ระบบการเลือกตั้ง (Election System)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 15:54, 14 มีนาคม 2566 โดย Trikao (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.ยุทธพร อิสรชัย

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ

 

ระบบการเลือกตั้ง

          ระบบเลือกตั้งเป็นประดิษฐกรรมทางการเมืองที่เกิดขึ้นเพื่อการสร้างความชอบธรรมทางการเมือง (Political Legitimacy) และรักษาเสถียรภาพทางการเมือง (Political Stability) ระบบเลือกตั้งจึงเป็นเครื่องมือในการเปลี่ยนจากการต่อสู้ด้วยความรุนแรงมาสู่แนวทางสันติวิธีในการเข้าสู่อำนาจ ดังคำเปรียบเปรยที่ว่าระบบเลือกตั้งเปลี่ยนจากหัวกระสุนมาสู่บัตรเลือกตั้ง (From Bullets to Ballots)[1]

ความหมายของระบบเลือกตั้ง

          ระบบเลือกตั้ง คือ การแปลงคะแนนเสียงที่ได้จากการเลือกตั้งทั่วไป ให้กลายเป็นที่นั่งที่ได้มาโดยพรรคการเมืองและผู้สมัคร ตัวแปรสำคัญคือสูตรการเลือกตั้งที่ใช้ โครงสร้างของบัตรเลือกตั้งและขนาดของเขตเลือกตั้ง การกระจายของที่เลือกตั้ง การสมัครรับเลือกตั้ง การลงทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ใครเป็นผู้จัดการเลือกตั้ง เป็นต้น

          การออกแบบระบบเลือกตั้งยังมีผลกระทบต่อกฎหมายเลือกตั้งในด้านอื่น ๆ ด้วย การเลือกระบบเลือกตั้งมีอิทธิพลต่อวิธีการปักปันเขตเลือกตั้ง การจัดทำทะเบียนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การออกแบบบัตรเลือกตั้งการนับคะแนนเสียง และอีกหลายแง่มุมของกระบวนการเลือกตั้ง[2]

ความสำคัญของระบบเลือกตั้ง

          1. ระบบเลือกตั้งทำให้เกิดการปรับแต่งสถาบันทางการเมืองได้ง่ายที่สุด เกิดการแปลงคะแนนเสียงที่ได้จากการเลือกตั้งทั่วไปให้กลายเป็นที่นั่งในองค์กรนิติบัญญัติ การเลือกระบบเลือกตั้งสามารถกำหนดได้ว่าใครจะเป็นผู้ที่ได้รับเลือกตั้งและพรรคการเมืองใดจะขึ้นสู่อำนาจ[3]

          2. ระบบเลือกตั้งเป็นการออกแบบวิธีการที่ทำให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการเมืองการปกครองตามหลักการประชาธิปไตย โดยประชาชนสามารถเลือกผู้แทนของตนเองให้ไปทำหน้าที่แทนตนในการใช้อำนาจรัฐทั้งในระดับท้องถิ่น และระดับชาติ

          3. ระบบการเลือกตั้งเป็นการสร้างความชอบธรรมทางการเมือง (Political Legitimacy) หรือการยอมรับจากประชาชนในการเข้าสู่อำนาจทางการเมืองเพื่อใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน

          4. ระบบการเลือกตั้งเป็นการสะท้อนให้เห็นมติมหาชน และเป็นการตรวจสอบประเมินผลทางการเมืองของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย

          5. ระบบการเลือกตั้งเป็นกระบวนการเปลี่ยนอำนาจการบริหารประเทศที่มีเสถียรภาพทางการเมือง (Political Stability)

หลักการพื้นฐานของการเลือกตั้ง[4]

          1. หลักความทั่วไปของการเลือกตั้ง (Universal suffrage) หมายถึง ประชาชนโดยทั่วไป ย่อมมีสิทธิที่จะลงคะแนนเลียงเลือกตั้งได้โดยไม่มีการกีดกั้นโดยอาศัยเหตุผลทางด้านเชื้อชาติ ศาลนา เพศ ฐานะทางเศรษฐกิจหรือความคิดเห็นทางการเมือง เป็นต้น

