พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย : เนเธอร์แลนด์

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:24, 15 สิงหาคม 2566 โดย Trikao (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ณัชชาภัทร อมรกุล

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ

 

          ประเทศเนเธอร์แลนด์ หรือ ฮอลแลนด์ เป็นประเทศในยุโรปตะวันตกที่มีพรมแดนทางทิศตะวันออกติดกับเยอรมนี ทางทิศใต้ติดกับเบลเยี่ยม ทางทิศเหนือและตะวันตกติดกับทะเลเหนือ มีอาณาเขตทางทะเลแบ่งปันกับสหราชอาณาจักร เยอรมนี และเบลเยี่ยม เมืองสำคัญในเนเธอร์แลนด์ 4 เมืองได้แก่ อัมสเตอร์ดัม รอตเตอร์ดัม เฮก และ อูเทรช นอกจากนี้ยังมีดินแดนในหมู่เกาะแคริเบียนด้วย

          เนเธอร์แลนด์ มีรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยแบบรัฐสภา โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (constitutional monarchy) และเป็นหนึ่งในประเทศที่มีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับความเป็นเสรีนิยมมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก ปัจจุบันเนเธอร์แลนด์เป็นประเทศที่มีประชากรหนาแน่นมากที่สุด อันดับที่ 16 ของโลก และเป็นอันดับที่สองในสหภาพยุโรป ด้วยประชากรราว 17.8 ล้านคน ภายใต้พื้นที่ 33,500 ตารางกิโลเมตร (Statistics Netherlands, 2023)   

 

ประวัติศาสตร์

          ตามประวัติศาสตร์อย่างเป็นทางการ ประเทศเนเธอร์แลนด์ก่อกำเนิดมาใน ค.ศ. 1815 หลังจากการหมดสิ้นอำนาจของนโปเลียน แต่จริง ๆ แล้ว มีบันทึกเกี่ยวกับดินแดนแถบนี้ตั้งแต่ก่อนคริสตวรรษจนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 410 ซึ่งเป็นช่วงที่ดินแดนแถบนี้เป็นส่วนหนึ่งของจักรวรรดิ์โรมัน หลังจากนั้นในช่วง ค.ศ. 800 ราชวงศ์คาโรลิงเจียน (Carolingian) ของพวกแฟรงค์ได้รวบรวมดินแดนแถบนี้ให้อยู่ภายใต้จักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็เป็นการรวมกันแบบหลวม ๆ (The Hague International Center, 2023)

          ใน ค.ศ. 1433 ฟิลิปส์ เดอะ กูด (Philip III the Good ค.ศ. 1396-1467) ดยุกแห่งเบอร์กันดี ได้สถาปนาเนเธอร์แลนด์ของเบอร์กันเดียน (Burgundian Netherlands) ซึ่งรวมพื้นที่ในปัจจุบัน คือ เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ลักเซมเบิร์ก และบางส่วนของฝรั่งเศส หลังจากนั้นจักรพรรดิ์คาร์ลที่ 5 (ค.ศ. 1500-1558) แห่งจักรวรรดิ์โรมันอันศักดิ์สิทธิ์ หรือ พระเจ้าคาโลสที่ 1 แห่งสเปน ได้รวบรวมดินแดนทั้งหมดของเนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม ลักเซมเบิร์ก ไว้ด้วยกันให้มาขึ้นตรงต่อสเปน ทำให้ชาวดัตช์ก่อการปฏิวัติตั้งแต่ ค.ศ. 1568-1648 เป็นสงคราม 80 ปี แต่เมื่อสงครามดำเนินมาถึง ค.ศ. 1581 ส่วนหนึ่งของเนเธอร์แลนด์ทางตอนเหนือสามารถประกาศเอกราชจากสเปนได้ จนกระทั่ง ค.ศ. 1648 ได้มีการลงนามในสนธิสัญญามุนสเตอร์ (Peace of Münster) เพื่อสงบศึกระหว่างสองประเทศและเป็นการรับรองเอกราชของเนเธอร์แลนด์ในฐานะสาธารณรัฐอย่างเป็นทางการ (European Commission, 2023)

