สวนบ้านแก้ว
สวนบ้านแก้ว
ผู้เรียบเรียง ศิบดี นพประเสริฐ ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ
“สวนบ้านแก้ว” คือที่ประทับแปรพระราชฐานในจังหวัดจันทบุรีของ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ระหว่าง พ.ศ. 2493-2511
ความเป็นมาของสวนบ้านแก้ว เริ่มต้นขึ้นเมื่อสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นการถาวรใน พ.ศ. 2492 ในช่วงแรก รัฐบาลไทยในขณะนั้นมีดำริจะจัดวังตำบลท่าช้าง อันเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์[1] พระชนกในพระองค์ ถวายเป็นที่ประทับ ตามคำปรารภของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เนื่องจากวังศุโขทัยซึ่งเป็นที่ประทับเดิมมาตั้งแต่ครั้งอภิเษกสมรส ยังคงใช้เป็นที่ทำการของกระทรวงสาธารณสุข แต่ด้วยสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ (พระอิสริยยศในครั้งนั้น) กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ไปประทับยัง “ตำหนักหอ” วังสระปทุม อันเป็นที่ประทับเดิมของสมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ กับสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์[2] สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ประทับ ณ วังสระปทุมเป็นเวลาประมาณเกือบ 2 ปี จึงเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับที่พระตำหนักสวนบ้านแก้ว จังหวัดจันทบุรี
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี มีพระราชอัธยาศัยโปรดธรรมชาติอย่างยิ่ง ดังปรากฏว่า ที่วังศุโขทัยและพระตำหนักต่างๆ ในประเทศอังกฤษนั้นแวดล้อมไปด้วยสวนดอกไม้ ต้นไม้ใหญ่น้อยต่างๆ และในส่วนพระองค์ก็โปรดการทำสวนเป็นพระราชจริยวัตร ดังนั้น ภายหลังจากที่เสด็จฯ กลับจากประเทศอังกฤษแล้ว จึงมีพระราชดำริที่จะหาที่ดินในต่างจังหวัดที่มีอากาศดี เพื่อสร้างพระตำหนักที่ประทับสำหรับพักผ่อนพระราชอิริยาบถและทรงเยี่ยมเยียนประชาชน หม่อมเจ้าประดิษฐา จักรพันธุ์[3] ผู้จัดการสวนบ้านแก้วในเวลาต่อมา ทรงเล่าว่า ในการหาที่ดินในต่างจังหวัดนั้น สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี มีพระราชดำรำไว้ 2 แห่ง คือ จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดจันทบุรี เหตุผลที่ทรงตัดสินพระราชหฤทัยเลือกจังหวัดจันทบุรีนั้น เพราะทรงเห็นว่าจังหวัดเชียงใหม่อยู่ห่างไกลจากกรุงเทพฯ มากเกินไป อีกทั้งการเดินทางยังไม่สะดวก ต้องเสด็จฯ ทางรถไฟเป็นประจำ จึงทรงสนพระราชหฤทัยจังหวัดจันทบุรี เพราะระยะทางใกล้กว่า และสามารถเสด็จฯ เข้ากรุงเทพฯ ได้ในวันเดียว ประกอบกับผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีในครั้งนั้นได้กราบบังคมทูลแนะนำให้เสด็จฯ ไปประทับที่นั่นด้วย พระราชดำริที่จะมีที่ประทับอยู่นอกพระนครนั้น สะท้อนได้จากการที่หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี สวัสดิวัตน์ ได้พูดออกอากาศในรายการ “ครอบจักรวาล” ทางสถานีวิทยุ ททบ. 5 ในช่วงเวลาที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
พระบรมราชินี สวรรคต ดังใจความต่อไปนี้[4]
“...ทรงมีความคิดที่จะหาที่ปลูกต้นไม้ต้นไร่ ทำสวนเล่น คือทรงรับเอานิสัยของคนอังกฤษมา คนอังกฤษ นี่ถือตัวว่าเขาเป็น “คนบ้านนอก” เขาจะเข้ามาอยู่ในลอนดอนก็เมื่อมีธุรกิจมีงานมีการ แต่พอถึงเสาร์อาทิตย์ เขาจะต้องกลับไปต่างจังหวัด เพราะว่าเศรษฐีเมืองอังกฤษมีที่ดินอย่างมหาศาล พวกขุนน้ำขุนนางมีที่ดินเยอะแยะ บางทีมีป่าส่วนตัว พอถึงเวลาพักผ่อนก็จะไปตามป่า ตามไร่ ตามนาของตัวเอง ทรงรับนิสัยอังกฤษแบบนี้มาแน่นอน ก็รับสั่งให้เจ้ากาวิละ ณ เชียงใหม่ ลองไปหาที่ดูซิที่อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ โดยทางรถยนต์ คือ เดินทางไม่เกิน '1 วัน
มีไหมอย่างที่จันทบุรี...”
