กรณีศึกษาของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในสังคมไทย

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 11:00, 11 มีนาคม 2552 โดย Ekkachais (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าใหม่: '''กรณีศึกษาของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในสังคมไทย''':เรื่องจร...)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

กรณีศึกษาของคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติในสังคมไทย:เรื่องจริงที่เป็นตัวอย่างของคนที่มีปัญหาสถานะบุคคล รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ นศ.สสสส๑ สถาบันพระปกเกล้า

โทรศัพท์ ๐๒-๖๑๓๒๑๔๘ โทรศัพท์เคลื่อนที่ ๐๑-๓๔๙๒๑๐๙

Email : - archanwell@hotmail.com

Websites : http://www.archanwell.org,

Blog1 : http://gotoknow.org/portal/archanwell

Blog2 : http://learners.in.th/portal/archanwell

Blog3 : http://www.oknation.net/blog/archanwell

Community1 : http://archanwell.multiply.com/

Community2 : http://archanwell.hi5.com



กรณีที่ ๑ นายประสิทธิ์ จำปาขาว : ตัวอย่างของคนเกิดในประเทศลาวจากบิดาสัญชาติไทยและมารดาสัญชาติลาว แต่เขาตกเป็นคนไร้รัฐเพราะไร้สถานะทางกฎหมายทะเบียนราษฎร



      ช่วง ๒ เดือนมานี้ “น้อย”ได้แต่มุ่งหน้าเข้าทุ่งนาเกี่ยวข้าวตั้งแต่เช้ายันค่ำ ได้ค่าจ้างวันละ ๑๕๐ บาท เรียกได้ว่าเป็นการหาเช้ากินค่ำขนานแท้ เพราะเขาไม่มีที่นาเป็นของตัวเอง เงินที่ได้มาใช้เลี้ยง ๒ ปากท้องแทบไม่พอพอหมดหน้าเกี่ยวข้าว เขาก็จะไปรับจ้างเกี่ยวถอนมันสัมปะหลัง จากนั้นก็รับจ้างปลูกและดูแลไร่มันต่ออีกหลายเดือนซึ่งได้ค่าแรงในราคาใกล้เคียงกัน
               ชีวิตของเด็กหนุ่มวัยต้น ๓๐ ปีมีแต่คำว่ารับจ้างและรับจ้างอยู่ตามท้องไร่ท้องนาเรื่อยมา ตั้งแต่ออกจากโรงเรียนเมื่อจบชั้นป.๖หากช่วงไหนไม่มีงานจริงๆก็ชักชวนเพื่อนวัยเดียวกัน ๓-๔ คนเข้าไปหาฟืนมาเผาถ่านขายได้กระสอบละร้อยกว่าบาท ขึ้นอยู่กับชนิดของไม้ แต่สมัยนี้ไม่ว่าไม้อะไรก็หาทำฟืนยากเต็มที วัฎจักรชีวิตตลอด ๓๖๕ วันของน้อยวนเวียนอยู่อย่างนี้ปีแล้วปีเล่า เพื่อความอยู่รอดของเขาและน้องชายน้อยไม่มีทางเลือกในชีวิตมากนัก ทุกวันนี้เขายังเป็นคนเถื่อนของรัฐไทย เพราะไม่มีบัตรประชาชนเหมือนกันทั่วไป ทั้งๆที่เขาเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขของคนไทยเต็มเปี่ยมความล้าหลังและ “ไร้ใจ”ของราชการไทย ทำให้ชีวิตคนเล็กคนน้อยต่างเผชิญชะตากรรมต่างๆนาๆ น้อยมีชื่อเต็มว่านายประสิทธิ์ จำปาขาว เป็นชาวบ้านบะไห ต.ห้วยยาง อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานี แต่เขาเกิดที่แขวงจำปาสัก อีกฟากหนึ่งของฝั่งโขง ในประเทศลาว
                เมื่อกว่า ๔๐ ปีก่อน พ่อของน้อยและญาติพี่น้องชักชวนกันข้ามฝั่งโขงไปทำมาหากินที่จำปาสัก ซึ่งเป็นเรื่องปกติของคนย่านนี้ที่ต่างโยงใยกันมาแต่ดั้งเดิม หากช่วงใดที่เกิดความแห้งแล้งหรือมีภัยต่างๆก็อพยพไปยังพื้นที่สมบูรณ์และอยู่เย็นกว่า แม่น้ำโขงไม่ได้มีหน้าที่เป็นเส้นแบ่งแดนหรือแยกชาวบ้านออกจากกัน ไม่เช่นนั้นคนโบราณคงไม่มีใครเรียกสายน้ำว่า “แม่”พ่อของน้อยได้เมียที่จำปาสัก เมื่อให้กำเนิดน้อยทั้งคู่โยกย้ายกลับมาอยู่บ้านบะไหเพราะช่วงนั้นภายในประเทศลาวตกอยู่ในสภาวะการสู้รบ เช่นเดียวกับคนท้องถิ่นอีกจำนวนมากที่ต่างหนีภัยกลับมาอยู่อีกฟากหนึ่งของริมน้ำโขงบางส่วนอพยพเข้าไปอยู่ในศูนย์ผู้ลี้ภัยก็ได้บัตรสีและกลายเป็นบัตรประชาชนหมดแล้ว แต่คนอีกจำนวนมาก ย้ายกลับมาอยู่กับญาติพี่น้องเพราะไม่คิดว่าจำเป็นต้องเข้าไปอยู่ในศูนย์ ในที่สุดทั้งหมดจึงตกอยู่ในชะตากรรมเดียวกับน้อยปัจจุบันชาวบ้านบะไหแทบทั้งหมู่บ้านต้องตกเป็น“คนเถื่อน” และไร้สิทธิต่างๆโดยสิ้นเชิง แม้แต่บริการขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องพึงจัดให้ เช่น น้ำปะปา ไฟฟ้า ก็ต้องจ่ายแพงกว่าคนทั่วไปเพราะต้องต่อพ่วงเอาจากที่อื่น เช่นเดียวกับเรื่องปัจจัยสี่ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน สุขภาพ ทุกคนที่บะไหต่างต้องเผชิญความยากลำบากกันถ้วนหน้าแม้มีพระราชบัญญัติสัญชาติฉบับใหม่ออกมาเปิดช่องให้แล้วก็ตาม แต่ใจคนของทางการยังคงเย็นชืดเหมือนเดิมหลังย้ายกลับมาปักหลักที่บ้านบะไห ครอบครัวของน้อยมีสมาชิกเพิ่มอีก ๑ คนคือน้องชายของน้อย ซึ่งเขาได้รับการคุ้มครองให้มีสิทธิความเป็นพลเมืองไทยอย่างสมบูรณ์ แตกต่างจากน้อยที่แม้พยายามยื่นเรื่องไปแล้วหลายครั้ง แต่ไม่เคยมีความคืบหน้าใดๆ   จนกระทั่งเมื่อปีที่แล้วพ่อน้อยได้เสียชีวิต ส่วนแม่หนีไปอยู่กินกับผู้ชายคนใหม่ ปล่อยให้น้อยและน้องชายอยู่กันเพียงลำพัง   “ผมก็อยากให้เขาเรียนสูงๆ เขามีโอกาสดีกว่าผม เพราะถึงผมเรียนไปก็เอาไปทำงานไม่ได้” น้อยพูดถึงความหวังของเขา แต่เป็นความหวังที่มลายไปแล้ว เมื่อสิ้นปีเทอมก่อน“เด”น้องชายของน้อยก็ไม่ได้เรียนต่อหลังจากจบป.๖ ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไรสำหรับแวดการศึกษาของชาวบ้านที่นี่ แม้นโยบายด้านนี้ของประเทศจะเขียนไว้สวยหรูให้ทุกคนได้เรียนฟรี แต่ความเป็นจริงในชีวิตยังคงมีช่องว่างอยู่เสมอ

