ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:52, 15 พฤศจิกายน 2565 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " '''ผู้เรียบเรียง''' ศุทธิกานต์ มีจั่น '''ผู้ทรงคุณวุฒิปร...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง ศุทธิกานต์ มีจั่น

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด

          ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด หมายถึง ผู้ตรวจการเลือกตั้งที่ได้รับคำสั่งแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดและกรุงเทพมหานคร เกิดขึ้นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 ประกอบกับมติของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ในการประชุมครั้งที่ 10/2561 เมื่อวันที่ 13 มีนาคม พ.ศ. 2561 จึงออกระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยผู้ตรวจการเลือกตั้งไว้เพื่อบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาซึ่งก็คือวันที่ 26 เมษายน พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา เพื่อทำหน้าที่ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือการเลือกสมาชิกวุฒิสภาเป็นการทั่วไปแต่ละครั้ง  โดยผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดเข้ามาแทนที่การดำเนินงานของคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดในอดีตที่ได้ถูกยกเลิกไป เนื่องจากได้รับข้อวิจารณ์ว่ามีความเชื่อมโยงกับฝ่ายการเมืองโดยเฉพาะในพื้นที่เขตเลือกตั้ง ซึ่งอาจส่งผลต่อการปฎิบัติหน้าที่

คุณสมบัติของผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด ประกอบด้วย

          (1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด

          (2) มีอายุไม่ต่ำกว่า 45 ปี แต่ไม่เกิน 70 ปี นับถึงวันสมัคร

          (3) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในจังหวัดที่สมัครติดต่อกันไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันสมัคร

          (4) สำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า

          (5) มีความเป็นกลางทางการเมือง

          (6) มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีความประพฤติเสื่อมเสีย

          (7) มีสุขภาพที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้แล้ว ยังได้มีกำหนดลักษณะต้องห้ามของผู้ตรวจการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้

          (1) เป็นข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ

          (2) เป็นพนักงานหรือลูกจ้าง หรือกรรมการหรือที่ปรึกษาของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

          (3) เป็นสมาชิกพรรคการเมืองใดในเวลาห้าปีที่ผ่านมาก่อนการแต่งตั้ง

          (4) ติดยาเสพติดให้โทษ

          (5) เป็นบุคคลล้มละลายหรือเคยเป็นบุคคลล้มละลายทุจริต

          (6) เป็นเจ้าของหรือผู้ถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนใด ๆ

          (7) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช

          (8) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่

          (9) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ

          (10) อยู่ระหว่างถูกระงับการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นการชั่วคราวหรือถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

          (11) ต้องคำพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล

          (12) เคยได้รับโทษจำคุกโดยได้พ้นโทษมายังไม่ถึงสิบปีนับถึงวันสมัคร เว้นแต่ในความผิดอันได้กระทำโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ

          (13) เคยถูกสั่งให้พ้นจากราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจเพราะทุจริตต่อหน้าที่หรือถือว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบในวงราชการ

          (14) เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอันถึงที่สุดให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเพราะร่ำรวยผิดปกติ หรือเคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดให้ลงโทษให้จำคุกเพราะกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต

          (15) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม หรือกระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ที่กระทำโดยทุจริตตามประมวลกฎหมายอาญาความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน กฎหมายว่าด้วยยาเสพติดในความผิดฐานเป็นผู้ผลิต นำเข้า ส่งออก หรือผู้ค้า กฎหมายว่าด้วยการพนันในความผิดฐานเป็นเจ้ามือหรือเจ้าสำนัก กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ในความผิดฐานฟอกเงิน

          (16) เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุดว่ากระทำการอันเป็นการทุจริตในการเลือกตั้ง

          (17) เป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

          (18) เป็นสมาชิกวุฒิสภาหรือเคยเป็นสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกภาพสิ้นสุดลงยังไม่เกิน 2 ปี

          (19) เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

          (20) อยู่ระหว่างต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

          (21) เคยพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุตามมาตรา 144 หรือมาตรา 235 วรรคสามของรัฐธรรมนูญ

          (22) มีบุพการี คู่สมรส หรือบุตรเป็นหรือสมัครรับเลือกตั้งหรือรับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น

          (23) เคยได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด แต่ได้ลาออกหรือคณะกรรมการการเลือกตั้งได้มีมติให้พ้นจากตำแหน่ง

 

การคัดเลือก

          ในการดำเนินการแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด ให้กรรมการการเลือกตั้งที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการคัดเลือกผู้ตรวจการเลือกตั้งจากบัญชีรายชื่อผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือกที่ได้ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติและไม่พบว่ามีกรณีที่ประชาชนร้องเรียน โดยให้มีจำนวนผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดในแต่ละจังหวัดแบ่งเป็นผู้ตรวจการการเลือกตั้งประจำจังหวัดที่มีภูมิลำเนาในจังหวัดที่จะแต่งตั้งจำนวน 2 คน และผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดที่มิได้มีภูมิลำเนาในจังหวัดที่จะแต่งตั้งให้ครบตามจำนวนที่กำหนดสำหรับจังหวัดนั้น เพื่อส่งเสริมให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งสามารถทำหน้าที่สอดส่องการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ และ การกระทำที่ผิดกฎหมายระหว่างการเลือกตั้งอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นกลางทางการเมืองในเขตพื้นที่ที่มีการจัดการเลือกตั้ง  ซึ่งในแต่ละจังหวัดจะมีจำนวนผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดละไม่น้อยกว่า 5 คนแต่ไม่เกิน 8 คน กล่าวคือ