ใน พ.ศ. 2493 พลตรีหม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ (หม่อมราชวงศ์เฉลิมลาภ ทวีวงศ์) เลขาธิการพระราชวัง
ในขณะนั้น จึงได้สืบหาที่ดินในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี และได้กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรที่ดิน
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ได้เสด็จฯ ไปตามถนนที่ยังไม่ได้ลาดยาง เต็มไปด้วยหลุมบ่อและฝุ่นละออง รถยนต์พระที่นั่งแล่นแบบกระแทกกระเทือนไปตลอดทางเป็นเวลาถึงครึ่งวัน ทั้งยังต้องผ่านแม่น้ำลำคลองต่างๆ ซึ่งจำเป็นต้องข้ามสะพานชั่วคราวบ้าง หรือแพขนานยนต์ที่ตกค้างมาจากสมัยสงครามบ้างในที่สุด ทรงพบพื้นที่ที่ต้องพระราชหฤทัยที่ตำบลสวนแก้ว ตรงทางแยกเข้าตัวเมืองและทางไปจังหวัดตราด จึงทรงตัดสินพระราชหฤทัยกู้เงินจากธนาคารเพื่อทรงซื้อที่ดินบริเวณดังกล่าวจากเจ้าของที่ดินหลายรายรวมกันได้ 687 ไร่ มีลักษณะเป็นที่ดินอยู่สองฝั่งคลองบ้านแก้ว และพระราชทานนามที่ดินตามชื่อตำบลว่า “สวนบ้านแก้ว”[5]
ในระยะแรกนั้น สวนบ้านแก้วยังมีสภาพเป็นป่า จึงมีการจัดสร้างที่ประทับชั่วคราวและมีเรือนรับแขก มีลักษณะเป็นแคมป์ทำด้วยไม้ไผ่หลังคามุงด้วยใบจากขึ้นก่อน แล้วจึงสร้างพระตำหนักที่ประทับและเรือนพัก ข้าราชบริพาร สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงพยายามประหยัดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้าง มากที่สุด จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำการเผาอิฐเองที่ไร่ โดยจ้างช่างมาสอนคนงานพื้นเมืองในการทำเตาเผา นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ทำกระเบื้องมุงหลังคาเองอีกด้วย[6]
เมื่อสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ ไปประทับในระยะแรกๆ มีผู้ตามเสด็จไปอยู่ด้วยประมาณ 100 กว่าคน ขณะนั้น สวนบ้านแก้วยังไม่มีไฟฟ้า ไม่มีน้ำประปาใช้ ต้องทำเครื่องปั่นไฟฟ้าใช้เอง และต้องสูบน้ำจากคลองบ้านแก้ว อีกทั้งไม่มีโทรศัพท์ เมื่อมีเรื่องด่วนที่ต้องติดต่อไปยังกรุงเทพฯ ต้องเข้าไปใช้โทรเลขในตัวเมืองซึ่งห่างออกไปจากสวนบ้านแก้วประมาณ 8 กิโลเมตร[7]
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าประดิษฐา จักรพันธุ์ ทรงเป็นผู้จัดการสวนบ้านแก้ว มีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการในเรื่องต่างๆ และพระราชทานพระราชดำริให้ปลูกพืชสวนครัว และผลไม้นานาชนิด ทั้งที่เป็นพืชที่ทรงนำมาจากต่างถิ่นและพืชในท้องถิ่น และเลี้ยงสัตว์ พันธุ์ต่างๆ ด้วยต้องพระราชประสงค์ให้สวนบ้านแก้วเป็นพื้นที่ตัวอย่างด้านการเกษตรมากกว่าเพื่อทำการค้า ดังนั้น เมื่อมีการทดลองว่าการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ชนิดใดได้ผลดี ก็จะทรงนำความรู้และผลที่ได้จากการทดลองนั้นไปแนะนำและเผยแพร่แก่ประชาชนในท้องถิ่นต่อไป ในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักวิชาการจากสถานีทดลองการเกษตรที่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นข้าราชบริพารเก่ามาช่วยแนะนำประชาชนที่มีเรือกสวนไร่นาของตนเองในละแวกนั้น และอาศัยเวลาที่ว่างจากการทำงานมารับจ้างทำไร่ที่สวนบ้านแก้ว ซึ่งนอกจากจะช่วยให้ประชาชนมีรายได้พิเศษแล้ว พวกเขาเหล่านั้นยังสามารถนำความรู้ที่ได้จากสวนบ้านแก้วไปปรับปรุงใช้ในกิจการของตนเองอีกด้วย[8]
