The Free Press Society (Trykkefrihedsselskabet)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:34, 18 กุมภาพันธ์ 2566 โดย Trikao (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " [[|'''ผู้เรียบเรียง :''']]ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพ...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง :ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร และ ธีทัต จันทราพิชิต

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

 

          The Free Press Society (Trykkefrihedsselskabet) เป็นองค์กรสัญชาติเดนมาร์กที่มีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

 

ที่มาและการก่อตั้ง

          ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา จากผลของข้อตกลงเจนีวาว่าด้วยการคุ้มครองเหยื่อจากความขัดแย้งภายในและระหว่างประเทศ (Geneva Conventions Protocol I และ Geneva Conventions Protocol II ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 8 มิถุนายน ค.ศ. 1977) ทำให้เดนมาร์กมีนโยบายรับผู้ลี้ภัยเข้าประเทศ โดยผู้ลี้ภัยจะได้สิทธิในการพาครอบครัวเข้ามาอยู่ด้วย ส่งผลให้จำนวนผู้อพยพของเดนมาร์กเพิ่มมากขึ้น โดยระหว่างปี ค.ศ. 1980-2001 จำนวนประชากรผู้อพยพและลูกหลานที่เกิดจากผู้อพยพของเดนมาร์กเพิ่มขึ้นจาก 152,958 คน เป็น 415,331 คน โดยจำนวนผู้อพยพในครั้งนี้มักจะมีลักษณะที่ไม่ใช่ผู้อพยพที่มีอายุน้อยกว่า การศึกษาด้อยกว่าชาวเดนมาร์กโดยเฉลี่ย และไม่ใช่ผู้อพยพจากชาติตะวันตก[1]

          ภายใต้บรรยากาศการขยายตัวของผู้อพยพ ทำให้ชาวเดนมาร์กรู้สึกว่าตนถูกคุกคาม โดยเฉพาะมิติทางเศรษฐกิจและยังครอบคลุมถึงมิติทางสังคม เนืองจากผู้อพยพจำนวนมากไม่ได้เป็นประชากรจากชาติตะวันตกและส่วนหนึ่งก็ไม่ได้นับถือศาสนาคริสต์ แต่นับถือศาสนาอิสลาม ทำให้เกิดความกลัวว่าคุณค่าบางอย่างของโลกตะวันตกจะถูกละเมิดหรือหายไป รวมไปถึงเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วย

          The Free Press Society เกิดขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องไม่ให้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นนั้นถูกละเมิด ซึ่งรวมไปถึงสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นในสิ่งที่สังคมมองว่าอาจนำมาซึ่งความเกลียดชังด้วย[2] โดย Ayaan Hirsi Ali นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนได้อธิบายไว้ว่า ‘ในเวลาที่อารยธรรมตะวันตกกำลังถูกคุกคามทั้งจากภายนอกและจากภายใน Free Press Society ของเดนมาร์ก เป็นพันธมิตรที่สำคัญในการพิทักษ์สิทธิขั้นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดสำหรับสังคมเสรี สิ่งที่เรียกว่าเสรีภาพในการพูด’

          ด้วยวัตถุประสงค์เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก The Free Press Society ได้แสดงความพยายามช่วยเหลือนักเขียน นักวาดการ์ตูน และผู้ที่มีความกล้าที่จะออกมาพูดความจริง อย่างเช่น Salman Rushdie นักเขียนนิยายซึ่งถูกคุกคามจากผู้นำสูงสุดของอิหร่าน[3]

          ทั้งนี้ The Free Press Society เป็นองค์กรที่สมาชิกส่วนใหญ่นั้นเป็นอาสาสมัคร และมีช่องทางของรายได้ที่จะใช้ในการดำเนินงาน มาจากการเก็บค่าสมาชิก ซึ่งอยู่ใน ราคา 200 – 400 โครน[4]

 

อุดมการณ์

          Free Press Society มีอุดมการณ์ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของเสรีภาพในการแสดงออกเป็นอย่างมาก แม้เสรีภาพนั้นอาจจะถูกมองว่านำมาสู่ความเกลียดชังในสังคมก็ตาม โดย Free Press Society ได้พยายามผลักดันประเด็น จนนำมาสู่การแก้ไขกฎหมายอาญาของเดนมาร์กในส่วนที่ห้ามการดูหมิ่นในศาสนา หรือดูหมิ่นในชาติพันธุ์ หรือเพศสภาพ ในปี ค.ศ. 2017 ซึ่ง Free Press Society ให้คำอธิบายว่าหากเกิดการลงโทษจากการแสดงความคิดบางอย่าง แล้วเกิดการทำให้รู้สึกไม่สบายใจ นั่นไม่สามารถที่จะจำกัดขอบเขตของความรู้สึกนั้นได้ เพราะมันเป็นความรู้สึกของตัวปัจเจกมากเกินไป และหากเป็นเช่นนี้จะไม่ทำให้เพียงแค่เสรีภาพทางการแสดงความคิดเห็นลดลง แต่ยังรวมไปถึงความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายด้วย[5]

