สงครามการค้า

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 13:57, 1 มิถุนายน 2565 โดย Trikao (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " '''ผู้เรียบเรียง :''' รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต '''ผู้ทร...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์ ดร.ไชยวัฒน์ ค้ำชู

 

สงครามการค้า

          สงครามการค้ามีได้หลายระดับ ทั้งระดับในประเทศและระดับระหว่างประเทศ แต่ที่สงครามการค้าได้กลายมาเป็นประเด็นที่ผู้คนจำนวนมากให้ความสนใจในปัจจุบัน คือ สงครามการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน สงครามการค้า (ระหว่างประเทศ) กล่าวได้ว่าเป็นความขัดแย้งในทางเศรษฐกิจขั้นรุนแรงระหว่างประเทศที่เป็นคู่ค้า มีการตอบโต้กันไปมาด้วยมาตรการต่าง ๆ เพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งยอมตามหรือยอมรับเงื่อนไขที่ฝ่ายตนเรียกร้อง เช่น การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า มาตรการจำกัดปริมาณการนำเข้าสินค้า การห้ามนำเข้าสินค้า การปิดล้อม (embargo) การไม่คบค้า (decoupling) การทุ่มตลาด (dumping) และในหลายกรณีสงครามการค้าได้ลุกลามกลายเป็นสงครามที่ต่อสู้กันด้วยอาวุธ

          ตามประวัติศาสตร์โลกสงครามการค้าระหว่างประเทศเคยเกิดขึ้นหลายครั้ง ในยุคที่ประเทศตะวันตกแข่งขันกันล่าอานานิคมและแข่งขันกันในทางการค้าในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17-18 ส่งผลให้ประเทศจักรวรรดินิยมบางประเทศพยายามผูกขาดการค้าโดยปิดกันโอกาสของประเทศคู่แข่งอื่น รวมถึงการปิดล้อมช่องทางการค้า การแย่งพื้นที่การประมง การพยายามตัดโอกาสประเทศอื่น เช่นนี้ เป็นสาเหตุของของสงครามระหว่างประเทศเนเธอร์แลนด์กับประเทศอังกฤษถึง 4 ครั้ง ระหว่าง 1652-1784[1]

          รัฐบัญญัติ Smoot-Hawley Tariff (1930) ของสหรัฐอเมริกา บังคับใช้มาตรการขึ้นภาษีสินค้านำเข้ากว่า 20,000 รายการ ผลของการประกาศใช้รัฐบัญญัติดังกล่าวทำให้เกิดสงครามการค้า ประเทศคู่ค้าตอบโต้สหรัฐอเมริกาด้วยมาตรการในลักษณะเดียวกัน ส่งผลให้การนำเข้าและส่งออกของสหรัฐอเมริกาในช่วงของเศรษฐกิจตกต่ำลดลงถึง ร้อยละ 67 [2]

          สงครามการค้า อังกฤษ-ไอริช เป็นสงครามการค้าโต้ตอบกันที่เกิดขึ้นระหว่าง ปี 1932-1938 สาเหตุหลักมาจากรัฐบาลไอริชปฏิเสธที่จะจ่ายเงินชดเชยรายปีให้กับรัฐบาลอังกฤษต่อไปที่เกิดจากการกู้เงินของเกษตรกรเช่าที่ทำกินชาวไอริช เพื่อใช้ในการซื้อที่ดินตามกฎหมายของประเทศไอร์แลนด์ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาระหว่างอังกฤษกับไอร์แลนด์ ค.ศ. 1921 (ปีที่ประเทศไอร์แลนด์ประกาศแยกตัวจากสหราชอาณาจักรเป็นประเทศเอกราช) ผลของความขัดแย้งดังกล่าว ต่างฝ่ายต่างจำกัดการค้าระหว่างกัน แต่ผลที่เกิดตามมาทำความเสียหายอย่างรุนแรงให้แก่ประเทศ ไอร์แลนด์[3] 

