How To ม็อบ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 15:06, 17 กุมภาพันธ์ 2565 โดย Trikao (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " '''เรียบเรียงโดย''' : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพ...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

เรียบเรียงโดย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วิชุดา สาธิตพร และ ธีทัต จันทราพิชิต

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

 

How To ม็อบ

          การชุมนุมประท้วงในประเทศไทยในช่วงปี พ.ศ. 2563 นับเป็นการชุมนุมที่นักเรียน นิสิต นักศึกษามีบทบาทนำ ลักษณะเด่นของการเคลื่อนไหวและแสดงออกในช่วงนี้สะท้อนถึงการรับรู้ของเยาวชนต่อสภาพสังคมการเมืองในประเทศไทย ซึ่งคนกลุ่มหนึ่งเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า “ตาสว่าง” ถึงแม้ว่าจะมีคนเรียกปรากฎการณ์ความตื่นตัวหรือตื่นรู้ของผู้คนว่าตาสว่างมาแล้วหลายครั้งในช่วงสิบปีที่ผ่านมา แต่ภาวะตาสว่างในปี 2563 แตกต่างจากครั้งอื่น เพราะเป็นการตาสว่างที่มีกลุ่มนำเป็นนักประวัติศาสตร์เป็นหลัก ซึ่งสร้างงานประวัติศาสตร์เชิงวิพากษ์ออกมา ทำให้กลุ่มการเคลื่อนไหวในช่วงนี้มีความรู้ทางประวัติศาสตร์ที่สูงมาก

          ทว่าขณะเดียวกันเพราะความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ก็ทำให้ช่วงหนึ่งกลุ่มเยาวชนมีความหวาดกลัวการออกไปชุมนุมเพราะมองว่าสุดท้ายก็จะต้องพ่ายแพ้ในที่สุด และเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายถึงชีวิต ทั้งด้วยการที่ประสบการณ์ทางการเมืองที่ค่อนข้างต่ำทำให้กลุ่มเยาวชนนี้ไม่ได้มีความกล้าจะแสดงออกมากนัก และเมื่อกระแสการออกไปชุมนุมเริ่มที่จะเข้มข้นมากขึ้น และเกิดการชุมนุมนอกสถานศึกษาในช่วงหลังของปี 2563 กลุ่มผู้สนับสนุนการชุมนุมก็ได้ใช้วิธีการออก infographic สร้างความรู้สึกปลอดภัยให้กับผู้ที่มีแนวโน้มจะเข้าร่วมการชุมนุม ซึ่งหลายคนก็ยังรู้สึกว่าเสี่ยงอันตรายอยู่พร้อมกันนั้นในบางทีก็ได้ชี้แจ้งวิธีการไปชุมนุมประท้วงแก่ผู้เข้าร่วม ซึ่งจะเรียกกันในโลกอินเตอร์เน็ตว่า “How To ม็อบ” ซึ่งสามารถทำความเข้าใจในฐานะตำราไปม็อบได้นั่นเอง

          ด้วยการที่กลุ่มเยาวชนมีลักษณะเป็น Digital Native ทำให้โดยธรรมชาติกลุ่มเยาวชนได้รับสารต่าง ๆ จากอินเตอร์เน็ต ซึ่งก็ทำให้ How To ม็อบ มีกลุ่มผู้ผลิตหลากหลายและแตกต่างกันไป โดยมีที่ผลิตโดยกลุ่มองค์กร และที่ผลิตโดยปัจเจกบุคคล แต่โดยส่วนมากเนื้อหาจะคล้าย ๆ กันและได้หยิบยืมแนวคิดวิธีการปฏิบัติโดยเฉพาะการแต่งกายจากการชุมนุมในฮ่องกง

 

How To ม็อบเวอร์ชั่นต่าง ๆ

          สำหรับการชี้แจงวิธีการปฏิบัติสำหรับกลุ่มเยาวชนนั้นมีหลากหลาย โดยเนื้อหาหลักๆ จะสามารถแบ่งออกไปได้ทั้งหมด 3 ประเภทได้แก่