          หลังจากนั้นจังหวัดต่าง ๆ ในเนเธอร์แลนด์ได้กลายเป็นศูนย์กลางทางการค้า อุตสาหกรรม ศิลปะ และวิทยาศาสตร์ และเป็นมหาอำนาจทางทะเลในช่วงที่ประเทศเป็นสาธารณรัฐตั้งแต่ ค.ศ. 1588 เป็นต้นมา บริษัททั้งสองของเนเธอร์แลนด์ได้แก่บริษัทดัตช์อินเดียตะวันออก (ก่อตั้งใน ค.ศ. 1602) (Western Australian Musuem, 2023) และบริษัทดัตช์อินเดียตะวันตก (ก่อตั้งใน ค.ศ. 1621) (Ramona Negrón, 2023) ประสบความสำเร็จในการสร้างและครอบครองอาณานิคมและเมืองท่าทางการค้ารอบโลก ทำให้เข้าสู่ยุคทองของดัตช์ (The Hague International Center, 2023) แม้ว่าจะเกิดการเก็งกำไรในการค้าดอกทิวลิปจนนำไปสู่การพังทลายของตลาดหุ้นครั้งแรกใน ค.ศ. 1637 แต่วิกฤติเศรษฐกิจก็ผ่านพ้นไปได้อย่างรวดเร็ว

          จักรวรรดิ์ดัตช์ได้แผ่ขยายอาณาเขตไปทั่วโลกภายใต้การนำของบริษัททั้งสอง ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินการภายใต้ลัทธิพาณิชย์นิยมที่มีความสำคัญมากที่สุดในยุคนั้น บริษัทนี้ประสบความสำเร็จอย่างมากในการจัดการสร้างอาณานิคม และดึงดูดทรัพยากรจากดินแดนโพ้นทะเลจนทำให้จักรวรรดิ์ดัตช์มีความร่ำรวยและทรงอำนาจอย่างมหาศาล (The Hague International Center, 2023) แต่ในช่วงศตวรรษที่ 18 สถานภาพดังกล่าวของดัตช์ก็ตกต่ำลง หลังจากทำสงครามหลายต่อหลายครั้งกับอังกฤษและฝรั่งเศส อังกฤษสามารถยึดครองอาณานิคมของดัตช์ในอเมริกาที่ชื่อนิวอัมสเตอร์ดัมได้และเปลี่ยนชื่อเป็นนิวยอร์ค (HAYES, 2023)

 

พระมหากษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตย 

          ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์สถาปนาระบอบกษัตริย์ในปี ค.ศ. 1815 ก่อนหน้านั้นราชอาณาจักรแห่งนี้ปกครองด้วยสตัดเฮาเดอร์ (stadhouder) ซึ่งเป็นตำแหน่งผู้ปกครองระดับรองทำหน้าที่บริหารพื้นที่ (Royal House of the Netherlands, 2023) โดยใน ค.ศ. 1559 ราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ได้ถูกพระเจ้าฟิลิเปที่สองแห่งสเปน (Philip II ค.ศ. 1527-1598) ส่งสตัดเฮาเดอร์ (stadhouder) หรือเจ้าผู้ครองสถานที่ชื่อ วิลเลียม ผู้เงียบขรึม (William the Silent หรือเป็นที่รู้จักในเนเธอร์แลนด์ว่า William of Orange (Dutch: Willem van Oranje ค.ศ. 1533-1584) มาปกครอง แต่เขากลับกลายเป็นผู้นำของดัตช์ในการต่อต้านการปกครองพระเจ้าฟิลิปแห่งสเปนเจ้านายเก่าของเขา ก่อให้เกิดสงคราม 80 ปีขึ้น ทั้งนี้สาเหตุหลัก ๆ ของสงครามมาจากการกดขี่ชาวโปรแตสเตนท์และการเรียกเก็บอัตราภาษีที่สูง ผลของสงครามคือเนเธอร์แลนด์สามารถปลดแอกตัวเองออกมาจากสเปนได้ ผ่านสนธิสัญญามุนสเตอร์และสนธิสัญญาเวสฟาเลีย ซึ่งรับรองเอกราชอย่างเป็นทางการของดัตช์ (Mark, 2022) (Royal House of the Netherlands, 2023)

