณะในเขตท้องถิ่นมาในดินแดนที่เกาะอังกฤษเองนานแล้ว
แต่ถ้าดูกรณีของเขตปกครอง เคาตี้แจสเปอร์ นั้นย้อนไปได้ตั้งแต่เมื่อตั้งสาธารณรัฐเท็กซัสในปี ค.ศ. 1836 นั้นก็คือเมื่อเป็นเอกราชจากประเทศแม็กซิโกเลยทีเดียว นับมาถึงบัดนี้ก็เป็นเวลากว่า 170 ปีแล้ว แสดงว่าท้องถิ่นในบริเวณนี้ได้รับการปกครองตนเองที่มีอิสระพอควรมานาน การปกครองตนเองในท้องถิ่นนี้เรียกกันว่า Municipality หรือเทศบาล
โดยทั่วไปในปัจจุบันเขตปกครองส่วนท้องถิ่นแบบ เคาตี้ นี้จะแบ่งได้คราวๆ เป็นเคาตี้เขตเมืองกับเคาตี้เขตชนบท ในที่นี้ต้องการนำเสนอรูปแบบเคาตี้เขตชนบท ซึ่งจากจำนวนเคาตี้ทั้งหมดจำนวน 254 เคาตี้ มีตัวเลือกของเคาตี้เขตชนบทอยู่หลายแห่ง การที่เลือก เคาตี้แจสเปอร์ นั้นนอกจากเป็นเคาตี้เขตชนบทตามที่ต้องการแล้ว ตามประวัติศาสตร์ที่ย้อนไปดูก็พบว่าเป็นหนึ่งในเขตปกครองท้องถิ่นที่เรียกว่า “เทศบาล” จำนวน 23 แห่งดั้งเดิมมาตั้งแต่สมัยสเปน มีอำนาจปกครอง และเป็นเขตปกครองเทศบาลเดิมที่เมื่อมาเป็นส่วนหนึ่งสาธารณรัฐเท็กซัสอันอิสระในปี ค.ศ. 1835 ก็ได้เปลี่ยนมาเป็น เขตปกครองเคาตี้ตั้งแต่แรก ครั้นเท็กซัสเข้ามาเป็นมลรัฐหนึ่งของสหรัฐอเมริกา ในปี ค.ศ. 1845 จำนวนเขตปกครองเคาตี้ในรัฐเทกซัสมีจำนวนทั้งหมด 36 เคาตี้ ดังนั้นจึงมีความเป็นมาที่ยาวนานมาก
เมื่อมาดูที่ขนาดพื้นที่ของเขตเคาตี้แจสเปอร์เองก็พบว่ามีพื้นที่กว้างขวางพอสมควร ไม่ได้เป็นเขตเคาตี้ที่มีขนาดเล็กมากหรือใหญ่มากจนเกินไป เป็นเคาตี้ที่มีประชากรอยู่เป็นจำนวนพอควรกระจายกันไปตามเมืองใหญ่บ้างเล็กบ้างในพื้นที่ คือมีประชากรในเคาตี้ทั้งหมดประมาณ 3 หมื่นห้าพันกว่าคน จำนวนประชากรในเขตเคาตี้ที่เพิ่มและลดที่มีอยู่บ้างก็ค่อนข้างจะคงที่ไม่เพิ่มมากหรือลดมาก ถ้าเทียบกับเค้าตี้ที่เล็กที่สุดได้แก่ เคาตี้ร๊อควอลส์ (Rockwall’s) มีพื้นที่เพียง 148.6 ตารางไมล์ และเคาตี้ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดคือเค้าตี้บริวสเตอร์ (Brewster) มีพื้นที่กว้างขวางถึง 6,193.1 ตารางไมล์ ปรากฏว่าเคาตี้แจสเปอร์มีพื้นที่ทั้งหมด 969.6 ตารางไมล์ หรือ 2,511 ตารางกิโลเมตร นับว่าไม่น้อย เพราะเท่ากับพื้นที่ขนาดจังหวัดบางแห่งของประเทศไทย คือจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่มีพื้นที่ 2,566.6 ตารางกิโลเมตร เมื่อเปรียบเทียบในเรื่องพื้นที่ประเทศไทยและรัฐเท็กซัสมีพื้นที่ใกล้เคียงกัน รัฐเท็สซัสมีพื้นที่ 267,277 ตารางไมล์
เมื่อเท็กซัสเปลี่ยนฐานะเป็นรัฐหนึ่งของสหรัฐฯ และมีธรรมนูญของรัฐปี ค.ศ. 1845 นั้นเขตปกครองที่เป็นเทศบาลเดิมก็เปลี่ยนมาเป็นเขตปกครองเคาตี้ และองค์กรปกครองในมลรัฐเท็กซัสก็มีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนักจากองค์กรปกครองท้องถิ่นที่มาก่อนสมัยที่เป็นรัฐอิสระ เว้นแต่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญก็คือตำแหน่งเจ้าหน้าที่สำคัญของเคาตี้ทั้งหมดต้องเป็นตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้ง จำนวนเขตปกครองเคาตี้ในรัฐเท็กซัสในปี ค.ศ.1861 ตอนที่เท็กซัสเข้าร่วมสหพันธ์ (Confederacy) นั้นได้เพิ่มขึ้นมากพอสมควร คือเพิ่มเป็นจำนวน 122 เขตเคาตี้ จนกระทั่งหลังสงครามกลางเมืองในสหรัฐฯ และธรรมนูญของรัฐเท็กซัสที่ประกาศใช้ในปี ค.ศ.1876 ที่ได้กำหนดโครงสร้างขององค์กรต่างๆในรัฐ รวมทั้งเขตปกครองเคาตี้เอาไว้ จำนวนเขตปกครองเคาตี้ในรัฐเท็กซัสได้เพิ่มจำนวนขึ้นตามลำดับ ภายในระยะเวลาประมาณ 50 กว่าปี จนถึง ค.ศ.1931 จำนวนเขตปกครองเคาตี้ในรัฐเท็กซัสได้เพิ่มเป็น 254 เคาตี้ และมีจำนวนคงที่เท่าเดิมมาจนถึงปัจจุบัน
สำหรับเขตปกครองเคาตี้แจสเปอร์นั้น ดังที่ได้กล่าวมาตอนต้นแล้วว่าเป็นเขตที่อยู่ทางตอนเหนือของเมืองออสตินไปทางทิศตะวันออกอยู่ที่บริเวณที่เรียกกันว่า ดีปอีสเท็กซัส (Deep East Texas) ซึ่งเป็นบริเวณที่เป็นป่าลึกอยู่ที่ชายแดนของรัฐด้านตะวันออกติดกับรัฐหลุยส์เซียน่า เขตปกครองเคาตี้แจสเปอร์แต่เดิมมานั้นมีขนาดใหญ่มาก คือขนาดพื้นที่ประมาณ 2 เท่าของพื้นที่ปัจจุบัน หากแต่ว่าในปี ค.ศ.1846 เขตปกครองเคาตี้แจสเปอร์ได้ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกมีพื้นที่ใหญ่กว่าเล็กน้อยซึ่งก็ยังเป็นเขตปกครองเคาตี้ชื่อแจสเปอร์เหมือนเดิม ส่วนที่สองอยู่ทางด้านตะวันออกที่ติดกับรัฐหลุยส์เชียน่ามีพื้นที่ 939.5 ตารางไมล์ นั้นแยกตั้งเป็นเขตปกครองเคาตี้เหมือนกันชื่อเคาตี้นิวตัน (Newton County)