          สงครามการค้ารายล่าสุดเป็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะจีน ซึ่งสหรัฐฯ เสียเปรียบดุลการค้าในแต่ละปีมีปริมาณสูงมาก และสหรัฐอเมริกากลัวว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนอย่างต่อเนื่องจะทำให้สถานภาพความเป็นมหาอำนาจ อันดับ 1 ของสหรัฐอเมริกาตกต่ำลง ซึ่งสหรัฐอเมริกายอมรับไม่ได้ ในปัจจุบัน แม้สหรัฐอเมริกาจะยังคงมีขนาดเศรษฐกิจตามตัวเลขใหญ่เป็น อันดับ 1 ของโลก แต่ถ้าคำนวณผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ โดยเทียบตามอำนาจการซื้อจีนแซงหน้าสหรัฐอเมริกาไปเรียบร้อยแล้วตั้งแต่ ปี 2014 ยิ่งกว่านี้ จีนยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง 

          ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2017 เมื่อ โดนัล ทรัมป์ เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจึงเริ่มทำสงครามการค้ากับประเทศคู่ค้า โดยใช้กฎหมายเป็นข้ออ้างในการก่อสงครามการค้า เช่น กล่าวอ้างว่าการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศทำความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมของประเทศหรือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง
ของประเทศ และตามด้วยการประกาศขึ้นภาษี และ/หรือ จำกัดปริมาณการนำเข้า ส่งผลให้ประเทศคู่ค้าตอบโต้มาตรการทางการค้าของสหรัฐฯด้วยมาตรการในลักษณะเดียวกัน สงครามการค้าที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้เริ่มต้นในสมัย โดนัล ทรัมป์ มี 3 กรณี ดังต่อไปนี้ 

          กรณีที่ 1 อ้างการนำเข้าแผงโซล่าและเครื่องซักผ้าทำความเสียหายให้กับอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ

          กรณีที่ 2 อ้างเหล็กและอลูมิเนียมเป็นภัยคุกตามต่อความมั่นคงของประเทศ

          กรณีที่ 3 อ้างการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมในเรื่องเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญา[4]

          สงครามการค้ากรณีที่ 1'รัฐบาลสหรัฐฯ อ้างว่าการนำเข้าแผงโซลาและเครื่องซักผ้าทำความเสียหายให้แก่อุตสาหกรรมของสหรัฐฯ และคณะกรรมการการค้าระหว่างประเทศสหรัฐฯเสนอแนะมาตรการเยียวยาเรื่องการนำเข้าแผงโซลา (วันที่ 31 ตุลาคม 2017) และเรื่องการนำเข้าเครื่องซักผ้า (วันที่ 21 พฤศจิกายน 2017) โดยเสนอให้ประธานาธิบดีบังคับใช้มาตรการคุ้มครองจำกัดการนำเข้าจากทั่วโลก (global safeguard restrictions) มาตรการตอบโต้ระหว่างประเทศคู่ค้ามีดังนี้

          สหรัฐฯ วันที่ 22 มกราคม 2018 ทรัมป์อนุมัติมาตรการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศด้วยการเก็บภาษีนำเข้าแผงโซลามูลค่า 8.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ และเครื่องซักผ้านำเข้ามูลค่า 1.5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

          จีนตอบโต้โดย วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2018 สอบสวนการส่งออกข้าวฟ่างของสหรัฐฯ รัฐบาลจีน ทำการสอบสวนเกี่ยวกับการต่อต้านการทุ่มตลาดและภาษีตอบโต้มูลค่าราว 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในการส่งออกข้าวฟ่างของสหรัฐ เรื่องนี้แม้จะไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเก็บภาษีแผงโซลาและเครื่องซักผ้าของทรัมป์ แต่กล่าวได้ว่าเป็นการตอบโต้ต่อมาตรการคุ้มครองของสหรัฐฯ ในสมัยรัฐบาลโอบามาที่เก็บภาษียางรถยนต์ใน ปี 2009 ต่อมาในวันที่ 17 เมษายน 2018 รัฐบาลจีนประกาศเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาดในขั้นแรก 178.6 เปอร์เซ็นต์ ต่อข้าวฟ่างที่นำเข้าจากสหรัฐอเมริกา