          ภายหลังสงครามสาธารณรัฐดัตช์ได้รับการยอมรับในการมีอำนาจอธิปไตยของตนเองแต่มีรูปแบบการปกครองที่ไม่เหมือนใคร ไม่ได้เป็นนครรัฐแบบเวนิสหรือเป็นรัฐดินแดนที่ทันสมัยแบบประเทศฝรั่งเศส สาธารณรัฐดัตช์เป็นการรวมตัวกันของเจ็ดสหพันธ์จังหวัดประกอบกันเป็นสมาพันธ์โดยไม่มีผู้มีอำนาจจากส่วนกลางที่เข้มแข็งและขุนนางมีความโดดเด่นน้อยกว่าชนชั้นนำอื่น ๆ สาธารณรัฐดัตช์เป็นสหพันธ์จังหวัดที่มีอำนาจอธิปไตยเป็นของตนเอ มีการรวมตัวกันค่อนข้างหลวม ดำเนินการผ่านการเปลี่ยนแนวร่วมของมณฑล เมือง ผู้สำเร็จราชการ และเจ้าเมือง ซึ่งต่างมีคตินิยมแตกต่างกันเล็กน้อย (Jong, 2011)

          จังหวัดทั้ง 7 ในเนเธอร์แลนด์จึงมีอำนาจเป็นของตัวเองในระดับสูง การปกครองแบบแยกส่วนและเป็นอิสระในตัวเองเช่นนี้จึงหมายความว่าดัตช์หลุดออกจากระบบฟิวดัลที่บังคับให้ชาวนาอยู่ติดที่ดิน ก่อนเมืองอื่น ๆ อัมสเตอร์ดัมกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าและการเงินของโลกในกลางศตวรรษที่ 17 (Jong, 2011) แต่สถานการณ์เช่นนี้ไม่ได้อยู่ถาวร เพราะเมื่อได้มีการสถาปนาจักรวรรดิ์สมบูรณาญาสิทธิราชย์อันรวมศูนย์ได้ในฝรั่งเศส ออสเตรีย รัสเซีย และปรัสเซีย ในภาคพื้นทวีป และอังกฤษในดินแดนทะเล ทำให้เข้าถึงยุคเสื่อมของสาธารณรัฐดัตช์ โดยปัจจัยสำคัญก็คือการพ่ายแพ้ของโปแลนด์ต่อรัสเซียทำให้ยูเครนตกเป็นของรัสเซีย พื้นที่นี้จึงไม่สามารถป้อนธัญพืชให้กับเนเธอร์แลนด์อีกต่อไป  (Amsterdam.info, 2023)

          ใน ค.ศ. 1795 จักรพรรดิ์นโปเลียนทรงพิชิตชัยที่ดัตช์ได้ ได้ทรงเปลี่ยนชื่อดัตช์ให้กลายเป็น สาธารณรัฐปัตตาเวีย (Batavia Republic ค.ศ. 1795-1806) ต่อมาได้กลายเป็นราชอาณาจักรเมื่อพระองค์ส่งพระอนุชาของพระองค์คือพระเจ้าหลุยส์ ให้เป็นพระมหากษัตริย์แห่งฮอลแลนด์ (ค.ศ. 1806-1810) เนเธอร์แลนด์ได้เป็นเอกราชอีกครั้งใน ค.ศ. 1813 มีรัฐธรรมนูญฉบับแรกในปีนั้นเอง (Royal House of the Netherlands, 2023)

