การออกเสียงประชามติ
การออกเสียงประชามติ
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศาสตราจารย์พิเศษ นรนิติ เศรษฐบุตร
ความนำ
การออกเสียงประชามติ (Referendum) คือกระบวนการทางการเมืองที่ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมตัดสินใจในประเด็นปัญหาที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อชุมชนหรือประเทศชาติ ถือเป็นการนำเอาแนวคิดประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy) เข้ามาเสริมจุดอ่อนของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) ที่ประชาชนเลือกผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่ต่างๆ แทนตนในสภา ทว่าเมื่อมีประเด็นปัญหาที่มีความสำคัญเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ได้เสียของชาติบ้านเมืองหรือส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อประชาชน ก็มีการคืนอำนาจให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงได้มีส่วนเป็นผู้ตัดสินใจด้วยตนเอง[1]
สำหรับประเทศไทยมีการบัญญัติแนวคิดเรื่องการออกเสียงประชามติไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ฉบับปี พ.ศ.2492 และยังได้มีการบัญญัติไว้ในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญอีกหลายฉบับต่อมา แต่ในทางปฏิบัติยังไม่เคยมีการนำมาใช้ แต่อย่างใด การออกเสียงประชามติพึ่งถูกนำมาดำเนินการจริงเป็นครั้งแรกในกระบวนการให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 จึงถือว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการออกเสียงประชามติครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทย[2] หลังจากนั้นกระบวนการออกเสียงประชามติได้ถูกนำมาใช้อีกครั้งในการให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 และในช่วงเวลาต่อมาดูเหมือนว่ากระบวนการดังกล่าวจะได้กลายมาเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่สำคัญของกระบวนการร่างหรือการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ
เสริมจุดแข็ง ลดจุดอ่อนของระบอบประชาธิปไตยตัวแทน
แม้ว่าระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทน (Representative Democracy) จะถือเป็นระบอบการเมืองที่แพร่หลายมากที่สุดระบอบหนึ่ง เป็นระบอบการเมืองที่ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน มีการถ่วงดุลและตรวจสอบการใช้อำนาจระหว่างสถาบันทางการเมืองต่างๆ อีกทั้งยังมีการกระบวนการให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้มีส่วนร่วมทางการเมืองโดยเฉพาะผ่านกลไกการเลือกตั้ง ไม่ว่าจะเป็นสภานิติบัญัติหรือฝ่ายบริหาร แต่ก็ปฏิเสธมิได้ว่าด้วยข้อจำกัดประการสำคัญของระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่ในบางครั้งผู้แทนของปวงชนที่ถูกเลือกเข้าไป อาจใช้อำนาจไม่ตรงกับเจตนารมณ์หรือความต้องการอันแท้จริงของประชาชน[3] หรือในบางกรณีที่มีความจำเป็นต้องคืนอำนาจให้ประชาชนได้แสดงออกซึ่งความคิดเห็นหรือความพึงพอใจต่อเรื่องราว สถานการณ์หรือต่อประเด็นปัญหาใดๆ ก็ตาม[4] จึงมีการนำเอาแนวคิดประชาธิปไตยทางตรง (Direct Democracy) หรือประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม (Participatory Democracy) เข้ามาแก้ไขจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องดังกล่าวข้างต้น ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในระดับต่างๆ มากยิ่งขึ้น[5]