“ผมเองก็ไม่มีปัญญาส่งเขาด้วยแหละ”น้อยยอมรับตรงๆ เพราะลำพังค่าจ้างวันละ ๑๕๐ บาท และก็ไม่ได้มีงานให้ทำทุกวัน แค่ค่ากิน ค่าน้ำค่าไฟก็แทบไม่พอแล้ว ดังนั้นเขาจึงไม่ได้ห้ามปรามอะไร เมื่อน้องชายบอกว่าจะไม่เรียนต่อ” “ถ้าเขาย้ายไปเรียนโรงเรียนมัธยม ต้องเสียค่ารถวันละ ๔๐ บาท ไหนจะค่ากินอีกล่ะ ตอนแม่ไปก็ไม่ได้ทิ้งเงินไว้ให้เลย” น้ำเสียงของน้อยไม่ได้ตั้งใจจะโทษแม่ เพียงแต่อยากอธิบายถึงความจำเป็นอันแสนเศร้าของหัวอกคนเป็นพี่ เพื่อนๆในหมู่บ้านของน้อยหลายคนยอมเสียเงินทำบัตรต่างด้าวเพื่อเข้าไปหางานทำในเมือง แต่น้อยทำเช่นนั้นไม่ได้เพราะเขามีภาระเรื่องน้องชาย บัตรประชาชนเพียงใบเดียวได้สร้างวงเวียนชีวิตอันยากลำเค็ญ และสร้างความแตกต่างได้แม้กระทั่งคนสายเลือดเดียวกัน แต่คนที่มีบัตรมักไม่เข้าใจและยอมไม่รับรู้ชะตากรรมของเพื่อนในสังคมเดียวกัน “พวกเราไม่ค่อยมีใครกล้าไปอำเภอหรอก แค่เจอเจ้าหน้าที่ก็สั่นแล้ว ยิ่งผมไม่มีหลักฐานอะไร มีแค่คำยืนยันจากอาว่าผมเป็นลูกพ่อที่เป็นคนไทยจริงๆ แต่คงไม่มีใครฟังหรอก” เขาไม่กล้าที่จะหวังอะไรอีกแล้ว เพราะประสบการณ์ในอดีตได้ดับความหวังเขาไปแล้วจนสิ้น ช่างเป็นเรื่องอันน่าหดหู่ที่ชีวิตในวัยหนุ่มและวัยเริ่มหนุ่มของน้อยกับเด แทนที่จะเป็นวัยที่เปี่ยมด้วยความหวังและแสงจรัส กลับต้องอยู่อย่างสิ้นหวังและมืดมน เช่นเดียวกับเยาวชนบ้านบะไหที่ตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกัน อนาคตของเดก็คงหนีไม่พ้นต้องทำงานหาเช้ากินค่ำเช่นเดียวกับพี่ชาย ไม่รู้ว่าเรามีผู้บริหารประเทศกันทำไม หรือแค่เอาไว้แย่งชิงอำนาจกันเท่านั้น???




กรณีที่ ๒ นายโชบี

ตัวอย่างของคนเกิดในประเทศไทยจากบิดาและมารดาโรฮินญาหนีภัยความตายเข้ามาในประเทศไทย เขาประสบความไร้รัฐเพราะไร้สถานะทางกฎหมายทะเบียนราษฎร แต่บุตรสาวของเขามีสัญชาติไทย ไม่ไร้รัฐไม่ไร้สัญชาติเช่นเดียวกับเขา เพราะภริยาของเขามีสัญชาติไทย


นายอุสเซ็น และ นางอานัวเป็นชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์โรฮินญาที่นับถือศาสนาอิสลามซึ่งเกิดและอาศัยในรัฐอาระกัน ประเทศพม่า ถูกรัฐบาลพม่าผลักดันให้ออกจากประเทศพม่า จนต้องอพยพเข้ามาในประเทศไทยในราว พ.ศ.๒๕๑๙ นางอานัวมารดาเล่าให้โชบีฟังว่า “ประเทศพม่าไม่ให้สัญชาติคนมุสลิมและผลักดันออกนอกประเทศ หาว่าเป็นกบฎ ซึ่งคนมุสลิมเหล่านี้มีจำนวนเป็นหลายพัน หลายแสนคน แล้วก็ถูกผลักดันออกจากประเทศพม่า ๓ แสนกว่าคน ถูกผลักดันไปบังคลาเทศ บางส่วนหนีมาประเทศไทย

นายอุสเซ็นและนางอานัวอพยพเข้ามาในประเทศไทยทางผ่านเจดีย์สามองค์ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี

หลังจากที่นายอุสเซ็นและนางอานัวอยู่ประเทศไทยได้ ๒ ปี ก็มีบุตร ๑ คน กล่าวคือนายโซบี ซุบาฮาน นางอานัวไม่ได้คลอดโชบีที่โรงพยาบาล โดยนางอานัวบอกแก่โชบีว่า นางอานัวไม่มีเอกสารหรือหลักฐานแสดงตน จึงไม่กล้าไปโรงพยาบาล แต่บอกโชบีว่า คลอดที่อำเภอพระโขนง โดยหมอตำแย ซึ่งนางคอตีเยาะห์ คนสัญชาติไทย เป็นพยานรู้เห็นการเกิดของโชบี แต่โชบีไม่รู้วันเกิดของตัวเอง เพราะนางอานัวบอกเพียงว่า โชบีเกิดเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๔ บิดาเสียชีวิต ขณะที่โซบีอยู่ในครรภ์มารดาประมาณ ๗ เดือน โชบีเริ่มทำงานขายกระดาษทิชชูตั้งแต่เป็นเด็กชายตัวเล็กๆ เริ่มจากแถวสุขุมวิท สีลม ไปจนถึงสายใต้เก่าจนสายใต้ย้ายไปที่ใหม่

ในราว พ.ศ.๒๕๓๒ เมื่อโซบีอายุประมาณ ๗ ปี นางอานัวมารดาและโซบีถูกตำรวจจับข้อหาหลบหนีเข้าเมืองและถูกส่งออกนอกราชอาณาจักร ณ ด่านเจดีย์สามองค์ อำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี หลังจากนั้น มารดาและโซบีก็เดินเท้ากลับเข้ามายังไทย และพำนักอยู่ที่บริเวณด่านเจดีย์สามองค์ ประมาณไม่นานนักมารดาก็เสียชีวิตด้วยโรคมาลาเรีย โซบีอยู่ตามลำพัง ขณะที่โชบีอายุได้ ๑๐ ปี

โชบีจึงเติบโตโดยลำพังและด้วยการเอื้อเฟื้อของเพื่อนบ้าน โชบีอาศัยอยู่กับชาวบ้าน โดยรับจ้างเลี้ยงวัวอยู่ประมาณ ๑ ปี โดยไม่มีรายได้ นายจ้างให้ได้แต่เพียงอาหารและที่พักอาศัย

ต่อมา เมื่ออายุประมาณ ๑๕-๑๖ ปี โชบีย้ายไปอยู่กับเพื่อนแถวปากเกร็ด กทม. เพราะมีเพื่อนมุสลิมที่ไม่มีสัญชาติเหมือนกับโชบี แนะนำให้เข้ามากรุงเทพฯ กลับมาขายยาดม กระดาษชำระ และต่อมา นางบานู คนพม่านับถือศาสนาอิสลามได้รับโชบีไปอุปการะ สอนอาชีพขายโรตีให้โชบี ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน โชบีมีอาชีพขายโรตี ปัจจุบัน นางบานูยังมีชีวิตแต่ย้ายไปอยู่ที่จังหวัดอุทัยธานี

หลังจากนั้น โชบีถูกจับกุมหลายครั้งในข้อหาหลบหนีเข้าเมืองบ้าง หรือทำงานผิดกฎหมายบ้าง และโชบีบอกว่า ถูกจับประมาณกว่า ๑๐ ครั้ง เมื่อถูกจับ ก็จะได้รับความช่วยเหลือจากคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติและผู้พลัดถิ่น ของสภาทนายความ ซึ่งก็ช่วยอธิบายให้ตำรวจทันบ้าง ไม่ทันบ้าง และแม้ถูกส่งตัวไปที่สังขละบุรี แต่ก็เดินทางกลับมาบ้านได้ทุกครั้ง

เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๕ รัฐบาลไทยมีการเปิดให้จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายจากพม่า ลาว และกัมพูชา โชบีจึงไปขอใบอนุญาตทำงาน ประเภทไม่ต้องมีนายจ้าง และสามารถประกอบอาชีพอิสระได้ (พ.๒) แต่ก็ถูกจับอีกในข้อหา “ขายโรตี” โดยตำรวจชี้แจงว่า อาชีพขายโรตีเป็นอาชีพที่ต้องห้ามมิให้คนต่างด้าวทำ โชบีบอกว่า ไม่กลัวตอนถูกจับ แต่อายมากกว่า หลังจากนั้น เขาจึงไม่เคยไปขอทำใบอนุญาตทำงานอีกเลย โชบีไม่ได้เรียนหนังสือ แต่ที่อ่านออกเขียนได้ เพราะเพื่อนๆ ช่วยสอนให้ เคยไปขอเรียนที่ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียน ตอนอายุ ๑๖ ปี แต่ถูกปฏิเสธเพราะไม่มีหนังสือรับรองการเกิด ล่าสุด โชบีส่งข่าวมายังคลินิกกฎหมายเพื่อคนไร้รัฐคนไร้สัญชาติของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า เขาอยู่กันฉันสามีภริยากับนางสาววิลาวัณย์ คนสัญชาติไทย และมีบุตรด้วยกัน ๑ คน กล่าวคือ เด็กหญิงเกวลินทร์ ซึ่งเกิดที่โรงพยาบาลวัดสิงห์ จังหวัดชัยนาทเมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๐ ทั้งนี้ ปรากฏตามหนังสือรับรองการเกิด (ท.ร.๑/๑) ซึ่งโรงพยาบาลดังกล่าวออกให้แก่เด็กหญิงเกวลินทร์ เอกสารนี้ระบุว่า เกวลินทร์มีสัญชาติไทย ทั้งวิลาวัณย์และเกวลินทร์มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านคนอยู่ถาวร (ท.ร.๑๔) ตามกฎหมายไทย

ครอบครัวของโชบีตั้งบ้านเรือนอยู่จริงที่จังหวัดชัยนาทในปัจจุบัน แต่โชบีผู้เดียวในครอบครัวยังคงไร้รัฐ กล่าวคือ ไม่มีสถานะทางกฎหมายทะเบียนราษฎร



กรณีที่ ๓ เด็กหญิงศรีกาบาง

ตัวอย่างของคนเกิดในประเทศไทยจากบิดาและมารดามอแกน ซึ่งยังพิสูจน์สัญชาติไทยไม่แล้วเสร็จ พวกเขาจึงไร้สัญชาติเพราะไร้สถานะทางกฎหมายสัญชาติ แต่พวกเขาไม่ไร้รัฐอีกต่อไป พวกเขาได้รับการบันทึกโดยอำเภอเมืองระนองในทะเบียนประวัติตามกฎหมายทะเบียนราษฎร (ท.ร.๓๘ ข) ของรัฐไทยแล้ว


เสียงตะโกนโหวกเหวงยามเช้าตรู่ ทำให้หลายคนที่เพิ่งล้างหน้าล้างตาเสร็จ และกำลังตั้งท่ากินข้าวอยู่ในเต้นท์โรงครัว ต่างพุ่งสายตามไปยังจุดเดียวกันชาวบ้านและอาสาสมัคร ๔-๕ คนกำลังช่วยกันอุ้มหญิงท้องแก่ขึ้นเรือ เพื่อนำไปส่งโรงพยาบาลบนฝั่ง หลังจากถุงน้ำคร่ำของนางแตกตั้งแต่เมื่อคืน แต่จนแล้วจนรอด ชีวิตใหม่ก็ยังไม่ยอมออกมาดูโลกสักที แม้แต่หมอตำแยประจำหมู่บ้านพยายามทำทุกวิถีทางแล้วก็ตาม ที่สุดนางอับจนปัญญาและหวั่นว่าจะไม่รอดทั้งแม่และลูก จึงต้องหันไปพึ่งหมอแผนปัจจุบัน

เรือหัวโทงแล่นออกจากเกาะมุ่งตรงไปยังฝั่งระนองโดยมีแม่หมอตำแยคอยประคับประคองเด็กในท้องอย่างทนุถนอม แต่อีกไม่กี่นาที เรือลำนั้นก็แล่นกลับมาจอดที่เดิมเสียงตะโกนถามกันเซ็งแซ่ แต่พอเห็นแม่หมอตำแยอุ้มทารกแรกเกิดที่ยังมีสายสะดือติดอยู่ลงจากเรือ ทุกคนจึงได้คำตอบสมาชิกใหม่ของชุมชนเป็นผู้หญิง ซึ่งทั้งแม่และลูกต่างๆปลอดภัยดี แม้จะคลอดบนเรือกลางทะเล ทำให้ลุงป้าน้าอาต่างถิ่นร่วมกันตั้งชื่อเธอว่า “ศรีกาบาง” กาบางคือเรือที่ทำจากต้นไม้ประจำถิ่นอันดามัน ซึ่งเป็นภูมิปัญญาของชาวเล แต่ระยะหลังเรือชนิดนี้หาดูยากเต็มทีพร้อมๆกับการหายไปของคาราวานร่อนเร่ในท้องทะเล ซึ่งเป็นวิถีดั้งเดิมของชาวมอแกน ฉากชีวิตนี้เกิดขึ้นใหม่นี้อยู่บนเกาะเหลา จังหวัดระนอง เป็นฉากคุ้นชินของชุมชนมอแกนที่นี่ แต่สำหรับคนภายนอกแล้ว เป็นเรื่องที่ชวนตื่นเต้นไม่น้อยภาพทารกน้อยที่ยังไม่ได้ตัดสายสะดือถูกอุ้มลงจากเรือ ขณะที่ผู้เป็นแม่ยังอ่อนละโหยโรยแรงและต้องช่วยกันหามขึ้นบ้านเพื่อเยียวยากันแบบง่ายดาย ง่ายจนน่าประหลาดใจและน่าสนใจยิ่งสำหรับคนต่างถิ่น...อะไรมันจะง่ายขนาดนั้น???

ศรีกาบางเป็นลูกคนที่ ๕ ของนางมาแม ประมงกิจ แต่ตอนนี้นอกจากสาวแรกเกิดแล้ว นางเหลือเพียงลูกชายคนโตเท่านั้น ส่วนอีก ๓ คนเสียชีวิตไปหมดแล้ว ทุกชีวิตบนเกาะเหลาเกิดง่ายและก็ตายง่ายเช่นกัน คลอดลูกกันแบบง่ายๆและก็ฝังศพกันแบบง่ายๆ นางมาแมต้องอยู่ไฟตามวิธีรักษาดั้งเดิมของชาวมอแกน โดยมีแม่หมอประจำชุมชนคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ขณะที่ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้านต่างแวะเวียนมาดูหน้าสมาชิกใหม่ ศรีกาบางไม่มีใบแจ้งเกิดเหมือนพลเมืองไทยทั่วไปเช่นเดียวกับเด็กๆมอแกนบนเกาะเหลาอีกกว่า ๑๐๐ ชีวิต เพราะผู้ใหญ่บ้านไม่รับแจ้งเนื่องจากชาวบ้านที่นี่ทั้งหมดไม่มีบัตรประชาชน ทำให้ขาดสิทธิในทุกๆ ด้านตั้งแต่เกิดจนตาย

ก่อนหน้านี้เคยมีการออกข่าวจากเนียบรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ว่านายกรัฐมนตรี จะเดินทางไปแจกบัตรประชาชนให้ชาวมอแกนเกาะเหลา เพราะคนที่นี่ตั้งรกรากกันมานานปี แต่ยังถูกเลือกปฎิบัติเหมือนมนุษย์ที่นี่ไม่ได้เป็นพลเมืองติดแผ่นดิน สุดท้ายกลายเป็นเรื่องแหกตากันทั้งสิ้น กลายเป็นเพียงทางจังหวัดต้องการเกณฑ์ชาวเลไปต้อนรับพล.อ.สุรยุทธ์ในพิธีมอบบัตรประชาชนให้ชาวมอแกนบนเกาะสุรินทร์ ขณะที่ชาวมอแกนเกาะเหลาได้แต่มองตาปริบๆ ทั้งๆที่คนทั้งสองเกาะต่างเป็นเครือญาติกัน แต่สิทธิความเป็นพลเมืองกลับแตกต่างกัน การไร้ซึ่งบัตรประชาชน ทำให้ชาวเกาะเหลาไม่มีโอกาสได้บัตร ๓๐ บาทรักษาทุกโรค ยิ่งทำให้ความทุกข์ยากทับถมเข้าไปอีก

หลายคนเจ็บไข้และเคยไปโรงพยาบาล แต่ไม่สามารถสื่อสารกับเจ้าหน้าที่ให้รู้เรื่อง ยิ่งเมื่อถูกตะคอกด้วยแล้ว ทำให้ต่างรู้สึกเข็ดขยาด ถ้าไม่จำเป็นจริงๆก็ไม่มีใครคิดจะขึ้นไปหาหมอบนฝั่ง

บางคนนอนอยู่โรงพยาบาลไม่กี่วันก็ต้องกลับเกาะเหลา เพราะญาติพี่น้องที่ไปเฝ้าต้องอยู่อย่างอดๆอยากๆ เนื่องจากไม่มีเงินซื้อข้าวกิน ส่วนเด็กๆที่เสียชีวิตกันมากเพราะอยู่กันตามมีตามเกิด โดยทารกทั้งหมดกินนมข้นหวานชงด้วยน้ำธรรมดาซึ่งไม่ค่อยสะอาดนัก ทำให้เป็นโรคท้องร่วงอยู่เป็นประจำเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะขึ้นมาตรวจดูก็ต่อเมื่อมีโรคระบาด เช่น อหิวาตกโรคทุกวันนี้น้ำใจที่หลั่งไหลสู่ชาวมอแกนเกาะเหลามาจากธารเล็กธารน้อยของชุมชนต่างๆ ที่เข้าใจและเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกันแม้ชุมชนศรัทธาในจังหวัดชายแดนใต้ยังตกอยู่ท่ามกลางสถานการณ์รุนแรงแม้ชุมชนบ้านตามุยแห่งเมืองอุบลยังตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงต่อความสูญเสีย หากเกิดเขื่อนขนาดยักษ์กั้นลำน้ำโขงที่รู้จักกันในนามเขื่อนบ้านกุ่ม แม้ชุมชนพัฒนาเมืองภูเก็ตยังตกอยู่ในสภาพมืดมิดยามค่ำคืนเพราะน้ำไฟเข้าไม่ถึง แถมยังถูกไล่ลื้อไม่เว้นแต่ละวัน เช่นเดียวกับชุมชนเกาะลันตา ชุมชนบ้านน้ำเค็ม ฯลฯ ซึ่งต่างเป็นคนจนที่ยังต้องเผชิญปัญหาสารพัดแต่สุดท้ายพวกเขาต่างแสดงน้ำใจสู่เพื่อนมนุษย์ที่ลำบากลำบนกว่า ด้วยการมาลงแรงสร้างบ้านให้ชาวมอแกนบนเกาะเหลา

สายๆวันนั้น ชาวบ้านกว่า ๒๐๐ คนที่กระฉับกระเฉงอยู่บนขื่อคานต่างรับทราบข่าวดีกันถ้วนหน้า แม้ยังไม่ใครทำนายได้ว่าอนาคตของหนูน้อยศรีกาบางจะเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆอีกไม่กี่นานนี้เธอจะได้อาศัยอยู่ในบ้านที่มั่นคงแข็งแรงด้วยฝีมือของลุงป้าน้าอาจากต่างถิ่น ศักดิ์ศรีความเป็นคนของศรีกาบางเกิดขึ้นในใจชาวบ้านทุกคนนับตั้งแต่วินาทีแรกที่เธอลืมตาดูโลก ท่ามกลางอ้อมกอดของทะเลและกลางเสียงฆ้อนเสียงเลื่อยของเพื่อนมนุษย์ผู้มีน้ำใจ ลุงป้าน้าอาทุกคนบนเกาะเหลายามนั้น ต่างยอมรับเธอเป็นลูกหลาน เพียงแต่กฎกติกาของบ้านเมืองยังตามไม่ทันน้ำใจของมนุษย์



กรณีที่ ๔ ซ่างเห่า แซ่ก่อ

ตัวอย่างของคนเกิดนอกประเทศไทยจากบิดาและมารดาเชื้อสายจีน เป็นคนหนีภัยความตายเข้ามาในประเทศไทย เธอไร้สัญชาติ แต่เธอเป็นมารดาของคนสัญชาติไทย


นางซางเห่า แซ่ก่อ เกิดที่ยูนาน ประเทศจีนเมื่อวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๙๒ เธอเป็นบุตรสาวคนเดียวของมารดา บิดาทิ้งมารดาไปตั้งแต่ก่อนซ่างเห่าเกิด ภายหลังการเกิด ครอบครัวได้อพยพมาอยู่ในประเทศพม่า ซึ่งมารดามาเสียชีวิตในประเทศนี้ จึงทำให้ซ่างเห่าเป็นกำพร้าตั้งแต่อายุ ๑๑ ปี ซ่างเห่าได้รับการเลี้ยงดูจากเพื่อนของมารดา

ในวัยสาวของซ่างเห่าในประเทศพม่า ซ่างเห่าได้พบรักกับสามีซึ่งเป็นคนจีนจากแผ่นดินใหญ่ซึ่งอพยพเข้ามาในพม่าเช่นกัน หลังจากการอยู่กินกันฉันสามีภริยา ซ่างเห่าและสามีได้อพยพเข้ามาในเมืองไทยในราว พ.ศ.๒๕๑๔

ซ่างเห่าและสามีมีบุตรด้วยกัน ๓ คน บุตรทุกคนเกิดในประเทศไทย กล่าวคือ (๑) .นายชงหาง แซ่จู (๒) นายชงหัว แซ่จู และ (๓) นางสาวหลิ่งหลิง แซ่จู สามีเสียชีวิตลงภายหลังการเกิดของบุตรคนที่สาม

หลิ่งหลิง ซึ่งเป็นบุตรสาวคนสุดท้องเล่าว่า “เท่าที่จำความได้ แม่ก็ทำหน้าที่ทั้งพ่อและแม่มาโดยตลอด แม่เลี้ยงลูกๆ ด้วยความลำบาก เพราะพ่อไม่ได้ทิ้งอะไรไว้ให้เราเลย ที่อยู่ก็อยู่ในโรงงานทำไม้กวาด โดยเจ้าของบริษัทไม่เก็บค่าเช่า แม่กับพี่ชายคนโตจะทำงาน พี่ชายคนโตทำงานโดยที่ไม่ได้เรียนหนังสือ เพราะต้องไปช่วยแม่ทำงานเพื่อให้น้องๆได้เรียนหนังสือ และวันเสาร์-อาทิตย์ข้าพเจ้าและพี่ชายคนเล็กก็จะมาช่วยแม่ทำงาน ข้าพเจ้ายังจำได้ดีตอนนั้นข้าพเจ้ายังเด็ก ได้ไปรอแม่ที่ทำงาน แม่ทำงานถึง ตี ๑ - ๒ ข้าพเจ้าต้องนอนรอข้างๆ ที่ทำงานของแม่จนหลับไป แม่อุ้มกลับตอนไหนก็ไม่รู้ รู้สึกตัวอีกทีก็เช้าแล้ว..พอข้าพเจ้าเรียนสูงขึ้น รายได้ที่แม่หามาได้ก็ไม่พอจุนเจือครอบครัว แม่จึงต้องมาหางานทำในกรุงเทพฯ และได้ฝากข้าพเจ้าและพี่ชายไว้กับเพื่อนของแม่ แม่มาทำงานในกรุงเทพฯ เงินเดือนน้อยมาก ๓๐๐๐ บาท ทั้งๆ ที่แม่ของคนอื่นๆ ไปทำงานที่ไต้หวันได้เงินเดือนเยอะ ถ้าแม่ได้ไปไต้หวันก็คงไม่ลำบากอย่างนี้ ตอนแม่ไปกรุงเทพฯ ครั้งแรกข้าพเจ้ายังจำได้ติดตา แม่ร้องไห้....พอแม่ได้เงินเดือนก็จะส่งกลับมาให้ลูกๆ พร้อมเสื้อผ้า แม่จะเป็นคนประหยัดมาก ..แม่จะโทรศัพท์มาหาลูกๆ บ่อยมาก แต่เวลาที่โทรศัพท์มา แม่ไม่เคยบ่นว่าเหนื่อย แม่จะบอกว่า แม่มีความสุขมาก.”

ผลตอบแทนความดีของซ่างเห่าได้เริ่มบังเกิดขึ้นแล้วในวันนี้ หลิ่งหลิงจบปริญญาตรีแล้ว ท่ามกลางความยากลำบากที่ยังคงมีอยู่ เพราะทุกคนในครอบครัวยังไร้สัญชาติ แต่รัฐไทยก็ยอมรับทุกคนในครอบครัวของซ่างเห่าในสถานะของราษฎรไทยประเภทอยู่ชั่วคราว พวกเขาจึงไม่ไร้รัฐ นอกจากนั้น คณะรัฐมนตรีเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๓ ยังยอมรับให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยอนุญาตให้สถานะคนต่างด้าวที่ถูกกฎหมายและมีสิทธิอาศัยอยู่ถาวรในประเทศไทยแก่ซ่างเห่า และยอมรับรัฐมนตรีดังกล่าวให้สัญชาติไทยแก่บุตรทุกคนของซ่างเห่า วันนี้ สิ่งที่ทุกคนในครอบครัวของซ่างเห่ารอคอย ก็คือ หนังสืออนุญาตให้สถานะดังกล่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งคาดว่า จะมาถึงในไม่ช้า

วันนี้ หลิ่งหลิงมีสถานะเป็นคนสัญชาติไทยเสียแล้ว และซ่างเห่าก็มีสถานะเป็นคนต่างด้าวเข้าเมืองถูกกฎหมายและมีสิทธิอาศัยถาวรแล้ว แต่ยังไร้สัญชาติ



กรณีที่ ๕ เซาะเล้ง บุรสินสง่า

ตัวอย่างของคนเกิดนอกประเทศไทยจากบิดาและมารดาเชื้อสายจีนในกัมพูชา เป็นคนหนีภัยความตายเข้ามาในประเทศไทย เธอไร้รัฐและไร้สัญชาติ แต่เธอเป็นภริยาและมารดาของคนสัญชาติไทย


เซาะเล้ง แซ่เต้ เกิดที่เมืองพนมเปญ ประเทศกัมพูชาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ จากบิดาและมารดาซึ่งเป็นคนเชื้อสายจีน ครอบครัวของนางเซาะเล้งทำการค้าข้าวสาร ซึ่งกิจการรุ่งเรืองดี จนถือได้ว่ามีฐานะที่ไม่ลำบากเลย แต่เมื่อประเทศกัมพูชาเกิดสงครามกลางเมือง นางเซาะเล้งและครอบครัวจึงต้องหนีภัยสงครามเข้ามาในประเทศไทย เซาะเล้งมาพักอาศัยกับญาติซึ่งทำการค้าขายอยู่ที่อำเภอสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย และได้พบรักกับนายพาที บุรสินสง่า คนสัญชาติไทย เชื้อชาติจีน ซึ่งเป็นญาติกัน จนกระทั่งปี พ.ศ. ๒๕๑๗ เซาะเล้งและพาทีก็ได้แต่งงานกัน เมื่อครอบครัวถูกเสนอให้เดินทางไปลี้ภัยในประเทศฝรั่งเศส เซาะเล้งจึงตัดสินใจที่จะไม่ติดตามครอบครัวไปฝรั่งเศส ยอมรับที่จะอาศัยอยู่ในประเทศไทยอย่างซุกซ่อน เพราะไม่มีเอกสารพิสูจน์ทราบตัวบุคคลใดๆ เลย

เซาะเล้งและพาที มีบุตรด้วยกัน ๓ คน กล่าวคือ (๑) นางสาวพรพรรณ บุรสินสง่า (๒) นางสาวมนัสนันท์ บุรสินสง่า และ (๓) นายวิทยา บุรสินสง่า บุตรทุกคนมีสัญชาติไทย เฉพาะเซาะเล้งเท่านั้นที่ตกเป็น “คนไร้รัฐ”

พรพรรณบุตรสาวคนโตของเซาะเล้งเล่าถึงมารดาว่า “ปี ๒๕๑๙ ได้มีประกาศให้ผู้หนีภัยในประเทศเข้าไปอยู่ศูนย์อพยพ เพื่อลี้ภัยไปฝรั่งเศส คุณยายขอร้องให้คุณแม่ไปเข้าศูนย์อพยพด้วย แต่ขณะนั้นคุณแม่มีดิฉันซึ่งยังเล็กอยู่จึงไม่อยากทิ้งดิฉันและคุณพ่อไป จึงตัดสินใจไม่ไปฝรั่งเศส ซึ่งขณะที่ตัดสินใจนั้นท่านก็ยังไม่รู้เลยว่าชีวิตที่เมืองไทยต่อไปจะเป็นอย่างไร ดิฉันคิดว่าถ้าวันนั้นท่านจากดิฉันและคุณพ่อไปฝรั่งเศส ชีวิตของท่านคงมีความสุข และไม่ต้องทุกข์จนถึงทุกวันนี้ เพราะหลังจากที่คุณยายและน้าไปฝรั่งเศสก็พบกับชีวิตที่ดี คุณยายและน้าได้รับสัญชาติฝรั่งเศส และน้าทั้ง ๒ คน ก็ได้แต่งงานและเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่นั่น ซึ่งคุณยายและน้าได้เขียนจดหมายติดต่อกับคุณแม่มาตลอด นานๆ ครั้งคุณยายมีเวลาก็บินมาเยี่ยมคุณแม่ ในบรรดาลูกๆ ของคุณยายทั้งหมดท่านจะเป็นห่วงคุณแม่ที่สุด เพราะอยู่ไกลและท่านรู้ถึงความทุกข์ที่คุณแม่ดี ตลอดเวลาที่ผ่านมาในเมืองไทยคุณแม่กลายเป็นคนไร้รัฐ ไร้สัญชาติ อยู่แบบไม่มีตัวตน .....เมื่อครั้งที่คุณแม่ตัดสินใจที่จะอยู่เมืองไทยกับดิฉันและพ่อ ท่านคิดทำการค้าเล็กๆ เพื่อเลี้ยงลูกๆ ท่านพอมีทองเล็กๆ ที่คุณยายทิ้งไว้ให้ก่อนไปฝรั่งเศสจึงนำไปขายเพื่อนำเงินมาลงทุนค้าขาย ดิฉันจำได้อาชีพแรกเริ่มที่แม่ทำตอนอยู่เมืองไทยคือ การทำน้ำเต้าหู้ขาย ดิฉันยังจำภาพของแม่ที่นั่งโม่ถั่วเหลืองเอาไปต้มแล้วกรองด้วยผ้าขาวบาง จนตักใส่ถุงพลาสติครัดยาง แม่นำน้ำเต้าหู้ใส่กระติก ก่อนเอาไปใส่ท้ายรถจักรยานเก่าๆ แล้วนำไปขายที่ตลาด...คุณแม่เป็นคนประหยัดมัธยัสถ์ และไม่เคยกินทิ้งกินขว้าง ท่านจะกินข้าวเป็นคนสุดท้ายต่อจากปู่ ย่า พ่อ และลูกๆ....”

วันนี้ เซาะเล้งก็ยังเป็นคนไร้รัฐ แต่เรื่องของเซาะเล้งถูกร้องเข้ามาที่ศูนย์นิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายหลังจากการศึกษาถึงสาเหตุและความเป็นไปได้ในการแก้ปัญหาให้แก่เซาะเล้ง คณะทำงานจึงเริ่มต้นที่จะร้องขอให้อธิบดีกรมการปกครองพิจารณาให้สถานะ “บุคคลผู้ไม่มีสถานะทางทะเบียน” แก่เซาะเล้ง โดยอาศัยอำนาจตามข้อ ๔ แห่งระเบียบสำนักทะเบียนกลางว่าด้วยการสำรวจและจัดทำทะเบียนสำหรับบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน พ.ศ.๒๕๔๘ เพื่อให้เซาะเล้งมีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐไทยในระหว่างกระบวนการขจัดความไร้สัญชาติให้เซาะเล้ง ซึ่งอาจจะเกิดจากการพิสูจน์สัญชาติกัมพูชา หรือการร้องขอสัญชาติไทยโดยการสมรสให้แก่เซาะเล้ง คงต้องใช้ความเป็นไปได้ทางกฎหมายทุกหนทางเพื่อแก้ปัญหาความไร้รัฐให้แก่เซาะเล้ง



กรณีที่ ๖ อายุ นามเทพ

ตัวอย่างของคนเกิดนอกประเทศไทยจากบิดาและมารดาเชื้อสายกะเหรี่ยงในพม่า เป็นคนหนีภัยความตายเข้ามาในประเทศไทย เธอไร้รัฐและไร้สัญชาติ แต่เธอเป็นภริยาและมารดาของคนสัญชาติไทย


อายุ โพ เกิดเมื่อวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๘ ณ ปาพัน คอทุเรย์ ประเทศพม่า จากบิดาชื่อ ดร.ยอร์ช แมนชรา โพ และนางแอตแนส โพ ซึ่งบุคคลทั้งสองนี้เป็นคนเชื้อชาติกะเหรี่ยง และมีสัญชาติพม่า แม้เกิดในประเทศพม่า รัฐพม่าไม่เคยยอมรับความเป็นคนสัญชาติพม่าของอายุ และไม่ปรากฏว่า มีการยอมรับอายุในทะเบียนราษฎรของประเทศใดเลยในโลก

ครอบครัวของอายุได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยพร้อมกับบิดามารดาตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๙ ซึ่งในช่วงต่อมา ดร.ยอร์ช ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลไทยในสถานะ “คนอพยพลี้ภัยทางการเมือง” และได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในประเทศไทย อายุได้เข้าศึกษาชั้นประถมปีที่ ๑ – ๒ ที่โรงเรียนทองสวัสดิ์วิทยาคาร อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน และต่อมา ได้มาศึกษาในโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ จนจบมัธยมศึกษาปีที่ ๕ และจบปริญญาตรีที่วิทยาลัยพายัพเมื่อ พ.ศ.๒๕๒๑

ในวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๒๑ อาจารย์อายุได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายไทยกับนายเธียรชัย นามเทพ คนสัญชาติไทย บุคคลทั้งสองมีบุตรด้วยกัน ๒ คน กล่าวคือ (๑) นายเรมีย์ นามเทพ และ (๒) นายศิลา นามเทพ ซึ่งบุตรทั้งสองมีสัญชาติไทย นายเธียรชัยได้ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๘ อายุได้ทำงานเป็นอาจารย์ประจำภาควิชาดุริยศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลับพายัพ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๑ จนถึงปัจจุบัน รวมเป็นระยะเวลากว่า ๒๘ ปี ที่ได้สอนดนตรีให้แก่นักศึกษา และเป็นกำลังหลักทางวิชาการด้านดุริยศิลป์ของประเทศไทย จนทำให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยพายัพจำนวนมากมายได้มีอาชีพด้านดนตรีทั้งในประเทศไทยและในต่างประเทศ อาจารย์อายุในวันนี้ จึงเป็น นักดนตรีระดับโลก แต่ไร้รัฐ....

เรมีย์ได้เขียนจดหมายเมื่อวันที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๘ ถึงนายกรัฐมนตรี ฯพณฯ ทักษิณ ชินวัตรเพื่อเล่าถึงปัญหาความไร้รัฐของอาจารย์อายุว่า “ปัญหาที่แม่เป็นคนไร้สัญชาติ ได้ส่งผลกระทบถึงพวกผมในช่วงที่อายุยังไม่บรรลุนิติภาวะอยู่หลายครั้ง เช่น ตอนที่เราสองคนพี่น้องอายุ ๑๓, ๑๑ ขวบ เราเคยได้รับคัดเลือกให้เข้าในคณะนักร้องประสานเสียงสยช. ไปที่ฟิลิปปินส์ คราวนั้นเราเกือบจะไม่ได้ไปแล้ว เพราะแม่ไม่มีเอกสารยืนยันตนจากทางราชการเพื่อเซ็นรับรองเรา แต่ก็ยังโชคดีที่งานครั้งนั้น ประธานของคณะนักร้องเยาวชนไทยคือ ดร.สายสุรีย์ จุติกุล ท่านช่วยรับรองให้ แต่ต่อมา ตอนที่ผมอายุ ๑๖ ปี อาจารย์ที่สอนเปียโนผม คือ Miss Jamie Shark ได้ติดต่อให้ผมไปร่วม Music Camp สำหรับเยาวชนดนตรีที่อเมริกา แต่ก็มาติดที่ปัญหาเดิมอีก คุณแม่ไปติดต่อที่ ตม. แต่ก็กลับได้รับคำแนะนำมาว่า ให้อยู่เงียบๆ อย่างนี้ก็ดีแล้ว ขืนโวยวายเรียกร้องมากมาย พวกผมอาจจะถูกถอนสัญชาติก็ได้ แม่ก็เลยต้องกลับมาอยู่เงียบๆ อย่างที่เขาบอก เพื่อไม่ให้พวกผมเดือดร้อน แต่ความจริง ก็เดือดร้อนไปแล้ว เพราะผมก็พลาดโอกาสที่ดีในครั้งนั้นไป ผมจึงต้องหาทางออกด้วยการหาโอกาสเท่าที่จะมีได้ในเมืองไทยเท่านั้น ผมได้เข้าร่วมการแข่งขันดนตรีในประเทศไทยหลายครั้ง เคยได้แชมป์อิเลคโทนประเทศไทย ๒ ครั้งซ้อน น้องชายผมก็ตั้งวงดนตรี เคยได้รับรางวัล ที่ ๓ ของรายการ Nescafe Open Up ครั้งที่ ๒ ระดับประเทศ ปัจจุบันผมกับน้องชายก็บรรลุนิติภาวะแล้ว มีบัตรประชาชนโดยถือสัญชาติตามบิดาทั้ง ๒ คน และผ่านการเกณฑ์ทหารมาแล้ว แต่แม่ก็ยังมีปัญหาเดิมคือ เหมือนคนไร้ตัวตนอยู่ ตอนนี้คุณแม่กำลังดำเนินการเพื่อขอสัญชาติไทยอยู่ แต่ก็ติดขัดตรงที่ไม่มีใบแสดงตน ไม่อาจทำอะไรคืบหน้าได้เลย เราอยากจะตอบแทนพระคุณคุณแม่บ้างที่ได้ลำบากมาเพื่อเรามานาน จึงได้เขียนจดหมายนี้มาถึงท่านนายกฯ ......ผมอยากให้แม่ได้รับรางวัลชีวิตบ้าง เป็นของขวัญวันแม่ที่ผมและน้องอยากหาให้ที่สุดครับ”

เรื่องของอาจารย์อายุ นามเทพได้รับการศึกษาทั้งโดยศูนย์นิติศาสตร์ของทั้งคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ และของคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยหลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ประเทศไทยยอมรับ อาจารย์อายุอาจร้องขอได้ทั้งสัญชาติไทยโดยการสมรสเพราะมีสามีที่ชอบด้วยกฎหมายเป็นคนสัญชาติไทย อันทำให้อาจร้องขอสัญชาติไทยโดยการสมรสตามมาตรา ๙ แห่ง พ.ร.บ.สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ และสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติเพราะว่ามีความกลมกลืนกับสังคมไทย อันทำให้อาจร้องขอแปลงสัญชาติเป็นไทย (มาตรา ๑๒ แห่ง พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘) แต่ในปัจจุบัน เมื่อสามีของอาจารย์อายุเสียชีวิตลงแล้ว อาจารย์อายุจึงไม่อาจจะร้องขอสัญชาติไทยโดยการสมรส จึงเหลือหนทางเดียวที่อาจารย์อายุจะมีสัญชาติไทยกล่าวคือ การแปลงสัญชาติเป็นไทยเท่านั้น โดยพิจารณาคุณานูปการที่อาจารย์อายุสอนดนตรีให้แก่นักศึกษาไทยมายาวนาน อาจารย์อายุจึงมีข้อเท็จจริงที่ทำให้อาจใช้สิทธิร้องขอแปลงสัญชาติไทยภายใต้เงื่อนไขพิเศษ อาจารย์อายุจึงได้ร้องขอแปลงสัญชาติเป็นไทยภายใต้เงื่อนไขทั่วไปตามมาตรา ๑๑ แห่ง พ.ร.บ. สัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ แต่อย่างไรก็ตาม อำนาจในการอนุญาตให้สัญชาติไทยเป็นอำนาจดุลพินิจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยนั้น

ในวันนี้ อาจารย์อายุได้ดำเนินการร้องขอแปลงสัญชาติเป็นไทยในกรณีพิเศษให้แก่อาจารย์อายุจนแล้วเสร็จทุกขั้นตอนแล้ว และได้รับความเห็นชอบมาแล้วทุกขั้นตอน รออยู่แต่เพียงหนังสืออนุญาตให้แปลงสัญชาติของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อาจารย์อายุได้แต่หวังว่า ๕๐ ปีของความไร้รัฐจะสิ้นสุดลงใน พ.ศ.๒๕๔๙ หากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยจะรักษาความมั่นสัญญาที่ท่านให้แก่ครูสอนดนตรีคนหนึ่งในวันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๔๙