จากผลการสำรวจประชากร ค.ศ. 2000 ปรากฏว่าเขตปกครองเคาตี้แจสเปอร์มีประชากรจำนวน 35,604 คน โดยเป็นครอบครัวจำนวน 13,450 ครอบครัว และเมื่อดูที่รายละเอียดเกี่ยวกับเชื้อชาติเดิมของประชากรจะพบว่าคนในเขตปกครองแจสเปอร์ซึ่งเป็นพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศสหรัฐฯ กลับมีประชากรที่เป็นคนผิวดำไม่มากนัก คือมีเพียงร้อยละ 17.81 เท่านั้น ในขณะที่ประชากรจำนวนมากถึงร้อยละ 78.24 เป็นคนผิวขาว ถ้าย้อนไปดูจากประวัติศาสตร์จะพบว่าคนเชื้อสายอังกฤษได้มาตั้งหลักแหล่งที่บริเวณนี้มาก ไม่ว่าจะเป็นคนในตระกูล Debney ซึ่งเป็นช่างก่ออิฐชาวอังกฤษอย่างน้อยพี่น้องสามคนก็ได้มาก่อร่างสร้างฐานะอยู่ที่เมืองนี้ตั้งแต่ต้นศตวรรษที่ 20 คือราว ๆ ค.ศ. 1901 และถึงวันนี้ก็ยังมีคนในตระกูลนี้อาศัยอยู่ในเมืองแจสเปอร์
ที่น่าสังเกตก็คือพวกคนเชื้อสายแมกซิโกหรือพวกที่เรียกกันว่าพวก “ฮีสปานิก” บ้าง พวก“ลาติโน” บ้าง พวกนี้มีอยู่ถึงจำนวนร้อยละ 3.89 และเชื่อว่าน่าจะเพิ่มมากขึ้น เพราะคนเข้าเมืองผิดกฎหมายจากประเทศเม็กซิโกเป็นจำนวนมากได้เข้าสู่ประเทศสหรัฐอเมริกาทางรัฐเท็กซัส เพราะรัฐนี้มีพรมแดนที่ยาวมากติดกับประเทศเม็กซิโก บางแห่งก็เป็นพื้นที่บนบก บางแห่งก็มีเพียงแม่น้ำชื่อ Rio Grand เป็นเส้นกั้นแบ่งเขตประเทศ และเนื่องจากรัฐเท็กซัสเป็นดินแดนที่คนพื้นเมืองอเมริกาที่เป็นเจ้าของแผ่นดินมาเดิมคือพวกคนอินเดียนแดงอยู่ ดังนั้นทุกวันนี้จึงยังมีคนเชื้อสายอินเดียนแดงอยู่ในรัฐเท็กซัส และมีเขตอนุรักษ์เฉพาะสำหรับคนพื้นเมืองให้อินเดียนแดงบางเผ่าอยู่ด้วย ที่เขตปกครองเคาตี้แจสเปอร์เองก็มีคนพื้นเมืองอยู่ร้อยละ 0.42 ถ้าคิดในอัตรานี้แสดงว่ามีคนพื้นเมืองเจ้าของแผ่นดินเดิมอยู่เพียงร้อยกว่าคนเท่านั้นเอง
สภาพพื้นที่ของเขตปกครองเคาตี้แจสเปอร์นั้นเป็นรูปเรียวยาวดูเหมือนท่อนขาคนจากช่วงสะโพกลงไปสู่ปลายขา มีเมืองแจสเปอร์ชื่อเดียวกับเขตปกครองตั้งอยู่ตรงกลางระหว่างทิศตะวันตกและตะวันออกโดยใกล้ไปทางเหนือของเขตเป็นเมืองหลักที่ตั้งของที่ทำการเขตปกครองเคาตี้แจสเปอร์ด้วย และเป็นเมืองใหญ่ที่สุดในบรรดาเมืองทั้งหมดในเขตปกครองนี้ คือมีประชากรจำนวน 8,547 คน ในเขตปกครองเคาตี้นี้นอกจากเมืองแจสเปอร์แล้วยังมีเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กอีก 6 เมือง ได้แก่เมืองอีวาเดล (Evadale) ที่อยู่ใต้สุดของเขตปกครองติดกับเขตปกครองเคาตี้ฮาร์ดิน (Hardin) ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้และเขตปกครองเคาตี้ออร์เรนจ์ (Orange) ทางด้านใต้
หากไล่เรียงจากเมืองอีวาเดลขึ้นมาทางเหนือที่มีถนนสายที่ 96 ที่ตัดผ่านจากใต้ขึ้นไปทางเหนือ ถัดขึ้นมาก็จะเป็นเมืองบูนา (Buna) และวิ่งขึ้นไปทางเหนืออีกก็จะเป็นเมืองเคอร์บี้วิล (Kirbyville) แล้วจึงมีทางแยกออกไปทางทิศตะวันตกเล็กน้อยไปที่เมืองเล็ก ๆ ชื่อเมืองแมกโนเลียสปริงคซ์ (Magnolia Springs) แล้วจึงกลับมาเข้าถนนสายที่ 96 ไปผ่านเมืองแจสเปอร (ดูตามแผนที่) มุ่งไปทางเหนือตามถนนสายที่ 96 เหมือนเดิมก็จะไปที่เมืองบราวเดล (Browndell) ก่อนที่จะถึงเมือง บรู๊กแลนด์ (Brookland) ที่อยู่เหนือสุดของเขตปกครองเคาตี้แจสเปอร์ติดกับเขตปกครองเคาตี้ซาบีน (Sabine)
ดังนั้นเขตปกครองเคาตี้แจสเปอร์จึงเป็นเขตปกครองที่มีเมืองขนาดกลางและขนาดเล็กให้ศึกษารูปแบบของเทศบาลได้ด้วย เพราะเทศบาลก็เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบหนึ่งในรัฐเท็กซัส
สำหรับรูปแบบการปกครองท้องถิ่นรูปแบบที่ 3 ต่อจากเขตปกครองเคาตี้ และเทศบาลที่มีอยู่ในเขตปกครองเคาตี้แจสเปอร์อีกประเภทหนึ่งที่ประเทศไทยไม่มี และมีการกล่าวถึงกันพอสมควรได้แก่เขตการศึกษาที่เรียกเป็นศัพท์ของอเมริกันว่า School District ก็ปรากฏในเขตปกครองเคาตี้แจสเปอร์นี้มีเขตการศึกษาที่เป็นรูปแบบการปกครองท้องถิ่นในรูปคณะกรรมการที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอยู่ถึง 5 เขตการศึกษา ได้แก่เขตการศึกษาบรูคแลนด์ ที่อยู่ทางเหนือของเขตปกครองเคาตี้ เขตการศึกษาบรูคแลนด์นี้ครอบคลุมพื้นที่ในการดูแลทั้งบริเวณเมืองบรูคแลนด์เองและบริเวณเมืองบราวเดลด้วย ไล่ตัวลงมาทางใต้ก็มีเขตการศึกษาแจสเปอร์ที่มีอาณาบริเวณดูแลเรื่องการศึกษาใหญ่ที่สุดในเขตปกครองเคาตี้นี้เลยทีเดียว ใกล้ลงมาอีกก็เป็นเขตการศึกษาเคอร์บีวิล ที่มีพื้นที่ดูแลทั้งเมืองเคอร์บี้วิล และเมืองเล็กอย่างแมกโนเลีย สปริงคซ์ ด้วย ไล่ถึงลงมาอีกเป็นเขตการศึกษาบูนาที่มีพื้นที่ดูแลบริเวณเมืองบูนา ส่วนเขตการศึกษาสุดท้ายอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเขตปกครองเคาตี้แจสเปอร์ก็คือเขตการศึกษา อีวาเดล ซึ่งเป็นเขตการศึกษาที่เล็กที่สุดในเขตปกครองเคาตี้แห่งนี้
