เสียบบัตรแทนกันในการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี 2563
ผู้เรียบเรียง ศุทธิกานต์ มีจั่น
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
เสียบบัตรแทนกันในการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติงบประมาณประจำปี 2563
การเสียบบัตรแทนกัน เป็นการกล่าวถึง การใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้อื่นและลงมติแทนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้นั้น ซึ่งย่อมมีผลเป็นการออกเสียงลงคะแนนที่ไม่สุจริตและมีผลต่อความชอบด้วยกฎหมายที่เป็นผลจากการลงมตินั้นๆ เนื่องจากอาจขัดต่อรัฐธรรมนูญในประเด็นการอยู่ภายใต้อาณัติมอบหมาย หรือความครอบงําใดๆ และการเข้าข่ายการขัดกันแห่งผลประโยชน์ อีกทั้งการออกเสียงลงคะแนนจะทำแทนกันไม่ได้ ดังข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 ข้อ 80 วรรค 3
ทั้งนี้ กรณีการเสียบบัตรแทนกันได้รับความสนใจอย่างมาก นับตั้งแต่นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาเปิดเผยว่าในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ของสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 10-11 มกราคม พ.ศ. 2563 ซึ่งเป็นการพิจารณาวาระที่ 2 และวาระที่ 3 ของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว พบว่ามีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสียบบัตรลงคะแนนแทนกัน ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2563 เวลาประมาณ 20.50 น. โดยวันเวลาดังกล่าวนายฉลอง เทอดวีระพงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเขต 2 พัทลุง พรรคภูมิใจไทย ไม่ได้อยู่ในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร แต่กลับปรากฏชื่อนายฉลองร่วมเป็นองค์ประชุม และปรากฏชื่อในการลงมติร่างพระราชบัญญัติฯ ซึ่งนายฉลอง ได้ออกมายอมรับว่าตนไม่อยู่ในที่ประชุมตามวันและเวลาดังกล่าว นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาลอีกจำนวนหนึ่งที่มีพฤติการณ์ลงคะแนนแทนกันเช่นเดียวกันนี้อีกจำนวนหนึ่งด้วย โดยเหตุผลที่นำไปสู่การเสียบบัตรแทนกันนั้น มีการกล่าวอ้าง 3 ประการ กล่าวคือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เสียบบัตรค้างไว้ แต่มีผู้อื่นมากดลงคะแนนแทน รวมทั้งในกรณีมีการเบิกบัตรสำรองให้ผู้อื่นลงมติแทนโดยตนเองไม่มาประชุม รวมทั้งข้ออ้างว่าเครื่องลงคะแนน
มีไม่เพียงพอ
การร้องและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
จากการวิพากษ์วิจารณ์ต่อประเด็นเรื่องการเสียบบัตรแทนกันที่เกิดขึ้นในวงกว้าง ส่งผลให้ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล และ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝ่ายรัฐบาล รวม 90 ราย ได้นำเรื่องเสนอต่อประธานสภาผู้แทนราษฎรให้ส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 198 วรรคหนึ่งว่า ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 ตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญได้มีมติเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2563 โดยเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 ว่าร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ไม่เป็นโมฆะ จากกรณีการเสียบบัตรแทนกัน โดยในคำวินิจฉัยได้ระบุถึงพฤติการณ์ของนายฉลอง เทอดวีระพงศ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคภูมิใจไทย เพียงคนเดียวเท่านั้น
ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า คดีนี้ไม่มีประเด็นให้วินิจฉัยเกี่ยวกับเนื้อหาสาระของร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด อีกทั้งการลงคะแนนแทนกันมีปัญหาที่กระบวนการตราร่างพระราชบัญญัติเท่านั้นประกอบกับการพิจารณาลงมติของสภาผู้แทนราษฎรในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการและการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ก่อนเสนอสภาพิจารณาในวาระที่สอง ได้ดำเนินการโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญทุกประการ และถือได้ว่าเป็นขั้นตอนที่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ก่อนการลงคะแนนแทนกันหรือเสียบบัตรแทนกันนี้จะได้เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังมีเหตุจำเป็นเร่งด่วนที่ประเทศชาติจะต้องได้กฎหมายฉบับนี้ไปช่วยแก้ปัญหาความล่าช้าและอุปสรรคในการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินอีกด้วย ศาลรัฐธรรมนูญได้ยกพระราชราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 74 ที่บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสามารถกำหนดคำบังคับไว้ในคำวินิจฉัยได้ ซึ่งถือเป็นอำนาจพิเศษของศาลรัฐธรรมนูญที่จะหาทางในการแก้ปัญหา
อย่างไรก็ดี ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ให้สภาผู้แทนราษฎรดำเนินการให้ถูกต้องเฉพาะในวาระที่สองและวาระที่สาม จากนั้นเสนอร่างพระราชบัญญัติที่แก้ไขถูกต้องแล้วส่งให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบ เพื่อดำเนินการตามรัฐธรรมนูญต่อไป ทั้งนี้ ให้สภาผู้แทนราษฎรรายงานผลการปฏิบัติตามคำบังคับต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 30 วัน นับจากวันที่คำวินิจฉัยออกมา
รายการอ้างอิง
“กรรม เสียบบัตรแทนกัน ส่อพ้นส.ส.-ลุ้นคุก10ปี”. สืบค้นจาก https://www.thansettakij.com/content/ 421059 (8 กรกฎาคม 2563).
“ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ข่าวที่ 5/2563 วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563”. สืบค้นจาก http://www.consti tutionalcourt.or.th/occ_web/download/article/article_20200207161751.pdf (8 กรกฎาคม 2563).
“ความต่างคำวินิจฉัยศาล รธน.คดีเสียบบัตร! เปิดช่องสอบ‘ฉลอง’-วัดบรรทัดฐาน ป.ป.ช.? ”.สืบค้นจาก https://www.isranews.org/isranews-scoop/85370-isranews-85370.html (8 กรกฎาคม 2563).
“คำร้อง ปธ.สภาฯถึงศาล รธน.แล้ว! ขอให้วินิจฉัยปม 4 ส.ส.เสียบบัตรแทนกัน”.สืบค้นจาก https://www.isranews.org/isranews-news/84848-isranews_84848.html (8 กรกฎาคม 2563).
“ทุจริต VS จำเป็นต่อประเทศ: เปรียบคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญกรณีเสียบบัตรแทนกัน”.สืบค้นจาก https://themomentum.co/thailand-constitutional-court-on-proxy-voting/(8 กรกฎาคม 2563).
“เปิด 4 แนวทางศาลรัฐธรรมนูญชี้ชะตาเสียบบัตรแทนกัน ส่งผลร่าง พ.ร.บ.งบ อย่างไร”. สืบค้นจาก https://workpointtoday.com/mp-8/(8 กรกฎาคม 2563).
“เปิดรายชื่อ ส.ส. ที่ถูกกล่าวหาว่า ‘เสียบบัตรแทนกัน’”. สืบค้นจาก https://thestandard.co/open- name-list-of-mp/(8 กรกฎาคม 2563).
“มติ ศาลรธน.ชี้ ร่างพ.ร.บ.งบฯปี 63 ไม่เป็นโมฆะ ปมเสียบบัตรแทน”.สืบค้นจาก https://news.thaipbs. or.th/content/288752(8 กรกฎาคม 2563).
“เสียบบัตรแทน สะเทือนมาตรา172”. สืบค้นจาก https://www.nationweekend.com/content/politics/6658(8 กรกฎาคม 2563).