Brexit (เบร็กซิต)

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู

 

Brexit (เบร็กซิต)

          Brexit หรือ การถอนตัวของสหราชอาณาจักร (คนไทยทั่วไปเรียกว่า “อังกฤษ”) ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป เรื่องนี้เป็นประเด็นยืดเยื้อยาวนานมาหลายปีกว่าจะยุติ เพราะเป็นประเด็นที่ผู้คนในอังกฤษ อันประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่ อิงแลนด์ สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือ ต่างก็มีความเห็นไม่เป็นอันเดียวกัน เป็นประเด็นที่มีเสียงก้ำกึ่ง อีกทั้งการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปก็เป็นเรื่องยุ่งยาก เนื่องจากมีข้อตกลงเกี่ยวพันกันระหว่างอังกฤษกับสหภาพยุโรปเป็นจำนวนหลายร้อยฉบับ จะเจรจาตกลงกันอย่างไรไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียประโยชน์หรือเสียน้อยที่สุด

          การถอนตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปเริ่มต้นขึ้นเมื่อสมาชิกรัฐสภายุโรปลงมติรับรองเงื่อนไขข้อตกลงการถอนตัวของอังกฤษ ณ กรุงบรัสเซลส์ (Brussels) ประเทศเบลเยี่ยมใน วันที่ 29 มกราคม 2020 และมีผลสมบูรณ์ ณ เวลา 23.00 น. ของวันที่ 31 มกราคม 2020 ตามเวลาท้องถิ่นของอังกฤษ[1]

          จากปัญหาที่ถกเถียงกันว่าอังกฤษควรอยู่กับสหภาพยุโรปหรือควรแยกออกมา เพื่อให้มีอำนาจในการบริหารประเทศของตัวเองอย่างสมบูรณ์และไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการอพยพของผู้ลี้ภัยชาวมุสลิมจากตะวันออกกลางที่จะเข้ามาแย่งงานและอาจแฝงมาด้วยการก่อการร้าย ในการเลือกตั้งทั่วไป ค.ศ. 2015 นายกรัฐมนตรี เดวิด คาเมรอน ที่สมัครรับเลือกตั้งชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีเป็น สมัยที่ 2 ได้ยกประเด็นนี้ขึ้นมาหาเสียงและเสนอว่าหากเขาได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกหนึ่งสมัย เขาจะจัดให้มีการลงประชามติฟังเสียงคนอังกฤษว่ายังอยากอยู่กับสหภาพยุโรปหรือต้องการจะแยกตัวออกมา

          วันที่ 7 พฤษภาคม 2015 เดวิด คาเมรอน ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีเป็น สมัยที่ 2 ได้ที่นั่งในสภาสามัญ 330 เสียง เพิ่มจากเดิม 24 เสียง เป็นฝ่ายเสียงข้างมากเกินครึ่งเล็กน้อย[2] ในเวลาต่อมารัฐบาลอังกฤษกำหนดให้มีการลงประชามติในประเด็นการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปในวันที่ 23 มิถุนายน 2016 โดยที่ นายคาเมรอน รณรงค์สนับสนุนให้อังกฤษอยู่กับสหภาพยุโรปต่อไป ผลการลงประชามติปรากฏว่าผู้มาลงประชามติ ร้อยละ 51.9 ต้องการให้ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป ในขณะที่ ร้อยละ 48.1 ต้องการให้อยู่กับสหภาพยุโรป[3] การพ่ายแพ้ในการลงประชามติครั้งนี้ทำให้ นายเดวิด คาเมรอน จำต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา ในวันที่ 24 มิถุนายน 2016 เพื่อเปิดทางให้ผู้นำคนใหม่เข้ามานำพาประเทศไปในทิศทางที่ประชาชนฝ่ายเสียงข้างมากต้องการต่อไป [4]

          เหตุผลหลัก ๆ ของฝ่ายลงประชามติให้ถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป มาจากความรู้สึกที่ว่าอังกฤษเสียประโยชน์มากกว่าได้ประโยชน์ในการอยู่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป เพราะการเป็นสมาชิกของสหภาพยุโรปต้องเสียค่าสมาชิกจำนวนมหาศาลโดยไม่ได้รับประโยชน์คุ้มค่า[5] และอังกฤษยังต้องรับผู้อพยพจากตะวันออกกลางและอัฟริกา ซึ่งนอกจากเป็นภาระในด้านค่าใช้จ่ายแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของประชาชนชาวอังกฤษอย่างร้ายแรงอีกด้วย[6]