          จีนในระหว่างการเจรจาเพื่อแก้ไขข้อขัดแย้ง กระทรวงพาณิชย์จีนประกาศยุติการเก็บภาษีข้าวฟ่างสหรัฐ เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2018

          จีนโดยกระทรวงพาณิชย์ยื่นฟ้องต่อองค์การค้าโลกโต้แย้งกรณีสหรัฐฯเก็บภาษีแผงโซลา เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2018 โดยอ้างว่าเป็นการทำความเสียหายให้กับผลประโยชน์ทางการค้าของจีน

          สงครามการค้ากรณีที่ 2 รัฐบาลสหรัฐฯ อ้างว่าเหล็กและอลูมิเนียมเป็นภัยคุกคามความมั่นคงของประเทศ การสอบสวนเริ่มต้นขึ้น เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2017 ทรัมป์ได้สั่งให้ Wilbur Ross รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ สอบสวนเรื่องการนำเข้าเหล็ก (20 เมษายน) และอลูมิเนียม (27 เมษายน) ว่าเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของประเทศ ตามมาตรา 232 ของรัฐบัญญัติว่าด้วยการขยายการค้า ค.ศ. 1962 หรือไม่ ต่อมาในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2018 กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ แถลงผลการสอบสวนว่าผลิตภัณฑ์เหล็กและอลูมิเนียมคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ ตามมาตรา 232 ของกฎหมายว่าด้วยการขยายการค้า ค.ศ. 1962 ซึ่งไม่ค่อยได้มีการใช้บังคับมาก่อน และนี่เป็นการส่งสัญญาณให้ประชาชนรู้ว่าเหล็กและอลูมิเนียมมีแนวโน้มจะถูกเก็บภาษี

          วันที่ 1 มีนาคม ค.ศ. 2018 ทรัมป์ ประกาศการเก็บภาษีที่จะเกิดขึ้นต่อคู่ค้าทั้งหลายรวมทั้งจีน โดยจะเก็บภาษี ร้อยละ 25 สำหรับเหล็ก และ ร้อยละ 10 สำหรับอลูมิเนียม ด้วยเหตุผลเรื่องความมั่นคงของประเทศ การเก็บภาษีนี้จะมีผลบังคับใช้ไม่เพียงเท่าที่กระทรวงพาณิชย์เสนอแนะไว้ แต่จะครอบคลุมไปถึงการนำเข้าเหล็กและอลูมิเนียมมูลค่าประมาณ 4.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศพันธมิตร เช่น แคนาดา สหภาพยุโรป เม็กซิโก เกาหลีใต้ มีเพียง ร้อยละ 6 ของการนำเข้าเท่านั้นที่มาจากจีน ทั้งนี้ เนื่องจากก่อนหน้านี้จีนต้องประสบกับมาตรการต่อต้านการทุ่มตลาดและการเก็บภาษีตอบโต้ (countervailing duty)

          วันที่ 2 เมษายน ปี 2018 จีนโต้ตอบสหรัฐฯโดยขึ้นภาษีเศษอลูมิเนียม เนื้อหมู ผลไม้และถั่ว และผลิตภัณฑ์อื่นของสหรัฐ มูลค่า 2.4 พันล้านเหรียญสหรัฐฯของมูลค่าการส่งออกของสหรัฐฯ ปี 2017

          วันที่ 16 กรกฎาคม ปี 2018 รัฐบาลสหรัฐฯโดยตัวแทนการค้าโต้แย้งข้อกล่าวหาของแคนาดา จีน สหภาพยุโรป เม็กซิโก และตุรกี ต่อองค์การค้าโลก โดยอ้างว่าการเรียกเก็บภาษีเหล็กและอลูมิเนียมเพื่อปกป้องผลประโยชน์ในด้านความมั่นคงของประเทศ

          วันที่ 24 กรกฎาคม ปี 2018  รัฐบาลอเมริกันประกาศที่จะให้เงินอุดหนุนแก่เกษตรกรอเมริกัน จำนวน 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากผลของการส่งออกที่มีปริมาณลดลง โดยถูกกระทบมาก 27,000 ล้านเหรียญสหรัฐ