          หลังจากนั้นในช่วงการประชุมที่เวียนนา (Congress of Vienna) ได้มีการตกลงกันว่าจังหวัดทางตอนเหนือและทางตอนใต้ของเนเธอร์แลนด์ควรจะรวมกัน เจ้าชายวิลเล็ม เฟเดอริก  (Willem Frederik ค.ศ. 1772-1843) จึงประกาศพระองค์เป็นพระเจ้าวิลเล็มที่ 1 ของราชอาณาจักรเนเธอร์แลนด์ พระองค์ทรงเป็นพระโอรสพระองค์โตของวิลเลียมที่ 4 เจ้าชายแห่งออเรนจ์ และเป็นสตัดโฮเดอร์คนสุดท้ายของสาธารณรัฐเนเธอร์แลนด์ ในช่วงการบุกรุกของจักรพรรดิ์นโปเลียนใน ค.ศ. 1795 พระองค์ได้ลี้ภัยในที่ประเทศอังกฤษ ในขณะนั้นพระองค์ยังดำรงพระสถานภาพเป็นผู้ปกครองของออเร็นจ์-นัสซอจนกระทั่ง ค.ศ. 1806 อันเป็นปีที่พระองค์สิ้นพระชนม์ พระเจ้าวิเล็มที่ 1 จึงสืบเชื้อชายต่อจากพระองค์ (Royal House of the Netherlands, 2023)

          พระเจ้าวิลเล็มที่ 1 ทรงเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์แรกของเนเธอร์แลนด์ ซึ่งแม้ว่าในสมัยที่พระองค์ทรงครองราชย์พระองค์จะมีอำนาจอย่างล้นพ้น แต่พระองค์ก็ยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ประเทศทันสมัยรวมถึงวางรากฐานของความเสมอภาคของทุกคนภายใต้กฎหมาย พระองค์นับถือลัทธิคาลวิน (Calvinist) ซึ่งเป็นโปแตสแตนท์สายหนึ่ง ไม่เห็นด้วยกับการมีสิทธิพิเศษของโรมันคาธอลิก จึงรับประกันความคุ้มครองที่เท่าเทียมกันและการได้รับสิทธิทางแพ่งและทางการเมืองแบบเดียวกันในทุกลัทธิศาสนา พระองค์ทรงครองราชย์จนถึง ค.ศ. 1840 จึงได้สละราชสมบัติให้พระมหากษัตริย์องค์ถัดไป ซึ่งก็คือ พระเจ้าวิลเล็มที่ 2 (William Frederick George Louis; ค.ศ. 1792-1849) พระราชโอรสของพระองค์ ผู้ซึ่งเป็นพระมหากษัตริย์แห่งเนเธอร์แลนด์และแกรนด์ดยุกแห่งลักเซมเบิร์กและดยุกแห่งลิมเบิร์ก (Royal House of the Netherlands, 2023)

          ในรัชสมัยของพระเจ้าวิลเล็มที่ 2 นี้ ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองขึ้นที่รุนแรงมากในยุโรป ได้แก่ การปฏิวัติทั่วยุโรป ค.ศ. 1848 สาเหตุของเหตุการณ์มาจากทั้งปัญหาทางเศรษฐกิจและการเจริญเติบโตทางอุดมการณ์ในเรื่องปัญหาเศรษฐกิจคือ เกิดภาวะการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง จากการระบาดของเชื้อราในมันสำปะหลังตั้งแต่ ค.ศ. 1845 ทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารในยุโรปทางตอนเหนือก่อนและกระจายไปทั่วยุโรป ทำให้เกิดความลำบากและอดอยากแร้นแค้นอย่างสาหัส สิ่งเหล่านี้มาประสานกับลัทธิเสรีนิยมและชาตินิยมที่แพร่กระจายในยุโรปยุคนั้นจนทำให้เกิดการประท้วงและการปฏิวัติทั่วยุโรป (Royal House of the Netherlands, 2023)