          การดำเนินการของรัฐบาลนางเธเรซ่า เมย์ สมัยที่ 1

          ภายหลังการลาออกจากตำแหน่ง นายเดวิด คาเมรอน นางเธเรซ่า เมย์ ได้รับการสนับสนุนจากพรรคอนุรักษ์นิยม ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีพร้อมกับภารกิจที่ยากลำบาก นั่นคือการเจรจาเงื่อนไขการลาออกจากสมาชิกสหภาพยุโรปให้สำเร็จ โดยเงื่อนไขนั้นจะต้องเป็นที่พอใจของทั้งฝ่ายรัฐสภายุโรปและรัฐสภาอังกฤษ

          แผน Brexit ร่างแรกของรัฐบาล นางเธเรซ่า เมย์ ตามรายงานต่อที่ประชุมพรรคอนุรักษ์นิยมที่เบอร์มิ่งแฮมในเดือนตุลาคม ค.ศ. 2016 มีใจความสำคัญ คืออังกฤษจะไม่อยู่ในอำนาจศาลยุติธรรมแห่งยุโรปอีกต่อไป และส่งสัญญาณว่ามีความตั้งใจที่จะออกจากระบบตลาดเดียว[7] ต่อมาในเดือนมกราคม 2017 นางเธเรซ่า เมย์ ยืนยันว่าต้องการพาอังกฤษออกจากระบบตลาดเดียวและปฏิเสธโมเดลการเป็น “กึ่ง” สมาชิกสหภาพยุโรปแบบนอร์เวย์ ลิกเตนสไตน์ หรือไอซ์แลนด์ ซึ่งไม่ได้เป็นสมาชิกสหภาพยุโรป แต่ยังอยู่ในระบบตลาดปลอดภาษีกับสหภาพยุโรป

          ในเดือนมีนาคม 2017 รัฐสภาอังกฤษออกเสียงประกาศใช้ มาตรา 50 ตามสนธิสัญญาลิสบอน 2007 เป็นกฎหมายว่าด้วยการแจ้งลาออกจากการเป็นสมาชิกอียู ตามที่นายกรัฐมนตรี นางเธเรซ่า เมย์ นำเสนอ ทำให้การเจรจาเพื่อถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ โดยโดนัลด์ ทัสก์ (Donald Tusk) ประธานสภายุโรป ยืนยันได้รับการแจ้งจากรัฐบาลอังกฤษและจะเริ่มเปิดการเจรจา พร้อมกับตั้งวันสิ้นสุดการเจรจาว่าต้องเสร็จภายในวันที่ 29 มีนาคม 2019 หรือ 2 ปี นับจากวันที่สหภาพยุโรปได้รับแจ้งจากอังกฤษ

          กลางเดือนเมษายน 2017 นายกรัฐมนตรี นางเธเรซ่า เมย์ ประกาศยุบสภาสามัญโดยกะทันหัน และกำหนดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ในเดือนมิถุนายน ทั้งนี้ เพื่อกระชับเสียงในสภาสามัญที่เกินครึ่งเพียง 11 เสียง ให้มั่นคงยิ่งขึ้น ด้วยเหตุที่สังคมอังกฤษมีความเห็นแตกแยกในประเด็นเกี่ยวกับการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป กล่าวคือในการลงประชามติ กลุ่มวัยรุ่นถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น ส่วนใหญ่ออกเสียงให้อยู่กับสหภาพยุโรปต่อไป ขณะที่คนวัยยุคหลังสงครามโลก ครั้งที่ 2 (baby boomers) ออกเสียงให้ลาออก หากพิจารณาในแง่ภูมิศาสตร์ของประเทศทางตอนเหนือ ได้แก่ สกอตแลนด์ และไอแลนด์เหนือ ต้องการอยู่กับสหภาพยุโรป แต่ทางตอนใต้ คือ อิงแลนด์ และเวลส์ ต้องการลาออก[8] ดังนั้น ในรัฐสภาอังกฤษจึงปั่นป่วนหนัก คือมีทั้งเสียงสนับสนุนและเสียงคัดค้านก่ำกึ่งกัน