กระบวนการที่ให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจในระดับระดับต่างๆ นั้น อาจแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบที่นิยม ได้แก่ การทำประชาพิจารณ์ (Public Hearing) และการจัดออกเสียงประชามติ (Referendum) สำหรับการทำประชาพิจารณ์ ในทางรัฐธรรมนูญหมายถึง “กระบวนการที่เปิดโอกาสให้ฝ่ายต่างๆ ทั้งภาครัฐ และประชาชนนำเสนอข้อมูล คำแถลง จุดยืน ข้อเท็จจริง และความคิดเห็นทั้งในเชิงสนับสนุนหรือคัดค้าน เกี่ยวกับนโยบาย ร่างกฎหมาย หรือการริเริ่มโครงการของรัฐ เพื่อให้รัฐนำข้อพิจารณาของทุกฝ่ายไปเปรียบเทียบผลดี ผลเสีย หาจุดสมดุลที่เหมาะสมและใช้ดุลพินิจอย่างรอบคอบและ โปร่งใสและมีความรับผิดชอบ ก่อนที่จะตัดสินใจตามอำนาจที่มีอยู่ต่อไป”[6] โดยที่แต่เดิมนั้นการทำประชาพิจารณ์ในประเทศไทย กระทำโดยอาศัยอำนาจ ตามบทบัญญัติของกฎหมายเฉพาะเรื่อง จนกระทั่งเมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2540 จึงได้มีการกำหนดให้การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเป็นสิทธิพื้นฐาน โดยที่รัฐต้องจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็น ของประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อการดำเนินโครงการของรัฐ โดยเฉพาะโครงการที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน อย่างร้ายแรงทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติหรือด้านสุขภาพ[7]
ส่วนการออกเสียงประชามติ ในทางรัฐธรรมนูญหมายถึง “กระบวนการในการแสดงความเห็นของประชาชนด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อตัดสินใจว่าจะให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ ในเรื่องที่มีความสำคัญและมีผลกระทบต่อผลประโยชน์ได้เสียของประเทศชาติหรือกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ก่อนที่จะนำมติหรือการตัดสินใจนั้นออกเป็นกฎหมายหรือนำไปปฏิบัติเพื่อบังคับใช้เป็นการทั่วไป”[8] ในแง่นี้การออกเสียงประชามติจึงมีความคล้ายคลึงกับการเลือกตั้ง ดังที่ศาสตราจารย์ ดร.นันทวัฒน์ บรมานันท์ ศาสตราจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ชี้ให้เห็นความสำคัญคัญของกระบวนการออกเสียงประชามติไว้ว่า “การออกเสียงประชามติถือว่าเป็นกระบวนการที่สำคัญกระบวนการหนึ่งเช่นเดียวกับการเลือกตั้ง เพียงแต่มีลักษณะที่แตกต่างกัน คือการออกเสียงประชามติเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้บริหารประเทศได้ปรึกษาหารือกับผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งโดยตรง ด้วยการตั้งคำถามหรือขอให้แสดงความคิดเห็นในร่างกฎหมายสำคัญๆ บางประเภท”[9] ทั้งการทำประชาพิจารณ์และการออกเสียงประชามติจึงถือเป็นการนำรูปแบบกระบวนการประชาธิปไตยทางตรงหรือประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมเข้ามาเสริมช่องว่างของระบอบประชาธิปไตยตัวแทนด้วยกันทั้งคู่ แต่ความแตกต่างประการสำคัญอยู่ที่การออกเสียงประชามติต้องมีการลงคะแนนเสียงเพื่อหามติของประชาชนในประเด็นที่จัดให้มีการออกเสียงประชามติ ขณะที่ประชาพิจารณ์เป็นเพียงการจัดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก่อนที่หน่วยงานภาครัฐจะได้ดำเนินการต่อไป[10]
โดยทั่วไปแล้วการออกเสียงประชามติถือได้ว่าเป็นกระบวนการทางการเมืองที่สำคัญของประเทศที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย แม้ว่าในแง่ประวัติศาสตร์การออกเสียงประชามติจะได้เคยถูกนำมาใช้ในระบอบการเมืองรูปแบบอื่นด้วยเช่นกัน เช่น ในช่วงอาณาจักรไรช์ที่ 3 ของเยอรมนีที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการนาซี เป็นต้น[11] แต่ก็มิได้ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นปกติเหมือนเช่นในระบอบการเมืองแบบประชาธิปไตยแต่อย่างใด โดยในปัจจุบันกระบวนการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในรูปแบบการออกเสียงประชามติมีใช้กันอยู่ในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศในกลุ่มประชาคมยุโรป ประเทศในโซนอเมริกา แอฟริกา หรือเอเชีย หลายประเทศได้กำหนดเรื่องการออกเสียงประชามติไว้ในรัฐธรรมนูญ อาทิ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สวิสเซอร์แลนด์ เป็นต้น[12] ขณะที่บางประเทศยังให้ประชาชนสามารถออกเสียงประชามติในกิจการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกด้วย[13] สำหรับประเทศไทย ตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2560 ที่บังคับใช้อยู่ได้บัญญัติเกี่ยวกับการออกเสียงประชามติ ไว้ใน 2 กรณี คือ 1.