 

'กรณีประธาน 'Free Press Society กับ Hate Speech

          ในเดือนธันวาคมปี ค.ศ. 2009 Lars Hedegaard ประธาน The Free Press Society ได้ถูกฟ้องในข้อหาแสดงความคิดเห็นที่เป็นการเหยียดชาติพันธุ์[6] โดยได้มีข้อความลงเว็บบล็อค Snaphanen เป็นบทสนทนาของ Lars Hedegaard โดยมีใจความตอนหนึ่งว่า “ผู้หญิงในครอบครัวมุสลิมโดนข่มขืนโดยพ่อ และลุง ๆ กับพวกญาติ ๆ ของพวกเธอ” ซึ่งทาง Lars Hedegaard ได้ให้ความแก้ต่างว่าตนไม่ทราบว่าบทสนทนานี่ได้ถูกบันทึกเอาไว้ และเผยแพร่ลงพื้นที่สาธารณะ[7]

 

'รางวัล 'the Sappho Award

          ทุกปี Free Press Society จะมีการให้รางวัลสำหรับผู้ที่แสดงตัวเองว่าไม่ยอมประนีประนอมต่อสิ่งที่มาขัดขวางเสรีภาพในการพูด ชื่อว่า the Sappho Award [8] ซึ่งรายนามผู้ที่เคยได้รับรางวัลดังกล่าวมีด้วยกันดังนี้

ปี

ผู้ได้รับรางวัล

อาชีพ

สัญชาติ

2007

Flemming Rose

บรรณาธิการ, นักข่าว

เดนมาร์ก

2008

Kurt Westergaard

นักวาดการ์ตูน

เดนมาร์ก

2009

Melanie Phillips

นักข่าว

อังกฤษ

2010

Mark Steyn

นักเขียน

แคนาดา

2011

Rachel Ehrenfeld

นักวิจัย

อเมริกัน

2012

Olga Romanova

นักข่าว, นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน

รัสเซีย

2013

Thilo Sarrazin

นักการเมือง

เยอรมัน

2014

Ezra Levant

นักกฎหมาย, นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

แคนดานา

2015

Lars Vilks

ศิลปิน

สวีเดน

2016

Roger Scruton

นักปรัชญา, นักข่าว

อังกฤษ

2017

Karoly Németh

นักฎหมาย

เดนมาร์ก

2018

Douglas Murray

นักข่าว

อังกฤษ

2019

Tommy Robinson

นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก

อังกฤษ

2020

Gunnar Sandelin

นักสังคมวิทยา

สวีเดน

2021

Stefan Hermann,

อาจารย์

เดนมาร์ก

“Charlotte”

อาจารย์

เดนมาร์ก

ข้อมูลจาก: The Free Press Society

 

อ้างอิง

[1] Peter Nannestad, 2004. Immigration as a challenge to the Danish welfare state?. European Journal of Political Economy, 20(3), 755–767. doi.org/10.1016/j.ejpoleco.2004.03.003. p.757-763

[2] The Free Press Society, (n.d.). “ABOUT THE FREE PRESS SOCIETY”. Retrieved from https://www.trykkefrihed.dk/about-the-free-press-society.htm

[3] Ibid.

[4] The Free Press Society, (n.d.). “MEMBERSHIP”. Retrieved from https://www.trykkefrihed.dk/membership.htm

[5] The Free Press Society, (n.d.). “ABOUT THE FREE PRESS SOCIETY”. Retrieved from https://www.trykkefrihed.dk/about-the-free-press-society.htm

[7] The Copenhagen Post, 2011. “Free speech advocate acquitted on racism charges”. Retrieved from https://web.archive.org/web/20110308010233/http://www.cphpost.dk/component/content/50895.html?task=view

[8] The Free Press Society, (n.d.). “THE SAPPHO AWARD”. Retrieved from https://www.trykkefrihed.dk/sappho-award.htm