          การประกาศจัดการเลือกตั้งทั่วไปใหม่ของ นางเธเรซ่า เมย์ นำไปสู่สภาพเลวร้ายมากขึ้น เพราะหลังการเลือกตั้งเดือนมิถุนายน 2017 ผลปรากฏว่าพรรคอนุรักษ์นิยมกลับได้ที่นั่งน้อยลงไปอีก ในขณะที่พรรคคู่แข่งสำคัญ คือ พรรคแรงงาน ซึ่งสนับสนุนการอยู่ในสหภาพยุโรป ได้ที่นั่ง 262 ที่ เพิ่มขึ้น 30 ที่ พรรคอนุรักษ์นิยม ได้ที่นั่ง 317 ที่ ลดลง 13 ที่ ทำให้ได้เสียงในสภาสามัญไม่ถึงครึ่งจำนวนของทั้งสภาซึ่งมี 650 ที่[9] แต่กระนั้นพรรคฝ่ายค้านใหญ่ คือพรรคแรงงานก็มีเสียงไม่มากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาล ทำให้พรรคอนุรักษ์นิยมยังได้เป็นรัฐบาลต่อไป โดยจัดตั้งรัฐบาลผสมร่วมกับพรรค DUP (Democratic Unionist Party) ซึ่งมีที่นั่งในสภาสามัญ 10 ที่

          การดำเนินการของรัฐบาลนางเธเรซ่า เมย์ สมัยที่ 2

          รัฐบาลอังกฤษเจรจากับสหภาพยุโรปอย่างต่อเนื่องและด้วยความยากลำบาก ในเดือนธันวาคม 2017 นางเธเรซ่า เมย์ เผยข้อตกลงเบื้องต้นที่เจรจากับสหภาพยุโรปมีใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

          1) ประเด็นพรมแดนประเทศไอร์แลนด์ (ระยะทาง 500 กม.)

          2) ประเด็นค่าธรรมเนียมการลาออกที่ต้องจ่ายให้สหภาพยุโรป และ

          3) ประเด็นสิทธิของประชาชนชาวยุโรป 

          เดือนมิถุนายน 2018 มีความคืบหน้าไปอีกขั้นหนึ่ง เมื่อสภาสามัญของอังกฤษผ่านกฎหมายการถอนตัวออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป กฎหมายที่ว่านี้มีเนื้อหาว่าด้วยการถ่ายโอนกฎหมายของสหภาพยุโรปมาใช้ในกฎหมายอังกฤษหลังถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป

          หลังจากนั้นเดือนกรกฎาคม 2018 รัฐบาลมีการจัดประชุมที่บ้านเชคเก้อร์ (Chequers Court) บ้านพักตากอากาศสำหรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เหล่ารัฐมนตรีต่างให้ความเห็นชอบในแผน Brexit ของนางเธเรซ่า เมย์ ที่มีจุดมุ่งหมายคงความสัมพันธ์ในอนาคตกับสหภาพยุโรปไว้ ซึ่งรวมถึงการเจรจาเขตการค้าปลอดภาษีระหว่างอังกฤษกับสหภาพยุโรปด้วย แต่แล้วทั้ง เดวิด เดวิส (David Davis) รัฐมนตรีว่าการการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป และ บอริส จอห์นสัน (Boris Johnson) รัฐมนตรีว่าการการต่างประเทศ กลับประกาศลาออกจากรัฐบาล โดยจอห์นสันกล่าวว่าแผนการของ นายกรัฐมนตรี เมย์ จะทำให้อังกฤษ “มุ่งไปสู่สภาพการเป็นอาณานิคมของสหภาพยุโรปอย่างแท้จริง”

          มาถึงเดือนพฤศจิกายน 2018 ร่างแรกเตรียมเข้าสู่รัฐสภา และรัฐบาลยังคงป่วน เส้นตายงวดเข้ามาทุกที ในที่สุดร่างแรกของข้อตกลง Brexit ก็ได้รับการยอมรับร่วมกันทั้งจากฝั่งรัฐบาลสหภาพยุโรปและสภาสหภาพยุโรป แต่ในระหว่างที่นายกรัฐมนตรี เมย์ กับคณะรัฐมนตรี อภิปรายถึงเนื้อหารายละเอียดของข้อตกลง คณะรัฐมนตรีของ นางเธเรซ่า เมย์ ต้องเจอกับความปั่นป่วนซ้ำเมื่อ นายโดมินิค ราอับ (Dominic Raab) รัฐมนตรีว่าการ Brexit (คนใหม่) และ นางเอสเธอร์ แมควี่ย์ (Esther Mcvey) รัฐมนตรีว่าการจ้างงานและบำนาญ พร้อมใจกันลาออก โดยกล่าวว่า “ข้อตกลงดังกล่าวไมให้เกียรติต่อผลการลงประชามติ” ท่ามกลางความปั่นป่วนในคณะทำงานของรัฐบาลเองและความเป็นไปได้ที่สภาสามัญจะคัดค้านแผน Brexit ของนายกรัฐมนตรี ในเดือนธันวาคม 2018 นายกรัฐมนตรี เมย์ ก็ยังคงตัดสินใจให้มีการออกเสียงครั้งสำคัญในสภาสามัญ เพื่อตัดสินใจว่าข้อตกลง Brexit นี้ จะผ่านหรือไม่ผ่านมติของสภาสามัญ ก่อนจะไปถึงขั้นนำแผน Brexit เข้าสภา พรรคอนุรักษ์นิยมได้จัดให้มีการออกเสียงลับในประเด็นความไว้วางใจการเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรี เมย์ ซึ่งได้เสียงสนับสนุน 200 เสียงต่อ 117 เสียง ทำให้นายกรัฐมนตรี เมย์ สามารถอยู่ในตำแหน่งต่อไป