การทดลองปลูกพืชไร่ต่างๆ นั้น ในระยะแรก สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกถั่วลิสงและนุ่น โดยมีพระราชประสงค์ให้ปลูกเป็นตัวอย่างแก่ประชาชน แต่เนื่องจากพืชทั้งสองชนิดเป็นพืชที่ไม่เหมาะสมกับภูมิอากาศที่มีฝนตกชุกในเขตจังหวัดจันทบุรี การปลูกพืชทั้งสองชนิดจึงไม่ได้รับความนิยม อย่างไรก็ตาม พืชและผลไม้ต่างๆ ที่ปลูกในระยะนั้นส่วนใหญ่เป็นการปลูกทดลองเพื่อเป็นตัวอย่างแก่ประชาชน ผลิตผลที่ได้ทรงนำออกพระราชทานแจกจ่ายทั้งพระประยูรญาติและบุคคลต่างๆ ต่อมา ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ปลูกเงาะ ลางสาด มังคุด ลิ้นจี่ พริกไทย มันสำปะหลัง ส้มเขียวหวาน และทุเรียน ดังรายละเอียดที่หม่อมเจ้าประดิษฐา จักรพันธุ์ ทรงเล่าว่า
“...ได้ทดลองปลูกมันสำปะหลังเป็นจำนวนร้อยๆ ไร่ เพื่อกันไม่ให้หญ้าขึ้นรก และไม่ให้ดินไหล ได้ผลดีมาก จนเคยนำออกขาย ภายหลังจากปลูกมันสำปะหลังแล้ว ได้ปลูกส้มเขียวหวานประมาณ '3,000 ต้น โดยซื้อกิ่งชำจากสถานีทดลองเกษตรของจันทบุรี นอกจากนี้ยังทดลองปลูกพริกไทยประมาณ 1 ไร่ สำหรับพระราชทานเป็นของฝากแก่บุคคลต่างๆ และโปรดเกล้าฯ ให้นำทุเรียนพันธุ์ใหม่จากต่างถิ่นมาปลูก คือ พันธุ์หมอนทอง อีกทั้งยังมีการปลูกแตงไทย และแตงโม โดยหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ทรงนำมาทดลองปลูกประมาณ 8 ไร่ ทรงดูแลอย่างดี และทดลองนำพันธุ์แตงโมต่างๆ มาปลูก มีพันธุ์หนึ่งได้ผลดีมาก เคยปรากฏว่ามีน้ำหนักถึงลูกละ 15 ก.ก. แตงโม ที่ทรงนำมาปลูกนี้ สมเด็จฯ เสวยเอง และพระราชทานแก่บุคคลต่างๆ จึงไม่ได้นำออกขายทั่วไป...” [9]
นอกจากนี้ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ยังทรงให้มีการทดลองทำนาในบริเวณสวนบ้านแก้ว ซึ่งมีโรงสีของพระองค์เอง และเนื่องจากลักษณะของพื้นที่เป็นเนินเขา จึงปลูกข้าวแบบ ข้าวไร่ โดยทดลองปลูกข้าวพันธุ์หอมเหลือง แต่ปลูกในจำนวนไม่มาก ส่วนการปศุสัตว์ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ส่งไก่พันธุ์ไข่จากต่างประเทศหลากหลายพันธุ์เพื่อทดลองเลี้ยงประมาณ 2,000 ตัว และฟักไข่ไก่ด้วยเครื่อง นอกจากนี้ ยังทรงเลี้ยงเป็ดพันธุ์ปักกิ่ง ห่าน และวัวพันธุ์เนื้อประมาณ 100 ตัว โดยเลี้ยงตามธรรมชาติเพื่อช่วยในการปราบหญ้า การที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงทดลองเลี้ยงสัตว์นั้น เพราะมีพระราชประสงค์ให้นำความรู้ที่ได้จากการทดลองไปเผยแพร่แก่ประชาชนต่อไปเช่นกัน ทั้งนี้ หม่อมเจ้าประดิษฐา จักรพันธุ์ ทรงเล่าว่า
“...สมเด็จฯ ทรงเคยขับรถแทรคเตอร์และตัดหญ้าด้วยพระองค์เอง เมื่อมีการปลูกข้าว สมเด็จฯ เคยทรงเกี่ยวข้าวและสีข้าวเอง นอกจากนี้ยังทรงปลูกถั่วลิสงเอง และทรงเก็บเองด้วย โดยผมและหม่อมราชวงศ์บรรลือศักดิ์ กฤดากร เตรียมไถปราบดินไว้ให้...” [10]