เป็นดุลยพินิจของคณะรัฐมนตรี โดยที่ในมาตรา 166 ระบุว่าในกรณีที่มีเหตุอันสมควร คณะรัฐมนตรีจะขอให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องใดอันมิใช่เรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือเรื่องที่เกี่ยวกับตัวบุคคลหรือคณะบุคคลใดก็ได้ และ 2. ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้มีการออกเสียงประชามติ นั่นคือในหมวดว่าด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (8) บัญญัติว่า เมื่อรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาทั้ง 3 วาระแล้ว ให้จัดการออกเสียงประชามติ ก่อนที่จะไปสู่ขั้นตอนของการทูลเกล้าฯ ต่อไป[14]
แต่ไม่ว่าจะเป็นการออกเสียงประชามติในระดับชาติหรือระดับท้องถิ่น หลักการสำคัญในการจัดการออกเสียงประชามติ คือการต้องเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแต่ละฝ่ายได้มีการถกเถียงหรือโต้แย้งกันด้วยเหตุผลอย่างรอบด้าน ให้ประชาชนได้ทราบถึงข้อถกเถียงต่างๆ อันจะทำให้มีข้อมูลที่สมบูรณ์เพียงพอต่อการตัดสินใจ[15] ส่วนเรื่องหรือประเด็นที่จะถูกนำมาทำประชามตินั้น รองศาสตราจารย์ ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี รองศาสตราจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จำแนกให้เห็นถึงเกณฑ์พิจารณาที่สำคัญ 2 ประการ ได้แก่ 1. เรื่องที่ทำประชามติต้องเป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างสูง แต่ควรห้ามเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายการเงิน การเปลี่ยนแปลงสนธิสัญญากับต่างประเทศ และการอภัยโทษตัวบุคคล เพื่อป้องกันการทับซ้อนกับการเลือกตั้งและถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือการใช้กระบวนการออกเสียงประชามติสร้างความชอบธรรมกับการรักษาหรือเข้าสู่ตำแหน่ง และ 2. ข้อความที่ขอความเห็นต้องมีความชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้ผู้มีสิทธิออกเสียงสามารถตัดสินใจว่าจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับเรื่องนั้นได้ บนเงื่อนไขที่รัฐต้องเปิดโอกาสให้ทั้งผู้ที่เห็นชอบและไม่เห็นชอบในเรื่องที่จะจัดทำประชามติได้แสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียม[16]
การออกเสียงประชามติในประเทศไทย
ดังที่ได้กล่าวข้างต้น แม้ว่าการออกเสียงประมติจะกลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจหรือถูกกล่าวถึงอย่างกว้างขวางเมื่อไม่นานมานี้ แต่อันที่จริงแนวคิดการออกเสียงประชามติได้ถูกบัญญัติไว้อยู่ในรัฐธรรมนูญของไทยมาตั้งแต่ฉบับปี พ.ศ.2492 รวมถึงในรัฐธรรมนูญอีกหลายฉบับต่อมา[17] ทว่าพึ่งถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในการให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นการจัดการออกเสียงประชามติตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2549 โดยในการออกเสียงประชามติคราดังกล่าว ผลปรากฎว่าประชาชนให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญคิดเป็นร้อยละ 56.69 และไม่เห็นชอบคิดเป็นร้อยละ 41.37[18] จึงนำมาสู่การประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญในที่สุด และอีกครั้งหนึ่งที่กระบวนการออกเสียงประชามติถูกนำมาใช้คือในการให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญในปี พ.ศ.2559 ที่ต่อมาได้ประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 ด้วยคะแนนเห็นชอบคิดเป็นร้อยละ 61.35 และไม่เห็นชอบคิดเป็นร้อยละ 38.65[19]