         2. หลักอิสระแห่งการเลือกตั้งหรือการเลือกตั้งโดยเสรี (Free Vote) หมายถึง ประชาชน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งย่อมมีอิสระในการที่จะตัดสินใจด้วยตัวเองว่าจะเลือกหรือไม่เลือกใครก็ได้ โดยปราศจากการใช้อิทธิพลคุกคาม บังคับ ขู่เข็ญใด ๆ ห้ามมิให้มีการควบคุมทิศทางการลงคะแนนเลียง ไม่ว่าในรูปแบบใด

          3. หลักการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม (Free and Fair Election) หมายถึง การเลือกตั้งจะต้องแสดงถึง การจัดการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม ปราศจากการชื้อสิทธิ ขายเสียง และการแทรกแซงจากอำนาจรัฐ

          4. หลักการเลือกตั้งตามกำหนดระยะเวลา (Periodical Election) หมายถึง การเลือกตั้ง จะต้องกระทำอย่างสม่ำเสมอ ตามเวลาที่มีการกำหนดไว้หรือตามวาระ เช่น ทุก 4 ปี หรือ 6 ปี เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสตรวจสอบการทำงานและตัดสินใจว่าจะยังคงเลือกผู้แทนคนเดิมหรือไม่

         5. หลักความเสมอภาคของการเลือกตั้ง (Equal Suffrage) หมายถึง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ละคน มีคะแนนเลียงเท่ากันและแต่ละคะแนนมีค่าเท่ากัน ตามหลักหนึ่งคน หนึ่งเลียง (One man, one vote)

          6. หลักการเลือกตั้งโดยลับ (Secret Vote) หมายถึง การลงคะแนนเลียงเลือกตั้งนั้น ต้องไม่มีการเปิดเผยหรือทำให้รู้ว่าผู้ลงคะแนนเลียงเลือกตั้งได้ลงคะแนนให้กับผู้สมัครคนใดหรือพรรคการเมืองใด

ตระกูลระบบการเลือกตั้ง[5]

          ในโลกนี้มีระบบเลือกตั้งต่าง ๆ กันจนนับไม่ถ้วน แต่โดยหลัก ๆ แล้ว อาจแบ่งได้ประมาณ 12 ระบบ ส่วนใหญ่จัดอยู่ในตระกูลกว้าง ๆ ได้ 3 ตระกูล หากใช้เกณฑ์การแบ่งโดยพิจารณาหลักการความเป็นสัดส่วนมาใช้ พร้อมด้วยข้อพิจารณาบางอย่าง เช่น สมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งในแต่ละเขตมีจำนวนเท่าไร และผู้ลงคะแนนลงได้กี่เสียง เราก็จะได้โครงสร้างตระกูลระบบเลือกตั้ง ดังแสดงในภาพที่ 1

 

RTENOTITLE
RTENOTITLE

ภาพที่ 1 ตระกูลระบบเลือกตั้ง (The Electoral System Families)

ที่มา : International Institute for Democracy and Electoral Assistance, 2012. สกุล สื่อทรงธรรม และอรวรรณ ยะฝา. แปล. โคทม อารียา และสมศรี หาญอนันทสุข. แปล.การออกแบบระบบเลือกตั้ง: คู่มือเล่มใหม่ของ International IDEA. Stockholm: Sweden, p. 32

 

          1. ระบบคะแนนนำ/เสียงข้างมาก (Plurality/Majority System)