นอกจากนั้นในเขตปกครองเคาตี้แจสเปอร์ยังมีการปกครองรูปแบบที่สี่ที่มีอยู่คล้ายกับที่มีในเขตปกครองเคาตี้อื่น ๆ ในรัฐเท็กซัสให้ศึกษาเปรียบเทียบดูได้ด้วยคือเขตท้องถิ่นพิเศษ (Special District) ซึ่งก็เหมือนกันกับเทศบาลและเขตการศึกษาอยู่อย่างหนึ่งคือเป็นเขตท้องถิ่นพิเศษที่มีความเป็นอิสระไม่อยู่ในสายบังคับบัญชาโดยตรงหรืออ้อมจากเขตปกครองเคาตี้แต่อย่างใด ตัวอย่างล่าสุดที่มีเขตท้องถิ่นพิเศษตั้งขึ้นในเขตปกครองเคาตี้แจสเปอร์ก็คือเขตท้องถิ่นพิเศษที่ดูแลเรื่องการอนุรักษ์น้ำ ชื่อเขตอนุรักษ์น้ำใต้ดินด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเท็กซัส (the Southeast Texas Ground Water Conservation District) ที่จริงเขามีเขตท้องถิ่นพิเศษอย่างอื่นอยู่เหมือนกัน
แต่กรณีเขตอนุรักษ์น้ำใต้ดินด้านตะวันออกเฉียงใต้ของเท็กซัสนี้น่าสนใจมากคือเพิ่งจะตั้งขึ้นมาใหม่ไม่กี่ปีนี่เอง ขอบเขตหน้าที่และงานก็คือดูแลเรื่องน้ำใต้ดินในพื้นที่ซึ่งทางเขตรับผิดชอบอยู่ เขตท้องถิ่นพิเศษอย่างนี้โดยทั่วไปมักมีพื้นที่รับผิดชอบข้ามพรมแดนเขตปกครองเคาตี้ออกไปมีทั้งเขตปกครองเคาตี้หลาย ๆ แห่งรวมกัน หรือบางทีก็อาจเพียงสองเขตปกครองเคาตี้ ตัวอย่างเช่นเขตอนุรักษ์ดินและน้ำของเท็กซัส (Texas Soil and Water Conservation Districts) ซึ่งมีอยู่ 5 เขตเท่านั้นในรัฐเท็กซัส แต่ละเขตจึงมีอาณาบริเวณครอบคลุมเขตปกครองเคาตี้จำนวนเป็นสิบ ๆ แห่ง ถือกันว่าเขตประเภทนี้เป็นเขตท้องถิ่นพิเศษเป็นหน่วยบริหารท้องถิ่นรายย่อยของรัฐ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการในท้องถิ่น การตั้งเขตอนุรักษ์ดินและน้ำแบบนี้มาจากการตัดสินใจโดยการออกเสียงลงคะแนนของเจ้าของที่ดินในอาณาบริเวณที่เขตรับผิดชอบ และแต่ละเขตจะมีคณะกรรมการที่ประกอบด้วยกรรมการ 5 คน ที่ได้รับเลือกจากเจ้าของที่ดินในแต่ละเขต ปรากฏว่าเขตปกครองเคาตี้ได้อยู่ในเขตอนุรักษ์ดินและน้ำเขตที่ 4 ของรัฐเท็กซัส
กลับมาที่เขตอนุรักษ์น้ำใต้ดินที่มีสำนักงานตั้งอยู่ในเขตปกครองเคาตี้แจสเปอร์ ณ เมืองแจสเปอร์ด้วย เขตนี้มีที่มาจากความต้องการของประชาชนในเขตปกครองเคาตี้ 2 แห่งคือที่เคาตี้แจสเปอร์กับที่เคาตี้นิวตัน ผู้เริ่มการต้องอยากฟังเสียงประชาชนตามชุมชนและเมืองต่าง ๆ ในเขตปกครองที่มีเป้าหมายเสียก่อน การออกไปฟังเสียงประชาชนแบบประชุมหารือในชุมชนอย่างนี้ก็เป็นการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลและหาเสียงสนับสนุนโครงการไปด้วย ทางเจ้าหน้าที่ผู้บริหารเล่าให้ฟังว่าได้ใช้เวลาในปี ค.ศ. 2002 และ 2003 ออกฟังเสียงประชาชนโดยเสนอต่อสภาของรัฐเท็กซัสให้พิจารณาตั้งในเขตปกครองเคาตี้ 2 แห่งร่วมกันคือเขตปกครองเคาตี้แจสเปอร์กับเขตปกครองเคาตี้นิวตัน และโครงการก็ได้รับการเสนอให้ประชาชนออกเสียงในการเลือกตั้งเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2004 ผลที่ออกมาก็คือมีประชาชนเห็นด้วยมากกว่าประชาชนที่ไม่เห็นด้วยในอัตรา 2 ต่อ 1 จึงถือได้ประชามติของประชาชนเห็นด้วยให้จัดตั้งขึ้น
ที่น่ายินดีก็คือเพียงหนึ่งปีผ่านมา ค.ศ. 2005 เขตปกครองเคาตี้ที่อยู่ติดกันอีก 2 แห่งได้ขอเข้าร่วมด้วยคือเขตปกครองเคาตี้ฮาร์ดินและเขตปกครองเคาตี้ไทเลอร์
อำนาจหน้าที่ของเขตอนุรักษ์น้ำใต้ดินแห่งนี้ก็คือดูแลว่าน้ำใต้ดินในอาณาบริเวณมีอยู่เท่าใด ควรจะนำน้ำใต้ดินออกมาใช้เท่าใดจึงจะเหมาะสมกับความจำเป็นของประชาชนในพื้นที่
คณะกรรมการอำนวยการมีจำนวน 13 คนนั้นมิได้มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนในเขตปกครองเคาตี้ที่เข้าร่วมโครงการ แต่ก็ให้เจ้าหน้าที่ของเขตปกครองเคาตี้ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนอยู่ก่อนแล้วเข้ามาเป็นคณะกรรมการอำนวยการและก็เลือกผู้บริหารเข้ามาดูแลบริหารงานประจำ
II. Governmental Structure