          วันที่ 24 มกราคม ปี 2020 ทรัมป์เพิ่มประเภทผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเหล็กและอลูมิเนียมที่ต้องเสียภาษีในวงเงินมากถึง 450 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อนำเงินส่วนนี้ไปช่วยอุตสาหกรรมที่ถูกกระทบจากการขึ้นภาษีก่อนหน้านี้

          สงครามการค้ากรณีที่ 3 รัฐบาลสหรัฐฯ อ้างการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมในเรื่องเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญา ในประเด็นนี้พุ่งเป้าไปที่ประเทศจีนโดยเฉพาะว่าบังคับคู่ค้าให้ต้องถ่ายทอดเทคโนโลยี และละเมิดสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา การก่อสงครามเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 18 สิงหาคม 2017 โดยผู้แทนทางการค้าสหรัฐฯ นาย Robert E. Lighthizer เป็นฝ่ายริเริ่มสอบสวนประเทศจีน ตามรัฐบัญญัติว่าด้วยการค้า ค.ศ. 1974 มาตรา 301 หลังจากได้รับบันทึกจากนายทรัมป์ให้ดำเนินการสอบสวนว่ากฎหมาย นโยบาย การปฏิบัติ หรือการกระทำใดของประเทศจีนที่อาจไม่เป็นธรรมหรือเลือกปฏิบัติที่อาจก่อเกิดความเสียหายแก่สิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญา นวัตกรรม หรือการพัฒนาทางเทคโนโลยีของสหรัฐฯ

          วันที่ 22 มีนาคม ค.ศ. 2018 นายทรัมป์ เปิดเผยผลการรายงานว่าประเทศจีนมีการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมทางด้านการค้าที่เกี่ยวกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี ทรัพย์สินทางปัญญา และนวัตกรรม ภายใต้บังคับรัฐบัญญัติว่าด้วยการค้า ค.ศ. 1974 มาตรา 301 ทรัมป์กล่าวว่าจะต้องมีการเก็บภาษีผลิตภัณฑ์จากประเทศจีนเพื่อเป็นการเยียวยา มูลค่ามากถึง 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งองค์การค้าโลกมีข้อโต้แย้ง

          วันที่ 3 เมษายน 2018 สหรัฐฯ ขู่ว่ากำลังพิจารณาจะเก็บภาษี ร้อยละ 25 สำหรับผลิตภัณฑ์จีน 1,333 รายการ มูลค่า 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ผลิตภัณฑ์หลักนำเข้าสหรัฐฯ ที่จะถูกกระทบ ได้แก่ เครื่องจักร เครื่องมือช่าง อุปกรณ์ไฟฟ้า เป็นต้น

          วันที่ 4 เมษายน 2018 รัฐบาลจีนขู่ที่จะตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษี ร้อยละ 25 กับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ 106 รายการ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าประเภทเครื่องบิน รถยนต์ ผลิตผลทางการเกษตร โดยเฉพาะถั่วเหลืองมูลค่า 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

          วันที่ 5 เมษายน 2018 สหรัฐฯ แจ้งเจ้าหน้าที่ด้านการค้าให้พิจารณารายการสินค้าเพิ่มเติมมูลค่า 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐที่นำเข้าสหรัฐฯ จากประเทศจีนควรอยู่ในข่ายที่จะต้องเสียภาษีอัตรา ร้อยละ 25

          วันที่ 15 มิถุนายน 2018 รัฐบาลสหรัฐแก้ไขบัญชีรายการสินค้านำเข้าจากประเทศจีนที่จะถูกเก็บภาษี ร้อยละ 25 มูลค่า 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในเมื่อสหรัฐฯ แก้ไขบัญชีรายการภาษี จีนก็ดำเนินการแก้ไขรายการสินค้านำเข้าจากสหรัฐที่จะต้องเสียภาษี ร้อยละ 25 เช่นกัน  

          วันที่ 6 กรกฎาคม 2018 สหรัฐประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีน มูลค่า 340,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จีนตอบโต้ด้วยการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐในอัตราและจำนวนมูลค่าที่เท่ากัน[5]

          วันที่ 10 กรกฎาคม 2018 ตัวแทนการค้าสหรัฐประกาศที่จะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ในอัตรา ร้อยละ 10 

