ม็อบร่ม

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 15:10, 15 มีนาคม 2566 โดย Trikao (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ศุทธิกานต์ มีจั่น

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ดร.สติธร ธนานิธิโชติ

 

          ม็อบร่ม คือ การใช้ร่มเป็นสัญลักษณ์ในการประท้วงและใช้เป็นอุปกรณ์ในการป้องกันตัว โดยมีต้นกำเนิดจากขบวนการประชาธิปไตยฮ่องกง หรือ “ขบวนการปฏิวัติร่ม” ซึ่งใช้ร่มสีเหลืองเป็นสัญลักษณ์ของการประท้วงที่หมายถึงการต่อต้านแบบไม่โต้ตอบภายใต้ชื่อ Umbrella Movement กล่าวได้ว่า ขบวนการปฏิวัติร่มถูกยกขึ้นเป็นต้นแบบแห่งการปฏิวัติยุคใหม่มาตั้งแต่ ปี ค.ศ. 2014 ภายใต้ข้อเรียกร้องสิทธิในการเลือกตั้งผู้ว่าการเกาะฮ่องกงโดยตรงโดยที่ไม่ถูกแทรกแซงจากรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่[1]

          เหตุการณ์ความไม่สงบในฮ่องกงเกิดขึ้น เมื่อฮ่องกงถูกส่งมอบคืนจากการปกครองของอังกฤษเมื่อ ปี ค.ศ. 1997 ภายใต้ข้อตกลงพิเศษที่ว่า รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่จะปกครองฮ่องกงแบบ “หนึ่งประเทศสองระบบ” โดยชาวฮ่องกงจะมีเสรีภาพบางประการ เช่น เสรีภาพในการรวมตัวและแสดงความคิดเห็น มีกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอิสระ และมีสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย แต่ชาวฮ่องกงบางส่วนกังวลว่าอิทธิพลของจีนเหนือฮ่องกงที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติ จะทำลายสิทธิและเสรีภาพจนหมดสิ้นไป[2]

 

ภาพ : แผนที่จุดชุมนุมประท้วงที่สำคัญในฮ่องกงที่ถูกบันทึกไว้เมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ.2019[3]

Umbrella Movement (1).png
Umbrella Movement (1).png

 

          จุดเริ่มต้นของปฏิวัติร่มของฮ่องกง มาจากการเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงเริ่มต้นจากเด็กมัธยมปลายกลุ่มหนึ่งที่ก่อตั้งกลุ่มขึ้นใน ปี ค.ศ. 2011 โดยต้องการผลักดันฮ่องกงใน 3 ด้าน ได้แก่ นโยบายด้านเยาวชน นโยบายด้านการศึกษาของฮ่องกง และการปฏิรูปทางการเมือง จุดยืนสำคัญของพวกเขา คือ การต่อสู้เรียกร้องให้ปกป้องนโยบายการศึกษาของฮ่องกงไม่ให้รัฐบาลจีนเข้ามาแทรกแซง ซึ่งนโยบายการศึกษาแบบจีนมีลักษณะวิชาที่เน้น ศีลธรรม และนโยบายแห่งชาติ ตามแนวทางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน การต่อสู้ถูกยกระดับเป็นการต่อสู้กับรัฐบาลฮ่องกงโดยตรงและได้รับชัยชนะ แต่แม้จะรับชัยชนะในเรื่องหลักสูตรฯ แล้ว นักเรียนกลุ่มดังกล่าวยังคงรวมตัวกันเพื่อเรียกร้องและทำกิจกรรมทางการเมืองเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของพลเมืองอย่างเป็นประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่อง