ถึงแม้ว่าการออกเสียงประชามติเพื่อรับร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับที่ผ่านมา จะมีคะแนนในฝั่งเห็นชอบมากกว่าคะแนนฝั่งที่ไม่เห็นชอบ และนำมาสู่การประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ครั้ง แต่เมื่อพิจารณาภายใต้บริบททางการเมืองจะเห็นได้ว่า การจัดออกเสียงประชามติทั้ง 2 ครั้งดังกล่าวถูกโจมตีอย่างมากและยังคงเป็นประเด็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอยู่จวบจนปัจจุบัน กล่าวคือ เมื่อครั้งที่มีการจัดการออกเสียงประชามติเพื่อรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2550 บริบทการเมืองไทยยังคงอยู่ภายใต้บรรยากาศของความขัดแย้งแบ่งขั้วทางอุดมการณ์อย่างรุนแรงภายหลังเหตุการณ์รัฐประหารที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 หลายฝ่ายจึงไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกเขียนขึ้นโดยมองว่าไม่เป็นผลดีต่อการพัฒนาการเมืองในระบอบประชาธิปไตย แต่ด้วยทางเลือกที่ถูกจำกัด ประกอบกับกระแสการรณรงค์ โดยเฉพาะจากฝ่ายรัฐบาลที่มีลักษณะโน้มน้าวให้มีการรับร่างรัฐธรรมนูญบนกระแส “รับไปก่อนแล้วแก้ทีหลัง” หรือกระทั่งดังตัวอย่างความเห็นของนายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้นที่ได้แสดงทัศนะต่อประเด็นดังกล่าวความว่า “ผมมั่นใจว่าฉบับนี้แก้ไขได้
แล้วก็ถ้ารับไปบ้านเมืองก็เดินหน้าได้ กลับคืนสู่สภาวะปกติ มันไม่เลิศเลอมันไม่สมบูรณ์ แต่มันก็ไมได้เลวร้ายอย่างที่หลายคนกลัว”[20] ทว่าเมื่อร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติและประกาศใช้แล้ว แต่เมื่อพรรคเพื่อไทยได้มีการเสนอแก้ไขประเด็นที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) กลับถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการกระทำดังกล่าวผิดรัฐธรรมนูญในมาตรา 68 วรรค 1 ถือเป็นการกระทำให้ได้มาซึ่งอำนาจปกครองโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ[21]
ในคราวการออกเสียงประชามติในปี พ.ศ.2559 เพื่อรับร่างรัฐธรรมนูญที่จะประกาศใช้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ.2560 ก็เช่นเดียวกัน ที่ต้องเผชิญกับข้อวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่ามีความไม่เหมาะสมในหลายประเด็น โดยเฉพาะการละเลยหลักการที่สำคัญของการออกเสียงประชามติไม่ว่าจะเป็น บรรยากาศการรณรงค์ประชามติที่ไม่เป็นไปอย่างเสรีและมีข้อจำกัด ฝ่ายที่เห็นแย้งกับร่างรัฐรัฐธรรมนูญถูกจำกัดการแสดงออก ด้วยข้อบังคับของกฎหมายต่างๆ ทำให้แม้จะมีเสียงที่เห็นต่างกับร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกแสดงออกอยู่บ้าง ไม่ว่าจะโดยจากนักวิชาการหรือนักกิจกรรมเคลื่อนไหวทางการเมืองแต่สังคมกับไม่ได้รับลูกเพียงพอ[22] โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 ที่ได้ถูกประกาศออกมาเพื่อรองรับ การออกเสียงประชามตินั้นมีลักษณะปิดกั้นการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นอย่างเสรีและรอบด้าน[23] ทั้งยังนำมาสู่การจับกุมดำเนินคดีกับประชาชนที่มีการแสดงออกถึงความไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญเป็นจำนวนมาก จนเกิดเป็นบรรยากาศของความหวาดกลัวก่อนที่จะมีการออกเสียงประชามติ และอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือการ ออกเสียงประชามติครั้งนี้ยังได้มีการให้ประชาชนให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับ “คำถามพ่วง” เพื่อให้ประชาชนให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบที่จะสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) มีอำนาจในการร่วมพิจารณา ให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในช่วงเวลา 5 ปีแรกตามบทเฉพาะกาล ของรัฐธรรมนูญ ดังข้อความที่ระบุไว้ในส่วนประเด็นเพิ่มเติมของบัตรออกเสียงประชามติความว่า
“ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ สมควรกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลว่าในระหว่าง 5 ปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี”[24]
