สถานกักกันของรัฐ
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร. สติธร ธนานิธิโชติ
บทนำ
สถานกักกันของรัฐ (state quarantine) เป็นสถานที่ซึ่งรัฐจัดสรรไว้สำหรับการกักกันโรคอันตรายและโรคติดต่อร้ายแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่จะเดินทางข้ามพรมแดนเข้าประเทศซึ่งมีความเสี่ยงจะต้องเข้ารับการกักกันโรคเป็นระยะเวลาหนึ่งเพื่อเฝ้าสังเกตอาการของโรคและติดตามไม่ให้นำโรคดังกล่าวเข้ามาแพร่ระบาดภายในประเทศ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อ โควิด-19 ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยได้ใช้มาตรการนี้ในการป้องกันการนำเข้าเชื้อโคโรนาไวรัส โดยได้กำหนดเป็นเงื่อนไขว่าผู้ที่เดินทางระหว่างประเทศจะต้องยินยอมเข้ารับการกักตัวและตรวจหาเชื้อในสถานที่กักกันโรคภายในระยะเวลาที่รัฐกำหนด สำหรับประเทศไทยรัฐบาลได้กำหนดให้ผู้เดินทางที่มีสัญชาติไทยที่เข้ามายังด่านตรวจคนเข้าเมืองต้องกักตัวในสถานกักกันของรัฐโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย (จนกระทั่งถึงวันที่ 31 มิถุนายน 2564) ขณะที่ชาวต่างชาติให้กักตัวในสถานกักกันของรัฐทางเลือกที่เป็นของเอกชนโดยเสียค่าใช้จ่ายด้วยตนเอง ทั้งนี้สถานกักกันของรัฐจึงเกี่ยวข้องกับการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค การควบคุมการเดินทางข้ามพรมแดน และการติดตามสังเกตอาการผู้มีความเสี่ยงว่าจะติดเชื้อโรคระบาดร้ายแรงหรือโรคอันตรายซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้รัฐสามารถจัดการกับโรคระบาดภายในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการลดการนำเข้าผู้ติดเชื้อรายใหม่จากภายนอกประเทศ
ที่มาของการกักกันโรคและการกักกันโรคโควิด-19
การกักกันโรคผู้ที่เดินทางเข้าประเทศปรากฏครั้งแรกในยุโรปยุคกลางช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 เมื่อเกิดการระบาดของเชื้อกาฬโรค (Black Death) ทั้งนี้ คำว่า “quarantine” ที่แปลว่า “การกักกันโรค” นั้น มีรากศัพท์มาจากคำว่า quarantino ในภาษาอิตาเลียน ซึ่งแปลว่า "ระยะเวลา 40 วัน" ซึ่งเดิมทีผู้ที่เดินทางทางเรือมาเทียบท่าที่เมืองรากุซา (Ragusa ปัจจุบันอยู่ในประเทศโครเอเชีย) ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของเวนิสจะต้องกักตัวอยู่บนเรือเป็นเวลา 30 วัน (trentino) ก่อนที่จะขยายเวลาเป็น 40 วันในภายหลัง อันเป็นที่มาของคำว่า quarantine ที่ใช้ในภาษาอังกฤษในปัจจุบัน[1] อันที่จริงแล้วการแยกกักตัว (isolation) มีความแตกต่างจากการกักตัว (quarantine) และเป็นวิธีการจัดการกับโรคระบาดที่มีมาก่อนการระบาดของกาฬโรค โดยในช่วงครึ่งแรกของคริสต์ศตวรรษที่ 14 ในเวนิส เกิดการระบาดของโรคเรื้อน (Leprosy) จึงมีการสร้างสถานพยาบาลขึ้นนอกศูนย์กลางของเมืองไว้สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อโดยเฉพาะ[2] ขณะที่การกักกันโรคนั้นเกี่ยวข้องกับการกักตัวผู้มีความเสี่ยงทั้งหมด (ผู้ป่วยยืนยัน ผู้ที่คาดว่าจะติดเชื่อ และผู้สัมผัสสองกลุ่มแรกโดยตรง) ณ ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในรัฐ-ชาติสมัยใหม่ ที่เส้นพรมแดนและอำนาจอธิปไตยของรัฐถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการบริหารจัดการกิจการภายในประเทศ
ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้ออกเอกสารแนะนำว่าผู้ที่ได้สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน หรือ ผู้มีความเป็นไปได้ที่จะติดเชื้อให้เข้ารับการกักตัวในสถานที่ที่เหมาะสม หรือ ในห้องเอกเทศภายในที่พักอาศัยเป็นเวลา 14 วัน นับจากวันที่ได้สัมผัสผู้ป่วยยืนยัน หรือ ผู้ที่คาดว่าจะติดเชื้อ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโคโรนาไวรัส ทั้งนี้ผู้ที่เข้ารับการกักตัวควรที่จะได้รับการอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องดื่ม อุปกรณ์ป้องกัน สุขอนามัย และการติดต่อสื่อสารรวมถึงการเข้าถึงการศึกษาของเยาวชน การจ่ายเงินชดเชย หรือการทำงานทางไกล และหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องเฝ้าระวังและสังเกตุอาการของผู้เข้ารับการกักตัวอย่างใกล้ชิด[3] องค์การอนามัยโลกยังระบุว่าผู้สัมผัสในที่นี้ หมายถึง ผู้ที่เคยพูดคุยใกล้ชิดกับผู้ป่วยยืนยัน หรือผู้ที่คาดว่าจะติดเชื้อภายในระยะห่าง 1 เมตรเป็นเวลานานกว่า 15 นาที ผู้ที่เคยสัมผัสโดยตรง หรือ ต้องดูแลกลุ่มเสี่ยงโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม หรือเงื่อนไขอื่นๆ ตามการประเมินความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่[4] ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการกักกันโรคมีวัตถุประสงค์ที่จะชะลอการแพร่ระบาดของโรคและเฝ้าระวังโรคในกรณีบุคคลที่ไม่มีอาการของโรค แต่เคยมีปฏิสัมพันธ์ติดต่อ สัมผัส หรือมาจากพื้นที่เสี่ยง หากภายในระยะเวลากักตัวที่กำหนดไม่พบเชื้อและไม่มีอาการของโรคก็จะสามารถกลับมาใช้ชีวิตปกติได้ ขณะที่ผู้ป่วยยืนยันและผู้ป่วยที่คาดว่าจะติดเชื้อจะถูกแยกตัวออกไปเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและเหมาะสมต่อไป
นอกจากประเทศต่างๆ จะประกาศใช้มาตรการล็อคดาวน์ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เพื่อจำกัดการสัญจรเดินทางภายในและระหว่างประเทศแล้ว การกำหนดเงื่อนไขให้ผู้เดินทางเข้าประเทศต้องยินยอมเข้ารับการกักตัวยังเป็นอีกหนึ่งมาตรการสำคัญที่จะคัดกรองผู้ปลอดเชื้อออกจากผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาพร้อมกัน ทั้งยังป้องกันผู้ติดเชื้อที่ยังไม่แสดงอาการไม่ให้นำเชื้อจากภายนอกเข้ามาแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นภายในประเทศ ตัวอย่างของประเทศที่กำหนดให้มีการกักตัวทันทีภายหลังเดินทางเข้าประเทศ (ข้อมูล ณ วันที่ 24 ตุลาคม 2521) ได้แก่ ออสเตรเลีย ระบุให้ผู้เดินทางเข้าประเทศทางอากาศ หรือ ทางเรือต้องเข้ารับการกักตัวในสถานกักกันของรัฐเป็นเวลา 14 วัน (ยกเว้นบุคคลที่มาจากพื้นที่สีเขียว) และได้รับการทดสอบหา เชื้อโควิด-19 ภายใน 48 ชั่วโมง และระหว่างวันที่ 10 ถึง 12 ของการกักตัว[5] ในแคนาดาชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศจะต้องแสดงแผนการกักตัว 14 วัน โดยในวันที่ 8 และวันสุดท้ายของการกักตัวจะต้องเข้ารับการทดสอบหาเชื้อโควิด-19 และมาตรการนี้มีข้อยกเว้นสำหรับบุคคลที่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ครบโดสแล้ว[6] ในกรณีของเนเธอร์แลนด์ นอกเหนือจากผู้ที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว บุคคลผู้เดินทางเข้าประเทศจะต้องยินยอมกักตัวด้วยตนเอง(self-quarantine) เป็นเวลา 10 วัน หากว่าเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงสูง เช่น อัฟกานิสถาน บราซิล คอสตาริกา อิสราเอล มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ศรีลังกา ประเทศไทย และสหราชอาณาจักร เป็นต้น[7]