          (1) จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้งไม่เกิน 5 เขตเลือกตั้ง ให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด 5 คน

          (2) จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้ง 6-8 เขตเลือกตั้ง ให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด 6 คน

          (3) จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้ง 9-11 เขตเลือกตั้ง ให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด 7 คน

          (4) จังหวัดที่มีเขตเลือกตั้งตั้งแต่ 12 เขตเลือกตั้งขึ้นไป ให้มีผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำ จังหวัด 8 คน

          ทั้งนี้ รายชื่อผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งประจําจังหวัดนั้นใช้วิธีการจับฉลาก โดยในการจับสลากเพื่อแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งประจําจังหวัดที่มีภูมิลําเนาในจังหวัดให้จับสลากรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งเรียงลําดับตามตัวอักษรของชื่อจังหวัดที่จะแต่งตั้งในแต่ละกลุ่มจังหวัด จังหวัดละ 2 รายชื่อจนครบทุกจังหวัด ในขณะที่การจับสลากเพื่อแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งประจําจังหวัดที่มิได้มีภูมิลําเนาในจังหวัดนั้น ให้นําสลากรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งที่เหลือจากการจับสลากเพื่อแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งประจําจังหวัดที่มีภูมิลําเนาในจังหวัดของแต่ละจังหวัดเทใส่ในภาชนะรวมของแต่ละกลุ่มจังหวัด และให้ดําเนินการจับสลากรายชื่อเรียงลําดับตามตัวอักษรของชื่อจังหวัดที่จะแต่งตั้งจากภาชนะรวมของแต่ละกลุ่มจังหวัดจนได้รายชื่อครบตามจํานวนที่กําหนดสําหรับจังหวัดนั้น กรณีจับสลากได้รายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งที่มีภูมิลําเนาในจังหวัดเดียวกับจังหวัดที่ดําเนินการจับสลากอยู่ ให้นํารายชื่อนั้นไปพักไว้นอกภาชนะรวมเป็นการชั่วคราวเมื่อดําเนินการจับสลากได้รายชื่อครบตามจํานวนที่กําหนดสําหรับจังหวัดนั้นแล้ว ให้นํารายชื่อที่พักไว้ใส่กลับในภาชนะรวมเพื่อดําเนินการจับสลากในจังหวัดถัดไปจนได้รายชื่อครบทุกจังหวัด

          เมื่อได้รายชื่อผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดครบทุกจังหวัดแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีคำสั่งแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด และให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งแจ้งคำสั่งแต่งตั้งผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด ไปยังสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดที่ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดนั้นยื่นใบสมัครไว้และสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังจังหวัดที่ต้องไปปฏิบัติหน้าที่

 

หน้าที่และการปฏิบัติงาน

          ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดมีหน้าที่และอำนาจในจังหวัดที่ได้รับการแต่งตั้งในการตรวจสอบ ดังต่อไปนี้

          (1) การปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ของรัฐ และมีอำนาจแจ้งเตือนให้ปฏิบัติให้ถูกต้องได้ ถ้าไม่มีการดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องให้รายงานให้คณะกรรมการการเลือกตั้งหรือกรรมการการเลือกตั้งทราบโดยเร็ว

          (2) การกระทำความผิดกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือการกระทำใดที่จะเป็นเหตุทำให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

          (3) สถานที่เลือกตั้ง หรือสถานที่นับคะแนนเลือกตั้ง ซึ่งผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดอาจแต่งตั้งผู้ช่วยปฏิบัติงานที่ปฏิบัติงานภายใต้สัญญาจ้างเข้าไปช่วยเหลือการปฏิบัติงานได้

          (4) ปฏิบัติงานอื่นตามระเบียบ คำสั่ง ประกาศ และมติของคณะกรรมการการเลือกตั้งและตามที่ได้รับมอบหมาย

          ทั้งนี้ เมื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดพบการกระทำที่เป็นความผิดกฎหมายที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งและพรรคการเมือง หรือการกระทำหรืองดเว้นการกระทำใดอันอาจเป็นเหตุให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรมหรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือกรณีเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการเลือกตั้งหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือพบเห็นกรรมการประจำหน่วยเลือกตั้งหรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยผู้ใดกระทำผิดตามกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือกระทำการใดอันเป็นเหตุให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรมหรือเป็นไปโดย
มิชอบด้วยกฎหมาย ให้รายงานคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือกรรมการการเลือกตั้งทราบทันทีเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป

          อย่างไรก็ดี การปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดนั้น ได้กำหนดให้ต้องมีการจัดทำรายงานการปฏิบัติงานประจำวันส่งให้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทุกสิ้นเดือนเพื่อรวบรวมรายงานให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบ และใช้เป็นข้อมูลประกอบการประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดต่อไป นอกจากนี้ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดยังสามารถประชุมร่วมกันเพื่อปรึกษา หารือ และแลกเปลี่ยนข้อมูลเป็นประจำอย่างน้อยเดือนละสองครั้งโดยให้จัดทำเป็นรายงานการประชุม และจัดส่งให้ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดภายใน 3 วัน นับแต่เสร็จสิ้นการประชุมเพื่อรายงานคณะกรรมการการเลือกตั้งทราบต่อไป โดยกำหนดให้สำนักผู้ตรวจการเป็นส่วนงานรับผิดชอบในการกำกับดูแลการรับรายงานจากผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด

 

ระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่และพ้นจากตำแหน่ง

          ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดมีระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่มีคำสั่งแต่งตั้ง ซึ่งต้องไม่ช้ากว่า 10 วันนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งหรือการเลือกมีผลใช้บังคับแต่ต้องไม่เร็วกว่า 30 วันก่อนวันที่พระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งมีผลใช้บังคับจนถึงวันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 95 ของเขตเลือกตั้งทั้งหมดหรือวันประกาศผลการเลือกสมาชิกวุฒิสภา แล้วแต่กรณีในจังหวัดที่มีความจำเป็นจะต้องมีผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดเนื่องจากการเลือกตั้งยังไม่เสร็จสิ้น คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ตามวรรคหนึ่งได้อีกไม่เกิน 60 วัน

          นอกจากนี้ ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดยังพ้นจากตำแหน่งเมื่อเสียชีวิต หรือลาออกโดยยื่นหนังสือลาออกต่อประธานกรรมการการเลือกตั้งหรือกรรมการการเลือกตั้งที่ได้รับมอบหมาย รวมทั้งหากคณะกรรมการการเลือกตั้งมีมติให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อมีหลักฐานอันควรเชื่อได้ หรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำ จังหวัดผู้ใดขาดความสุจริต ขาดความเที่ยงธรรมมีความประพฤติเสื่อมเสีย
ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้าม หรือขาดประสิทธิภาพในการปฏิบัติหน้าที่ละทิ้งหน้าที่ หรือไม่ยอมปฏิบัติหน้าที่ หรือกระทำการขัดต่อระเบียบ ประกาศ หรือคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งกรรมการการเลือกตั้งอาจมีคำสั่งให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดนั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่แล้วรายงานให้คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาต่อไป รวมไปถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาแล้วเห็นว่าผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดผู้ใดไม่ผ่านเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติงานให้คัดชื่อผู้นั้นออกจากบัญชีรายชื่อผู้ตรวจการเลือกตั้งได้

การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด

          ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด เป็นผู้ให้ดุลพินิจในการสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานของผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด ซึ่งจะต้องไม่กระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามภารกิจหลักของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัด ทั้งนี้กฎหมายได้กำหนดให้จัดให้มีการประชุมผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด เพื่อชี้แจงข้อมูลที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ให้แก่ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดก่อนการปฏิบัติหน้าที่ รวมทั้งสรรหาและแต่งตั้งผู้ช่วยปฏิบัติงาน เพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานแก่ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด โดยให้ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดแต่ละคนมีผู้ช่วยปฏิบัติงานได้ 1 คน โดยมีระยะเวลาการปฏิบัติงานตั้งแต่วันทำสัญญาจ้าง และพ้นจากตำแหน่งเช่นเดียวกับผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัด

          นอกจากนี้แล้ว ผู้ตรวจการเลือกตั้งประจำจังหวัดและผู้ช่วยปฏิบัติงานยังมีสิทธิได้รับค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ค่าที่พัก ค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายหรือการสงเคราะห์อื่นใดตามระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยผู้ตรวจการเลือกตั้ง พ.ศ. 2561 รวมทั้งมีสิทธิได้รับการช่วยเหลือจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งกรณีถูกฟ้องร้องหรือถูกดำเนินคดีเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ ทั้งยังมีสิทธิได้รับเงินชดเชยกรณีประสบภัยเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบว่าด้วยการนั้นด้วย

รายการอ้างอิง

ฉัตรชัย ศรีเมืองกาญจนา. “ผู้ตรวจการเลือกตั้งคือใคร ทําหน้าที่อะไร ?”. สืบค้นจาก  https://library2.parliament.go.th/ebook/content-issue/2561/hi2561-041.pdf (20 มิถุนายน 2563).

 “ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยผู้ตรวจการเลือกตั้ง พ.ศ. 2561”. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135 ตอนที่ 29  ก 26 เมษายน 2561.

“วัดใจ กกต.ชุดใหม่ เคลียร์ปมร้อน “ผู้ตรวจการเลือกตั้ง” กางอำนาจ-หน้าที่ “มือปราบ” กลโกงเลือกตั้ง”.  สืบค้นจาก https://thaipublica.org/2018/08/political-parties-act-of-thailand-03/    (17 กันยายน 2563).