          จุดเริ่มต้นของการปฏิวัติในยุโรปเริ่มต้นในเดือนกุมภาพันธ์ การปฏิวัติฝรั่งเศสในเดือน กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1848 (révolution de Février) เป็นการต่อต้านพระเจ้าหลุยส์ ฟิลลิป (ค.ศ. 1773-1850) ผู้เป็นพระมหากษัตริย์องค์สุดท้ายในประเทศฝรั่งเศสที่ทรงครองราชย์ตั้งแต่ ค.ศ. 1830-1848 ความสำเร็จในครั้งนั้นได้ส่งผลต่อความพยายามในการประท้วงและความพยายามที่จะปฏิวัติขึ้นหลายแห่งในยุโรป ทั้งอิตาลี ออสเตรีย-ฮังการี และโปแลนด์ และมีผลกระทบต่อระบอบกษัตริย์ในยุโรปเกือบทุกประเทศ (Royal House of the Netherlands, 2023)

          พระเจ้าวิลเล็มที่ 2 ทรงรับมือกับกระแสดังกล่าวได้โดยการประนีประนอม พระองค์ทรงเห็นด้วยกับการปฏิรูปแบบเสรีนิยมและเป็นประชาธิปไตย พระองค์ได้ทรงมอบหมายให้ โจฮัน รูดอฟ ทอเบ็คเกอร์ (Johan Rudolf Thorbecke) นักเสรีนิยมผู้มีชื่อเสียงร่างรัฐธรรมนูญที่จะเปลี่ยนประเทศเนเธอร์แลนด์ให้เป็นระบอบรัฐธรรมนูญ (Rijk Musuem, 2023)

          รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ประกาศใช้ใน วันที่ 3 พฤศจิกายน ค.ศ. 1848 รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่จำกัดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์อย่างเข้มงวด รัฐบาลต้องรับผิดชอบต่อรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งเท่านั้นและมีการคุ้มครองเสรีภาพของพลเมือง รัฐธรรมนูญของเนเธอร์แลนด์ฉบับปัจจุบันมีรากฐานมาจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้

          ในปีถัดมา พระเจ้าวิลเล็มที่ 3 ทรงขึ้นครองราชย์ต่อจาก พระเจ้าวิลเล็มที่ 2 โดยไม่ทรงชอบใจนักกับการถูกกำจัดอำนาจโดยรัฐธรรมนูญและมักจะทำการแทรกแซงทางการเมือง อันมีผลต่อสถานภาพของสถาบันพระมหากษัตริย์ในประเทศ (New World Encyclopedia, 2023) พระเจ้าวิลเล็มที่ 3 สวรรคตใน ค.ศ. 1890 ทำให้พระราชบัลลังก์ถูกส่งต่อไปยังพระราชธิดาพระองค์เล็กของพระองค์ที่ชื่อ พระราชินีวิลเล็มมินา (Wilhelmina ค.ศ. 1880-1962) ในช่วงนั้นสถานภาพของการมีพระมหากษัตริย์คนเดียวกันระหว่างเนเธอร์แลนด์กับลักเซมเบิร์กจึงได้ยุติลง เพราะลักเซมเบิร์กในยุคนั้นไม่อนุญาตให้สตรีขึ้นครองราชย์ ลักเซมเบิร์กจึงถูกปกครองโดยแกรนด์ดยุกอดอฟท์ ผู้เป็นพระญาติของพระนาง