สถานกักกันของรัฐในประเทศไทย
ในประเทศไทยก็มีมาตรการกักกันโรคเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ภายใต้พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558[8] ระบุว่า การกักกัน หมายถึง การควบคุมผู้สัมผัสโรคหรือพาหะให้อยู่ในที่เอกเทศเพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่โดยตรง หรือ โดยอ้อมไปยังผู้อื่น ซึ่งอาจได้รับเชื้อนั้นนั้นได้จนกว่าจะพ้นระยะฟักตัวของโรค หรือจนกว่าจะพ้นความเป็นพาหะ (มาตรา 4) ซึ่งรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติมีอำนาจกำหนดชื่อและอาการสำคัญของโรคติดต่ออันตรายและโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง รวมถึงกำหนด
และยกเลิกให้ช่องทางเข้าออกประเทศเป็นด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศด้วย (มาตรา 6) ทั้งนี้ ในปี 2559 และปี 2561 ได้มีประกาศขึ้นทะเบียนโรคติดต่อร้ายแรง 13 โรค ได้แก่ กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง ไข้ทรพิษ ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก ไข้เวสต์ไนล์ ไข้เหลือง โรคไข้ลาสซา โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์ โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง (โรคซาร์ส) โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (โรคเมอร์ส) และวัณโรค จนกระทั่งวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2563 โรคติดเชื้อโควิด-19 ก็ถูกบรรจุไว้เป็นโรคติดต่ออันตรายลำดับที่ 14 ของประเทศไทย[9]
เพื่อรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเดือนกรกฎาคม 2563 รัฐบาลจึงได้กำหนดแนวทางและสถานที่กักกันสำหรับผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยทุกช่องทาง ซึ่งระบุสถานกักกันไว้ 5 ประเภท[10] ได้แก่
1) สถานกักกันของรัฐ (State Quarantine) ซึ่งใช้สถานประกอบการธุรกิจโรงแรม หรือสถานที่ที่รัฐกำหนดเป็นพื้นที่กักกันโรค
2) สถานกักกันโรคท้องที่ (Local Quarantine) เป็นสถานกักกันระดับจังหวัด
3) สถานกักกันของรัฐทางเลือก (Alternative State Quarantine) ซึ่งใช้สถานประกอบการธุรกิจโรงแรมหรือสถานที่ที่รัฐกำหนด
4) สถานกักกันในโรงพยาบาล (Hospital Quarantine) และ
5) สถานกักกันในโรงพยาบาลทางเลือก (Alternative Hospital Quarantine) สำหรับผู้เดินทางที่มีสัญชาติไทยนั้นสามารถเข้ารับการกักตัวในสถานกักกันของรัฐและสถานกักกันระดับท้องที่โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ
ขณะที่ ชาวต่างชาติจะต้องเข้ารับการกักตัวในสถานกักกันของรัฐทางเลือกโดยเสียค่าใช้จ่ายทั้งหมดด้วยตนเอง ส่วนคนไทยที่มีนัดหมายล่วงหน้าเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนั้น สามารถเข้ารับการกักตัวในโรงพยาบาลรัฐ หรือ เอกชนซึ่งรัฐจะอุดหนุนค่าใช้จ่ายในการกักตัวและการตรวจหาเชื้อ โควิด-19 แต่ไม่รวมค่าใช้จ่ายส่วนเกินอื่นๆ ที่ผู้กักตัวจะต้องชำระด้วยตนเองตามความสมัครใจ ส่วนชาวต่างชาติที่เลือกกักตัวในสถานกักกันในโรงพยาบาลทางเลือกเอกชนนั้นต้องชำระค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด
จนกระทั่งถึงวันที่ 18 มิถุนายน 2564 ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้ประกาศยกเลิกสิทธิในการเข้ารับการกักตัวของคนไทยในสถานกักกันของรัฐสำหรับประชาชนทั่วไป แต่ให้ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศจะต้องกักตัวในสถานกักกันของรัฐทางเลือกแทน ซึ่งก็คือ สถานประกอบการธุรกิจโรงแรมที่ปรับสภาพให้เป็นที่กักกันโรคตามมาตรฐานที่รัฐกำหนดและให้ผู้เดินทางเสียค่าใช้จ่ายที่พักระบบบริการอื่นๆ เอง ซึ่งรัฐยังคงให้สิทธิคนไทยไม่ต้องชำระค่าใช้จ่ายในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นจำนวนสองครั้งตลอดระยะเวลา 14 วันของการกักตัว และให้มีผลนับตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ศบค. ให้เหตุผลว่าการยกเลิกสถานกักกันของรัฐนั้นเนื่องจากมีผู้เดินทางสัญชาติไทยเข้าประเทศเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้มีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องการจะลดค่าใช้จ่ายของรัฐแต่ยังคงสนับสนุนบางส่วนสำหรับบุคคลสัญชาติไทย[11]
บทส่งท้าย
สถานกักกันของรัฐและสถานกักกันของรัฐทางเลือก ถือเป็นมาตรการสำคัญที่ช่วยลดการนำเข้าผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่จากภายนอกประเทศ ทั้งนี้ผู้ที่จะเดินทางเข้าประเทศไทยในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จำเป็นต้องได้รับใบอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศ (Certificate of Entry) ที่ออกให้โดยสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยประจำประเทศต้นทาง ทั้งยังมีระบบติดตามและแจ้งเตือนผู้เดินทางทุกคนที่เดินทางเข้ามาผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองผ่านแอปพลิเคชัน Thailand Plus อันระบุเที่ยวเดินทาง และยานพาหนะที่เดินทางรวมถึงระดับความเสี่ยงที่จะสัมผัสผู้ติดเชื้อหรือผู้ที่คาดว่าจะติดเชื้อที่ร่วมเดินทางมาพร้อมกัน[12] อย่างไรก็ตามแม้หลายฝ่ายจะประเมินว่ารัฐบาลไทยสามารถจัดการกับผู้เดินทางเข้าประเทศตามช่องทางด่านตรวจคนเข้าเมืองได้อย่างค่อนข้างมีประสิทธิภาพ[13] ทว่าผู้ติดเชื้อรายใหม่จากภายนอกประเทศที่สำคัญนั้นมักมาจากการเล็ดลอดเข้าเมืองแบบผิดกฎหมายไม่ว่าจะเป็นคนไทยเองหรือชาวต่างชาติในหลายกรณี การหลบหนีเข้าเมืองของแรงงานประเทศเพื่อนบ้านกลับมีข่าวว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย และ/หรือ อำนวยความสะดวก จนกระทั่งผู้เข้าเมืองผิดกฎหมายเหล่านั้นที่ไม่ได้รับการกักตัวในสถานที่ที่รัฐกำหนดกลายเป็นผู้แพร่เชื้อแก่ชุมชนและผู้คนจำนวนมาก[14] ซึ่งยากแก่การควบคุมตรวจตรา ทั้งยังเป็นปัญหาเรื้อรังที่รัฐบาลไทยไม่สามารถแก้ไขให้หมดไปได้ในเวลาอันใกล้
บรรณานุกรม
“Considerations for quarantine of contacts of COVID-19 cases." World Health Organization (June 25, 2021). Available <https://www.who.int/publications/i/item/WHO-2019-nCoV-IHR-Quarantine-2021.1>. Accessed October 2, 2021.