          1. การชุมนุมให้ไม่ผิดกฎหมาย

          2. การเตรียมตัวสำหรับการเข้าร่วมชุมนุม

          3. การรับมือกรณีที่อาจบาดเจ็บจากการชุมนุม

          สำหรับ How to ม็อบ กรณีแรกเป็นส่วนที่น้อยที่สุด โดยรูปแบบการปูเรื่องกฎหมายกับการชุมนุมหรือเรื่องสิทธิเสรีภาพ อาทิ กรณีโดนตรวจบัตรประชาชน สำหรับกรณี How to ม็อบ ในด้านกฎหมายนี่มักจะไม่มี infographic และเป็นข้อความเสียเป็นส่วนมาก โดยกรณีที่พบก็ได้แก่บทความเรื่อง “ฮาวทูม็อบ : ชุมนุมอย่างไร ไม่ให้ผิดกฎหมาย” ซึ่งเผยแพร่ทาง The Momentum[1] How to ม็อบ ประเภทนี้จะเป็น How to ม็อบ ที่ถกเถียงว่าจะจัดการชุมนุมอย่างไร หรือควรจะมีสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมขนาดไหน ซึ่งข้อถกเถียงนี้ทางกลุ่ม iLaw ก็ได้มีความพยายามจะผลักดันตั้งแต่ก่อนเกิดกระแสการชุมนุมจนอาจจะเรียกได้ว่าเป็น How to ม็อบเวอร์ชั่นที่ยังไม่ทันได้ถูกเรียกว่า How to ม็อบ เมื่อมีการชุมนุมเกิดขึ้นทาง iLaw ก็ได้ทำการอธิบายข้อกฎหมายสิทธิต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัยของผู้ชุมนุม โดยที่โดดเด่นก็คือ กรณีเรื่องสิทธิที่จะไม่จำเป็นต้องโชว์บัตรประชาชนให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจในระดับที่ยศต่ำกว่าร้อยตรี[2]

          ส่วน How to ม็อบ ประเภทที่สองเป็นประเภทที่แพร่หลายที่สุดคือ ประเภทที่เนื้อหาหลัก ๆ เป็นการกล่าวว่าจะเตรียมตัวเข้าร่วมชุมนุมอย่างปลอดภัยได้อย่างไร โดย How to ม็อบ ประเภทนี้จะมีอยู่ 2 ช่วงได้แก่ ช่วงก่อนเดือนสิงหาคม และช่วงหลังเดือนสิงหาคม ซึ่งแม้ว่า How to ม็อบ ประเภทนี้จะมีผู้ผลิตเป็นจำนวนมาก แต่เนื้อหาหลักๆ จะมีสาระคล้าย ๆ กัน ซึ่งก่อนเดือนกรกฎาคมนั่นได้มีการพยายามพูดถึงการแต่งกายเพื่อไปเข้าร่วมทางทวิตเตอร์เป็นระยะ ๆ แต่ How to ม็อบ ประเภทนี้จะเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม ดังจะเห็นได้จากการที่เฟซบุ๊คแฟนเพจ เยาวชนปลดแอกได้ทำการโพสต์รูปภาพ How To ม็อบ เพื่อชี้แจงว่าต้องทำอย่างไรเมื่อไปม็อบ โดย How to ม็อบ จะมีลักษณะร่วมกัน

          1. ใส่เสื้อผ้ารัดกุม หรืออย่างน้อยคือแต่งตัวสีดำหรือแต่งตัวด้วยเสื้อสีเข้มเพื่อให้ยากต่อการระบุบตัวตน

          2. ใส่รองเท้าหุ้มส้นเพื่อความคล่องตัวในการเคลื่อนไหว

          3. เตรียมน้ำให้พร้อม เพื่อดื่มดับกระหาย

          4. ใส่หน้ากากอนามัยและแอลกอฮอลฆ่าเชื้อสำหรับกันการแพร่เชื้อโควิด-19

          5. เตรียมร่มกันฝนสำหรับตอนฝนตกหรือการสลายการชุมนุม

          ตัวอย่างที่สำคัญของ How to ม็อบประเภทนี้ได้แก่infographic ของทางเยาวชนปลดแอกที่ได้โพสต์ลงแฟนเพจเฟซบุ๊คในวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

          “แค่ร่างกายต้องการปะทะแก๊สน้ำตาไม่พอ!! ต้องเตรียมพร้อมด้วย DRESS CODE: เสื้อสีดำ เพื่อไว้อาลัยให้กับความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นรายวันในประเทศที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตย - เวลานี้เราไม่ทนอีกแล้ว! 17:00 น. เป็นต้นไป 18 กรกฎาคมนี้! มุ่งตรงไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขจัดต้นตอของปัญหา ถอนโคนเผด็จการที่ฝังรากลึกมายาวนาน *โปรดสวมหน้ากากอนามัยและพกเจลล้างมือ *แจกฟรีพิซซ่า 112 ชิ้นสำหรับผู้ที่มาก่อน *เรามีหน่วยพยาบาล. อย่าให้เรื่องนี้กลายเป็นเรื่องของลูกหลานเราที่ต้องมาเรียกร้องความยุติธรรมไม่จบสิ้นให้มันจบในรุ่นของเรา”[3]

          ทั้งนี้ยังมี How to ม็อบที่ได้อิทธิพลจากการชุมนุมที่ฮ่องกงเป็นพิเศษ ดังเช่นในบทความที่เผยแพร่ลง The Matter ชื่อ “How to เตรียมตัวไปม็อบแบบชาวฮ่องกง ต้องพกอะไรไป ปกปิดตัวตนดิจิทัลอย่างไร?” ซึ่งพยายามเล่าถึงวิธีการเตรียมตัวสำหรับการเคลื่อนไหวแบบชาวฮ่องกง รวมทั้งหลายชิ้นก็แพร่หลายในทวิตเตอร์ ลักษณะของ How to ม็อบที่ได้อิทธิพลจากการชุมนุมในฮ่องกงจะดูเป็นการเตรียมเครื่องป้องกันซึ่งหลายครั้งอาจจะดูไม่จำเป็นเสียเท่าไหร่ด้วย

