นโยบายกัญชาเสรี

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 15:17, 15 พฤศจิกายน 2565 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " '''ผู้เรียบเรียง''' ศุทธิกานต์ มีจั่น '''ผู้ทรงคุณวุฒิปร...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง ศุทธิกานต์ มีจั่น

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


นโยบายกัญชาเสรี

            นโยบายกัญชาเสรี หมายถึง การอนุญาตให้ใช้กัญชาอย่างถูกต้องตามกฎหมายเพื่อประโยชน์ทั้งในทางการแพทย์ เศรษฐกิจ และในบางประเทศยังใช้เพื่อการสันทนาการ ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีกลุ่มประเทศที่มีกฎหมายอนุญาตให้ใช้กัญชาแบบเสรีหรือถูกกฎหมาย ได้แก่ แคนนาดา จอร์เจีย แอฟริกาใต้ และ อุรุกวัย เป็นต้น

            ในกรณีของประเทศไทยนั้น การใช้หรือถือครองกัญชาเป็นสิ่งผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ที่กำหนดให้กัญชาและพืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดเสพ หรือนำไปใช้ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยหรือนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์และยังกำหนดโทษทั้งผู้เสพและผู้ครอบครองด้วย ต่อมาได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมและได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ฉบับที่ 7 พ.ศ. 2562  มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2562 เป็นต้นมา โดยได้ให้การรับรองและคุ้มครองสิทธิของผู้ป่วยที่จะได้รับและใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ในการรักษาและพัฒนาทางการแพทย์ ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ผู้ได้รับอนุญาต เพื่อให้ถูกต้องตามหลักวิชาการให้ทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย และเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านยาของประเทศ และป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดทางด้านยา ซึ่งการแก้ไขกฎหมายดังกล่าว ส่งผลให้ประเทศไทยเป็นชาติแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่อนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อประโยชนทางการแพทย์และการวิจัย อย่างไรก็ดี การแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ได้รับความร่วมมือที่ดีจากทั้งพรรคร่วมรัฐบาล และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในเวลานั้น

            ทั้งนี้ สาระสำคัญของกฎหมายนี้ ยังให้อำนาจแก่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พิจารณาและอนุญาตให้ใช้กัญชาเพื่อการแพทย์ได้ ขณะที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) จะสามารถทดสอบยาเสพติดและกำหนดพื้นที่เพื่อทดลองปลูกพืชเสพติดได้ รวมไปถึงการเปลี่ยนแนวทางการรับมือกับผู้กระทำความผิดฐานเสพยาเสพติด ซึ่งหากสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาจนหาย ก็สามารถพ้นความผิดและไม่ต้องถูกดำเนินคดี  นอกจากนี้ยังมีสถาบันอุดมศึกษาหลายแห่งรับไปศึกษาวิจัย เช่น มหาวิทยาลัยรังสิต มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรีที่ร่วมมือกับบริษัทเอกชน เพื่อศึกษาวิจัยกัญชา รวมทั้งการพัฒนาและคัดสายพันธุ์ที่เหมาะกับสภาพอากาศของประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร (มทร.พระนคร) เปิดอาคารโรงปลูกกัญชาทางการแพทย์ระบบปิดต้นแบบ เป็นต้น นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้านในการพัฒนาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์

             อย่างไรก็ดี นโยบายกัญชาเสรี เป็นหนึ่งในนโยบายหลักของพรรคภูมิใจไทยในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปในเดือนมีนาคม พ.ศ.2562 โดยเริ่มได้รับความสนใจอย่างมากจากการปราศรัยใหญ่ของ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยที่สนามช้าง อินเตอร์เนชั่นแนล เซอร์กิต
จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2562 ซึ่งถือเป็นเวทีแรกที่พรรคภูมิใจไทยประกาศ คำขวัญหาเสียงที่ว่า “กัญชาไทยปลูกได้เสรี”และ "พืชแก้จน พืชเศรษฐกิจชนิดใหม่ กัญชาเสรี" เนื้อหาหลักของนโยบายที่พรรคภูมิใจไทยนำเสนอนั้น คือ การให้ความสำคัญแก่กัญชาในฐานะที่เป็นพืชเศรษฐกิจของประเทศ ที่สามารถสร้างมูลค่าจนสามารถ "พลิกชีวิตคนไทย" ได้เพราะประเทศไทยมีสายพันธุ์กัญชามากที่สุด ดังนั้นรัฐบาลจึงควรส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงกัญชาได้อย่างเสรี โดยเริ่มต้นจากการสนับสนุนการปลูกกัญชาเพื่อใช้ในครัวเรือนบ้านละ 6 ต้น หากเหลือจึงขาย โดยรัฐจะเป็นคนรับซื้อ และดูแลพื้นที่การปลูกโดยการซื้อขายต้องผ่านรัฐ ไม่สามารถซื้อขายได้โดยตรง ซึ่งคาดการณ์ว่าจะสร้างรายได้แก่ครัวเรือนถึงปีละกว่า 400,000 แสนบาท
            ทั้งนี้รัฐบาลจะต้องเป็นผู้อุดหนุนให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถมาร่วมกันคิดพัฒนาทำวิจัยกัญชาด้วย ซึ่งแนวทางนี้ประสบความสำเร็จที่มลรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ในขณะที่การนำกัญชามาใช้เพื่อสันทนาการ ต้องเป็นไปตามกฎหมายกำหนด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกำหนดอายุของผู้ใช้ ปริมาณการซื้อ รูปแบบการใช้ พื้นที่การใช้ เป็นต้น