          ต่อมาใน ปี ค.ศ. 2014 นักเรียนกลุ่มดังกล่าวได้ชูประเด็นการเรียกร้องที่สำคัญ คือ การเสนอชื่อผู้บริหารสูงสุดของฮ่องกง พวกเขาเชื่อว่าผู้นำฮ่องกงควรมาจากการเสนอชื่อจากประชาชนฮ่องกงเท่านั้น เนื่องจากที่ผ่านมา บุคคลที่จะถูกนำมาเลือกตั้งนั้นจะถูกคัดเลือกมาแล้วโดยพรรคคอมมิวนิสต์จีน ผลของความไม่พอใจของประชาชนได้เกิดการประท้วงที่ถูกเรียกว่า “ยึดพื้นที่ใจกลางเกาะฮ่องกงด้วยความรักและสันติภาพ” ซึ่งใช้เวลาในการประท้วงรวม ระยะเวลา 79 วัน และมีผู้เข้าร่วมมากกว่า 500,000 คน โดยกลุ่มผู้ชุมนุมเข้าพ่นสีและบุกทำลายเข้าไปใกล้บริเวณจัตุรัสซีวิคใกล้กับศูนย์ราชการ และเกิดการปะทะกับตำรวจ ซึ่งใช้สเปรย์พริกไทยและโล่กระบองต่อสู้กับผู้ชุมนุม ผู้ชุมนุมนั้นไม่มีอาวุธมีเพียงร่มที่ใช้ป้องกันสเปรย์พริกไทยและแก๊สน้ำตา ร่มจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของการปกป้องคุ้มครอง ถือเป็นการประยุกต์สิ่งของในชีวิตประจำวันเป็นเกราะกำบัง และถือเป็นจุดเริ่มต้นของขบวนการปฏิวัติร่วมอย่างเป็นทางการ ประกอบกับเมื่อภาพผู้ชุมนุมที่ต้องปกป้องตัวเองจากเจ้าหน้าที่รัฐถูกเผยแพร่ออกไป ยิ่งปลุกให้ประชาชนออกมาร่วมชุมนุมมากขึ้น จากการยึดพื้นที่ย่านเซ็นทรัล ก็ขยายตัวเข้ายึดพื้นที่สำคัญต่าง ๆ ในเกาะฮ่องกง[4] รวมทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม ร้านค้าสีเหลือง (Yellow Economic Circle) ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนการประท้วง[5] อย่างไรก็ตาม การเรียกร้องดังกล่าวไม่ได้รับการยินยอมจากรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่และถูกตอบโต้ด้วยการใช้วิธีจับกุมกักขังและการกวาดล้างผู้เห็นต่าง[6] ศาลฮ่องกงตัดสินให้นักเคลื่อนไหวที่เป็นแนวร่วมเคลื่อนไหวร่มเหลืองใน ปี ค.ศ. 2014 มีความผิดฐานก่อความเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณะ[7] รวมทั้งข้อหาขัดขวางเจ้าหน้าที่ตำรวจและละเมิดอำนาจศาล

 

ภาพ : การประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง หรือ “ขบวนการปฏิวัติร่ม” [8]

Umbrella Movement (2).jpg
Umbrella Movement (2).jpg
Umbrella Movement (3).jpg
Umbrella Movement (3).jpg
Umbrella Movement (4).jpg
Umbrella Movement (4).jpg

 

          เมื่อวันที่ 10 เมษายน ค.ศ. 2016 ฝ่ายประชาธิปไตยในฮ่องกงประกอบด้วย กลุ่มนักเรียนผู้ปฏิบัติการเชิงรุก (Scholarism) โดยมี โจชัว หว่อง (Joshua Wong) เป็นแกนนำคนสำคัญ[9] กลุ่มสมาพันธ์นักศึกษาฮ่องกง (The Hong Kong Federation of Students :HKFS) นำโดย นายอเล็กซ์ ชอว์ (Alex Chow) และ เลสเตอร์ ชัม (Lester Shum) และกลุ่มยึดเซ็นทรัลด้วยความรักและสันติภาพ (Occupy Central with Love and Peace : OCLP) นำโดยเบนนี ไท (Benny Tai) ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายและนักกิจกรรมเรียกร้องประชาธิปไตย และ Chan Kin-man (ชาน คิน-แมน) ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยา[10] ที่แม้กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้จะมีจุดเน้นในการผลักดันที่ต่างกัน แต่กลุ่มเหล่านี้เชื่อร่วมกันในการเรียกร้องประชาธิปไตยได้ตัดสินใจตั้งพรรคการเมืองในชื่อ “เดโมซิสโต (Demosistō)” และได้ประกาศยุบพรรคในเวลาต่อมา เมื่อวันอังคารที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 2020 หลังจากสภาประชาชนจีนผ่านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่สำหรับใช้ในฮ่องกง เพื่อจัดการกับพฤติกรรมการแบ่งแยกดินแดน ล้มล้างการปกครอง ก่อการร้ายและสมคบกับกองกำลังต่างชาติ[11]

          แม้การปฏิวัติร่มของฮ่องกง ยังไม่สามารถทำให้รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ยอมโอนอ่อนและปฏิบัติตามคำเรียกร้องของพวกผู้ชุมนุมได้[12] นอกจากนี้แกนนำของขบวนการเคลื่อนไหวยังถูกพิพากษาจำคุกในข้อหาต่าง ๆ และถูกตัดสิทธิลงรับสมัครเลือกตั้ง[13] เป็นต้น แต่กล่าวได้ว่าได้ก่อให้เกิดกระแสตื่นตัวทางการเมืองในหมู่คนหนุ่มสาวชาวฮ่องกง จนทำให้หลายคนผันตัวไปเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย หรือแม้แต่ได้รับเลือกในการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติแห่งเขตบริหารพิเศษฮ่องกง เมื่อวันที่ 4 กันยายน ค.ศ. 2016 รวมทั้งการประท้วงของขบวนการร่มเหลืองได้ทิ้งมรดกแห่งการต่อสู้และเป็นบทเรียนให้แก่บรรดาผู้ประท้วงในปัจจุบัน[14]

 

บรรณานุกรม

มารินี สุวรรณโมลี.(2562). “บทวิเคราะห์ปัญหาการประท้วงในฮ่องกง”. สืบค้นจาก http://thaigovscholars.org/wp-content/uploads/13-บทวิเคราะห์ปัญหาการประท้วงในฮ่องกง.pdf (25 กรกฎาคม 2564).

