พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ทางการเมืองการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า

ผู้เรียบเรียง : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : ศาสตราจารย์ ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ

 

พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ทางการเมืองการปกครองภายใต้รัฐธรรมนูญ

 

ความเป็นมา

          แนวคิดเกี่ยวกับสถาบันและพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในประเทศไทยมีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงตามลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แม้รูปแบบจะปรากฎภายนอกว่าไทยได้รับอิทธิพลของลัทธิเทวราช แต่ก็ได้ผสมผสานระหว่างพระพุทธศาสนาเข้าด้วยกัน จึงปรุงแต่ง
ให้พระมหากษัตริย์ของไทยมีรูปโฉมและแบบแผนแห่งการใช้พระราชอำนาจที่มีลักษณะเฉพาะของตนเองในการใช้พระราชอำนาจต้องคำนึงถึงข้อจำกัดแห่งการใช้พระราชอำนาจ ได้แก่ ธรรมะสำหรับผู้ครองแผ่นดินตามคำสอนแห่งพระพุทธศาสนา ประกอบกับพระธรรมศาสตร์ กฎมณเฑียรบาล สนธิสัญญาที่ไทยผูกพันกับนานาชาติ และความที่ทรงยับยั้งชั่งพระราชหฤทัยด้วยพระองค์เอง ด้วยเหตุดังกล่าวนี้จึงเป็นผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยมีลักษณะพิเศษและเป็นที่ยอมรับของมหาชนรุ่นต่อรุ่นอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย แม้การเปลี่ยนแปลงการปกครองใน 24 มิถุนายน 2475 เปลี่ยนไทยเป็นระบอบประชาธิปไตย แต่สถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยังคงดำรงอยู่และปรับเปลี่ยนเข้ากับรูปแบบการปกครองแบบประชาธิปไตยได้อย่างสนิทสนมกลมกลืนเช่นเดียวกับวิถีทางที่ได้ดำเนินมาแล้วร่วมพันปี[1] เป็นผลให้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับได้กำหนดพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทยในฐานะที่ทรงเป็นองค์ประมุขของรัฐในการปกครองระบอบประชาธิปไตย ทั้งนี้ พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ไทยจึงแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะ กล่าวคือ

          ก. พระราชอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

          ข. พระราชอำนาจตามจารีตประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังปรากฏในมาตรา 5 วรรค 2 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 “เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้กระทําการนั้นหรือวินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองประเทศไทยในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข”

 

พระราชอำนาจตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ

          รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้บัญญัติในส่วนของพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ ดังนี้

          1. พระราชอำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎร

          รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกฉบับที่ผ่านมาในเรื่องการยุบสภาผู้แทนราษฎร ได้บัญญัติให้เป็นพระราชอำนาจพระมหากษัตริย์ให้เป็นผู้มีอำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎรในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มาตรา 103 บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่เป็นการเลือกตั้งทั่วไป” หลักการยุบสภาผู้แทนราษฎรถือเป็นเครื่องมือของฝ่ายบริหารในการคานอำนาจกับสภาผู้แทนราษฎร แต่เนื่องจากการปกครองในระบอบประชาธิปไตยสภาผู้แทนราษฎรมาจากการเลือกตั้ง ในขณะที่ฝ่ายบริหารจัดตั้งขึ้นโดยความไว้วางใจจากสภาผู้แทนราษฎร การยุบสภาผู้แทนราษฎรโดยฝ่ายบริหารจึงดูไม่มีน้ำหนัก ดังนั้น ธรรมเนียมประเพณีการปฏิบัติของประเทศไทยในรัฐธรรมนูญจึงมอบให้เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ได้พิจารณาความจำเป็นในการยุบสภาผู้แทนราษฎรได้อย่างเหมาะสม[2]

          2. พระราชอำนาจในการแต่งตั้งบุคคลให้ดำรงตำแหน่งสำคัญ

               1) พระราชอำนาจในการแต่งตั้งประธานสภาและรองประธานสภา

               ในสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาแต่ละสภาให้มีประธานสภาคนหนึ่งและรองประธานสภาคนหนึ่งหรือสองคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากสมาชิกแห่งสภานั้น ๆ ตามมติของสภา[3]

               2) พระราชอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรี

               พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินสามสิบห้าคน ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน[4]

               3) พระราชอำนาจในการแต่งตั้ง “ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร

               ภายหลังจากการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีเข้าบริหารราชการแผ่นดินแล้ว พระมหากษัตริย์ยังทรงพระราชอำนาจในการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรผู้เป็นหัวหน้าพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎรที่มีจำนวนสมาชิกมากที่สุด และสมาชิกมิได้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ประธานสภาผู้แทนราษฎร หรือรองประธานสภาผู้แทนราษฎร[5]

               4) พระราชอำนาจในการแต่งตั้ง “ผู้พิพากษาและตุลาการ”

               นับเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่การตัดสินคดีความต่าง ๆ นับแต่เดิมมาเป็นการตัดสินในนามพระมหากษัตริย์เพื่อบรรเทาทุกข์ให้แก่ราษฎร ดังนั้น เมื่อมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่มีการแบ่งแยกอำนาจระหว่างนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ พระมหากษัตริย์ก็ยังคงมีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งและให้
ผู้พิพากษาและตุลาการพ้นจากตำแหน่ง แต่ในกรณีที่พ้นจากตำแหน่งเพราะความตาย เกษียณอายุ ตามวาระ หรือพ้นจากราชการเพราะถูกลงโทษ ให้นําความกราบบังคมทูลเพื่อทรงทราบ[6]

               5) พระราชอำนาจในการแต่ง “ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ” ตามคำแนะนำของวุฒิสภา ดังนี้

               - แต่งตั้ง “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” จำนวน 7 คน[7]

               - แต่งตั้ง “ผู้ตรวจการแผ่นดิน” จำนวน 3 คน[8]

               - แต่งตั้ง “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ” จำนวน 9 คน[9]

               - แต่งตั้ง “คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน” จำนวน 7 คน[10] รวมถึงพระราชอำนาจในการแต่งตั้ง “ผู้ตรวจเงินแผ่นดิน” ตามคำแนะนําของวุฒิสภาโดยได้รับการเสนอชื่อจากคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน[11]

               - แต่งตั้ง “คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ” จำนวน 7 คน[12]

          3. พระราชอำนาจในฐานะประมุขแห่งรัฐ

          พระมหากษัตริย์ภายใต้ระบอบการปกครองประชาธิปไตยในฐานะประมุขแห่งรัฐเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเป็นมาและการมีประเพณีในการปกครองที่ยาวนานของรัฐนั้น ตลอดจนเป็นการแยกพระมหากษัตริย์ออกจากการเมือง เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาดและรวมศูนย์อำนาจไว้มากเกินไป ดังนั้น การมีพระมหากษัตริย์จึงช่วยรักษาดุลยภาพให้เกิดขึ้นทั้งภายในสังคมและในทางการเมือง สะท้อนให้เห็นลักษณะการปกครองที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ ที่เรียกว่า “ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ” (Limited Monarchy) โดยพระราชอำนาจที่สำคัญปรากฏในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ตั้งแต่มาตรา 175 - 180 ดังนี้

               1. พระราชอำนาจในการตราพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย[13]

               2. พระราชอำนาจในการประกาศใช้และเลิกใช้กฎอัยการศึก[14]

               3. พระราชอำนาจในการประกาศสงครามเมื่อได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา[15]

               4. พระราชอำนาจในการทำหนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นกับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ[16]

               5. พระราชอำนาจในการพระราชทานอภัยโทษ[17]

               6. พระราชอำนาจในการแต่งตั้งข้าราชการฝ่ายทหารและฝ่ายพลเรือน ตำแหน่งปลัดกระทรวง อธิบดีและเทียบเท่า และทรงให้พ้นจากตำแหน่ง[18]

 

บทสรุป

          ภายใต้รัฐธรรมแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 6 “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องพระมหากษัตริย์ในทางใด ๆ มิได้” เป็นผลมาจากหลัก The King Can Do No Wrong จึงเป็นผลให้มีการบัญญัติมาตรา 182 “บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญ” ดังนั้น แม้รัฐธรรมนูญจะกำหนดพระราชอำนาจในทางการเมืองการปกครองให้แก่พระมหากษัตริย์ แต่ในท้ายที่สุดภายใต้หลักการที่รับรองว่าพระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้จึงจำเป็นต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเสมอ เพราะพระมหากษัตริย์เป็นเพียงผู้ทรงโปรดเกล้าฯ ตามที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ให้พระองค์ใช้พระราชอำนาจนั่นเอง

 

บรรณานุกรม

ธงทอง จันทรางศุ. พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ. เอส ซี พริ้นท์แอนด์แพค : กรุงเทพ, กันยายน 2548”

ราชกิจจานุเบกษา/เล่ม 134/ตอนที่ 40 ก/ 6 เมษายน 2560. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560.

อภิวัฒน์ สุดสาว. การยุบสภาผู้แทนราษฎร : ดุลยภาพแห่งอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ. จุลนิติ พ.ค. - มิ.ย. 54. หน้า 123 – 134.

                  

อ้างอิง              

[1] ธงทอง จันทรางศุ, พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในทางกฎหมายรัฐธรรมนูญ, เอส ซี พริ้นท์แอนด์แพค : กรุงเทพ, กันยายน 2548, หน้า 43.

[2] อภิวัฒน์ สุดสาว, การยุบสภาผู้แทนราษฎร : ดุลยภาพแห่งอำนาจระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ, จุลนิติ พ.ค. - มิ.ย. 54, หน้า 129. (123 – 134)

[3] มาตรา 116 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560

[4] มาตรา 158 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560

[5] มาตรา 106 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560

[6] มาตรา 190 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560

[7] มาตรา 222 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560

[8] มาตรา 228 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560

[9] มาตรา 232 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560

[10] มาตรา 238 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560

[11] มาตรา 241 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560

[12] มาตรา 246 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560

[13] มาตรา 175 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560

[14] มาตรา 176 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560

[15] มาตรา 177 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560

[16] มาตรา 178 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560

[17] มาตรา 179 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560

[18] มาตรา 180 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560