 

            นอกจากนี้แล้ว เมื่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ได้เข้าเป็นพรรคร่วมรัฐบาลและรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ทำให้นโยบายกัญชาเสรีถูกคาดหมายว่าจะมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมและได้รับการสนับสนุนมากขึ้น โดยเฉพาะการผลักดันให้นำกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และเป็นพืชเศรษฐกิจมากขึ้น เพื่อผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้กัญชารักษาโรคและได้รับการรับรองจากแพทย์ สามารถขออนุญาตปลูกกัญชารักษาโรคของตนเองได้ และเพื่อให้เกษตรกรที่มีความประสงค์ปลูกจำหน่าย ร่วมกับผู้ผลิตยาและสมุนไพรสามารถขอปลูกและจำหน่ายได้เพื่อส่งเสริมด้านเศรษฐกิจ ตลอดจนเพื่อแก้ไขปัญหาเก็บรักษาทำลายยาเสพติดให้โทษที่เป็นของกลาง เนื่องจากปัจจุบันมีการตรวจยึดไว้นาน ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณด้านการดูแล ทั้งในการเฝ้าไม่ให้เสียหายและสถานที่เก็บรักษา จึงได้มีความพยายามในการปรับแก้ไขเนื้อหาในร่างพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษว่าเมื่อมีการพิสูจน์ละเอียดแล้ว ให้ทางการสามารถนำไปทำลายหรือนำไปใช้ประโยชน์อื่นได้ รวมทั้งการนิรโทษกรรมผู้ครอบครองกัญชา เป็นต้น

 

รายการอ้างอิง

 “กัญชา : กฎหมายใช้กัญชา-กระท่อมทางการแพทย์มีผลบังคับใช้แล้ว” .สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-47288335 (5 กรกฏาคม 2563).

“โควิดซา เดินหน้าต่อ ผลักดันกัญชาเสรีทางการแพทย์”. สืบค้นจาก https://www.bhumjaithai.com/news/31253(5 กรกฏาคม 2563).

“ถึงเวลาสู่กัญชาเสรี?” .สืบค้นจาก  https://www.youtube.com/watch?v=1mVmY07uLXw (5 กรกฏาคม 2563).

“ประเทศใดบ้าง? ที่มีการปลดล็อคกัญชาแล้ว” .สืบค้นจาก https://medium.com/cannabit-addict/ - 5df6e9ced66d(5 กรกฏาคม 2563).

“มทร.พระนคร ปักหมุดปลูกกัญชาครั้งแรกในกทม.”. สืบค้นจาก https://www.posttoday.com/social/   general/616275?utm_source=posttoday.com&utm_medium=article_relate_inread&ut m_campaign=new%20article(5 กรกฏาคม 2563).

“สัญญา 6 ต้นกัญชาเสรีไม่ใช่เรื่องล้อเล่น แม้แต่ “เนวิน” ยังเคยประกาศจะออกมาขับไล่ถ้าไม่ทำตามสัญญา”. สืบค้นจาก https://mgronline.com/daily/detail/9620000121277 (5 กรกฏาคม 2563).

“อนุทิน” รับเรื่อง กมธ.สาธารณสุข หนุนนิรโทษกรรมผู้ใช้กัญชาทางการแพทย์”.สืบค้นจาก https://www.   bhumjaithai.com/news/20726(5 กรกฏาคม 2563).

สมิตานัน หยงสตาร์.“กัญชา: เปิดนโยบายกัญชาของภูมิใจไทยอีกครั้ง หลังโปรดเกล้าฯ “อนุทิน ชาญวีรกูล”  เป็น รมว.สาธารณสุข”.สืบค้นจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-48973471 (5  กรกฏาคม 2563).