ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ผู้เขียน รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธพร อิสรชัย
ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธพร อิสรชัย
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นแผนกหนึ่งในศาลฎีกาซึ่งก่อตั้งขึ้นครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เป็นศาลที่เป็นส่วนหนึ่งของศาลยุติธรรม ที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีบางประเภทและผู้ที่จะถูกดำเนินคดีในศาลจำกัดเฉพาะบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งอื่นตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเท่านั้น[1] ปัจจุบันรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ยังคงบัญญัติให้มีแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา โดยได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมหลักการสำคัญบางประการ
แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็น 1 ใน 11 แผนกของศาลฎีกา เปิดทำการครั้งแรก เมื่อ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2543 ปัจจุบันรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 บัญญัติในมาตรา 194 ว่าให้มีแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา
ความเป็นมาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
การปฏิรูปการเมืองที่นำมาสู่การร่างรัฐธรรมนูญใน พ.ศ. 2540 ได้มีการหยิบยกประเด็นการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือการคอร์รัปชั่นของนักการเมืองและการประพฤติมิชอบในวงราชการมีมากขึ้น แต่การดำเนินคดีอาญาตามปกติไม่อาจแก้ปัญหาดังกล่าวได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงจำเป็นต้องตั้งแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองขึ้นในศาลฎีกา เพื่อให้อำนาจแก่ผู้พิพากษาศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาพิพากษาคดีโดยมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้สอบสวนและส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดฟ้องหรือ ป.ป.ช. สามารถฟ้องคดีเอง
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และกระบวนการยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
การพิจารณาพิพากษาคดี มีกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาฃองผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใช้บังคับโดยเฉพาะเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญมีซื่อว่า "พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารพาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560” หากไม่มีบทบัญญัติในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าวใช้บังคับ ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาใช้บังคับโดยอนุโลมการพิจารณาคดีใช้ระบบไต่สวนซึ่งต่างจากคดีทั่วไปที่ใช้ระบบกล่าวหา
สำหรับกระบวนการยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จะเริ่มต้นจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ผ่านอัยการสูงสุด และยื่นฟ้องไปยังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
เขตอำนาจศาลของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีอำนาจไต่สวนและพิพากษาบุคคลผู้กระทำผิดในข้อกล่าวหาดังต่อไปนี้
3.1) ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน ถูกกล่าวหาว่าทุจริตต่อหน้าที่ จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือขัดต่อกฎหมาย หรือรํ่ารวยผิดปกติ
3.2) กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ซ.) ถูกกล่าวหาว่าทุจริตต่อหน้าที่จงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรือขัดต่อกฎหมาย หรือร่ำรวยผิดปกติ
3.3) บุคคลธรรมดาที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน ผู้ให้ ขอให้หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่นักการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน และกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ซ.) ถูกกล่าวหาว่าจูงใจให้บุคคลเหล่านี้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่
3.4) นักการเมือง ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินและกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ซ.) หรือเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ถูกกล่าวหาว่าจงใจไม่ยื่นบัญชีทรัพย์สินและ หนี้สิน หรือจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สินอันเป็นเท็จ
องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
องค์คณะผู้พิพากษาในคดีประกอบด้วยผู้พิพากษาหรือผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกาจำนวน 9 คน ซี่งได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา การพิจารณาพิพากษาคดีอาศัยเสียงข้างมากขององค์คณะ นอกจากองค์คณะจะต้องทำคำพิพากษากลางแล้ว องค์คณะแต่ละคนยังต้องทำคำวินิจฉัยส่วนตนเปิดเผยต่อสาธารณะหลังจากได้อ่านคำพิพากษากลางแล้วด้วย[2]
การอุทธรณ์คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
คำพิพากษาในคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ภายใน 30 วัน นับแต่วันอ่านคำพิพากษาองค์คณะผู้พิพากษาในชั้นอุทธรณ์คือ ผู้พิพากษาที่มีอาวุโสไม่ต่ำกว่าหัวหน้าคณะในศาลฎีกาหรือผู้พิพากษาอาวุโสผู้เคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าหัวหน้าคณะในศาลฎีกาผู้ซึ่งไม่เคยเป็นองค์คณะเดิมจำนวน 9 คน ที่ได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

ภาพที่ 1 กระบวนการพิจารณาคดีของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ที่มา : ศาลฎีกา, 2021. “เกี่ยวกับแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง.” สืบค้นเมื่อ 20 Sep 2021 จาก http://www.supremecourt.or.th/division/แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง/เกี่ยวกับแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
อ้างอิง
[1] บรรหาร กำลา, 2553. “ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง: อำนาจพิจารณาพิพากษาในการดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง.” วารสารจุลนิติ. (พ.ย. - ธ.ค. 2553), หน้า 177.
[2] ศาลฎีกา, 2021. “เกี่ยวกับแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง.” สืบค้นเมื่อ 20 Sep 2021 จาก http://www.supremecourt.or.th/division/แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง/เกี่ยวกับแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง