โรงพยาบาลพระปกเกล้า
โรงพยาบาลพระปกเกล้า
ผู้เรียบเรียง ศิบดี นพประเสริฐ ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศาสตราจารย์พิเศษ ธงทอง จันทรางศุ
จุดเริ่มต้นของโรงพยาบาลพระปกเกล้า จังหวัดจันทบุรี สามารถกล่าวย้อนหลังไปได้ถึง พ.ศ. 2480 อันเป็นปีที่หลวงนรินทร์ประสาทเวชช์ อดีตสาธารณสุขมณฑลจันทบุรี ขณะที่ดํารงตําแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดจันทบุรี ได้ริเริ่มติดต่อกับกรมสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย เพื่อที่จะให้ดําเนินการจัดสร้างโรงพยาบาลขึ้นในจังหวัดจันทบุรี กรมสาธารณสุข จึงได้ขอให้คณะกรมการจังหวัดจันทบุรี จัดหาพื้นที่ที่จะก่อสร้าง คณะกรมการจังหวัดซึ่งมีขุนประสงค์สุขการี เป็นข้าหลวงประจําจังหวัดได้เลือกเอาพื้นที่ท้ายเนินปลัด (เนินป่า โรงไห) ริมถนนเลียบเนิน ตรงข้ามกับทุ่งนาเชย เป็นสถานที่ก่อสร้างโรงพยาบาล การก่อสร้างได้เริ่มขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2481การก่อสร้างได้แล้วเสร็จในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2482 เป็นโรงพยาบาลขนาด 50 เตียง[1]
จุดเปลี่ยนสำคัญของโรงพยาบาลประจำจังหวัดจันทบุรี และยังนับเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญด้านการรับบริการสาธารณสุขของชาวจังหวัดจันทบุรีและประชาชนในพื้นที่ภาคตะวันออก เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2493 หลังจากที่สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นการถาวร พร้อมทั้งทรงอัญเชิญพระบรมอัฐิพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับมาประดิษฐาน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวังเมื่อ พ.ศ. 2492 ในการประทับยังประเทศไทยเป็นการถาวรนี้ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
ต้องพระราชประสงค์ที่จะหาสถานที่เพื่อจัดสร้างพระตำหนักที่ประทับนอกกรุงเทพมหานคร แต่ก็ต้องไม่ไกลจากพระนครจนเกินไปนัก ในการนี้ ได้เสด็จฯ ไปยังจังหวัดจันทบุรีเพื่อทอดพระเนตรที่ดินที่ต้องพระราชประสงค์เป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2493 ระหว่างทาง ขณะที่ทรงช่วยข้าราชบริพารจัดเตรียมพระกระยาหาร กลับเกิดอุปัทวเหตุ มีดบาดพระดัชนีเป็นรอยแผลเล็กๆ เมื่อทรงทำความสะอาดบาดแผลแล้ว ต้องพระราชประสงค์ผ้าพลาสเตอร์ปิดแผล แต่ไม่มีข้าราชบริพารท่านใดที่นำติดตัวมาด้วยเลย สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี
จึงเสด็จฯ ไปยังโรงพยาบาลประจำจังหวัด แพทย์และพยาบาลต่างวิ่งวุ่นในอาคารโรงพยาบาลหลังเล็กๆ ที่ทรุดโทรมและมีอยู่เพียงอาคารเดียวเท่านั้น ในที่สุดก็ค้นหาได้เศษพลาสเตอร์ยาวประมาณ 1 นิ้วครึ่งนำมาทูลเกล้าฯ ถวาย ภาพที่ปรากฏแก่สายพระเนตรเช่นนั้น ทำให้ทรงสลดพระราชหฤทัยยิ่งนักว่า ขนาดพระองค์ซึ่งเป็นถึงสมเด็จพระบรมราชินี ยังมิได้ทรงรับความสะดวกสบายในการรับบริการด้านสาธารณสุขถึงเพียงนี้ หากเป็นประชาชนธรรมดาที่เจ็บไข้และต้องมาพึ่งพาโรงพยาบาลจะหาความสะดวกได้เพียงใด ดังเช่นที่นายแพทย์ชัยสิทธิ์ ธารากุล แพทย์ประจำโรงพยาบาลประจำจังหวัดจันทบุรี ตั้งแต่ พ.ศ. 2497 และเป็นศัลยแพทย์ท่านแรกที่ไปอยู่ในช่วงนั้นเล่าว่า[2]
“สภาพโดยทั่วไปของอาคารมีความชำรุดทรุดโทรม ประกอบด้วยเรือนชั้นเดียวเล็กๆ เป็นเรือนอำนวยการ ขนาบซ้ายขวาด้วยเรือนคนไข้ได้ประมาณ 25 คน ด้านหลังเรือนอำนวยการเป็นเรือนผ่าตัดเล็กๆ มีห้องผ่าตัด 1 ห้อง เมื่อเทียบกับจำนวนคนไข้ที่มาใช้บริการ ส่งผลให้บางครั้งเมื่อคนไข้มีมากกว่าจำนวนเตียง จึงมีบ้างที่ต้องนอนกับพื้น...นายแพทย์ประจำการช่วงนั้นมี 3 ท่าน...ในขณะที่พยาบาลคนหนึ่งต้องรับผิดชอบดูแลผู้ป่วยประมาณ 10-20 คน ซึ่งถือว่าเป็นภาระที่หนักเอาการ”
