กรณีที่ ๕ เซาะเล้ง บุรสินสง่า

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 11:36, 11 มีนาคม 2552 โดย Ekkachais (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าใหม่: '''กรณีที่ ๕ เซาะเล้ง บุรสินสง่า''' ตัวอย่างของคนเกิดนอกปร...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

กรณีที่ ๕ เซาะเล้ง บุรสินสง่า ตัวอย่างของคนเกิดนอกประเทศไทยจากบิดาและมารดาเชื้อสายจีนในกัมพูชา เป็นคนหนีภัยความตายเข้ามาในประเทศไทย เธอไร้รัฐและไร้สัญชาติ แต่เธอเป็นภริยาและมารดาของคนสัญชาติไทย


เซาะเล้ง แซ่เต้ เกิดที่เมืองพนมเปญ ประเทศกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ จากบิดาและมารดาซึ่งเป็นคนเชื้อสายจีน ครอบครัวของนางเซาะเล้งทำการค้าข้าวสาร ซึ่งกิจการรุ่งเรืองดี จนถือได้ว่ามีฐานะที่ไม่ลำบากเลย แต่เมื่อประเทศกัมพูชาเกิดสงครามกลางเมือง นางเซาะเล้งและครอบครัวจึงต้องหนีภัยสงครามเข้ามาในประเทศไทย เซาะเล้งมาพักอาศัยกับญาติซึ่งทำการค้าขายอยู่ที่อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย และได้พบรักกับนายพาที บุรสินสง่า คนสัญชาติไทย เชื้อชาติจีน ซึ่งเป็นญาติกัน จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เซาะเล้งและพาทีก็ได้แต่งงานกัน เมื่อครอบครัวถูกเสนอให้เดินทางไปลี้ภัยในประเทศฝรั่งเศส เซาะเล้งจึงตัดสินใจที่จะไม่ติดตามครอบครัวไปฝรั่งเศส ยอมรับที่จะอาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างซุกซ่อน เพราะไม่มีเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลใดๆ เลย

เซาะเล้งและพาที มีบุตรด้วยกัน ๓ คน กล่าวคือ (๑) นางสาวพรพรรณ บุรสินสง่า (๒) นางสาวมนัสนันท์ บุรสินสง่า และ (๓) นายวิทยา บุรสินสง่า บุตรทุกคนมีสัญชาติไทย เฉพาะเซาะเล้งเท่านั้นที่ตกเป็น “คนไร้รัฐ”

พรพรรณบุตรสาวคนโตของเซาะเล้งเล่าถึงมารดาว่า “ปี ๒๕๑๙ ได้มีประกาศให้ผู้หนีภัยในประเทศเข้าไปอยู่ศูนย์อพยพ เพื่อลี้ภัยไปฝรั่งเศส คุณยายขอร้องให้คุณแม่ไปเข้าศูนย์อพยพด้วย แต่ขณะนั้นคุณแม่มีดิฉันซึ่งยังเล็กอยู่จึงไม่อยากทิ้งดิฉันและคุณพ่อไป จึงตัดสินใจไม่ไปฝรั่งเศส ซึ่งขณะที่ตัดสินใจนั้นท่านก็ยังไม่รู้เลยว่าชีวิตที่เมืองไทยต่อไปจะเป็นอย่างไร ดิฉันคิดว่าถ้าวันนั้นท่านจากดิฉันและคุณพ่อไปฝรั่งเศส ชีวิตของท่านคงมีความสุข และไม่ต้องทุกข์จนถึงทุกวันนี้ เพราะหลังจากที่คุณยายและน้าไปฝรั่งเศสก็พบกับชีวิตที่ดี คุณยายและน้าได้รับสัญชาติฝรั่งเศส และน้าทั้ง ๒ คน ก็ได้แต่งงานและเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่นั่น ซึ่งคุณยายและน้าได้เขียนจดหมายติดต่อกับคุณแม่มาตลอด นานๆ ครั้งคุณยายมีเวลาก็บินมาเยี่ยมคุณแม่ ในบรรดาลูกๆ ของคุณยายทั้งหมดท่านจะเป็นห่วงคุณแม่ที่สุด เพราะอยู่ไกลและท่านรู้ถึงความทุกข์ที่คุณแม่ดี ตลอดเวลาที่ผ่านมาในเมืองไทยคุณแม่กลายเป็นคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ อยู่แบบไม่มีตัวตน .....เมื่อครั้งที่คุณแม่ตัดสินใจที่จะอยู่เมืองไทยกับดิฉันและพ่อ ท่านคิดทำการค้าเล็กๆ เพื่อเลี้ยงลูกๆ ท่านพอมีทองเล็กๆ ที่คุณยายทิ้งไว้ให้ก่อนไปฝรั่งเศสจึงนำไปขายเพื่อนำเงินมาลงทุนค้าขาย ดิฉันจำได้อาชีพแรกเริ่มที่แม่ทำตอนอยู่เมืองไทยคือ การทำน้ำเต้าหู้ขาย ดิฉันยังจำภาพของแม่ที่นั่งโม่ถั่วเหลืองเอาไปต้มแล้วกรองด้วยผ้าขาวบาง จนตักใส่ถุงพลาสติครัดยาง แม่นำน้ำเต้าหู้ใส่กระติก ก่อนเอาไปใส่ท้ายรถจักรยานเก่าๆ แล้วนำไปขายที่ตลาด...คุณแม่เป็นคนประหยัดมัธยัสถ์ และไม่เคยกินทิ้งกินขว้าง ท่านจะกินข้าวเป็นคนสุดท้ายต่อจากปู่ ย่า พ่อ และลูกๆ....”

วันนี้ เซาะเล้งก็ยังเป็นคนไร้รัฐ แต่เรื่องของเซาะเล้งถูกร้องเข้ามาที่ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายหลังจากการศึกษาถึงสาเหตุและความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหาให้แก่เซาะเล้ง คณะทำงานจึงเริ่มต้นที่จะร้องขอให้อธิบดีกรมการปกครองพิจารณาให้สถานะ “บุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน” แก่เซาะเล้ง โดยอาศัยอำนาจตามข้อ ๔ แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ.๒๕๔๘ เพื่อให้เซาะเล้งมีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในระหว่างกระบวนการขจัดความไร้สัญชาติให้เซาะเล้ง ซึ่งอาจจะเกิดจากการพิสูจน์สัญชาติกัมพูชา หรือการร้องขอสัญชาติไทยโดยการสมรสให้แก่เซาะเล้ง คงต้องใช้ความเป็นไปได้ทางกฎหมายทุกหนทางเพื่อแก้ปัญหาความไร้รัฐให้แก่เซาะเล้ง