          วันที่ 20 กรกาคม 2018 ทรัมป์ขู่ที่จะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนทั้งหมด ซึ่งมีมูลค่า 5.04 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

          วันที่ 24 กรกฎาคม 2018 รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศจะจ่ายเงินอุดหนุนแก่เกษตรกรสหรัฐฯ ที่ถูกกระทบจากมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของรัฐบาล จำนวน 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ เนื่องจากการส่งออกตกต่ำ

          วันที่ 1 สิงหาคม 2018 ทรัมป์แถลงว่าต้องการเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศจีนในอัตรา ร้อยละ 25 ไม่ใช่ ร้อยละ 10 

          วันที่ 3 สิงหาคม 2018 รัฐบาลจีนประกาศว่าจะเพิ่มภาษีขึ้น ร้อยละ 5-25 กับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ

          วันที่ 7 สิงหาคม 2018 ตัวแทนการค้าสหรัฐฯ มีมติขั้นสุดท้ายในการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนรอบ 2 โดยมีการแก้ไขรายการสินค้าที่ถูกจัดเก็บภาษี ร้อยละ 25 มีมูลค่าลดจาก 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐเหลือ 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 23 สิงหาคม 2018 เป็นต้นไป

          วันที่ 8 สิงหาคม 2018 รัฐบาลจีนแก้ไขรายการสินค้ามูลค่า 5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐที่จะเก็บภาษีอัตรา ร้อยละ 25 จากสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ลดลงเหลื่อ 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐเช่นกัน โดยตัดรายการน้ำมันดิบออกไป

          วันที่ 13 สิงหาคม 2018 ทรัมป์ลงนามในร่างรัฐบัญญัติให้อำนาจในด้านการป้องกันประเทศของ จอห์น เอส. แมคแคน สำหรับปีงบประมาณ 2019 (the John S. McCain National Defense Authorization Act for Fiscal Year 2019) เป็นกฎหมาย โดยมีสาระสำคัญ 2 ประการ คือ ให้ติดตามการลงทุนของต่างประเทศในสหรัฐฯ และการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ต่างประเทศ

          วันที่ 23 สิงหาคม 2018 ทั้งสหรัฐฯ และจีนบังคับใช้มาตรการการเก็บภาษีนำเข้าในรอบ 2 มูลค่าสินค้า 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐของแต่ละฝ่าย

          วันที่ 17 กันยายน 2018 ทรัมป์ตัดสินใจขั้นสุดท้ายในบัญชีรายการสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ที่จะถูกเก็บภาษีอัตรา ร้อยละ 10  เริ่มในวันที่ 24 กันยายน 2018 และอัตราจะสูงขึ้นเป็น ร้อยละ 25 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2019 เป็นต้นไป

          วันที่ 18 กันยายน 2018 รัฐบาลจีนประกาศแผนจะเก็บภาษีกับสินค้าส่งออกมาจีนของสหรัฐมูลค่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หากสหรัฐฯเดินหน้าตามที่ได้แถลงไว้เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่าจะเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

          วันที่ 24 กันยายน 2018 ช่วงที่ 2 ของการเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 2 แสน ล้านเหรียญสหรัฐเริ่มมีผลบังคับใช้ ในเวลาเดียวกันรัฐบาลจีนก็บังคับใช้มาตรการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐมูลค่า 6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ

          วันที่ 1 ธันวาคม 2018 ผู้นำสหรัฐฯและผู้นำจีนตกลงกันในโอกาสพบปะกันที่บัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ที่จะยุติการเพิ่มความร้อนแรงของการขึ้นภาษีที่กำหนดจะบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2019 โดยจะเจรจาหารือกันในประเด็นการค้าที่เป็นข้อกังวล

          วันที่ 5 พฤษภาคม 2019 ทรัมป์ขู่ว่าจะนำแผนการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนตามที่ได้แถลงไว้มาใช้บังคับ เนื่องจากการเจรจา 2 ฝ่าย ล้มเหลว