          ลักษณะที่เด่นชัดของระบบคะแนนนำ/เสียงข้างมาก คือ โดยทั่วไปจะใช้เขตเดียวเบอร์เดียว ในระบบคะแนนนำกำชัย (คนช.) (First Past The Post: FPTP) บางครั้งรู้จักในชื่อว่า ระบบคะแนนนำเขตเดียวเบอร์เดียว ผู้ชนะคือผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุด แต่ไม่จำเป็นต้องได้เสียงข้างมากเด็ดขาด เมื่อระบบนี้นำมาใช้กับเขตเดียวหลายเบอร์ จึงกลายมาเป็นระบบคะแนนเสียงเป็นพวง (คพ.) (Block Vote: BV) ผู้ลงคะแนนมีคะแนนเสียงเท่ากับจำนวนที่นั่งของเขตเลือกตั้งนั้น และผู้สมัครที่ได้รับคะแนนสูงสุดก็จะได้รับเลือกตั้ง โดยไม่คำนึงว่าจะได้คะแนนเสียงร้อยละเท่าไร จากระบบนี้ ถ้าเปลี่ยนให้ผู้ลงคะแนนลงคะแนนเลือกบัญชีรายชื่อพรรคแทนที่จะเลือกผู้สมัครเป็นคนคนไป ก็จะกลายมาเป็นระบบคะแนนเสียงเป็นพวงสำหรับพรรค (คพพ.) (Party Block Vote: PBV) ระบบเสียงข้างมากเด็ดขาด เช่น ระบบคะแนนเสียงเผื่อเลือก (คล.) (Alternative Vote: AV) และการเลือกตั้งสองรอบ (ลสร.) (The Two-Round system: TRS) พยายามให้แน่ใจว่าผู้สมัครที่ชนะจะได้รับคะแนนเสียงข้างมากเด็ดขาด (นั่นคือ มากกว่าร้อยละ 50) แต่ละระบบมีสาระสำคัญอยู่ที่การใช้ความชอบในลำดับที่สองของผู้ลงคะแนน เพื่อให้ได้ผู้ชนะที่มีเสียงข้างมากเด็ดขาด หากไม่ได้รับเสียงข้างมากเช่นนั้นในการลงคะแนนรอบแรก

          2. ระบบการเป็นตัวแทนแบบสัดส่วน

          ความเป็นเหตุเป็นผลที่หนุนระบบการเป็นตัวแทนแบบสัดส่วน (ตสบ.) (Proportional Representation: PR) ทั้งหมดนั้นคือการจงใจลดความไม่เสมอกันระหว่างส่วนแบ่งของคะแนนเสียงระดับชาติของพรรคกับส่วนแบ่งของที่นั่งในสภาของพรรคนั้น หากพรรคใหญ่พรรคหนึ่งได้รับคะแนนเสียง ร้อยละ 40 ก็ควรจะได้รับที่นั่งในสภาประมาณ ร้อยละ 40 ส่วนพรรคเล็กกว่าที่มีคะแนนเสียงร้อยละ 10 ก็ควรจะมีที่นั่งในองค์กรนิติบัญญัติ ร้อยละ 10 เช่นกัน มักมองกันว่าการบรรลุความเป็นสัดส่วนได้ดีที่สุดก็โดยการใช้บัญชีรายชื่อพรรค โดยพรรคการเมืองนำเสนอบัญชีรายชื่อของผู้สมัครต่อผู้ลงคะแนนในการเลือกตั้งระดับชาติหรือระดับภูมิภาค แต่การลงคะแนนตามลำดับความชอบก็ใช้การได้ดีเช่นกัน การให้ผู้ลงคะแนนจัดลำดับผู้สมัครตามที่ตนชอบในกรณีเขตเดียวหลายเบอร์ หรือที่เรียกกันว่าระบบคะแนนเดียวโอนได้ (คอ.) (Single Transferable Vote: STV) เป็นระบบสัดส่วนอีกระบบหนึ่งที่ใช้งานได้ดี