          พระราชินีนาถวิลเล็มมินาทรงรับราชสมบัติเมื่อทรงมีพระชนม์มายุเพียง 10 พรรษา ใน ค.ศ. 1890 โดยมีพระราชมารดา คือ พระราชินีเอ็มมา เป็นผู้สำเร็จราชการในช่วงแรก ตลอดรัชสมัยของพระองค์ทรงผ่านช่วงเวลาที่ยากลำบากและมีการเปลี่ยนแปลงมากมาย ทั้งเรื่องของสงครามโลกทั้งสองครั้งและการปลดปล่อยอาณานิคมอินโดนีเซีย พระองค์และคณะรัฐมนตรีได้อพยพไปอยู่ที่อังกฤษในช่วงที่ถูกรุกรานจากเยอรมนีใน ค.ศ. 1940 ความตั้งใจแน่วแน่ของพระองค์ในช่วงสงครามทำให้ทรงได้รับความเคารพอย่างสูงทั้งในบ้านเกิดและในต่างประเทศ (New World Encyclopedia, 2023) พระองค์กลับประเทศเนเธอร์แลนด์ใน ค.ศ. 1945 และต่อมาด้วยเหตุผลทางสุขภาพ พระองค์ทรงสละราชสมบัติให้พระราชธิดาพระองค์เดียวของพระองค์ให้เป็นพระราชินีนาถจูเลียอานา (Juliana ค.ศ. 1909-2004) (Royal House of the Netherlands, 2023)

          สมเด็จพระราชินีนาถจูเลียอานาทรงครองราชย์ตั้งแต่ ค.ศ. 1948 ถึง 1980 ในช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวงในสังคมดัตช์ ซึ่งรวมถึงการบูรณะฟื้นฟูประเทศหลังสงคราม การเดินขบวนต่อต้านของเหล่านักศึกษาในทศวรรษที่ 1960-1970 พระราชอุปนิสัยส่วนพระองค์ที่ไม่ทรงยึดติดกับกระบวนการที่เป็นทางการและความห่วงกังวลของพระองค์ที่เกี่ยวกับประเด็นทางสังคม ทำให้พระองค์ได้รับการยอมรับจากสาธารณะเป็นอย่างสูง ใน ค.ศ. 1980 พระองค์ทรงสละราชสมบัติให้สมเด็จพระราชธิดาของพระองค์ คือ เจ้าหญิงเบียทริซ (Princess Beatrix) ได้ทรงขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ถัดไป ซึ่งทรงครองราชย์ต่อมาจน ค.ศ. 2013 และได้ทรงสละราชสมบัติให้พระราชโอรสพระองค์โตของพระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าวิลเล็ม-อเล็กซานเดอร์ ซึ่งครองราชย์มาจนถึงปัจจุบัน (Royal House of the Netherlands, 2023)

 

พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

          มาตราที่ 24 ของรัฐธรรมนูญเนเธอร์แลนด์ระบุว่า ตำแหน่งพระมหากษัตริย์ของเนเธอร์แลนด์ต้องสืบเชื้อสายมาจาก พระเจ้าวิลเล็มที่ 1 เจ้าชายแห่งออเรนจ์-นัสซอ และตั้งแต่มาตรา 25-31 ได้ระบุถึงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ในการสืบราชสันตติวงศ์ เช่น การอภิเษกสมรสจะต้องได้รับการยินยอมโดยพระราชบัญญัติของรัฐสภา การสืบราชสันตติวงศ์ต้องได้รับการยอมรับโดยพระราชบัญญัติของรัฐสภา จะมีการยุบสภาหากพระมหากษัตริย์ทรงสละราชสมบัติหรือสิ้นพระชนม์โดยไม่สามารถหาผู้สืบทอดราชบัลลังก์พระองค์ใหม่ได้ (มาตรา 30) (Government of the Netherlands, 2023)     

          ตั้งแต่ มาตราที่ 32-34 เป็นเรื่องพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ได้แก่ การกำหนดว่า ในการขึ้นครองราชย์ พระมหากษัตริย์จะให้สัตย์ปฏิญาณหรือทรงสัญญาว่าจะจงรักภักดีต่อรัฐธรรมนูญและจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต พระมหากษัตริย์จะไม่ทรงใช้พระราชอำนาจก่อนพระชนมายุสิบแปดพรรษา การแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการเป็นอำนาจของรัฐสภา (Government of the Netherlands, 2023)