          ต่อมาเดือนมกราคม-มีนาคม 2019 ข้อตกลง Brexit ถูกตีตกในสภาสามัญอย่างยับเยิน

          เหลืออีก 2 เดือนกว่าก่อนถึงกำหนดวันสิ้นสุดการถอนตัวจากสหภาพยุโรป นางเธเรซ่า เมย์ นำข้อตกลง Brexit เข้าสภาสามัญเป็นครั้งแรก ซึ่งกลายเป็นความพ่ายแพ้ครั้งสำคัญ เพราะ ส.ส. ออกเสียงค้านข้อตกลงฉบับนี้แบบขาดลอย โดยเสียงค้านชนะถึง 230 เสียง แม้แต่ ส.ส. พรรคอนุรักษ์นิยมเองก็ออกเสียงค้านเป็นจำนวนมาก

          ข้อตกลง Brexit เข้าสู่สภาสามัญเป็น ครั้งที่ 2 ในเดือนมีนาคม 2019 และยังคงไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาสามัญเหมือนเดิม ทำให้นางเธเรซ่า เมย์ ต้องหาทางขยายเวลาการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปไปถึงเดือนมิถุนายน 2019 หลังการหารือกับสภายุโรป สหภาพยุโรปอนุมัติให้อังกฤษขยายเวลาการลาออกไปถึง วันที่ 31 ตุลาคม 2019 จากนั้นไม่นาน นางเธเรซ่า เมย์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคอนุรักษ์นิยมใน วันที่ 24 พฤษภาคม 2019

          การดำเนินการของรัฐบาลนายบอริส จอห์นสัน

          วันที่ 23 กรกฎาคม 2019 พรรคอนุรักษ์นิยมเลือก นายบอริส จอห์นสัน เป็นหัวหน้าพรรค นายจอห์นสันแสดงความแข็งกร้าวและประกาศจุดยืน จะนำอังกฤษออกจากสหภาพยุโรปภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2019 แบบ “ไม่มีคำว่าถ้า ไม่มีคำว่าแต่” จอห์นสันเชื่อว่าจะสามารถถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปโดยเจรจาข้อตกลงได้สำเร็จ แต่อย่างไรก็ตามเขาจะเตรียมตัวสำหรับการถอนตัวออกแบบตกลงกันไม่สำเร็จไว้ด้วย ที่เรียกว่า No-deal Brexit  

          จอห์นสัน เริ่มเสนอแผนอย่างเป็นทางการต่อสหภาพยุโรปในเดือนตุลาคม 2019 โดยมีประเด็นสำคัญอยู่ที่การแก้ปัญหาพรมแดนประเทศไอร์แลนด์กับพื้นที่ไอร์แลนด์เหนือของอังกฤษ นายบอริส จอห์นสัน ประกาศว่าการเจรจาครั้งนี้เป็นข้อเสนอที่ยอดเยี่ยม และจะทำให้อังกฤษได้ออกจากสหภาพยุโรปเป็นผลสำเร็จทั้งหมด ประกอบด้วย อิงแลนด์ สกอตแลนด์ เวลส์ และไอแลนด์เหนือ แต่ข้อเสนอของเขาก็ยังไม่ผ่านสภาสามัญชองอังกฤษเสียที จนต้องขอเลื่อนการ Brexit กับสหภาพยุโรปอีกครั้งหนึ่ง เป็นวันที่ 31 มกราคม 2020 ในที่สุด เพื่อล้างไพ่ให้เสียงในสภาสามัญสนับสนุนเขา จอห์นสัน พยายามผลักดันให้มีการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่ที่เร็วกว่ากำหนดจนสำเร็จ โดยการเลือกตั้งมีขึ้นในเดือนธันวาคม 2019 