จากประเด็นเพิ่มเติมข้างต้น ถูกมองว่าเป็นข้อคำถามที่มีความคลุมเครือ ซับซ้อนและมีลักษณะชักจูงผู้คน ดังการกล่าวถึงการให้อำนาจกับที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาในการพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งที่จริงแล้วก็มีความหมายคือการให้วุฒิสภาที่มีที่มาจากการคัดเลือกโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีอำนาจในการร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรนั่นเอง หรือแม้กระทั่งรูปประโยคเริ่มต้นที่ว่า “เพื่อให้การปฏิรูปประเทศเกิดความต่อเนื่องตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ” ซึ่งมีลักษณะอาจเข้าข่ายเป็นการโน้มน้าวชักจูงซึ่งขัดกับหลักการพื้นฐานในการออกเสียงประชามติ[25]
บริบททางการเมืองคือสิ่งสำคัญ
ดังเห็นได้ว่าแม้โดยหลักการแล้วการออกเสียงประชามติถือเป็นการคืนอำนาจให้กับประชาชนได้เป็นผู้ตัดสินใจในประเด็นปัญหาที่มีความสำคัญของชาติบ้านเมืองและที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนเอง แต่การพิจาณาแต่เพียงเฉพาะกระบวนการโดยละเลยบริบทแวดล้อมก็คงไม่มีความหมายอะไร นั่นเพราะว่าการจัดการออกเสียงประชามติในเรื่องใดๆ ก็ตาม ย่อมเกิดขึ้นภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองที่มีลักษณะเฉพาะ ทั้งยังอาจเกี่ยวข้อง กับองค์กรหรือสถาบันทางการเมืองจำนวนมาก ฉะนั้นจึงกล่าวได้ว่าบริบทแวดล้อมทางการเมืองนับเป็นสิ่งสำคัญ ที่ควรต้องนำมาพิจารณาควบคู่ไปกับการพิจารณากระบวนการจัดการออกเสียงประชามติ ดังเห็นได้ในกรณี ของประเทศไทยเองที่การจัดการออกเสียงประชามติทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา คือในปี พ.ศ.2549 และในปี พ.ศ.2559 ล้วนเป็นเหตุการณ์ที่สืบเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองภายหลังจากการรัฐประการด้วยกันทั้ง 2 เหตุการณ์ นั้นคือการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2549 และการรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2557 ตามลำดับ
จากบริบททางการเมืองข้างต้นย่อมถือเป็นเงื่อนไขสำคัญของการออกเสียงประชามติ เพราะคงมิอาจปฏิเสธได้ว่าภายใต้บรรยากาศความขัดแย้งอย่างสูงในทางอุดมกาณ์ ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลที่สืบเนื่องมาจากการรัฐประหารย่อมมองว่าร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับที่จัดให้มีการลงประชามตินั้น มีเนื้อหาที่เอื้อประโยชน์ ต่อฝ่ายรัฐบาล สร้างข้อจำกัดต่อฝ่ายที่เห็นต่าง ตลอดถึงยังนำมาสู่การจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชนอันเป็นคุณค่าหลักการขั้นมูลฐานของระบอบประชาธิปไตย ในแง่นี้การจัดการออกเสียงประชามติจึงถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นเพียงพิธีกรรมที่ถูกกำหนดขึ้นเพื่อให้ความชอบธรรมกับร่างรัฐธรรมนูญอันจะเป็นเครื่องมือหรือกลไกกับรัฐบาลที่ต้องการสืบทอดและวางรากฐานอำนาจของฝ่ายตนเอง
บรรณานุกรม
“3 ปี ประชามติ: ทำไมคนถึงไม่พอใจประชามติ ปี 2559.” iLAW, (6 สิงหาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://
ilaw.or.th/node/5355>. เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564.
“คำถามพ่วง: เห็นชอบให้ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง ร่วมกับ ส.ส.เลือกนายกฯ หรือไม่?.” iLAW, (14 กรกฎาคม 2559). เข้าถึงจาก <https://ilaw.or.th/node/4195>. เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564.
นันทวัฒน์ บรมานันท์. (2545) “การออกเสียงประชามติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย.” รายงานการวิจัย. เสนอต่อ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ.
“รธน.50 'รับๆไปก่อน' แก้ได้ฝ่ายเดียวทีหลัง ฉบับมีชัย59 แก้ยากเช่นกัน สุดท้ายศาลรธน.ชี้ขาด.” ประชาไท.
(5 เมษายน 2559). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2016/04/65078>. เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564.
“รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560.” ราชกิจจานุเบกษา. เล่มที่ 134 ตอนพิเศษ 40 ก, 6 เมษายน 2560.
สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. (2555) “การออกเสียงประชามติ (referendum) : ประสบการณ์ของไทยกับต่างประเทศ.” จุลนิติ. ปีที่ 9, ฉบับที่ 4 (กรกฎาคม-สิงหาคม 2555), น.1-30.
สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา. (2553) “หลักการและข้อแตกต่างระหว่าง “ประชามติ” กับ “ประชาพิจารณ์” ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย.” จุลนิติ. ปีที่ 7, ฉบับที่ 6 (พฤศจิกายน-ธันวาคม 2553), น.145-155.
หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ. “1 ปีหลังประชามติ: เปิดงานวิจัย ทำไม รธน. ผ่านฉลุย.” บีบีซีไทยออนไลน์. (6 สิงหาคม 2560). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-40836321>. เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564.
หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ. “รัฐธรรมนูญ 2560: 4 ปีประชามติ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” แต่ “เยาวชนไม่ได้เลือก”.” บีบีซีไทยออนไลน์. (6 สิงหาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/53674
085>. เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564.
[1] สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, (2555) “การออกเสียงประชามติ (referendum) : ประสบการณ์ของไทยกับต่างประเทศ,” จุลนิติ, ปีที่ 9, ฉบับที่ 4 (กรกฎาคม-สิงหาคม 2555), น.1.
[2] สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, (2553) “หลักการและข้อแตกต่างระหว่าง “ประชามติ” กับ “ประชาพิจารณ์” ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย,” จุลนิติ, ปีที่ 7, ฉบับที่ 6 (พฤศจิกายน-ธันวาคม 2553), น.148-149.
[3] นันทวัฒน์ บรมนันท์, (2555) “บทสัมภาษณ์ความเห็นทางวิชาการ เรื่อง “การออกเสียงประชามติ (referendum) : ประสบการณ์ของไทยกับต่างประเทศ”,” สัมภาษณ์โดย กองบรรณาธิการสำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, จุลนิติ,
ปีที่ 9, ฉบับที่ 4 (กรกฎาคม-สิงหาคม 2555), น.12.
[4] ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์, (2555) “บทสัมภาษณ์ความเห็นทางวิชาการ เรื่อง “การออกเสียงประชามติ (referendum) : ประสบการณ์ของไทยกับต่างประเทศ”,” สัมภาษณ์โดย กองบรรณาธิการสำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, จุลนิติ, ปีที่ 9, ฉบับที่ 4 (กรกฎาคม-สิงหาคม 2555), น.5-6.
[5] สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, (2553) “หลักการและข้อแตกต่างระหว่าง “ประชามติ” กับ “ประชาพิจารณ์” ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย,” จุลนิติ, ปีที่ 7, ฉบับที่ 6 (พฤศจิกายน-ธันวาคม 2553), น.147.
[6] สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, (2553) “หลักการและข้อแตกต่างระหว่าง “ประชามติ” กับ “ประชาพิจารณ์” ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย,” จุลนิติ, ปีที่ 7, ฉบับที่ 6 (พฤศจิกายน-ธันวาคม 2553), น.148.
[7] สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, (2553) “หลักการและข้อแตกต่างระหว่าง “ประชามติ” กับ “ประชาพิจารณ์” ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย,” จุลนิติ, ปีที่ 7, ฉบับที่ 6 (พฤศจิกายน-ธันวาคม 2553), น.151-152.
[8] สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, (2553) “หลักการและข้อแตกต่างระหว่าง “ประชามติ” กับ “ประชาพิจารณ์” ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย,” จุลนิติ, ปีที่ 7, ฉบับที่ 6 (พฤศจิกายน-ธันวาคม 2553), น.147.
[9] นันทวัฒน์ บรมนันท์, (2555) “บทสัมภาษณ์ความเห็นทางวิชาการ เรื่อง “การออกเสียงประชามติ (referendum) : ประสบการณ์ของไทยกับต่างประเทศ”,” สัมภาษณ์โดย กองบรรณาธิการสำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, จุลนิติ,
ปีที่ 9, ฉบับที่ 4 (กรกฎาคม-สิงหาคม 2555), น.17.
[10] สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, (2553) “หลักการและข้อแตกต่างระหว่าง “ประชามติ” กับ “ประชาพิจารณ์” ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย,” จุลนิติ, ปีที่ 7, ฉบับที่ 6 (พฤศจิกายน-ธันวาคม 2553), น.153.
