กรณีที่ ๓ เด็กหญิงศรีกาบาง
กรณีที่ ๓ เด็กหญิงศรีกาบาง ตัวอย่างของคนเกิดในประเทศไทยจากบิดาและมารดามอแกน ซึ่งยังพิสูจน์สัญชาติไทยไม่แล้วเสร็จ พวกเขาจึงไร้สัญชาติเพราะไร้สถานะทางกฎหมายสัญชาติ แต่พวกเขาไม่ไร้รัฐอีกต่อไป พวกเขาได้รับการบันทึกโดยอำเภอเมืองระนองในทะเบียนประวัติตามกฎหมายทะเบียนราษฎร (ท.ร.๓๘ ข) ของรัฐไทยแล้ว
เสียงตะโกนโหวกเหวงยามเช้าตรู่ ทำให้หลายคนที่เพิ่งล้างหน้าล้างตาเสร็จ และกำลังตั้งท่ากินข้าวอยู่ในเต้นท์โรงครัว ต่างพุ่งสายตามไปยังจุดเดียวกันชาวบ้านและอาสาสมัคร ๔-๕ คนกำลังช่วยกันอุ้มหญิงท้องแก่ขึ้นเรือ เพื่อนำไปส่งโรงพยาบาลบนฝั่ง หลังจากถุงน้ำคร่ำของนางแตกตั้งแต่เมื่อคืน แต่จนแล้วจนรอด ชีวิตใหม่ก็ยังไม่ยอมออกมาดูโลกสักที แม้แต่หมอตำแยประจำหมู่บ้านพยายามทำทุกวิถีทางแล้วก็ตาม ที่สุดนางอับจนปัญญาและหวั่นว่าจะไม่รอดทั้งแม่และลูก จึงต้องหันไปพึ่งหมอแผนปัจจุบัน
เรือหัวโทงแล่นออกจากเกาะมุ่งตรงไปยังฝั่งระนองโดยมีแม่หมอตำแยคอยประคับประคองเด็กในท้องอย่างทนุถนอม แต่อีกไม่กี่นาที เรือลำนั้นก็แล่นกลับมาจอดที่เดิมเสียงตะโกนถามกันเซ็งแซ่ แต่พอเห็นแม่หมอตำแยอุ้มทารกแรกเกิดที่ยังมีสายสะดือติดอยู่ลงจากเรือ ทุกคนจึงได้คำตอบสมาชิกใหม่ของชุมชนเป็นผู้หญิง ซึ่งทั้งแม่และลูกต่างๆปลอดภัยดี แม้จะคลอดบนเรือกลางทะเล ทำให้ลุงป้าน้าอาต่างถิ่นร่วมกันตั้งชื่อเธอว่า “ศรีกาบาง” กาบางคือเรือที่ทำจากต้นไม้ประจำถิ่นอันดามัน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวเล แต่ระยะหลังเรือชนิดนี้หาดูยากเต็มทีพร้อมๆกับการหายไปของคาราวานร่อนเร่ในท้องทะเล ซึ่งเป็นวิถีดั้งเดิมของชาวมอแกน ฉากชีวิตนี้เกิดขึ้นใหม่นี้อยู่บนเกาะเหลา จังหวัดระนอง เป็นฉากคุ้นชินของชุมชนมอแกนที่นี่ แต่สำหรับคนภายนอกแล้ว เป็นเรื่องที่ชวนตื่นเต้นไม่น้อยภาพทารกน้อยที่ยังไม่ได้ตัดสายสะดือถูกอุ้มลงจากเรือ ขณะที่ผู้เป็นแม่ยังอ่อนละโหยโรยแรงและต้องช่วยกันหามขึ้นบ้านเพื่อเยียวยากันแบบง่ายดาย ง่ายจนน่าประหลาดใจและน่าสนใจยิ่งสำหรับคนต่างถิ่น...อะไรมันจะง่ายขนาดนั้น???