          3. ระบบผสม

          ระบบคู่ขนานเป็นระบบที่ใช้องค์ประกอบการเป็นตัวแทนแบบสัดส่วน (ตสบ. หรือ PR) กับองค์ประกอบคะแนนนำ/เสียงข้างมาก (หรือระบบอื่น) โดยองค์ประกอบทั้งสองเป็นอิสระต่อกัน ระบบสัดส่วนที่มีสมาชิกแบบผสม (สสผ.) (Mixed Member Proportional: MMP) ก็ใช้สององค์ประกอบเช่นกัน (โดยหนึ่งในนั้นคือระบบตัวแทนแบบสัดส่วน หรือ ตสบ.) แต่แตกต่างกับระบบคู่ขนานตรงที่องค์ประกอบ ตสบ. ใช้ชดเชยความไม่เป็นสัดส่วนที่เกิดจากระบบคะแนนนำ/เสียงข้างมากหรือระบบอื่น ซึ่งปกติจะให้ผลลัพธ์ที่มีความเป็นสัดส่วนมากกว่าระบบคู่ขนาน ระบบคู่ขนานกับระบบสัดส่วนที่มีสมาชิกแบบผสมมีใช้อย่างแพร่หลายในประเทศประชาธิปไตยใหม่ในแอฟริกาและอดีตสหภาพโซเวียต

          4. ระบบอื่น ๆ

          มีการเลือกตั้งอีกสามระบบซึ่งไม่อาจจัดอย่างลงตัวให้เข้ากับกลุ่มประเภททั้งสามดังกล่าวข้างต้นได้ ระบบคะแนนเสียงเดียวโอนไม่ได้ (คอม.) (Single Non-Transferable Vote: SNTV) เป็นแบบเขตเดียวหลายเบอร์ มีผู้สมัครเป็นศูนย์กลาง ซึ่งผู้ลงคะแนนมีเสียงเดียว ระบบคะแนนเสียงจำกัด (คจ.) (Limited Vote: LV) ค่อนข้างเหมือนกับระบบ คอม. แต่ให้ผู้ลงคะแนนมีมากกว่าหนึ่งเสียง (อย่างไรก็ดี จำนวนเสียงน้อยกว่าจำนวนที่นั่งที่พึงมีในเขตนั้น จึงไม่เหมือนกับระบบคะแนนเสียงเป็นพวง (คพ. หรือ BV) การนับแบบบอร์ดา (นบ.) หรือ (BC) เป็นระบบตามลำดับความชอบที่ใช้ในกรณีเขตเดียวเบอร์เดียวหรือเขตเดียวหลายเบอร์

ระบบการเลือกตั้งในประเทศไทย

          ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีการใช้ระบบการเลือกตั้งที่สามารถสรุปได้เป็น 3 ช่วงระยะเวลา ดังนี้

          ช่วงระยะเวลาแรก ตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งแรกเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2476 เป็นการเลือกตั้งทางอ้อมภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2475 หลังจากนั้นจึงเป็นการเลือกตั้งโดยตรงเรื่อยมาจนถึงการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2539 เป็นการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2534 ระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากธรรมดา (Majoritarian System)

          ช่วงระยะเวลาที่สอง หลังการปฏิรูปการเมืองมีการจัดทำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับนี้ได้บัญญัติเปลี่ยนแปลงระบบการเลือกตั้งจากเดิมที่เป็นระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากธรรมดาเพียงอย่างเดียวมาเป็นการเลือกตั้งระบบผสม อันเป็นการผสมผสานระหว่างระบบการเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากกับการเลือกตั้งระบบสัดส่วนแบบบัญชีรายชื่อ (Mixed-Member Majoritarian System: MMM) โดยใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้งหลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2549 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ซึ่งในส่วนของระบบการเลือกตั้งยังคงเป็นการใช้ระบบผสมแบบคู่ขนานดังเดิม แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงบางประการ เช่น การแบ่งเขตเลือกตั้งที่กลับไปใช้การแบ่งเขตเลือกตั้งแบบรวมเขตเลือกตั้งไม่เกินสามคน การใช้เขตเลือกตั้งในการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อจากเดิมใช้ประเทศเป็นเขตเลือกตั้งเป็นการแบ่งออกเป็น 8 เขตเลือกตั้ง เป็นต้น[6]