          วันที่ 10 พฤษภาคม 2019 สินค้านำเข้าจากจีนที่ถูกเก็บภาษี ร้อยละ 10 ถูกเพิ่มเป็น ร้อยละ 25

          วันที่ 1 มิถุนายน 2019 จีนขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ตอบโต้การขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนของสหรัฐฯ

          วันที่ 1 สิงหาคม 2019 สหรัฐฯประกาศขึ้นภาษีกับสินค้าประเภทของเล่นเด็ก รองเท้า เสื้อผ้า นำเข้าจากจีน แต่เก็บในตรา ร้อยละ 10 ไม่ใช่ ร้อยละ 25

          วันที่ 13 สิงหาคม 2019 ทรัมป์วางแผนจะผลักดันการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนอีก 2 ระลอกในช่วงฤดูใบไม้ผลิ ระลอกแรกเริ่ม วันที่ 1 กันยายน 2019 ระลอกที่ 2 เริ่มวันที่ 15 ธันวาคม 2019

          วันที่ 23 สิงหาคม 2019 จีนตอบโต้ด้วยแผนการที่จะเก็บภาษีสินค้าส่งออกของสหรัฐฯมาจีน มูลค่า 7.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ โดยเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน และ 15 ธันวาคม 2019 ตามลำดับ โดยเพิ่มอัตราภาษีจาก ร้อยละ 12.6 เป็น 42.6 ในวันเดียวกัน ทรัมป์ ประกาศว่าอัตราภาษีที่จะเก็บจากสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 1.6 แสนล้านเหรียญสหรัฐเริ่มในวันที่ 1 กันยายน 2019 จะเป็น ร้อยละ 15 ไม่ใช่ ร้อยละ 10 และสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐที่จะเริ่มเก็บภาษีในวันที่ 15 ธันวาคม 2019 จะไม่ใช่ ร้อยละ 25 แต่จะเป็น ร้อยละ 30

          วันที่ 11 กันยายน 2019 รัฐบาลจีนถอนรายการสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ 16 รายการที่จัดเก็บภาษีตอบโต้ในปี 2018 มูลค่าน้อยกว่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในวันเดียวกันทรัมป์แถลงว่าจะเลื่อนการขึ้นภาษีรายการสินค้านำเข้าจากจีน มูลค่า 2.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐจาก ร้อยละ 25 เป็น ร้อยละ 30 จากวันที่ 1 ตุลาคม เป็นวันที่ 15 ตุลาคม 2019

          วันที่ 11 ตุลาคม 2019 ทรัมป์ยกเลิกแผนการขึ้นภาษีนำเข้าเดือนตุลาคม 2019 โดยบอกว่าจะมีการลงนามในข้อตกลงระยะที่ 1 กับประเทศจีน

          วันที่ 13 ธันวาคม 2019 ทรัมป์ยกเลิกการขึ้นภาษีในเดือนธันวาคม 2019 โดยคาดการณ์ว่าจะมีการลงนามในข้อตกลงทางการค้ากับฝ่ายจีน

          วันที่ 15 มกราคม 2020 ผู้นำ 2 ฝ่ายลงนามในข้อตกลง ประเทศจีนตกลงที่จะซื้อสินค้าจากสหรัฐฯเพิ่มขึ้นในมูลค่า 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ โดยที่การเก็บภาษีสินค้านำเข้าจาก 2 ฝ่ายยังคงอยู่ แต่ไม่มีการกล่าวถึงการอุดหนุนของรัฐบาลจีนที่ให้กับบริษัทของจีน และรัฐวิสาหกิจของจีน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่สหรัฐฯต้องการให้แก้ไข

          วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2020 ข้อตกลงระยะแรกเริ่มมีผลบังคับ การซื้อสินค้าสหรัฐของจีนตกเป็นภาระหนักของรัฐวิสาหกิจของจีน