[11] นันทวัฒน์ บรมานันท์, (2545) “การออกเสียงประชามติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย,” รายงานการวิจัย, เสนอต่อ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, น.3.
[12] นันทวัฒน์ บรมนันท์, (2555) “บทสัมภาษณ์ความเห็นทางวิชาการ เรื่อง “การออกเสียงประชามติ (referendum) : ประสบการณ์ของไทยกับต่างประเทศ”,” สัมภาษณ์โดย กองบรรณาธิการสำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, จุลนิติ,
ปีที่ 9, ฉบับที่ 4 (กรกฎาคม-สิงหาคม 2555), น.13.
[13] นันทวัฒน์ บรมานันท์, (2545) “การออกเสียงประชามติที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย,” รายงานการวิจัย, เสนอต่อ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, น.3-4.
[14] “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่มที่ 134 ตอนพิเศษ 40 ก, 6 เมษายน 2560.
[15] ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์, (2555) “บทสัมภาษณ์ความเห็นทางวิชาการ เรื่อง “การออกเสียงประชามติ (referendum) : ประสบการณ์ของไทยกับต่างประเทศ”,” สัมภาษณ์โดย กองบรรณาธิการสำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, จุลนิติ, ปีที่ 9, ฉบับที่ 4 (กรกฎาคม-สิงหาคม 2555), น.9.
[16] สิริพรรณ นกสวน สวัสดี, (2555) “บทสัมภาษณ์ความเห็นทางวิชาการ เรื่อง “การออกเสียงประชามติ (referendum) : ประสบการณ์ของไทยกับต่างประเทศ”,” สัมภาษณ์โดย กองบรรณาธิการสำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, จุลนิติ,
ปีที่ 9, ฉบับที่ 4 (กรกฎาคม-สิงหาคม 2555), น.24.
[17] สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, (2553) “หลักการและข้อแตกต่างระหว่าง “ประชามติ” กับ “ประชาพิจารณ์” ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย,” จุลนิติ, ปีที่ 7, ฉบับที่ 6 (พฤศจิกายน-ธันวาคม 2553), น.148-149.
[18] สำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา, (2553) “หลักการและข้อแตกต่างระหว่าง “ประชามติ” กับ “ประชาพิจารณ์” ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย,” จุลนิติ, ปีที่ 7, ฉบับที่ 6 (พฤศจิกายน-ธันวาคม 2553), น.145.
[19] หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ, “รัฐธรรมนูญ 2560: 4 ปีประชามติ “รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน” แต่ “เยาวชนไม่ได้เลือก”,” บีบีซีไทยออนไลน์, (6 สิงหาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/53674085>. เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2563.
[20] “รธน.50 'รับๆไปก่อน' แก้ได้ฝ่ายเดียวทีหลัง ฉบับมีชัย59 แก้ยากเช่นกัน สุดท้ายศาลรธน.ชี้ขาด,” ประชาไท,
(5 เมษายน 2559). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2016/04/65078>. เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564.
[21] “รธน.50 'รับๆไปก่อน' แก้ได้ฝ่ายเดียวทีหลัง ฉบับมีชัย59 แก้ยากเช่นกัน สุดท้ายศาลรธน.ชี้ขาด,” ประชาไท,
(5 เมษายน 2559). เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2016/04/65078>. เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564.
[22] หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ, “1 ปีหลังประชามติ: เปิดงานวิจัย ทำไม รธน. ผ่านฉลุย,” บีบีซีไทยออนไลน์, (6 สิงหาคม 2560). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-40836321>. เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564.
[23] “3 ปี ประชามติ: ทำไมคนถึงไม่พอใจประชามติ ปี 2559,” iLAW, (6 สิงหาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://ilaw.or.th/node/5355>. เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564.
[24] “คำถามพ่วง: เห็นชอบให้ส.ว.ที่มาจากการแต่งตั้ง ร่วมกับ ส.ส.เลือกนายกฯ หรือไม่?,” iLAW, (14 กรกฎาคม 2559). เข้าถึงจาก <https://ilaw.or.th/node/4195>. เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564.
[25] “3 ปี ประชามติ: ทำไมคนถึงไม่พอใจประชามติ ปี 2559,” iLAW, (6 สิงหาคม 2562). เข้าถึงจาก <https://ilaw.or.th/node/5355>. เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2564.