ศรีกาบางเป็นลูกคนที่ ๕ ของนางมาแม ประมงกิจ แต่ตอนนี้นอกจากสาวแรกเกิดแล้ว นางเหลือเพียงลูกชายคนโตเท่านั้น ส่วนอีก ๓ คนเสียชีวิตไปหมดแล้ว ทุกชีวิตบนเกาะเหลาเกิดง่ายและก็ตายง่ายเช่นกัน คลอดลูกกันแบบง่ายๆและก็ฝังศพกันแบบง่ายๆ นางมาแมต้องอยู่ไฟตามวิธีรักษาดั้งเดิมของชาวมอแกน โดยมีแม่หมอประจำชุมชนคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ขณะที่ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านต่างแวะเวียนมาดูหน้าสมาชิกใหม่ ศรีกาบางไม่มีใบแจ้งเกิดเหมือนพลเมืองไทยทั่วไปเช่นเดียวกับเด็กๆมอแกนบนเกาะเหลาอีกกว่า ๑๐๐ ชีวิต เพราะผู้ใหญ่บ้านไม่รับแจ้งเนื่องจากชาวบ้านที่นี่ทั้งหมดไม่มีบัตรประชาชน ทำให้ขาดสิทธิในทุกๆ ด้านตั้งแต่เกิดจนตาย
ก่อนหน้านี้เคยมีการออกข่าวจากเนียบรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ว่านายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปแจกบัตรประชาชนให้ชาวมอแกนเกาะเหลา เพราะคนที่นี่ตั้งรกรากกันมานานปี แต่ยังถูกเลือกปฎิบัติเหมือนมนุษย์ที่นี่ไม่ได้เป็นพลเมืองติดแผ่นดิน สุดท้ายกลายเป็นเรื่องแหกตากันทั้งสิ้น กลายเป็นเพียงทางจังหวัดต้องการเกณฑ์ชาวเลไปต้อนรับพล.อ.สุรยุทธ์ในพิธีมอบบัตรประชาชนให้ชาวมอแกนบนเกาะสุรินทร์ ขณะที่ชาวมอแกนเกาะเหลาได้แต่มองตาปริบๆ ทั้งๆที่คนทั้งสองเกาะต่างเป็นเครือญาติกัน แต่สิทธิความเป็นพลเมืองกลับแตกต่างกัน การไร้ซึ่งบัตรประชาชน ทำให้ชาวเกาะเหลาไม่มีโอกาสได้บัตร ๓๐ บาทรักษาทุกโรค ยิ่งทำให้ความทุกข์ยากทับถมเข้าไปอีก
หลายคนเจ็บไข้และเคยไปโรงพยาบาล แต่ไม่สามารถสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ให้รู้เรื่อง ยิ่งเมื่อถูกตะคอกด้วยแล้ว ทำให้ต่างรู้สึกเข็ดขยาด ถ้าไม่จำเป็นจริงๆก็ไม่มีใครคิดจะขึ้นไปหาหมอบนฝั่ง
บางคนนอนอยู่โรงพยาบาลไม่กี่วันก็ต้องกลับเกาะเหลา เพราะญาติพี่น้องที่ไปเฝ้าต้องอยู่อย่างอดๆอยากๆ เนื่องจากไม่มีเงินซื้อข้าวกิน ส่วนเด็กๆที่เสียชีวิตกันมากเพราะอยู่กันตามมีตามเกิด โดยทารกทั้งหมดกินนมข้นหวานชงด้วยน้ำธรรมดาซึ่งไม่ค่อยสะอาดนัก ทำให้เป็นโรคท้องร่วงอยู่เป็นประจำเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะขึ้นมาตรวจดูก็ต่อเมื่อมีโรคระบาด เช่น อหิวาตกโรคทุกวันนี้น้ำใจที่หลั่งไหลสู่ชาวมอแกนเกาะเหลามาจากธารเล็กธารน้อยของชุมชนต่างๆ ที่เข้าใจและเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันแม้ชุมชนศรัทธาในจังหวัดชายแดนใต้ยังตกอยู่ท่ามกลางสถานการณ์รุนแรงแม้ชุมชนบ้านตามุยแห่งเมืองอุบลยังตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงต่อความสูญเสีย หากเกิดเขื่อนขนาดยักษ์กั้นลำน้ำโขงที่รู้จักกันในนามเขื่อนบ้านกุ่ม แม้ชุมชนพัฒนาเมืองภูเก็ตยังตกอยู่ในสภาพมืดมิดยามค่ำคืนเพราะน้ำไฟเข้าไม่ถึง แถมยังถูกไล่ลื้อไม่เว้นแต่ละวัน เช่นเดียวกับชุมชนเกาะลันตา ชุมชนบ้านน้ำเค็ม ฯลฯ ซึ่งต่างเป็นคนจนที่ยังต้องเผชิญปัญหาสารพัดแต่สุดท้ายพวกเขาต่างแสดงน้ำใจสู่เพื่อนมนุษย์ที่ลำบากลำบนกว่า ด้วยการมาลงแรงสร้างบ้านให้ชาวมอแกนบนเกาะเหลา
สายๆวันนั้น ชาวบ้านกว่า ๒๐๐ คนที่กระฉับกระเฉงอยู่บนขื่อคานต่างรับทราบข่าวดีกันถ้วนหน้า แม้ยังไม่ใครทำนายได้ว่าอนาคตของหนูน้อยศรีกาบางจะเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆอีกไม่กี่นานนี้เธอจะได้อาศัยอยู่ในบ้านที่มั่นคงแข็งแรงด้วยฝีมือของลุงป้าน้าอาจากต่างถิ่น ศักดิ์ศรีความเป็นคนของศรีกาบางเกิดขึ้นในใจชาวบ้านทุกคนนับตั้งแต่วินาทีแรกที่เธอลืมตาดูโลก ท่ามกลางอ้อมกอดของทะเลและกลางเสียงฆ้อนเสียงเลื่อยของเพื่อนมนุษย์ผู้มีน้ำใจ ลุงป้าน้าอาทุกคนบนเกาะเหลายามนั้น ต่างยอมรับเธอเป็นลูกหลาน เพียงแต่กฎกติกาของบ้านเมืองยังตามไม่ทันน้ำใจของมนุษย์