นอกจากจะทรงทำการเกษตรแล้ว สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ยังมีพระราชอัธยาศัยที่โปรดดอกไม้มาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเรือนเพาะชำส่วนพระองค์ เมื่อทรงว่างจากพระราชภารกิจ ก็โปรดที่จะประทับในเรือนเพาะชำ ทรงปลูกต้นไม้ที่สั่งพันธุ์มาจากต่างประเทศ ทรงดูแลไม้ดอกไม้ประดับเหล่านั้นด้วยพระองค์เองตั้งแต่เช้าถึงกลางวันจนเป็นพระราชจริยวัตรประจำ ทรงปลูกดอกไม้ตามถนนในพระตำหนัก ทรงเลี้ยงสุนัข เลี้ยงนกหงส์หยก และปลาชนิดต่างๆ ระหว่างที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ประทับอยู่ ณ สวนบ้านแก้วนี้ มีพระประยูรญาติและบุคคลต่างๆ เดินทางมาเฝ้าฯ เสมอ โดยเฉพาะในช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษา ดังความที่หม่อมราชวงศ์สายสิงห์ (สวัสดิวัตน์) ศิริบุตร ซึ่งไปเฝ้าฯ ใน พ.ศ. 2495 และพักอยู่ที่สวนบ้านแก้วประมาณ 1 เดือน เล่าว่า
“...สวนบ้านแก้วสวยงามมาก ที่พักอยู่สบาย สมเด็จฯ ทรงพระดำเนินตรวจสวนทั้งเช้าและเย็นเสมอ เมื่อถึงวันเฉลิมพระชนมพรรษา พระองค์จะทรงบาตรและพระราชทานเลี้ยง มีพระญาติและบุคคลต่างๆ เข้าเฝ้าฯ มากมาย รวมทั้งพระอาคันตุกะบุคคลสำคัญที่ขอเข้าเฝ้าฯ เพื่อถวายพระพร เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวาปีบุษบากร พระองค์เจ้าจุมภฏพงศ์บริพัตร เอกอัครราชทูตอังกฤษ ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม
เป็นต้น...” [11]
สวนบ้านแก้ว ประกอบไปด้วยกลุ่มอาคารที่สำคัญๆ ดังต่อไปนี้
1. พระตำหนักดอนแค (ตำหนักแดง)[12]
นามพระตำหนักดอนแค มีที่มาจากบริเวณถนนหน้าพระตำหนักปลูกต้นแคฝรั่ง จึงเรียกขานกันว่า
“ดอนแค” เป็นพระตำหนักที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ประทับสำหรับเจ้านายชั้นผู้ใหญ่และราชเลขานุการส่วนพระองค์ มีลักษณะเป็นอาคารสองชั้นแบบยุโรปสร้างด้วยไม้สักทาสีแดง มีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่ด้านหลังตำหนัก เดิมเคยเป็นที่พักของหม่อมราชวงศ์สมัครสมาน กฤดากร ราชเลขานุการ ต่อมาเมื่อราชเลขานุการถึงแก่กรรม หม่อมเจ้าผ่องผัสมณี จักรพันธุ์[13] พระขนิษฐา
ของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ทรงดำรงตำแหน่งราชเลขานุการ และประทับที่พระตำหนักดอนแค
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ได้เสด็จฯ มาประทับกับหม่อมเจ้าผ่องผัสมณี จนกระทั่ง เสด็จฯ กลับไปประทับ
ณ วังศุโขทัยเป็นการถาวร
2. พระตำหนักใหญ่ (ตำหนักเทา)[14]
สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระตำหนักใหญ่
(พระตำหนักเทา) บนเนินที่ลาดลงไปยังหุบเขา ซึ่งเป็นที่ประทับและรับรองแขก พระตำหนักเป็นอาคารแบบครึ่งตึกครึ่งไม้ชั้นครึ่ง รูปทรงยุโรป ทาสีเทา ชั้นบนเป็นห้องบรรทมซึ่งมีเฉลียงที่พระองค์สามารถทอดพระเนตรทิวทัศน์อันงดงามของสวนบ้านแก้วได้กว้างไกล ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) ได้เสด็จฯ มาที่สวนบ้านแก้ว พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงปลูกต้นจำปาไว้ด้านข้างพระตำหนักใหญ่
และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงปลูกต้นเงาะไว้บริเวณเดียวกัน
3. เรือนเขียว[15]
เรือนเขียวเป็นเรือนไม้ชั้นเดียวทาสีเขียวทั้งหลัง ยกใต้ถุนสูงจากพื้น มีระเบียงหน้าบ้าน หลังคามุงด้วยกระเบื้องลอนคู่ มีทางขึ้นลงได้ 2 ทาง ภายในตัวบ้าน ในอดีตเป็นบ้านพักของราชเลขานุการ ปัจจุบันใช้เป็นที่ทำการของผู้มาติดต่อเยี่ยมชมวังสวนบ้านแก้ว
4. เรือนแดง[16]
เรือนแดงตั้งอยู่ทางทิศใต้ของพระตำหนักใหญ่ เป็นเรือนไม้ชั้นเดียวทาสีแดงทั้งหลัง ยกใต้ถุนสูงจากพื้น