          วันที่ 13 มีนาคม 2020 ภาษีที่จัดเก็บกับสินค้านำเข้าจากจีนมีผลให้คนในสหรัฐลดการซื้อสินค้านำเข้าจากจีน มีผลต่อการขาดแคลนเวชภัณฑ์และอุปกรณ์ที่ใช้รักษาโรคโควิด-19 ผลการวิจัยพบว่า การเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากจีน ร้อยละ 25 ส่งผลกระทบทำให้การซื้อสินค้าจีนในตลาดสหรัฐฯ ลดลง ร้อยละ 16 เมื่อเทียบกับการบริโภคสินค้าใน ปี 2017-2019 ในขณะที่การนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นเพิ่มขึ้นไม่เท่ากับส่วนที่ลดลงจากการนำเข้าจากจีน

          วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2021 สรุปยอดประเทศจีนนำเข้าสินค้าจากสหรัฐใน ปี 2020 มูลค่า 1.72 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับ ร้อยละ 51 ของจำนวนมูลค่าที่ตกลงกันไว้ ทั้งนี้ ปัญหาเป็นผลมาจากราคาน้ำมันที่จีนนำเข้าจากสหรัฐฯราคาลดลงเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 และเครื่องบินที่ผลิตในสหรัฐฯมีปัญหาเรื่องความปลอดภัยส่งออกไม่ได้[6]

          ผลของสงครามการค้าสหรัฐกับจีนทำให้สหรัฐฯขาดดุลการค้ากับจีนลดลงจากที่เคยขาดดุลใน ปี 2018 จำนวน 419,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ใน ปี 2019 ขาดดุลลดลงเหลือ 345,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่สหรัฐฯต้องนำเข้าจากประเทศอื่นเพิ่มขึ้น ในส่วนของราคาสินค้าผู้ประกอบการฝ่ายจีนที่ส่งสินค้าไปสหรัฐฯมิได้ลดราคาสินค้าลง มีผลให้ผู้บริโภคสหรัฐต้องซื้อสินค้านำเข้าจากจีนในราคาที่สูงขึ้น ช่วงก่อนเกิดสงครามการค้าสหรัฐ-จีน สหรัฐฯนำเข้าสินค้าจากจีนปีละราว ร้อยละ 23 ของมูลค่าสินค้านำเข้าทั้งหมด หรือเท่ากับมูลค่าที่นำเข้าจากแคนนาดาและเม็กซิโกรวมกัน[7]

          ออกซ์ฟอร์ด อีโคโนมิคส์ หน่วยงานด้านพยากรณ์และวิเคราะห์เศรษฐกิจโลกเชิงปริมาณ แถลงว่าหากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ทำให้เกิดการแยกระบบการผลิตอย่างมีนัยสำคัญจะทำให้จีดีพีของจีนภายใน 5 ปีข้างหน้า ลดลงถึง 1.6 ล้านล้านดอลลาร์ ตำแหน่งงานใน ปี 2025 จะลดลงสะสมถึง 1 ล้านอัตรา[8] ในขณะที่ผลการสำรวจประจำปีของสภาธุรกิจสหรัฐฯ-จีน ที่มีบริษัทธุรกิจสหรัฐฯ 220 บริษัทเป็นสมาชิก รายงานว่าใน ปี 2019 ร้อยละ 97 ของบริษัทอเมริกันในจีนมีผลกำไรเพิ่มขึ้น การสำรวจยังพบว่า ร้อยละ 81 ของผู้ตอบคำถามให้ความเห็นว่า สงครามการค้าทำความเสียหายให้กับบริษัทสหรัฐฯในจีน ร้อยละ 68 ของผู้ตอบบอกว่าจีนยังเป็นตลาดสำคัญ 1 ใน 5 อันดับแรกของบริษัท [9]