“Coronavirus (COVID-19) advice for international travellers." Department of Health, Australian Government (October 16, 2021). Available <https://www.health.gov.au/news/health-alerts/novel-coronavirus-2019-ncov-health-alert/coronavirus-covid-19-travel-and-restrictions/coronavirus-covid-19-advice-for-international-travellers>. Accessed October 2, 2021.
“Mandatory quarantine or isolation." Government of Canada (September 22, 2021). Available <https://travel.gc.ca/travel-covid/travel-restrictions/isolation>. Accessed October 2, 2021.
“Self-quarantine upon arrival in the Netherlands." Government of the Netherlands. Available <https://www.government.nl/topics/coronavirus-covid-19/visiting-the-netherlands-from-abroad/self-quarantine>. Accessed October 3, 2021.
“The Origin Of The Word ‘Quarantine’." Science Friday (September 4, 2018). Available <https://www.sciencefriday.com/articles/the-origin-of-the-word-quarantine/>. Accessed October 2, 2021.
“เตรียมใช้แอปฯ "Thailand Plus" ติดตามคุม COVID-19." Thai PBS (22 พฤศจิกายน 2563). เข้าถึงจาก <https://news.thaipbs.or.th/content/298557>. เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564.
“เปิดกฎหมาย "14 โรคติดต่ออันตราย" ใช้อดีตสอนปัจจุบันพิทักษ์มนุษยชาติ." ไทยรัฐออนไลน์ (3 มีนาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/society/1784926>. เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564.
“เพื่อไทยจวกรัฐบาลหมดสภาพปล่อยแรงงานข้ามชาติติดโควิดเข้าประเทศ." โพสต์ทูเดย์ (15 พฤษภาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/652895>. เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564.
“แฉขบวนการขนแรงงานเถื่อน ชักศึกเข้าบ้าน ทำโควิดระบาดรอบใหม่ในไทย." ไทยรัฐออนไลน์ (24 ธันวาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2001189>. เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564.
“ประกาศ 'สถานกักกัน' โควิด 5 ประเภท รับ 'ต่างชาติ' มี 2 แบบ หลักเกณฑ์ ข้อปฏิบัติเข้ม!." PPTV (14 กรกฎาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/129342>. เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564.
““ปราการด่านแรกของไทย” หัวใจสำคัญของการเฝ้าระวังโรค." World Health Organization (11 ธันวาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.who.int/thailand/news/feature-stories/detail/point-of-entry-screening-and-quarantine-systems-enabled-thailand-to-control-covid-19-th>. เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564.
“พระราชบัญญัติโรคติดต่อพ.ศ. 2558." ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม 132. ตอนที่ 86ก. วันที่ 8 กันยายน 2558.
“ศบค. ยกเลิกกักตัวฟรี! “บินเข้า-ออก” ต้องจ่ายค่าที่พักเอง มีผล 1 ก.ค.นี้." ประชาชาติธุรกิจ (18 มิถุนายน 2564). เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/general/news-693849>. เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564.
อ้างอิง
[1] "The Origin Of The Word ‘Quarantine’," Science Friday (September 4, 2018). Available <https://www.sciencefriday.com/articles/the-origin-of-the-word-quarantine/>. Accessed October 2, 2021.