          นอกจากนั้นการชี้แจงเพื่อให้เกิดการปลอดภัยก็นับเป็น How to ม็อบ ประเภทนี้ด้วยเช่นกันโดยกรณี ที่เด่นชัดที่สุดเป็นโพสต์เฟซบุ๊คขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 ซึ่งได้ทำการโพสต์เพื่อบอกวิธีเตรียมตัวให้ปลอดภัยสำหรับการเข้าร่วมการชุมนุมโดยมีเนื้อหาดังต่อไปนี้

“#เมื่ออยู่MOB วิธีการดูแลตัวเองขณะอยู่ระหว่างการชุมนุม!

          - ใส่ Mask ตลอดการชุมนุม พกน้ำดื่มสะอาดติดตัวไว้เสมอ และโทรศัพท์ต้องพร้อมใช้งาน

          - ปกปิดใบหน้า จุดสังเกตตามร่างกายและสีผม

          - ห้ามใส่คอนแทคเลนส์โดยเด็ดขาด เป็นอันตรายหากโดนแก๊สน้ำตา

          - เขียนเบอร์ติดต่อฉุกเฉินไว้บนต้นขา ต้นแขนหรือเขียนลงกระดาษแล้วใส่ในกระเป๋ากางเกง

          - หลีกเลี่ยงการโพสต์รูปถ่ายที่เห็นใบหน้าของผู้ชุมนุม

          - หลีกเลี่ยงการแลกช่องทางการติดต่อกับคนอื่น

          - หากโดนตรวจบัตรประชาชน ควรขอดูบัตรประจำตัวตำรวจว่าเป็น 'ตำรวจที่มียศระดับร้อยตรีขึ้นไป' หรือไม่หากมียศต่ำกว่าจะไม่มีสิทธิ์ขอตรวจบัตรประชาชน

#เยาวชนปลดแอก ขอขอบคุณข้อมูลบ้างส่วนจาก : ilaw”[4]

          ส่วนHow to ม็อบประเภทสุดท้ายนั่นเป็น How to ม็อบ ประเภทกรณีที่เกิดการสลายการชุมนุมลักษณะของ How to ม็อบ ประเภทนี้จะเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลหรือการรับมือกรณีโดนแก๊สน้ำตาหรือกระสุนยาง ตัวอย่างเช่นข้อมูลจาก Amnesty International Thailand เป็นต้น[5]

          ทั้งนี้บางสำนักข่าวได้รวบรวม infographic How to ม็อบ ซึ่งส่วนมากจะเป็นประเภทที่สองอย่างเช่น กรณีของมติชน [6]หรือ ไทยรัฐ [7]เป็นต้น

 

อ้างอิง

[1] The Momentum, 2563, ฮาวทูม็อบ : ชุมนุมอย่างไร ไม่ให้ผิดกฎหมาย. เข้าถึงจาก  https://themomentum.co/how-to-mob/

[2] iLaw, 2563, 🙅🏼‍♀️🙅🏽ห้ามถ่ายรูป ห้ามยึดบัตร ไม่ใช่ตำรวจทุกคนที่จะขอดูบัตรประชาชนได้. เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/iLawClub/posts/10164128658840551

[3] เยาวชนปลดแอก, 2563, แค่ร่างกายต้องการปะทะแก๊สน้ำตาไม่พอ!! ต้องเตรียมพร้อมด้วย DRESS CODE . เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/FreeYOUTHth/photos/286691736113224

[4] องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2563, #เมื่ออยู่MOB. เข้าถึงจาก https://www.facebook.com/thammasatsu/posts/3104973656206083

[5] Amnesty, 2563, แก๊ซนํ้าตาและสเปรย์พริกไทย: วิธีรับมือเบื้องต้นในที่ชุมนุม. เข้าถึงจาก https://www.amnesty.or.th/latest/blog/826/?__cf_chl_managed_tk__=pmd_.HehebbVWcyuIwdSqwlLBIWetMSGPjFvsRwOmDcMspU-1631199190-0-gqNtZGzNAtCjcnBszQil

[6] มติชน, 2563, โชเชียลแห่แชร์ ‘How To ไปม็อบ’ แต่งตัวอย่างไรให้ปลอดภัย. เข้าถึงจาก https://www.matichon.co.th/politics/news_2355007

[7] ไทยรัฐ, 2563, โซเชียลแชร์วิธี "แต่งตัวไปม็อบ" แนะขั้นตอนรับมือ หากต้องปะทะแก๊สน้ำตา. เข้าถึงจาก https://www.thairath.co.th/news/politic/1911324