เขตปกครองเคาตี้นี้มีอยู่ทั่วไปในสหรัฐอเมริกาเกือบทุกรัฐ และอาจมีความแตกต่างกันบ้างอยู่เล็กน้อย แต่สำหรับรัฐทางตอนใต้ของสหรัฐฯ เขตปกครองเคาตี้ก็เป็นรูปแบบหน่วยปกครองระดับย่อยลงมาจากรัฐ และหน่วยปกครองนี้ก็มีการเปลี่ยนแปลงไม่มากไม่ว่าจะก่อนหรือหลังระยะเวลาการปฏิวัติของประเทศ เดิมนั้นเป็นเขตปกครองที่มีบทบาทมากในพื้นที่ชนบท ซึ่งบัดนี้ก็ยังมีบทบาทอยู่ แต่มาถึงทุกวันนี้ที่ประชากรของประเทศประมาณร้อยละ 80 ได้อาศัยอยู่ในเขตเมืองแล้วก็ตาม เขตปกครองเคาตี้ก็ยังคงมีบทบาทในฐานะเป็นเขตปกครองท้องถิ่น และหน่วยงานของรัฐไปพร้อมกันได้ดีพอสมควร โดยมากที่เราได้ทราบนั้นก็คือเมื่อกล่าวถึงหน่วยหรือรูปแบบการปกครองท้องถิ่นในรัฐดังเช่นกรณีรัฐเท็กซัส เราก็จะพบว่ามีรูปแบบหน่วยการปกครองท้องถิ่นอยู่ 4 รูปแบบ คือเขตปกครองเคาตี้หนึ่ง เทศบาลหนึ่ง เขตการศึกษาหนึ่ง และเขตท้องถิ่นพิเศษ อีกหนึ่ง ดังนั้นเขตปกครองเคาตี้ก็คือหน่วยปกครองท้องถิ่นรูปแบบหนึ่ง แต่ในความเป็นจริงเขตปกครองเคาตี้นั้นเป็นทั้งกลไกของรัฐในการดำเนินการบางอย่างบางหน้าที่ให้แก่รัฐบาลของรัฐในพื้นที่อีกระดับหนึ่งด้วย เพราะรัฐบาลของรัฐไม่ได้มีตัวแทนอื่นที่ทำหน้าที่อย่างการปกครองส่วนภูมิภาคลงไปในพื้นที่ต่าง ๆ นอกเขตเมืองหลวงแต่อย่างใดเลย
คณะผู้บริหารของเขตปกครองเคาตี้แจสเปอร์ ก็เหมือนกับเขตปกครองเคาตี้อื่น ๆ ในรัฐเท็กซัส เรียกว่าคณะกรรมการบริหารเคาตี้ (Commissioners Court) นั้นมีจำนวนเขตปกครองเคาตี้ละ 5 คน โดยให้แบ่งเป็นเขตเลือกตั้ง (Precint) ละหนึ่งคนจำนวน 4 เขต ตำแหน่งที่เลือกจากเขตเลือกตั้งทั้ง 4 นี้เรียกว่า “กรรมการ” (Commissioner) ส่วนคนที่ 5 นั้นคือประธานคณะกรรมการเรียกตำแหน่งนี้ว่า County Judge นั้นมาจากการเลือกตั้งทั่วไปทั้งเขตปกครองเคาตี้ เวลาดำรงตำแหน่งของประธานกรรมการและกรรมการชุดนี้จะอยู่ในตำแหน่งสมัยละ 4 ปี
การแบ่งเขตเลือกตั้งทั้ง 4 เขตนั้นจะแบ่งกันอย่างไรก็เป็นอำนาจของคณะกรรมการบริหารเคาตี้จะเป็นผู้กำหนด ซึ่งกรรมการทั้ง 5 คนนี้ก็ถือว่าเป็นนักการเมืองท้องถิ่น ดังนั้นการแบ่งเขตก็มีเสียงวิจารณ์กันบ้างเหมือนกันว่าแบ่งถูกต้องดีหรือไม่ โดยลักษณะพื้นที่หรือจำนวนประชากร ซึ่งผู้แบ่งก็ต้องพยายามทำให้ดูดี เคยมีกรณีในบางเขตปกครองเคาตี้ที่คงแบ่งตามพื้นที่ปรากฏว่าเขตเลือกตั้งในเมืองมีประชากรถึงร้อยละ 97 แต่อีก 3 เขตเลือกตั้งในชนบทรวมกันมีประชากรเพียงร้อยละ 3 ที่เหลือเท่านั้นเอง อย่างไรก็ตามในระยะหลังก็มีความพยายามแบ่งเขตโดยดูที่จำนวนประชากรในเขตให้ใกล้เคียงกัน
สำหรับเขตปกครองเคาตี้แจสเปอร์นั้นเวลานี้ประธานคณะกรรมการที่มาจากการเลือกตั้งทั่วไปทั้งเขตปกครองเคาตี้แจสเปอร์คือ นายมาร์ค แอลเลน (Mark W. Allen. ในเขตเลือกตั้งที่หนึ่ง ได้แก่ นายชาร์ลส์ โซฟเนอร์ จูเนียร์ (Charl Shofner, Jr.) เขตเลือกตั้งที่สองได้แก่ นายรอย ปาร์คเกอร์ (Roy Parker) เขตเลือกตั้งที่สามได้แก่ นายวิลลี่ สตาร์ค (Willie Stark) เขตเลือกตั้งที่สี่ ได้แก่ นายแวนซ์ มอส (Vance Moss)
ถ้าจะดูกันถึงอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารเคาตี้ก็จะพบว่าอำนาจและหน้าที่ของคณะกรรมการที่สำคัญนั้นก็คือพิจารณาและอนุมัติงบประมาณของเขตปกครองเคาตี้นั่นเอง กรณีของเขตปกครองเคาตี้แจสเปอร์นี้ได้มีการประชุมพิจารณางบประมาณ ปี ค.ศ. 2008 ของเขตปกครองแห่งนี้ไปในตอนกลางเดือนกันยายน ค.ศ. 2007 การประชุมคณะกรรมการบริหารจะมีขึ้นตามแต่วันที่จะกำหนดไว้ประจำ สำหรับปีงบประมาณ ค.ศ. 2008 นี้งบประมาณของเขตปกครองแห่งนี้ที่ทางคณะกรรมการบริหารเสนอเข้าพิจารณานั้นคืองบประมาณ 13,045,81 เหรียญอเมริกัน ถ้าจะคิดเป็นเงินไทยคร่าว ๆ ก็ประมาณ 400 ล้านบาทก็ดูจะไม่มากอะไรนัก และลักษณะก็เป็นงบประมาณสมดุลที่ได้คำนวณมาจากภาษีที่จะเก็บได้ โดยทางคณะกรรมการบริหารเขตปกครองนี่เองที่จะกำหนดอัตราภาษีที่จะเก็บเป็นอัตราส่วนเท่าใดแต่ก็ต้องไม่เกินอัตราสูงสดที่ทางรัฐได้กำหนดไว้แล้ว จึงเป็นเสมือนอำนาจทางนิติบัญญัติ
ฉะนั้นอำนาจในการอนุมัติงบประมาณไปในโครงการต่าง ๆ ที่ทางเขตปกครองเคาตี้จะทำจึงเป็นอำนาจสำคัญ รวมทั้งอำนาจในการกำหนดอัตราภาษีที่จะเรียกเก็บจากรายการที่ประชากรในเขตปกครองจะต้องจ่าย ซึ่งภาษีที่ได้นี้ก็จะเป็นตัวเงินที่ฝ่ายบริหารสามารถเอามาใช้ในกิจการต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ของเขตปกครองเคาตี้แจสเปอร์นั่นเอง
