บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 15:45, 15 พฤศจิกายน 2565 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " '''ผู้เรียบเรียง''' ศุทธิกานต์ มีจั่น '''ผู้ทรงคุณวุฒิปร...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง ศุทธิกานต์ มีจั่น

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

          บัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือที่มักถูกเรียกว่า บัตรคนจนนั้น เริ่มประกาศใช้ตั้งแต่วันที่  1 ตุลาคม พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา [1] โดยเป็นหนึ่งในโครงการ National e-Payment ของรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จุดเริ่มต้นของโครงการนี้เริ่มจากการกำหนดให้มีโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐตั้งแต่ พ.ศ.2559 เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการออกแบบนโยบายหรือมาตรการในการยกระดับการจัดสวัสดิการต่าง ๆของหน่วยงานภาครัฐให้แก่ผู้มีรายได้น้อยที่ต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ ซึ่งผู้มีสิทธิ์ลงทะเบียนเพื่อรับสวัสดิการแห่งรัฐ ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้

  1. มีสัญชาติไทย
  2. มีอายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป โดยต้องเกิดก่อนวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ.2542
  3. ว่างงานหรือมีรายได้ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2559 ทั้งสิ้นไม่เกิน 100,000 บาท
  4. ไม่มีหรือมีทรัพย์สินทางการเงิน ได้แก่ เงินฝากธนาคาร สลากออมสิน สลากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร พันธบัตร ตราสารหนี้ รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 100,000 บาท ณ เวลาใดเวลาหนึ่ง
  5. ไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมายหรือถ้าเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ดังกล่าว จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ดังนี้

                5.1) ที่อยู่อาศัยที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง (บ้านพร้อมที่ดิน)

                     (1) กรณีอยู่อาศัยอย่างเดียว ต้องเป็นบ้านหรือทาวเฮ้าส์ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา หรือเป็นห้องชุดต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร

                     (2) กรณีเป็นที่อยู่อาศัย และใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่ หรือในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรจะต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่

                5.2) ที่ดินแยกจากที่อยู่อาศัย

          อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์เดียวกับกรณีเป็นที่อยู่อาศัย กล่าวคือ หากมีการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการอื่นที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 1 ไร่ หรือในกรณีที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 10 ไร่

          ในแต่ละเดือนผู้ที่ได้สิทธิจากบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จะได้รับเงินจากภาครัฐในการใช้จ่ายซื้อสินค้าอุปโภค บริโภค และใช้จ่ายสำหรับการเดินทางในชีวิตประจำวัน เพื่อชำระค่าสินค้าและบริการผ่านเครื่องรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานหรือร้านค้าที่กำหนด เมื่อชำระค่าสินค้าและบริการแล้ววงเงินในบัตรฯจะลดลงตามยอดที่ใช้จ่าย  และเมื่อถึงวันที่ 1 ของทุกเดือน วงเงินจะถูกปรับเป็นค่าเริ่มต้นของวงเงินแต่ละสวัสดิการเสมอ  โดยวงเงินคงเหลือของเดือนที่ผ่านมาจะไม่มีการสะสมในเดือนถัดไป และไม่สามารถถอนวงเงินสวัสดิการออกจากบัตรเป็นเงินสดได้[2] โดยผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถนำบัตรไปใช้จ่ายสำหรับค่าซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม 200-300 บาทต่อเดือน วงเงินค่าโดยสารรถเมล์และรถไฟฟ้า 500 บาทต่อเดือน วงเงินส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 45 บาทต่อ 3 เดือน เป็นต้น[3] รวมถึงเงินจากมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ จากรัฐบาลที่มีมาเพิ่มเติม

ทั้งนี้ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ได้แก่

 (1) ร้านธงฟ้าประชารัฐ

 (2) ร้านค้าอื่นๆ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด จำนวน 46 สินค้า แยกเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค 38 สินค้า ทั้งหมวดอาหารสด หมวดอาหารและเครื่องดื่ม หมวดของใช้ประจำวัน หมวดยารักษาโรค, สินค้าเพื่อการศึกษา 5 สินค้า และวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรม 3 สินค้า[4]