          ในการเลือกตั้งเดือนธันวาคม 2019 นายบอริส จอห์นสัน หาเสียงด้วยการชูนโยบาย “ทำ Brexit ให้สำเร็จ” และเป็นผู้ชนะการเลือกตั้งอย่างท่วมท้น ได้ที่นั่งในสภาสามัญมากกว่าพรรคแรงงานถึง 80 ที่ เสียงที่ได้เพิ่มขึ้นนี้ ทำให้ นายบอริส จอห์นสัน มีโอกาสผลักดันข้อเสนอ Brexit ผ่านรัฐสภาอังกฤษได้มากกว่าในยุคของ นางเธเรซ่า เมย์ ข้อตกลง Brexit ของเขาผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา ส่งต่อเข้าสภายุโรปและได้รับการรับรองเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2020 โดยมีผลสมบูรณ์ใน วันที่ 31 มกราคม 2020 เวลา 23.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของอังกฤษ จากนั้นเข้าสู่ “ช่วงการเปลี่ยนผ่าน” เป็นเวลา 11 เดือน คือ ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2020[10]

          ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ การค้าขาย การเดินทาง และการอยู่อาศัยข้ามประเทศ จะยังดำเนินไปตามปกติก่อน ในช่วงเวลา 11 เดือน นายบอริส จอห์นสัน จะต้องตกลงเรื่องต่าง ๆ กับสหภาพยุโรปให้ได้ โดยเฉพาะข้อตกลงการค้า มิฉะนั้นแล้วอังกฤษจะต้องออกแบบ No-deal Brexit ซึ่งหมายถึงกำแพงภาษีของสหภาพยุโรปจะมีผลบังคับต่อเศรษฐกิจของประเทศอังกฤษ แต่ในที่สุดอังกฤษได้ออกจากสหภาพยุโรปจนสำเร็จในสมัยนายกรัฐมนตรี บอริส จอห์นสัน

          ประเด็นเรื่อง Brexit นี้ถือได้ว่าสร้างปัญหาให้กับสังคมการเมืองและประชาชนชาวอังกฤษไม่น้อยนับจากวันลงประชามติ 23 มิถุนายน 2016 กว่าอังกฤษจะดำเนินการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปได้สำเร็จเรียบร้อย กินเวลานานถึง 4 ปีครึ่ง ต้องอาศัยความพยายามของรัฐบาลถึง 3 ชุด และการเลือกตั้งทั่วไป 2 ครั้ง ทั้งนี้ ไม่นับรวมการลงประชามติ ซึ่งเป็นกิจกรรมทางการเมืองใหญ่โตและสร้างความบาดหมางในสังคมไม่น้อย

 

อ้างอิง

[1] ย้อนไทม์ไลน์.. จากอียูสู่ Brexit อังฤษไปถึงไหนแล้ว ใน mitrade.com

[2] House of Common Library, General Election 2015, Tuesday 28 July 2015.

[3] BBC News, EU referendum: The result in maps and charts (bbc.com, searched Wed. 9 June 2021)

[4] ย้อนไทม์ไลน์.. จากอียูสู่ Brexit อังฤษไปถึงไหนแล้ว ใน mitrade.com

[5] ปี 2019 อังกฤษถูกกำหนดให้ต้องจ่ายเงินเข้างบประมาณของสหภาพยุโรปเป็นจำนวนเงิน 18,900 ล้านปอนด์ แต่อังกฤษได้ส่วนลด 4,500 ล้านปอนด์ และหน่วยงานภาครัฐได้รับเงินจากสหภาพยุโรปเป็นจำนวนเงิน 5,000 ล้านปอนด์ ส่วนที่จ่ายจริงเท่ากับ 9,400 ล้านปอนด์ ดู House of Commons Library, The UK’s contribution to the EU budget (Commonslibrary.parliament.uk, Monday 04 January 2021)

[6] สรุปไทม์ไลน์ “Brexit” positioningmag.com

[7] ระบบตลาดเดียวคือระบบที่อนุญาตให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ เงินทุน และคนได้อย่างเสรี เช่น การนำเข้า-ส่งออกสินค้า ในสหภาพยุโรปสามารถส่งข้ามประเทศได้โดยไม่ต้องเสียภาษี

[8] Results of the 2016 United Kingdom European Union membership referendum (en.m.wikipedia.org, 23 June 2016)

[9] BBC News, Election 2017, Thursday 8 June 2017

[10]สรุปไทม์ไลน์ “Brexit” positioningmag.com