ในเรื่องการบริหารเงินอีกส่วนหนึ่งก็คือเงินงบประมาณที่ทางรัฐบาลสหรัฐอเมริกาที่กรุงวอชิงตันได้มอบให้แก่หน่วยปกครองท้องถิ่นไปแบ่งกัน เว้นที่ทางรัฐบาลสหรัฐอเมริกาให้แก่ท้องถิ่นที่เรียกว่า federal revenue sharing นี้ ครั้งแรกเมื่อ ค.ศ.1972 รัฐสภาอเมริกันได้ผ่านกฎหมายที่กระจายเงินจำนวน 30 ล้านล้านเหรียญอเมริกันไปให้ท้องถิ่นใช้จ่ายในเวลา 5 ปี ซึ่งก็มีทั้งส่วนที่จ่ายได้ตามที่หน่วยปกครองท้องถิ่นเลือกโครงการเอง และบางส่วนก็ต้องจ่ายเฉพาะกิจกรรมหรืองานด้านที่กำหนดเช่นเรื่องการศึกษา งบประมาณบางอย่างนั้นเป็นงานที่ทางเขตปกครองเคาตี้ทำให้รัฐบาลสหรัฐอเมริกานั่นเอง เช่น เงินค่าคนงานไปรษณีย์ เงินที่ให้แก่คนพิการ เงินประกันสังคม เงินที่ให้ทหารผ่านศึก หรือเงินประกันค่าพืช หรือค่างานอนุรักษ์ด้านต่าง ๆ ที่กำหนด มีตัวเลขว่าในปี ค.ศ. 2003 เขตปกครองเคาตี้แจสเปอร์ได้รับงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาลกลางสหรัฐอเมริกาที่วอชิงตันเป็นเงินถึง 206,107,000 เหรียญอเมริกัน และในปี ค.ศ. 2007 เขตปกครองเคาตี้แจสเปอร์ก็ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐเท็กซัสโดยหน่วยงานทางด้านอาคารสงเคราะห์และกิจกรรมชุมชนรัฐเท็กซัสให้เงินอุดหนุนมาทำงานทางด้านนี้จำนวนมากถึง 2.56 ล้านเหรียญอเมริกัน เมื่อปีก่อนหน้านี้ทางรัฐเท็กซัสก็ได้ให้เงินอุดหนุนแก่เขตปกครองเคาตี้แจสเปอร์มาแก้ปัญหาหลังมีวายุภัยเฮอริเคนริต้า
อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารอย่างอื่นอีกก็คืออำนาจในการอนุมัติแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ซึ่งไม่ต้องมาจากการเลือกตั้งในการทำงานในองค์กรของเขตปกครองเคาตี้ หรืออนุมัติโครงการต่าง ๆ ที่ทางเขตปกครองเคาตี้ต้องทำ เช่น ในการประชุมเช่นมีการเสนอโครงการที่จะสำรวจที่ดินทั้งหมดเพื่อจะขึ้นทะเบียนที่ดินให้ทั้งด้านจะได้เก็บภาษีได้ไม่ตกหล่น ที่ผ่านมานั้นที่ดินอีกจำนวนไม่น้อยในเมืองยังไม่อยู่ในรายการที่จ่ายภาษี ดังนั้นโครงการนี้จึงเสนอขอความเห็นชอบโครงการที่มีทั้งงบประมาณร่วมที่ทางเขตในเขตเมืองแจสเปอร์และบริเวณใกล้เคียงต้องจ่ายจำนวนหนึ่งในสาม โดยมีเมืองแจสเปอร์กับคณะกรรมการเขตการศึกษารับผิดชอบจ่ายฝ่ายละหนึ่งในสามของค่าใช้จ่ายของโครงการเหมือนกัน ที่เป็นเช่นนี้เข้าใจว่าทั้ง 3 ฝ่ายเป็นผู้ที่จะได้ประโยชน์จากการเก็บภาษีจากที่ดินใช้สอยได้ด้วยกัน
กรณีตั้งเจ้าหน้าที่นั้นก็ปรากฏว่าในการประชุมคราวเดียวกันนั้นก็ได้มีมติเห็นชอบให้นายเอดฟิวเป็นผู้อำนวยการของหน่วยพัฒนาเคาตี้แจสเปอร์เขต 1 และตำแหน่งที่มาจากแต่งตั้งที่สำคัญในเขตปกครองเคาตี้แจสเปอร์อีก 3 ตำแหน่ง
หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของคณะกรรมการบริหารเขตปกครองเคาตี้นั้นก็คือเรื่องการจัดการเลือกตั้ง ผู้ที่รับผิดชอบดำเนินการโดยตรงก็คือปลัดเคาตี้ (County Clark) ในส่วนที่คณะกรรมการบริหารทำก็คือกำหนดสถานที่ออกเสียงลงคะแนนต่าง ๆ ในเขตปกครองเคาตี้ แต่งตั้งเจ้าหน้าที่เลือกตั้ง (Election Judges and Clerk) ติดตามดูผลการเลือกตั้งจากเขตเลือกตั้งต่าง ๆ ในอาณาบริเวณของเคาตี้
นอกจากทำหน้าที่ร่วมกันในฐานะคณะกรรมการที่จะมีมติต่าง ๆ แล้ว กรรมการแต่ละคนที่ได้รับเลือกมาจากเขตเลือกตั้งแต่ละเขตแยกกันทั้ง 4 เขตยังมีหน้าที่เฉพาะตัวเป็นผู้บริหารงานในเขตเลือกตั้งที่ตนได้รับเลือกอยู่ด้วยในงานบริหารและดูแลโครงการเกี่ยวกับถนนหนทางและสะพาน ซึ่งในเขตปกครองเคาตี้ที่เป็นชนบทอย่างแจสเปอร์ก็เหมือนเขตปกครองเคาตี้ในชนบททั้งหลายที่ถือว่าหน้าที่นี้สำคัญ เป็นงานหลักและงบประมาณที่ใช้ในเรื่องนี้ก็มาก เขาจึงกล่าวกันว่าเป็น “Road Commissioner”
สำหรับประธานคณะกรรมการนั้นแม้จะได้รับเลือกตั้งมาโดยจะศึกษาทางด้านกฎหมายมาหรือไม่ก็ตามก็มีหน้าที่ในการตัดสินคดีได้ส่วนหนึ่งตามที่กฎหมายบัญญัติด้วย เพราะทุกเขตปกครองเคาตี้จะมีศาลของเคาตี้อยู่ ธรรมนูญของรัฐจะให้อำนาจแก่ศาลที่จะพิจารณาคดีในระดับหนึ่งได้ เช่นตัดสินส่งตัวไปกักตัวในคุกของเคาตี้ได้ตามกำหนดระยะเวลาหนึ่ง สมัยก่อนกำหนดเวลาไว้ได้หนึ่งปี หรือถ้าจะปรับก็ปรับได้เป็นเงินไม่สูงกว่า 2000 เหรียญอเมริกัน เป็นต้น
ดังนั้นเราจะเห็นได้ว่าถ้าดูที่คณะกรรมการบริหารเคาตี้จะเห็นได้ว่าเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ทางนิติบัญญัติ และหน้าที่ทางบริหารควบคู่กันไป แต่ถ้าประธานคณะกรรมการที่มีชื่อตำแหน่งเป็น “ตุลาการ” ด้วยนั้นก็เป็นผู้ที่นอกจากมีหน้าที่ทั้งในทางนิติบัญญัติและบริหารแล้วยังมีหน้าที่ทางตุลาการอยู่อีกด้วย จึงเห็นได้ว่าเขตปกครองเคาตี้ของรัฐเท็กซัสนั้นค่อนข้างจะมีลักษณะเฉพาะ ทั้งยังเป็นตัวแทนของรัฐบาลรัฐเท็กซัสในบางส่วนกับเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับแรกของรัฐอีกด้วย
นอกจากตำแหน่งประธานและกรรมการบริหารเคาตี้ที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว ตำแหน่งผู้บริหารอื่นในเขตปกครองเคาตี้ยังมีที่สำคัญอยู่อีกหลายตำแหน่งจะขอยกเอาตำแหน่ง เชอรีฟ (Sheriff) หรือบางทีเรียกกันเมืองไทยว่า “นายอำเภอ” ซึ่งตำแหน่งนี้คงไม่ใช่นายอำเภอในปัจจุบันของไทยแล้ว เพราะเขาบอกว่าตำแหน่งเชอรีฟนี้คือหัวหน้าเจ้าหน้าที่รักษากฎหมายของเขตเคาตี้ เป็นตำแหน่งที่มีอาณาบริเวณที่จะต้องดูแลรักษาความสงบและความปลอดภัยในพื้นที่ของเขตเคาตี้ที่นอกเขตเมืองที่เป็นเขตเทศบาลทั้งหลาย ได้มีความเข้าใจหรือเป็นข้อตกลงจนเป็นที่รู้กันว่าตำรวจเทศบาลก็ดูแลรักษาความสงบและความปลอดภัยในเขตเทศบาลไป แต่เมื่อออกไปนอกเขตเทศบาลแล้วเชอรีฟก็จะเป็นผู้รับผิดชอบแทนหัวหน้าตำรวจของเทศบาล
เมื่อเชอรีฟเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย หน่วยงานที่เขาดูแลจึงมีหน้าที่เสมือนตำรวจ และเชอรีฟก็สามารถตั้งผู้ช่วยมาทำงานได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ช่วยเชอรีฟ พนักงานธุรการ รวมทั้งผู้ดูแลที่คุมขัง ที่เขตปกครองเคาตี้แจสเปอร์นี้ เชอรีฟ ชื่อ นายโรนัลด์ แมคไบรด์ เขาเป็นเชอรีฟที่มีคนชอบมากได้รับเลือกตั้งอยู่ในตำแหน่งมานาน และมีผู้ช่วยเชอรีฟที่เขาตั้งเข้ามาช่วยงานอยู่ 10 คน
การทำงานของเชอรีฟนั้นตามที่ติดตามจากท่าจะเห็นว่าทำงานเหมือนตำรวจมากทีเดียว เช่น มีกรณีเด็กอายุเกือบ 2 ขวบเสียชีวิต ที่เมืองอีวาเดล ที่บ้านบนถนนของเคาตี้นอกเมือง ทางเชอรีฟก็ส่งผู้ช่วยเชอรีฟไปสอบสวนที่บ้านที่เกิดเหตุ และการทำงานก็ได้ประสานกับผู้พิพากษาที่เรียกว่า “Justice of the Place” เพื่อให้สั่งให้มีการตรวจพิสูจน์ศพของเด็กผู้ตายหาข้อมูลต่าง ๆ
ในการปฏิบัติหน้าที่ของเชอรีฟและผู้ช่วยเชอรีฟนั้นโดยทั่วไปก็ต้องประสานงานกับตำรวจของเทศบาล ผู้พิพากษาในเขตท้องถิ่น และทหารของรัฐเท็กซัสที่เรียกกันว่า Texas Rangers เพราะเขตพื้นที่รับผิดชอบที่ทุกฝ่ายรักษาความปลอดภัยนั้นมีทั้งที่เป็นเขตติดต่อกันและที่มีพื้นที่ทับซ้อนกันอยู่บ้าง ในเรื่องนี้ก็มีความเหมือนกันในเขตปกครองเคาตี้ของหลายรัฐ หลักสำคัญคือความร่วมมือและการประสานงานเพื่อดูแลปัญหา ซึ่งในการปฏิบัติก็มีการขัดกันบ้างแต่ค่อนข้างน้อย ทั้งนี้คนทั้งหลายบอกว่าเป็นเพราะบุคคลที่ดำรงตำแหน่งเป็นหัวหน้าหน่วยที่มีอำนาจนั้นล้วนมาจากประชาชนโดยการเลือกตั้ง การขัดแย้งกันจะทำให้ทำงานไม่ได้จึงเป็นผลเสียแก่เจ้าหน้าที่เอง และอาจทำให้เสียคะแนนตอนเลือกตั้งได้ ที่น่าสังเกตก็คือตำแหน่งเชอรีฟ “นายอำเภอ” นี้เป็นตำแหน่งที่คนไทยจะรู้จักดีที่สุดจากเรื่องราวในภาพยนตร์โคบาลของอเมริกัน และในท้องถิ่นเขตปกครองเคาตี้ในพื้นที่ชนบท ตำแหน่งเชอรีฟและคนที่เป็นเชอรีฟก็เป็นผู้ที่ประชาชนในท้องถิ่นรู้จัก ให้ความสนใจ และมักพึ่งพามาก ด้วยงานด้านรักษาความสงบและความปลอดภัยนั้นเป็นงานระดับต้นที่ผู้คนคาดหวังจะได้รับจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งต้องการความคุ้มครอง ป้องกันโจรกรรม ปราบปรามคนร้าย และอันธพาล ตลอดจนคนที่ชอบละเมิดกฎหมายโดยทั่วไป และงานประเภทนี้เชอรีฟออกหน้าปฏิบัติการ เห็นได้ชัดเจนในหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นในเขตปกครองเคาตี้แจสเปอร์ ที่ชื่อ The Jasper Newsboy ซึ่งพิมพ์ออกจำหน่ายสัปดาห์ละครั้งนั้น เชอรีฟจะไปเปิดคอลัมน์เขียนแบบรายงานเชอรีฟพบประชาชน มีคนให้ความสนใจอ่านกันมาก
ตำแหน่งอื่นที่มาจากการเลือกตั้งและสำคัญมากอีกตำแหน่งหนึ่งแต่คนนอกสหรัฐจะไม่ค่อยทราบก็คือปลัดเคาตี้ (County Clark) ตำแหน่งนี้ก็มาจากการเลือกตั้งเหมือนกัน ทำหน้าที่เป็นฝ่ายธุรการให้คณะกรรมการบริหารเคาตี้ และเป็นผู้ที่มีหน้าที่ดูแลเอกสารสำคัญของเขตปกครอง ทั้งสถิติ และบันทึกข้อมูลทั้งหลาย ที่สำคัญก็คือโฉนดที่ดินในเขตปกครองเคาตี้ ใบทะเบียนสมรส ใบเกิด และใบมรณะบัตร หน้าที่สำคัญพิเศษที่เป็นงานที่ทำให้รัฐและต้องประสานกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ คืองานดูแลเรื่องการเลือกตั้งทุกตำแหน่งของประเทศของรัฐและเคาตี้ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งปลัดเคาตี้ของเขตปกครองเคาตี้แจสเปอร์นั้นเป็นสุภาพสตรีชื่อนางเดบบี้ นิว แมน (Debbie Newman) ส่วนผู้ที่ดูแลงานเลือกตั้งในระดับรัฐนั้นก็คือเลขานุการของรัฐ (Secretary of State)