(3) ร้านค้าอื่นๆ ที่กระทรวงพลังงานกำหนด

(4) จุดจำหน่ายบัตรรถโดยสารสาธารณะ

(5) จุดจำหน่ายบัตรโดยสารรถไฟ (รฟท.) ทุกสถานี รวมถึงรถไฟฟ้า

ด้านรูปแบบของบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้น จะถูกแบ่งออกเป็น 2 ประเภทตามเขตพื้นที่ ได้แก่
          บัตรประเภท Hybrid 2 Chips จะมีแถบแม่เหล็ก Contactless Chip ที่จะมีสัญลักษณ์แมงมุมอยู่ด้านหลังบัตร ที่ออกให้กับผู้ที่มีสิทธิที่ลงทะเบียนในเขตกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรสาคร นครปฐม และอยุธยา ซึ่งในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรูปแบบนี้จะมีวงเงินสำหรับลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางรวม 1,500 บาทต่อเดือน แบ่งเป็นวงเงินสำหรับรถไฟฟ้า-รถโดยสายรององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เป็นจำนวนเงิน 500 บาทต่อเดือน  วงเงินสำหรับรถของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เป็นจำนวนเงิน 500 บาทต่อเดือน และวงเงินสำหรับรถไฟอีก เป็นจำนวนเงิน 500 บาทต่อเดือน โดยไม่จำกัดจำนวนครั้งในการใช้สิทธิ์[5] ส่วนบัตรอีกประเภทหนึ่งคือ บัตร EMV เป็น Contact Chip และแถบแม่เหล็ก ผู้ที่ได้รับบัตรประเภทนี้ ได้แก่ ผู้มีสิทธิที่ลงทะเบียนในจังหวัดอื่นๆ

ภาพ แสดงตัวอย่างบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ[6]

          อย่างไรก็ดี กล่าวได้ว่าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ยังเป็นหนึ่งในนโยบายที่พรรคพลังประชารัฐใช้ในการหาเสียงในช่วงการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปเมื่อปี พ.ศ.2562 อีกด้วย โดยในช่วงเวลานั้นรัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณกว่า 37,900 ล้านบาท เพื่ออุดหนุนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใน 4 มาตราการ ได้แก่ ค่าน้ำประปา การสนับสนุนค่าใช้จ่ายปลายปี การช่วยเหลือค่าเดินทางผู้สูงอายุ และการช่วยเหลือค่าเช่าบ้านผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ซึ่งเป็นการอุดหนุนระยะสั้นจนถึงเดือนกันยายน พ.ศ.2562 เท่านั้น[7]  ในเวลาต่อมาผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ยังได้รับมาตรการที่ภาครัฐออกมาช่วยเหลือประชาชน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ในช่วง พ.ศ.2563 ด้วย[8]

          ทั้งนี้ การใช้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นสิทธิเฉพาะตัวของบุคคลที่ระบุบนหน้าบัตรเท่านั้น เว้นแต่ผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ป่วยติดเตียง ที่ไม่สามารถเดินทางได้ สามารถให้ผู้ดูแลเป็นผู้ใช้สิทธิแทนได้ตามเงื่อนไข และหากมีการตรวจสอบแล้วพบว่ามีการให้ผู้อื่นนำบัตรไปใช้โดยไม่เข้าเกณฑ์ข้างต้น เจ้าของบัตรจะถูกตัดสิทธิในบัตรและผู้ที่นำบัตรผู้อื่นไปใช้ต้องชดใช้เงินคืนแก่ทางราชการ

อ้างอิง

[1] “คู่มือการดำเนินโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560”. สืบค้นจาก  http://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINF OCENTER18/DRAWER063/ GENERAL/DATA0000/00000196.PDF (1 สิงหาคม 2563).

[2] “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ”. สืบค้นจาก https://krungthai.com/th/personal/cards/cash-card-top-up-card/309?fbclid=IwAR2jeeObBoTj6R D3XnYl_sYG-h2GL_e4emQd1Etb0fYV8ssNJoe8pgYOXuw (1 สิงหาคม 2563).

[3] “'บัตรคนจน' บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สูญหาย-ชำรุด ต้องทำอย่างไร? ”. สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/885459 (1 สิงหาคม 2563).

[4] “'บัตรคนจน' เปิดวิธีตรวจสอบ 'ห้าง-ร้านค้า' ที่รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ”. สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/892162  (1 สิงหาคม 2563).

[5] “เริ่มแล้วใช้บัตรคนจน-บัตรแมงมุม นั่งรถไฟฟ้า 2 สาย รัฐจ่ายให้ 7 จังหวัด 1,500 บาท/คน/เดือน”. สืบค้นจาก https://www.prachachat.net/property/ news-193298 (1 สิงหาคม 2563).

[6] “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” สืบค้นจาก https://krungthai.com/th/personal/cards/cash-card-top-up-card/309?fbclid= IwAR2jeeObBo Tj6RD3XnY l_sYG-h2GL_e4emQd1Etb0fYV8ssNJoe8pgYOXuw (1 สิงหาคม 2563).

[7] “ว่าด้วยเรื่องใช้ภาษีหาเสียง”.สืบค้นจาก https://www.thebangkokinsight.com/119832/ (1 สิงหาคม 2563).

[8] “เช็ค ‘บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ’ รวมสิทธิ์ 'บัตรคนจน' สิงหาคม 2563 ได้รับอะไรบ้าง?”. สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/ detail/890813 (1 สิงหาคม 2563).