          ช่วงระยะเวลาที่สาม หลังการรัฐประหาร พ.ศ. 2557 ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กลไกสำคัญที่มีขึ้นและถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรก คือ ระบบการเลือกตั้งและการนับคะแนนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อแบบใหม่ ที่เรียกว่า ระบบจัดสรรปันส่วนผสม (Mixed Member Apportionment System: MMA) กำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 500 คน แบ่งเป็นแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวน 350 คน โดยใช้ระบบเลือกแบบหนึ่งเขตหนึ่งคนและแบบบัญชีรายชื่อ 150 คน สูตรที่ใช้คำนวนจำนวนที่นั่งของ ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อแบบพิเศษของระบบจัดสรรปันส่วนผสมนั้น สรุปได้ว่า

          (1) นำจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งทั้งประเทศ ไม่รวมบัตรเสียเป็นตัวตั้ง หารด้วยจำนวน ส.ส. ทั้งหมด คือ 500 จะได้ผลลัพธ์เป็นตัวเลขชุดหนึ่ง ที่อนุมานว่า เป็นค่าเฉลี่ยของจำนวนประชากรต่อ ส.ส. หนึ่งที่นั่ง

          (2) เมื่อจะหาจำนวน ส.ส. ของพรรคการเมืองใด ก็นำคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองนั้นได้จากการเลือกตั้งในระบบแบ่งเขตมาเป็นตัวตั้ง แล้วนำตัวเลขที่ได้จากข้อ (1) ไปหาร ผลลัพธ์จะเป็นจำนวน ส.ส. พึงมีที่พรรคการเมืองนั้นควรจะมีได้ในการเลือกตั้งครั้งนี้

          (3) นำจำนวน ส.ส. พึงมีที่พรรคการเมืองนั้นควรจะมีได้ จากข้อ (2) มาเป็นตัวตั้งลบด้วยจำนวน ส.ส. แบบแบ่งเขตทั้งหมดที่พรรคการเมืองนั้นได้มาแล้ว ผลลัพธ์ คือจำนวน ส.ส. จากระบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะได้รับ[7]

          อย่างไรก็ตาม ระบบการคิดคำนวณดังกล่าวได้ก่อให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ รวมทั้งเกิดปัญหาในการคิดคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ทำให้เกิดพรรคการเมืองจำนวน 1 ที่นั่งที่ถูกเรียกว่า ส.ส.ปัดเศษ เกิดขึ้นจำนวนมากและได้คะแนนเสียงจากการเลือกตั้งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของจำนวนประชากรต่อ ส.ส. หนึ่งที่นั่ง ต่อมาใน พ.ศ. 2564 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เพื่อนำระบบการเลือกตั้งระบบผสมระหว่างแบบเสียงข้างมากกับแบบสัดส่วนแบบบัญชีรายชื่อ (Mixed-Member Majoritarian System: MMM) ในระบบคู่ขนานบัตรเลือกตั้งสองใบกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่ง

การลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voting)[8]

          การลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voting) คือ การลงคะแนนเสียง หรือการนับคะแนนเสียงด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งอาจเป็นวิธีการลงคะแนนเสียงแบบเปิดเผย หรือการลงคะแนนลับก็ได้ โดยที่วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การลงคะแนนเสียง หรือการนับคะแนนเสียงผ่านระบบคอมพิวเตอร์ ผ่านอุปกรณ์/เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ ผ่านระบบการลงคะแนนเสียงต่าง ๆ

          หลักการการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voting)

          ตามข้อเสนอแนะมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ว่าด้วยการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ เลขที่ ขมธอ. 26-2564 ได้กำหนดหลักการสำคัญในการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Voting) ไว้ 4 ประการ ที่ควรคำนึง ให้ความสำคัญ และนำไปประยุกต์ใช้ในการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ ดังต่อไปนี้