การบริหารจัดการในการเลือกตั้งในเขตปกครองเคาตี้นั้นจะมีคณะกรรมการเลือกตั้งโดยตำแหน่งจากเจ้าหน้าที่ของเคาตี้อยู่ 3 ตำแหน่งคือ เป็นผู้ดูแลคณะกรรมการชุดนี้มีกรรมการประธานคณะกรรมการบริหารเคาตี้ หรือ “เคาตี้จัดจ์” หนึ่ง ปลัดเคาตี้หนึ่ง และนายอำเภอ “เชอรีฟ” อีกหนึ่ง กับประธานสาขาในเขตปกครองเคาตี้ของพรรคการเมืองสำคัญ 2 พรรค รวมแล้ว 5 ท่าน และทางคณะกรรมการบริหารเคาตี้ก็จะตั้งตุลาการเลือกตั้ง (Election Judge) และตุลาการสำรองไปดูแลการเลือกตั้งในแต่ละเขตเลือกตั้ง (Precinct) รวมทั้งอนุมัติจัดงบประมาณทำบัตรเลือกตั้งและอุปกรณ์เครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการเลือกตั้งไปด้วย
เนื่องจากในสหรัฐอเมริกาผู้ที่มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจะออกเสียงเลือกตั้งได้จริงก็ต้องมาลงทะเบียนล่วงหน้าแสดงเจตจำนงจะใช้สิทธิออกเสียงเสียก่อน โดยทั่วไปจะมีการกำหนดเวลาให้ลงทะเบียนล่วงหน้าระยะหนึ่งก่อนวันเลือกตั้ง และวันสุดท้ายที่จะลงทะเบียนได้ก็ประมาณ 4 สัปดาห์ล่วงหน้าก่อนวันเลือกตั้ง การให้มีการลงทะเบียนล่วงหน้าจึงทำให้เจ้าหน้าที่ผู้จัดการเลือกตั้งรู้ได้ว่าในแต่ละหน่วยและแต่ละเขตจะมีผู้มีสิทธิมาลงคะแนนได้เท่าใด สมัยก่อนจึงได้กำหนดว่าในแต่ละเขตเลือกตั้งต้องมีผู้มีสิทธิลงทะเบียนไว้ไม่ต่ำกว่า 100 คนและไม่เกิน 3,000 คน ขนาดเขตเลือกตั้งขนาดนี้จึงไม่เล็กและไม่ใหญ่จนเกินไป
ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ซึ่งมาจากการเลือกตั้งที่ผู้คนต่างชาติมักนึกไม่ถึงคือตำแหน่งพนักงานประเมินและเก็บภาษี (The tax assessor-collector) ที่จริงตำแหน่งนี้สำคัญมากในฐานะผู้หาเงินมาให้ใช้ในเคาตี้ ภาษีที่เป็นหลักก็คือภาษีอสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินต่าง ๆ เป็นการเก็บตามเกณฑ์ราคา ภาษีอื่นก็เป็นค่าธรรมเนียมทะเบียนป้ายรถยนต์ เป็นอาทิ เจ้าพนักงานภาษีผู้นี้ไม่สามารถกำหนดอัตราภาษีได้เอง เพราะอัตราบางรายการรัฐเป็นผู้กำหนด บางรายการคณะบริหารเคาตี้ก็จะกำหนดมาแล้วก่อนพิจารณาผ่านงบประมาณของเคาตี้ หน้าที่อย่างหนึ่งที่นึกไม่ถึงก็คือระบุว่าพนักงานผู้นี้ดูและบริหารเรื่องการลงทะเบียนผู้ออกเสียงเลือกตั้งด้วย ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งให้เป็นพนักงานประเมินและเก็บภาษีของเขตปกครองเคาตี้ขณะนี้ก็คือนายบอบบี้ บิสแคมป์ (Bobby Cam)
สำหรับเขตปกครองเคาตี้แจสเปอร์นั้นยังมีเจ้าหน้าที่ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนอีกตำแหน่งหนึ่งคือตำแหน่งพนักงานการคลังของเคาตี้หรือเหรัญญิก (Treasurer) หน้าที่ก็คือดูแลเรื่องการเงินการคลังของเคาตี้นั่นเอง พนักงานการคลังที่ได้รับเลือกคนปัจจุบัน ชื่อ เรนนี่ เดลลี่ (Rene Kelley) ในบางเขตปกครองเคาตี้ยังมีตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้งอื่นอีกสองสามตำแหน่ง แต่ก็ลดความสำคัญจนไม่มีการเลือกตั้งไป เช่น ตำแหน่งผู้บริหารโรงเรียนของเคาตี้ ซึ่งไม่มีแล้วเพราะเรื่องดูแลโรงเรียนทั้งหลายเป็นเรื่องของเขตการศึกษาที่มีความเป็นอิสระในการดูแล ทางเคาตี้ไม่มีอำนาจเลย หรือตำแหน่งพนักงานสำรวจ (Surveyor) ซึ่งสมัยก่อนมีความสำคัญมาก เพราะพื้นดินที่บุกเบิกใหม่ต้องสำรวจกันมากและรับรองเขตให้ถูกต้อง พนักงานสำรวจจึงสำคัญและเป็นผู้มีชื่อในประวัติของชุมชนชนบทหลายแห่งของรัฐเท็กซัส มาถึงเวลานี้หน้าที่นี้ก็ลดความจำเป็นลง แม้เขตปกครองเคาตี้แจสเปอร์จะอยู่ในพื้นที่ชนบทก็ยังไม่ได้มีการเลือกตั้งตำแหน่งนี้ในยุคนี้
นอกจากนี้ในเขตปกครองเคาตี้โดยทั่วไปนั้นมีตำแหน่งผู้ตัดสินคดีในท้องถิ่นที่สหรัฐอเมริกามีเรียกกันว่าตุลาการท้องถิ่น (Justices of the peace) ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่ในการพิจารณาคดีเล็ก ๆ น้อย ๆ ในเขตที่ย่อยที่อยู่ในอาณาบริเวณของเขตปกครองเคาตี้ ชื่อ “Justices of the peace” ที่ปรากฏในตำแหน่งผู้ที่ทำหน้าที่ตัดสินคดีเล็ก ๆ น้อยในประเทศอื่นเช่นที่แคนาดาบ้างเหมือนกัน แต่เป็นตำแหน่งที่มาจากการแต่งตั้ง ส่วนของสหรัฐอเมริกานั้นเป็นตำแหน่งที่มาจากการเลือกตั้งในเขตปกครองเคาตี้ โดยแต่ละเขตปกครองเคาตี้จะมีตุลาการท้องถิ่นอย่างนี้ได้จำนวนไม่น้อยกว่า 4 คน และมีได้มากที่สุดไม่เกิน 8 คน ทั้งนี้จะแบ่งเป็นเขตอำนาจในการดูแลของตุลาการท้องถิ่นแยกกันไป และก็เป็นตำแหน่งที่มาจากเลือกตั้งของประชากรในแต่ละเขต
สำหรับเขตปกครองเคาตี้แจสเปอร์มีตุลาการท้องถิ่นอยู่ 6 ท่าน เพราะได้แบ่งเขตดูแลไว้ 6 เขต และทั้ง 6 คนก็มาจากการเลือกตั้งของประชาชน โดยมีเวลาดำรงตำแหน่งสมัยละสี่ปี ที่จริงถ้าเป็นเขตปกครองเคาตี้ที่มีพลเมืองจำนวนมากก็สามารถมีตุลาการท้องถิ่นในเขตที่มีพลเมืองหนาแน่นเป็นสองคนได้เหมือนกัน ตุลาการท้องถิ่นชุดล่าสุดของเขตปกครองเคาตี้แจสเปอร์ มีดังนี้
เขตดูแลเขตที่ 1 ตุลาการที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งคือนาย วอลเตอร์ บิลลิงค์สเลย์ (Walter Billingsley)
เขตดูแลเขตที่ 2 ตุลาการที่ได้รับเลือกดำรงตำแหน่งคือ นายเฟรดดี้ มิลเลอร์ (Freddie Miller)
เขตดูแลเขตที่ 3 ตุลาการที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งคือนางซูซาน แรตคลิฟ (Susan Ratcliff)
เขตดูแลเขตที่ 4 ตุลาการที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งคือนายโจ วิลกินสัน (Joe Wilkinson)
เขตดูแลเขตที่ 5 ตุลาการที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งคือนายเบรต ฮอลโลวเวย์ (Brett Holloway)
เขตดูแลเขตที่ 6 ตุลาการที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่ง คือนายสตีฟ คอนเนอร์ (Steve Conner)
ดูจากชื่อของตุลาการท้องถิ่นแล้วได้พบปะสนทนากับคนในเขตปกครองก็ทราบได้ว่าครอบครัวของ 3 ใน 6 คนนั้นเป็นครอบครัวที่มีคนในเขตปกครองเคาตี้แจสเปอร์รู้จักกันมาก และได้อยู่อาศัยในเขตปกครองเคาตี้แห่งนี้มาเป็นเวลานานพอสมควร
อันหน้าที่ของตุลาการท้องถิ่นที่ดูแลตัดสินคดีเล็ก ๆ น้อย ๆ แล้วในบางท้องถิ่นก็ต้องอาศัยในเรื่องหน้าที่ในเรื่องพิสูจน์ศพ และเป็นผู้รับบันทึกในสูติบัตรและมรณะบัตรของประชากรในเขตปกครองเคาตี้ด้วย แต่เรื่องข้อมูลของท้องถิ่นนี้ก็คงต้องแบ่งส่วนกันให้ชัดเจนกับปลัดเคาตี้ เพราะหน้าที่อาจดูคล้ายกันในเรื่องนี้ ในหน้าที่ต่าง ๆ ที่ตุลาการท้องถิ่นได้ปฏิบัตินั้น ปรากฏว่าหน้าที่อันเป็นที่รู้จักดีสมัยหน้าที่ในการเป็นประธานในพิธีแต่งงาน และงานแต่งงานนี้ก็ถือว่าตุลาการท้องถิ่นรับเงินค่าตอบแทนได้ตามแต่เจ้าของงานจะสมนาคุณ มีคนบอกว่า “เงินสมนาคุณ” ในการเป็นประธานแต่งงานนั้นบางทีที่จะมากกว่าเงินค่าตอบแทนที่ไม่ใช่เงินเดือนที่ตุลาการท้องถิ่นได้รับเสียอีก” และเงินค่าตอบแทนนี้คณะกรรมการบริหารท้องถิ่นจะเป็นผู้กำหนดให้แก่ตุลาการท้องถิ่น ชื่อของตุลาการท้องถิ่นเรียกกันนี้มักเรียกตัวย่อคือ เจพี (JP)
ตำแหน่งที่คู่กันจนดูเสมือนคู่แฝดก็คงเป็นตำแหน่งพนักงานรักษาความปลอดภัย (Constable) หรือเรียกง่าย ๆ ก็คงเป็นตำรวจศาลท้องถิ่น เพราะว่าในระยะหลังนี้ หน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและปราบปรามอาชญากรรมได้ตกเป็นหน้าที่ของเชอรีฟหรือ “นายอำเภอ” และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานนายอำเภอดูแลโดยรวมอยู่แล้ว ตำรวจศาลท้องถิ่นจึงดูแลเกี่ยวกับเรื่องการรักษาความปลอดภัยของศาลท้องถิ่นเท่านั้น แต่ตำรวจศาลท้องถิ่นก็ยังมาจากการเลือกตั้งของประชาชนในเขตประเภทเดียวกับเขตของตุลาการท้องถิ่น เมื่อมีเขตดูแลของตุลาการท้องถิ่นในเขตปกครองเคาตี้แจสเปอร์อยู่ 6 เขต ดังนั้นจึงมีการเลือกตั้งตำรวจศาลท้องถิ่นอยู่เขตละคนจำนวน 6 คนด้วย ดังมีรายชื่อตามเขตของตุลาการท้องถิ่นดังนี้
เขตที่หนึ่ง ได้แก่ นายคิท สเตฟเฟนซัน (Kit Stephenson)
เขตที่สอง ได้แก่ นายราล์ฟ นิคโคลส์ (Ralph Nichols)
เขตที่สาม ได้แก่ นายรอนนี่ ฮัทชิซซัน (Ronnie Hutchison)
เขตที่สี่ ได้แก่ นายมาร์ค แมคคินเลย์ (Mark Mckinley)
เขตที่ห้า ได้แก่ นายเจราลด์ แมคอะดัมส์ (Gerald Mcadams)
เขตที่หก ได้แก่ นายทอมมี อาร์ รอบบินสัน (Tommy R.Robinson)
ทั้งหมดนี้ คือ ภาพกว้างๆของเขตการปกครองเคาตี้แห่งหนึ่งของรัฐเท็กซัสที่มีชื่อว่าแจสเปอร์เคาตี้ อันเป็นหน่วยปกครองที่ทำหน้าที่ทั้งเป็นหน่วยงานที่ทำงานให้แก่รัฐเท็กซัสด้วยบางส่วน และเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับที่สองรองจากรัฐคือเท็กซัส สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับถัดไป ได้แก่ เทศบาล เขตการศึกษา และเขตปกครองพิเศษ ซึ่งในเขตปกครองเคาตี้แจสเปอร์แห่งนี้ได้มีทั้งเทศบาลของเมืองต่างๆ อยู่หลายเมืองและมีเขตการศึกษาอยู่อีก 5 เขตการศึกษา กับมีเขตการปกครองพิเศษอยู่ด้วย ดังที่ยกมาให้เห็นแล้วในตอนต้น
ภาพที่นำเสนอครั้งนี้ เพื่อให้ได้เห็นภาพรวม เน้นที่เขตปกครองเคาตี้เป็นสำคัญ แต่รายละเอียดในแต่ละองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นอีก 3 ชนิด ยังไม่ได้รายงานเอาไว้ทั้งหมด กระนั้นก็คงให้ข้อมูลเบื้องต้นที่จะทราบถึงเขตปกครองแบบเคาตี้ของรัฐเท็กซัสได้