Stephan Ortmann.(2015).“ขบวนการร่ม” ในฮ่องกง: จากประเด็นปัญหาด้านเศรษฐกิจถึงการปฏิเสธลัทธินิยมวัตถุ”, Kyoto Review of Southeast Asia, Issue 17 (March). สืบค้นจาก https://kyotoreview.org/ภาษาไทย/ขบวนการร่ม-ในฮ่องกง-จ/ (25 กรกฎาคม 2564).

Wong, Benson & Chung, Sanho. (2016). “Scholarism and Hong Kong Federation of Students: Comparative Analysis of Their Developments after the Umbrella Movement”. Contemporary Chinese Political Economy and Strategic Relations. (2). Pp.865-884.

 

อ้างอิง

[1] “ประมวลภาพ: ม็อบร่มเหลืองในฮ่องกงประท้วงร่าง กม.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน”, สืบค้นจาก URL https://themomentum.co/hongkong-protest-against-china-extradition-law-photo/ (25 กรกฎาคม 2564).

[2] “โจชัว หว่อง: แกนนำเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกงประกาศสู้ต่อ แม้ว่าจะถูกศาลตัดสินจำคุก”, สืบค้นจาก URL https://www.bbc. com/thai/international-55039959(25 กรกฎาคม 2564).

[3] “Locations of all the major protests since June 9 ”, Retrieved from URL https://www.reddit.com/r/HongKong/ comments/ ciovob/locations_of_all_the_major_protests_since_june_9/(25 July 2021).

[4] “ปรากฏการณ์ ‘โจชัว หว่อง’ เมื่อคนรุ่นใหม่ปะทะมหาอำนาจ”, สืบค้นจาก URL https://themomentum.co/joshua-wong-phenomenon/(25 กรกฎาคม 2564).

[5] “How the Yellow Economic Circle Can Revolutionize Hong Kong”, Retrieved from URL https://thediplomat.com/ 2020/05/how-the-yellow-economic-circle-can-revolutionize-hong-kong/(25 July 2021).

[6] “ม็อบร่มฮ่องกง สู่ม็อบคณะราษฎรไทย สถานีต่อไป #ถ้าการเมืองลาวดี”, สืบค้นจาก URL https://www.prachachat.net/social-media-viral/news-540991(25 กรกฎาคม 2564).

[7] “ศาลฮ่องกงตัดสิน ให้ นักเคลื่อนไหว ‘ม็อบร่ม’ 9 คน มีความผิดฐานก่อความเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณะ”, สืบค้นจาก URL https://www.bbc.com/thai/international-47865571(25 กรกฎาคม 2564).

[8] “A refresher course on Hong Kong’s 2014 Umbrella Movement”, Retrieved from URL https://qz.com/1714897/what-was-hong-kongs-umbrella-movement-about/ (25 July 2021).

[9] “Scholarism”, Retrieved from URL https://socialmovements.trinity.duke.edu/groups/scholarism(25 July 2021).

[10] “Explainer: What was Hong Kong's 'Occupy' movement all about? ”, Retrieved from URL https://www.reuters.com/ article/us-hongkong-politics-occupy-explainer-idUSKCN1S005M(25 July 2021).

[11] “Weekend Focus: จีนผ่าน ‘กม.ความมั่นคงแห่งชาติ’ กระชับวงล้อมฮ่องกง ‘โจชัว หว่อง’ ผวาลาออก-ยุบพรรคปชต. ‘เดโมซิสโต’ ”, สืบค้นจาก https://mgronline.com/around/detail/9630000068665(25 กรกฎาคม 2564).

[12] “พลัง “ม็อบร่ม” ในฮ่องกงสร้างความเปลี่ยนแปลงได้แค่ไหน”, สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/international-38290520(25 กรกฎาคม 2564).

[13] “ศาลฮ่องกงตัดสินจำคุกโจชัว หว่อง 6 เดือน”, สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/international-40958065(25 กรกฎาคม 2564).

[14] “ประท้วงฮ่องกง : เหตุใดเยาวชนรุ่นใหม่จึงกล้าลุกขึ้นงัดข้อกับทางการ”, สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/international-48668551(25 กรกฎาคม 2564).