          (1) การลงคะแนนอย่างเท่าเทียม (Universal and Equal Suffrage) เช่น ผู้ลงคะแนนทุกคนสามารถใช้งานระบบการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างง่าย และทั่วถึง โดยไม่ได้จำกัดให้ผู้ลงคะแนนสามารถใช้ได้เพียงกลุ่มใด กลุ่มหนึ่ง ในกรณีที่มีการลงคะแนนหลายช่องทางในการลงคะแนนนั้น (เช่น การลงคะแนนโดยการชูมือ บัตรลงคะแนน และการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ร่วมกัน) คะแนนเสียงจากการลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์จะต้องถูกนำไปนับคะแนนอย่างเท่าเทียม และถูกต้อง

          (2) การลงคะแนนอย่างอิสระ (Free Suffrage) เช่น ผู้ลงคะแนนได้รับทราบข้อมูลที่จำเป็นในการประกอบการตัดสินใจที่เพียงพอและถูกต้อง เช่น เงื่อนไข วิธีการลงคะแนน ผลของการลงคะแนนในกรณีต่าง ๆ ผู้ลงคะแนนสามารถแสดงเจตนาลงคะแนนเสียงได้อย่างอิสระ โดยปราศจากปัจจัยภายนอก หรือความกดดันต่าง ๆ ผู้ลงคะแนนมีเวลาที่เพียงพอและเหมาะสมกับข้อมูลและความสำคัญของมติที่ต้องลงคะแนนเสียงนั้น

          (3) ความเป็นส่วนตัวของการลงคะแนน (Privacy) เช่น ผู้ลงคะแนนจะต้องได้รับการคุ้มครองและรักษาความลับของคะแนนเสียง และข้อมูลของผู้ลงคะแนนก่อนที่จะยืนยันการลงคะแนน ในกรณีการลงคะแนนลับผู้ลงคะแนนจะต้องได้รับการคุ้มครองและรักษาความลับของข้อมูลของผู้ลงคะแนน (เช่น ไม่สามารถระบุตัวผู้ลงคะแนนได้โดยจะทราบเพียงจำนวนผู้ลงคะแนนและผลรวมของการลงคะแนน

          (4) ความมั่นคงปลอดภัยของระบบการลงคะแนน (Security) เช่น จัดให้มีการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของระบบสารสนเทศ (Information Technology Security) ที่ออกแบบบนพื้นฐานของการรักษาความลับ การรักษาความครบถ้วน และการรักษาสภาพพร้อมใช้งาน

อ้างอิง

[1]John Ishiyama. Eds, 2019. From Bullets to Ballots: The Transformation of Rebel Groups into Political Parties. New York: Routledge.

[2] International Institute for Democracy and Electoral Assistance, 2012. สกุล สื่อทรงธรรม และอรวรรณ ยะฝา. แปล. โคทม อารียา และสมศรี หาญอนันทสุข. แปล. การออกแบบระบบเลือกตั้ง: คู่มือเล่มใหม่ของ International IDEA. Stockholm: Sweden, p. 6

[3] Ibid.

[4] กองบรรณาธิการ สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2558. “ระบบการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภากับพัฒนาการทางการเมืองของประเทศไทย.” วารสารจุลนิติ. (มี.ค. - เม.ย. 2558) หน้า 12.

[5] International Institute for Democracy and Electoral Assistance, 2012, pp. 32-34.

[6] ชนิดาภา มงคลเลิศลพ, 2560. “ระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เหมาะสมกับประเทศไทย.” วารสารกระบวนการยุติธรรม. 10 (3) (ก.ย. – ธ.ค. 2560), หน้า 97-98.

[7] iLaw, 2561. “เลือกตั้ง 62: ระบบนับที่นั่ง MMA ทำพรรคใหญ่แตกตัว พรรคเล็กเกิดไม่ได้.” 10 ธ.ค. 2561. สืบค้นเมื่อ 20 Sep 2021 จาก https://ilaw.or.th/node/5059

[8] Wonder legal. “การลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประชุม (e-Voting) ทำอย่างไร.” สืบค้นเมื่อ 20 Jan 2022 จาก https://www.wonder.legal/th/guide/การลงคะแนนทางอิเล็กทรอนิกส์ในการประชุม-Voting-ทำอย่างไร