          มาตราที่ 35-36 เป็นมาตราที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงปฏิบัติหน้าที่ได้ และการกลับมาปฏิบัติหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ ซึ่งหากรัฐมนตรีทราบเรื่องดังกล่าวจะต้องนำเสนอต่อรัฐสภาและจะมีการประชุมรัฐสภาเพื่อตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวก่อนที่จะมีการแจ้งให้สาธารณชนรับทราบ และหากทรงกลับมาปฏิบัติหน้าที่ได้รัฐสภาก็ต้องประชุมเพื่อตัดสินใจในเรื่องดังกล่าว ส่วนมาตรา 37 เป็นเรื่องของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ใน มาตราที่ 38 เป็นเรื่องของสภาแห่งรัฐ (Council of State) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีและสภาฐานันดร โดยสภาแห่งรัฐมีสมาชิก 2 ประเภท คือ สมาชิกที่เป็นราชวงศ์และสมาชิกที่พระมหากษัตริย์ แต่งตั้งจากผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การค้า การทูต หรือการทหาร สภาแห่งนี้อาจทำหน้าที่บริหารพระราชอำนาจจนกว่าจะมีบทบัญญัติอื่นที่ทำขึ้นเพื่อใช้พระราชอำนาจดังกล่าว  (Government of the Netherlands, 2023)

          มาตราที่ 39 พูดถึงสถานภาพในการเป็นสมาชิกในพระราชวงศ์ที่กำหนดโดยรัฐสภา มาตราที่ 40 กล่าวถึงเรื่องเงินรายปีและการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และมาตราที่ 41 ได้บอกไว้ว่าพระองค์จะมีการจัดระเบียบค่าใช้จ่ายครัวเรือนโดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม (Government of the Netherlands, 2023)

          มาตราที่ 42-49 เป็นเรื่องพระราชอำนาจของพระองค์กับคณะรัฐมนตรี โดยรัฐบาลของเนเธอร์แลนด์ประกอบด้วยพระมหากษัตริย์และคณะรัฐมนตรี พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาลเท่านั้นและทรงไม่แทรกแซงและไม่รับผิดชอบกับการตัดสินใจของรัฐบาล คณะรัฐมนตรีมีสิทธิ์ในการตรากฎหมายและออกนโยบายต่าง ๆ พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการจัดตั้งรัฐบาลและตรากฎหมาย กฎหมายทุกฉบับจะต้องได้รับการลงพระปรมาภิไทยจากพระองค์ พระมหากษัตริย์ยังทรงเป็นประธานของคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ให้คำปรึกษาแก่คณะรัฐมนตรีในทางนิติบัญญัติทุกเรื่องและยังทรงเป็นประธานศาลปกครองสูงสุดอีกด้วย  (Government of the Netherlands, 2023)

          พระมหากษัตริย์ของประเทศเนเธอร์แลนด์ทรงเป็นกลางทางการเมืองและทรงปฏิบัติหน้าที่ทางการ เช่น การรับคณะเอกอัครราชทูต และในการเปิดรัฐสภาในวันอังคารที่สามของเดือนกันยายนที่เรียกว่า Prinsjesdag หรือวันเจ้าชาย (Prince’s Day) ซึ่งเป็นวันที่จัดขึ้นเพื่อเป็นเกียรติแด่พระราชวงศ์ พระมหากษัตริย์ทรงกล่าวพระราชดำรัสจากพระราชบัลลังก์ โดยรัฐบาลเป็นผู้ยกร่างโดยได้สรุปแผนสำหรับปีที่จะถึงนี้ และสะท้อนถึงสถานการณ์ปัจจุบันในเนเธอร์แลนด์  (Government of the Netherlands, 2023)

 

อ้างอิง

Royal House of the Netherlands. (2023). King Willem II (1792-1849). Retrieved March 8, 2023, from Royal House of the Netherlands: https://www.royal-house.nl/topics/kings-and-queens/king-willem-ii-1792-1849