แต่วันนี้ อาจารย์อายุมีสถานะเป็นคนต่างด้าวในทะเบียนประวัติประเภท ท.ร.๓๘ ข. ตามกฎหมายไทย เธอจึงไม่ไร้รัฐ แต่ยังไร้สัญชาติ ยังเป็นคนต่างด้าวที่มีลักษณะการเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย และไม่มีสิทธิอาศัยในประเทศไทย ยังคงสอนดนตรีแก่เยาวชนไทย และยังเดินทางเพื่อแสดงดนตรีทั้งในและนอกประเทศไทย และทุกครั้งที่ปรากฏตัวนอกประเทศไทย ก็จะเดินทางออกไปจากประเทศไทยอย่างถูกกฎหมาย และเป็นคนที่เข้าเมืองถูกกฎหมายของรัฐต่างประเทศนั้นๆ และเมื่อกลับมาประเทศไทย ก็จะมีสถานะเป็นคนผิดกฎหมายไทยเหมือนที่เคยเป็นมาตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๒



กรณีที่ ๗ นางสาวศรีนวล เสาร์คำนวล

ตัวอย่างของคนเกิดในประเทศไทยจากบิดาและมารดาเชื้อสายไทยใหญ่ในพม่า เธอไม่ไร้รัฐเพราะได้รับบันทึกชื่อในทะเบียนบ้านตามกฎหมาย ประเภท ท.ร.๑๓ แต่ยังไร้สัญชาติ


ศูนย์พัฒนาการศึกษาเพื่อลูกหญิงและชุมชน ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในจังหวัดเชียงราย ได้ร้องขอความช่วยเหลือทางกฎหมายให้แก่ครอบครัวเสาร์คำนวลที่ประสบความไร้สัญชาติมายังคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

ปรากฏตามทะเบียนประวัติชุมชนบนพื้นที่สูงตามแผนแม่บทฯฉบับที่ ๒ ออกให้โดยสำนักทะเบียนอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงรายว่า นางแสง เสาร์คำนวล เกิด ณ เมืองเชียงตุง ประเทศพม่า จากคนในชาติพันธุ์ไทยใหญ่ เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๘

นางแสงได้สมรสกับนายหนุ่มในประเทศพม่า และมีบุตรด้วยกัน ๓ คน คือ (๑) นางสาวนาง ซึ่งเกิดใน พ.ศ.๒๕๒๒ (๒) นางบัวคำ ซึ่งเกิดใน พ.ศ.๒๕๒๗ และ (๓) นางสาวจันแสง ซึ่งเกิดใน พ.ศ.๒๕๒๘

ต่อมา นางแสงและนายหนุ่ม รวมถึงบุตรทั้งสามได้อพยพเข้ามาจากประเทศพม่า เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ และเข้ามาอาศัยอยู่ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

ใน พ.ศ.๒๕๓๑ นางแสงตั้งท้องบุตรสาวอีก ๑ คน ซึ่ง กล่าวคือ นางสาวศรีนวล แต่ยังไม่ทันที่จะคลอดบุตร นางแสงได้แยกทางกับนายหนุ่ม เพราะนายหนุ่มทำร้ายร่างกายนางแสง และลูก ๆ เนื่องจากนายหนุ่มชอบดื่มสุรา และมีพฤติกรรมชอบเที่ยวกลางคืน เมื่อมีอาการเมา ก็จะทะเลาะตบตีภริยาและบุตร หลังจากนางแสงได้แยกทางกับนายหนุ่ม นางอามจึงพานางแสง และบุตรทั้งสามมาอาศัยอยู่ที่สวนลิ้นจี่ของนายแสงในหมู่บ้านสันเกล็ดทอง นางแสงได้คลอดนางสาวศรีนวลที่ในสวนลิ้นจี่ของนายแสง ที่บ้านสันเกล็ดทอง ซึ่งนางบัวใข ปันปิน สัญชาติไทย อายุ ๖๖ ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในหมู่บ้านสันเกล็ดทอง ตำบลโป่งงาม อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ได้ยอมตนเป็นพยานบุคคลเพื่อรับรองว่า นางแสงได้ให้กำเนิดนางสาวศรีนวลในสวนลิ้นจี่ของนายแสง ที่บ้านสันเกล็ดทองจริง แต่ก็ยังไม่มีการทำหนังสือรับรองการเกิดตามกฎหมายไทยให้แก่นางสาวศรีนวล

ส่วนนายหนุ่มได้มาทำงานรับจ้างอยู่ที่สวนลิ้นจี่ที่บ้านน้ำจำ อำเภอแม่สาย แล้วได้เสียชีวิตที่โรงพยาบาลแม่สายในเวลาต่อมา กล่าวคือ ประมาณ ๔ – ๕ ปีหลังจากการเกิดของนางสาวศรีนวล

ในส่วนนางแสงได้ไปอยู่กินกับนายแก้ว ซึ่งเป็นสามีคนปัจจุบันของนางแสง

ใน พ.ศ.๒๕๔๒ เมื่อรัฐบาลไทยมีนโยบายให้สำรวจคนไร้รัฐบนพื้นที่สูงเพื่อบันทึกในทะเบียนประวัติชุมชนบนพื้นที่สูงตามแผนแม่บทฯ ฉบับที่ ๒ นายแก้ว นางแสง นางสาวนาง นางบัวคำ และนางสาวจันแสงได้ไปแสดงตนเพื่อให้สำนักทะเบียนอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย บันทึกรายการสถานะบุคคลในทะเบียนประวัติดังกล่าว แต่มิได้นำนางสาวศรีนวลซึ่งในขณะนั้น มีอายุเพียง ๓ ปีไปแสดงตนด้วย นางสาวศรีนวลจึงไม่มีชื่อในทะเบียนประวัติตามกฎหมายทะเบียนราษฎร

นอกจากนั้น แบบพิมพ์ทะเบียนประวัติที่บันทึกชื่อของนายแก้วและนางแสง รวมถึงบุตรอีก ๓ คน ยกเว้นนางสาวศรีนวลนี้ ระบุว่า บุคคลทั้งหมดเข้ามาในประเทศไทยเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๔ จึงเกิดข้อสันนิษฐานจากทางราชการว่า นางสาวศรีนวลน่าจะเกิดนอกประเทศไทย เพราะเมื่อนางแสงผู้เป็นมารดาเข้ามาเมื่อ พ.ศ.๒๕๓๔ จึงไม่มีโอกาสให้กำเนิดนางสาวศรีนวลในประเทศไทยใน พ.ศ.๒๕๓๑ แต่อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา นางสาวศรีนวลก็ได้รับการเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐไทย

ปัจจุบัน นายแก้วและนางแสง ตลอดจนบุตรของนางแสงทุกคนถือบัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยออกเมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ๒๕๕๐ ซึ่งหมายความว่า บุคคลทั้งหมดมีสถานะเป็นคนต่างด้าวที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่มีสิทธิอาศัยชั่วคราวในประเทศไทย นายแก้วและนางแสง ประกอบอาชีพค้าขายข้าวแรมฟืน และข้าวซอยน้อย

ต่อมา ใน พ.ศ.๒๕๕๐ นางสาวศรีนวล เสาร์คำนวล ได้รับการสนับสนุนทุนการศึกษาในระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิล ประเทศสหรัฐอเมริกาให้ไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา มีกำหนดระยะเวลาโดยประมาณ ๕ ปี