[2] "The Origin Of The Word ‘Quarantine’," Science Friday (September 4, 2018). Available <https://www.sciencefriday.com/articles/the-origin-of-the-word-quarantine/>. Accessed October 2, 2021.
[3] "Considerations for quarantine of contacts of COVID-19 cases," World Health Organization (June 25, 2021). Available <https://www.who.int/publications/i/item/WHO-2019-nCoV-IHR-Quarantine-2021.1>. Accessed October 2, 2021.
[4] "Considerations for quarantine of contacts of COVID-19 cases," World Health Organization (June 25, 2021). Available <https://www.who.int/publications/i/item/WHO-2019-nCoV-IHR-Quarantine-2021.1>. Accessed October 2, 2021.
[5] "Coronavirus (COVID-19) advice for international travellers," Department of Health, Australian Government (October 16, 2021). Available <https://www.health.gov.au/news/health-alerts/novel-coronavirus-2019-ncov-health-alert/coronavirus-covid-19-travel-and-restrictions/coronavirus-covid-19-advice-for-international-travellers>. Accessed October 2, 2021.
[6] "Mandatory quarantine or isolation," Government of Canada (September 22, 2021). Available <https://travel.gc.ca/travel-covid/travel-restrictions/isolation>. Accessed October 2, 2021.
[7] "Self-quarantine upon arrival in the Netherlands," Government of the Netherlands. Available <https://www.government.nl/topics/coronavirus-covid-19/visiting-the-netherlands-from-abroad/self-quarantine>. Accessed October 3, 2021.
[8] "พระราชบัญญัติโรคติดต่อพ.ศ. 2558," ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 132, ตอนที่ 86ก, วันที่ 8 กันยายน 2558.
[9] "เปิดกฎหมาย "14 โรคติดต่ออันตราย" ใช้อดีตสอนปัจจุบันพิทักษ์มนุษยชาติ," ไทยรัฐออนไลน์ (3 มีนาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/news/society/1784926>. เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564.
[10] "ประกาศ 'สถานกักกัน' โควิด 5 ประเภท รับ 'ต่างชาติ' มี 2 แบบ หลักเกณฑ์ ข้อปฏิบัติเข้ม!," PPTV (14 กรกฎาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.pptvhd36.com/news/ประเด็นร้อน/129342>. เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564.
[11] "ศบค. ยกเลิกกักตัวฟรี! “บินเข้า-ออก” ต้องจ่ายค่าที่พักเอง มีผล 1 ก.ค.นี้," ประชาชาติธุรกิจ (18 มิถุนายน 2564). เข้าถึงจาก <https://www.prachachat.net/general/news-693849>. เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564.
[12] "เตรียมใช้แอปฯ "Thailand Plus" ติดตามคุม COVID-19," Thai PBS (22 พฤศจิกายน 2563). เข้าถึงจาก <https://news.thaipbs.or.th/content/298557>. เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564.
[13] "“ปราการด่านแรกของไทย” หัวใจสำคัญของการเฝ้าระวังโรค," World Health Organization (11 ธันวาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.who.int/thailand/news/feature-stories/detail/point-of-entry-screening-and-quarantine-systems-enabled-thailand-to-control-covid-19-th>. เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564.
[14] "แฉขบวนการขนแรงงานเถื่อน ชักศึกเข้าบ้าน ทำโควิดระบาดรอบใหม่ในไทย," ไทยรัฐออนไลน์ (24 ธันวาคม 2563). เข้าถึงจาก <https://www.thairath.co.th/scoop/theissue/2001189>. เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564. และ "เพื่อไทยจวกรัฐบาลหมดสภาพปล่อยแรงงานข้ามชาติติดโควิดเข้าประเทศ," โพสต์ทูเดย์ (15 พฤษภาคม 2564). เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/politic/news/652895>. เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2564.