มีบันไดขึ้นลง 2 ทาง รูปร่างตัวบ้านมีลักษณะเหมือนกับเรือนเทา แตกต่างกันเพียงสีเท่านั้น ในอดีตเรือนแดง
เป็นบ้านพักของข้าหลวงที่ตามเสด็จสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ มาจากกรุงเทพฯ
5. เรือนเทา[17]
เรือนเทาตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพระตำหนักใหญ่ เป็นบ้านไม้ชั้นเดียวทาสีเทาทั้งหลัง ยกใต้ถุนสูงจากพื้น หลังคามุงกระเบื้องลอนคู่มีทางขึ้นลง 2 ทาง ในอดีต เรือนเทาเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯ ในระหว่างที่กำลังก่อสร้างพระตำหนักใหญ่ (ตำหนักเทา)
หลังจากที่ประทับ ณ พระตำหนักสวนบ้านแก้วมาเป็นระยะเวลา 18 ปี ใน พ.ศ. 2511 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงเจริญพระชนมพรรษา 64 พรรษา พระสุขภาพพลานามัยไม่สมบูรณ์แข็งแรงเช่นที่เคยเป็นมา กอปรกับการที่ข้าราชบริพารที่ถวายงานอยู่ที่สวนบ้านแก้วส่วนใหญ่เป็นสตรี จึงมีพระราชดำริที่จะแปรพระราชฐานจากพระตำหนักสวนบ้านแก้วที่จันทบุรีกลับมาประทับ ณ วังศุโขทัยเป็นการถาวร พร้อมกันนี้ กระทรวงศึกษาธิการกำลังหาที่ดินสำหรับก่อสร้างวิทยาลัยครูจันทบุรี และได้ทราบว่าสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ไม่ต้องพระราชประสงค์จะประทับที่สวนบ้านแก้วอีกต่อไป พลตำรวจเอกประเสริฐ รุจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ จึงนำความกราบบังคมทูลทราบฝ่าละอองพระบาทเกี่ยวกับความมุ่งหมายของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ทรงเห็นความสำคัญของการศึกษามาโดยตลอด จึงทรงมีพระราชหฤทัยยินดีที่จะพระราชทานสวนบ้านแก้วแก่กระทรวงศึกษาธิการ โดยกระทรวงศึกษาธิการทูลเกล้าฯ ถวายเงินจำนวน 18 ล้านบาท[18] “สวนบ้านแก้ว” จึงกลายเป็นสถานศึกษาชั้นสูงสำหรับกุลบุตรกุลธิดาชาวจันทบุรีและจังหวัดใกล้เคียง คือ วิทยาลัยครูจันทบุรี และพัฒนามาเป็นสถาบัน
ราชภัฏรำไพพรรณี และมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณีตราบจนปัจจุบัน
อ้างอิง
[1] พระนามเดิมคือ พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าสวัสดิโสภณ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฎวิทยมหาราช ประสูติแต่สมเด็จพระปิยมาวดี ศรีพัชรินทรมาตา (เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม พระสนมเอก สกุลเดิม “สุจริตกุล”) ต้นราชสกุล “สวัสดิวัตน์” นอกจากจะเป็นพระชนกในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 (พระนามเดิม หม่อมเจ้าหญิงรำไพพรรณี สวัสดิวัตน์) แล้ว ยังเป็นพระโสทรานุชาธิบดีในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรประการ (ต้นราชสกุล “เทวกุล”) สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวีในรัชกาลที่ 5 สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงในรัชกาลที่ 6 และ 7 อีกด้วย
[2] เมื่อ พ.ศ. 2513 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ เป็นสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ เป็นสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ดูใน “ประกาศเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระบรมราชชนก และสมเด็จพระบรมราชชนนี,” ราชกิจจานุเบกษา, เล่ม 87 ตอนที่ 52 (12 มิถุนายน 2513) : 1-7.