Amsterdam.info. (2023). Short history of Netherlands. Retrieved March 8, 2023, from Amsterdam.info: https://www.amsterdam.info/netherlands/history/

European Commission. (2023). Culture and Creativity. Retrieved March 8, 2023, from European Commission: https://culture.ec.europa.eu/cultural-heritage/initiatives-and-success-stories/european-heritage-label/european-heritage-label-sites/munster-and-osnabruck-sites-of-the-peace-of-westphalia-germany

Government of the Netherlands. (2023). Prince's Day. Retrieved March 8, 2023, from Government of the Netherlands: https://www.government.nl/topics/budget-day/princes-day

Government of the Netherlands. (2023). The Constitution of the Kingdom of the Netherlands 2018. Retrieved March 8, 2023, from Government of the Netherlands: https://www.government.nl/documents/reports/2019/02/28/the-constitution-of-the-kingdom-of-the-netherlands

HAYES, A. (2023). Tulipmania: About the Dutch Tulip Bulb Market Bubble. Retrieved March 8, 2023, from Investopedia: https://www.investopedia.com/terms/d/dutch_tulip_bulb_market_bubble.asp

Jong, J. d. (2011). The Dutch Golden Age and Globalization: History and Heritage, Legacies and Contestations. Macalester International, 27(7). Retrieved from https://digitalcommons.macalester.edu/cgi/viewcontent.cgi?article=1491&context=macintl

Mark, J. J. (2022, July 8). William the Silent. Retrieved March 8, 2023, from World History: https://www.worldhistory.org/William_the_Silent/

New World Encyclopedia. (2023). William III of the Netherlands. Retrieved March 8, 2023, from New World Encyclopedia: https://www.newworldencyclopedia.org/entry/William_III_of_the_Netherlands

Ramona Negrón. (2023). Approved by the Bible. The Slave Trade of the Dutch West India Company. Retrieved March 8, 2023, from The Low Countries: https://www.loc.gov/item/2021666729/

Rijk Musuem. (2023). Johan Rudolf Thorbecke. Retrieved March 8, 2023, from Rijk Musuem: https://www.rijksmuseum.nl/en/rijksstudio/historical-figures/johan-rudolf-thorbecke

Royal House of the Netherlands. (2023). History. Retrieved March 8, 2023, from Royal House of the Netherlands: https://www.royal-house.nl/topics/stadholders/history

Royal House of the Netherlands. (2023). History of the Kingdom of the Netherlands. Retrieved March 8, 2023, from Royal House of the Netherlands: https://www.royal-house.nl/topics/history-of-the-kingdom-of-the-netherlands

Royal House of the Netherlands. (2023). History of the monarchy. Retrieved March 8, 2023, from Royal House of the Netherlands: https://www.royal-house.nl/topics/history-of-the-kingdom-of-the-netherlands/history-of-the-monarchy

Royal House of the Netherlands. (2023). History: Stadholders of the 16th and 17th centuries. Retrieved March 8, 2023, from Royal House of the Netherlands: https://www.royal-house.nl/topics/stadholders/history

Royal House of the Netherlands. (2023). Role of the head of state. Retrieved March 8, 2023, from oyal House of the Netherlands: https://www.royal-house.nl/topics/role-of-the-head-of-state

Statistics Netherlands. (2023). Population counter. Retrieved May 1, 2023, from Statistics Netherlands: https://www.cbs.nl/en-gb/visualisations/dashboard-population/population-counter

The Hague International Center. (2023). History of the Netherlands. Retrieved March 8, 2023, from The Hague International Center: https://www.thehagueinternationalcentre.nl/why-the-hague-region/the-netherlands-in-a-nutshell/history-of-the-netherlands

Western Australian Musuem. (2023). VOC – United Dutch East India Company. Retrieved March 8, 2023, from Western Australian Musuem: https://museum.wa.gov.au/explore/dirk-hartog/voc-united-dutch-east-india-company