          ในด้านผลกระทบที่มีต่อเศรษฐกิจไทย ในระยะสั้นสินค้าที่จะได้รับผลกระทบส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่ผู้ผลิตในประเทศไทยส่งออกไปสนับสนุนการผลิตในระเทศจีน ได้แก่ สินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ แผงวงจร ผลกระทบทางอ้อม การลงทุนไม่สดใส เศรษฐกิจชะลอตัว การเติบโตทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มจะลดลง[10] ในปัจจุบันแม้ทรัมป์จะพ้นจากตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐไปแล้ว แต่นโยบายทางเศรษฐกิจของประธานาธิบดีคนใหม่ โจ ไบเดน ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ยังสืบทอดนโยบายปกป้องการค้า รัฐบาลสหรัฐฯมีนโยบายจับตามองประเทศที่ได้เปรียบดุลการค้าสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงประเทศไทย และล่าสุดได้ออกนโยบาย “ซื้อสินค้าอเมริกัน” (Buy American Rules) ที่ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนสินค้าที่มีผลิตในประเทศ ภายใต้กฎที่ว่าผู้ประกอบการที่ต้องการขายสินค้าให้สหรัฐอเมริกาต้องผลิตสินค้าในสหรัฐฯ[11] ที่รัฐบาลสหรัฐฯมีนโยบายเช่นนี้ เพราะต้องการดึงผู้ประกอบการด้านอุตสาหกรรมให้กลับมาสนใจสร้างโรงงานในสหรัฐฯ เพื่อทำให้คนในสหรัฐฯมีงานทำมีรายได้มากขึ้น

 

บรรณานุกรม

“Anglo-Dutch Wars” https://en.m.wikipedia.org.wiki (11/07/2564)

“Smoot-Hawley Tariff Act of 1930” https://en.m.wikipedia.org.wiki (11/07/2564)

Anglo-Irish trade war, en.m.wekipedia.org (25/06/2021)

Chad P. Bown and Malina Kolb, “Trump’s Trade War Timeline: An Up-to-Date Guide” (Peterson Institute for International Economics, May 17, 2021)

”Survey shows U.S. companies still value Chinese market amid trade tension” CGTN 30   August  2019, news.cgtn.com (27/07/2021)

“สงครามการค้าสหรัฐ-จีนกัลป์กระทบต่อเศรษฐกิจไทย” กรุงเทพธุรกิจ 25 กรกฎาคม 2562 bangkokbiznews.com/recommended/detail/1522  (27/07/2021)

“สงครามการค้าสหรัฐ-จีน ใครคือผู้ชนะ” ประชาชาติธุรกิจ 21 มกราคม 2564  prachachat.net/world-news/news-597174 (27/07/3031)

“วิเคราะห์สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ปี 2021 ไทยจะปรับตัวอย่างไรในความขัดแย้ง” Branded Content 10/03/2021, brandinside.asia/trade-war-china-and-usa-kbank-the-wisdom (27/07/2021)

 

อ้างอิง

[1] “Anglo-Dutch Wars” https://en.m.wikipedia.org.wiki (11/07/2564)

[2] “Smoot-Hawley Tariff Act of 1930” https://en.m.wikipedia.org.wiki (11/07/2564)

[3] Anglo-Irish trade war, en.m.wekipedia.org (25/06/2021)

[4]Chad P. Bown and Malina Kolb, “Trump’s Trade War Timeline: An Up-to-Date Guide” (Peterson Institute for International Economics, May 17, 2021)

[5] Chad P. Bown and Malina Kolb, “Trump’s Trade War Timeline: An Up-to-Date Guide” (Peterson Institute for International Economics, May 17, 2021)

[6] “สงครามการค้าสหรัฐ-จีน ใครคือผู้ชนะ” ประชาชาติธุรกิจ 21 มกราคม 2564  prachachat.net/world-news/news-597174 (27/07/3031)

[7] เพิ่งอ้าง

[8]  “สงครามการค้าสหรัฐ-จีนกัลป์กระทบต่อเศรษฐกิจไทย” กรุงเทพธุรกิจ 25 กรกฎาคม 2562  bangkokbiznews.com/recommended/detail/1522  (27/07/2021)

[9] .”Survey shows U.S. companies still value Chinese market amid trade tension” CGTN 30 August  2019, news.cgtn.com (27/07/2021)

[10] “สงครามการค้าสหรัฐ-จีนกัลป์กระทบต่อเศรษฐกิจไทย” กรุงเทพธุรกิจ 25 กรกฎาคม 2562  bangkokbiznews.com/recommended/detail/1522  (27/07/2021)

[11] “วิเคราะห์สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ปี 2021 ไทยจะปรับตัวอย่างไรในความขัดแย้ง” Branded Content 10/03/2021, brandinside.asia/trade-war-china-and-usa-kbank-the-wisdom (27/07/2021)