[3] พระโอรสในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเสรฐวงศ์วราวัตร กรมหมื่นอนุพงศ์จักรพรรดิ และเป็นพระนัดดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงศ์ (ต้นราชสกุล “จักรพันธุ์”) พระโสทรานุชาธิบดีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
[4] กองบรรณาธิการมติชน, พระผู้เพิ่งจากไป (กรุงเทพฯ: มติชน, 2527), หน้า 115.
[5] สำนักราชเลขาธิการ, พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 (กรุงเทพฯ : สำนักราชเลขาธิการ, 2531), หน้า 139.
[6] สำนักราชเลขาธิการ, พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 (กรุงเทพฯ : สำนักราชเลขาธิการ, 2531), หน้า 141.
[7] สำนักราชเลขาธิการ, พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 (กรุงเทพฯ : สำนักราชเลขาธิการ, 2531), หน้า 141.
[8] สำนักราชเลขาธิการ, พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 (กรุงเทพฯ : สำนักราชเลขาธิการ, 2531), หน้า 141.
[9] สำนักราชเลขาธิการ, พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 (กรุงเทพฯ : สำนักราชเลขาธิการ, 2531), หน้า 142.
[10] สำนักราชเลขาธิการ, พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 (กรุงเทพฯ : สำนักราชเลขาธิการ, 2531), หน้า 143.
[11] สำนักราชเลขาธิการ, พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 (กรุงเทพฯ : สำนักราชเลขาธิการ, 2531), หน้า 146.
[12] “พระตำหนักดอนแค (พระตำหนักแดง),” วังสวนบ้านแก้ว สำนักศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี [ออนไลน์] แหล่งที่มา : http://www.wangsuanbankaew.rbru.ac.th/index.php?pg=place/tum_dang
[13] พระนามเดิม หม่อมเจ้าหญิงผ่องผัสมณี สวัสดิวัตน์ พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ประสูติแต่หม่อมเจ้าหญิงฉวีวิลัย (ราชสกุลเดิม คัคณางค์) พระขนิษฐาในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภาพรรณี (หม่อมเจ้าหญิงอาภาพรรณี คัคณางค์) พระชนนีในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 หม่อมเจ้าหญิงผ่องผัสมณี สวัสดิวัตน์ ทรงเสกสมรสกับหม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์
[14] “พระตำหนักใหญ่ (ตำหนักเทา),” วังสวนบ้านแก้ว สำนักศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี [ออนไลน์] แหล่งที่มา : http://www.wangsuanbankaew.rbru.ac.th/index.php?pg=place/tum_gray
[15] “เรือนเขียว,” วังสวนบ้านแก้ว สำนักศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี [ออนไลน์] แหล่งที่มา : http://www.wangsuanbankaew.rbru.ac.th/index.php?pg=place/tgreen
[16] “เรือนแดง,” วังสวนบ้านแก้ว สำนักศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี [ออนไลน์] แหล่งที่มา : http://www.wangsuanbankaew.rbru.ac.th/index.php?pg=place/ruen_dang
[17] “เรือนเทา,” วังสวนบ้านแก้ว สำนักศิลปวัฒนธรรมและพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี [ออนไลน์] แหล่งที่มา : http://www.wangsuanbankaew.rbru.ac.th/index.php?pg=place/ruen_gray
[18] หม่อมราชวงศ์พฤทธิสาณ ชุมพล, กุลสตรีศรีสยาม สง่างามทุกกาลสถาน (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2560), หน้า 372.