ด้วยเหตุนี้ ใน พ.ศ. 2497 สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานอาคารผ่าตัดที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้นให้กับโรงพยาบาลประจำจังหวัดจันทบุรี พระราชทานนามว่า “ตึกประชาธิปก” มีตราศักดิเดชน์ซึ่งเป็นตราใน “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าประชาธิปกศักดิเดชน์”[3] เป็นตราประดับอาคาร และทรงสร้างพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวประดิษฐานไว้ ณ มุขหน้าตึกนี้ด้วย[4] ในการจัดสร้าง “ตึกประชาธิปก” นั้น ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการหาทุนเพื่อการก่อสร้างโดยให้พระประยูรญาติและข้าราชบริพารจัดแสดงละครในพระบรมราชินูปถัมภ์ใน พ.ศ. 2496[5] โดยจัดขึ้น ณ โรงละครกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องที่แสดงนั้นเป็นเรื่องที่หม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน์ ทรงแปลมาจากเรื่อง “เทน มินิท แอลบาย” ของอากาธา คริสตี้ นักประพันธ์ชาวอังกฤษ[6]
ตึกประชาธิปกนี้นับว่าเป็นตึกผ่าตัดที่ทันสมัยมากในสมัยนั้น มีลักษณะเป็นอาคารชั้นเดียวกว้าง 16 เมตร ยาว 20 เมตร สูง 5 เมตร ใต้อาคารทำเป็นบ่อคอนกรีต เก็บน้ำฝนได้ประมาณ 800 ลูกบาศก์เมตร มีเครื่องสูบน้ำอัตโนมัติ 1 เครื่อง ภายในตัวตึกแบ่งเป็นห้องผ่าตัด 2 ห้อง ห้องดมยาสลบ 2 ห้อง ห้องเข้าเฝือก ห้องแพทย์ และพยาบาล ห้องน้ำและห้องสุขาอย่างละ 1 ห้อง[7] การก่อสร้างตึกผ่าตัดนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้าประดิษฐา จักรพันธุ์ เป็นผู้ควบคุมงาน และนายแพทย์สมาน มันตาภรณ์ เป็นผู้ช่วยจัดการเรื่องจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ต่างๆ ต่อมา พระยาบริรักษ์เวชการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้นำความเสนอคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีพิจารณาลงมติให้ปรับปรุงขยายโรงพยาบาลประจำจังหวัดจันทบุรีให้ใหญ่ขึ้น จากเดิมที่เป็นเพียงโรงพยาบาลขนาด 50 เตียง ขยายให้เป็นโรงพยาบาลขนาด 150 เตียง ประกอบด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่ทันสมัย เสริมตึกอำนวยการเดิมให้เป็น 2 ชั้น เปลี่ยนเรือนคนไข้เป็นตึก 2 ชั้น จำนวน 2 หลัง และก่อสร้างตึก สูติกรรม 1 หลัง[8] การก่อสร้างแล้วเสร็จใน พ.ศ. 2498 และคณะรัฐมนตรีมีมติให้เปลี่ยนชื่อเป็น “โรงพยาบาลพระปกเกล้า” เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว[9] ในเรื่องการสนับสนุนจากคณะรัฐมนตรีนี้ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงเล่าว่า[10]
“จอมพล ป. เคยมาเฝ้า เขาพูดว่าอยากล้างบาปเพราะทำกับท่านไว้มากเหลือเกิน จากนั้นแล้ว ก็เลยไปสร้างโรงพยาบาลพระปกเกล้าไว้ให้ที่จันทบุรี”
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี (พระราชอิสริยยศของทั้งสองพระองค์ในครั้งนั้น) เสด็จฯ ทรงเปิดป้ายชื่อ “ตึกประชาธิปก” และโรงพยาบาลพระปกเกล้า เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2499 เวลา 15.00 น.[11]
นับแต่นั้นเป็นต้นมา โรงพยาบาลพระปกเกล้าได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในสมัยต่อๆ มา และยังได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนในการสร้างอาคารต่างๆ รวมทั้งขยายกิจการจนกลายเป็นโรงพยาบาลหลัก และเป็นศูนย์กลางการฝึกวิชาพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยของภาคตะวันออก ทั้งนี้ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี มีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ รับโรงพยาบาลและวิทยาลัยพยาบาลแห่งนี้ไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ตั้งแต่ พ.ศ. 2509 เป็นต้นมา นอกจากนี้ ยังทรงตั้ง “ทุนประชาธิปก” ด้วยมีพระราชประสงค์จะทรงส่งเสริมการดำเนินงานของโรงพยาบาลพระปกเกล้า นอกเหนือไปจากงบประมาณประจำปีที่ได้รับ โดยมีพระราชดำริว่าหากพระราชทานเฉพาะดอกผลของเงินทุนเป็นประจำปีจะได้แต่เพียงเล็กน้อยในแต่ละปี ไม่สามารถหาประโยชน์ได้จริงจัง จึงพระราชทานเงินทุนดังกล่าวเป็นครั้งคราวตามความจำเป็น เช่น ใน พ.ศ. 2515 พระราชทานโทรศัพท์ภายในทั้งหมดมูลค่า 150,000 บาท พ.ศ. 2516 พระราชทานเครื่องกำเนิดไอน้ำ และในปีต่อๆ มา พระราชทานงบประมาณเดินสายไฟฟ้าใหม่ พระราชทานเครื่องทำน้ำเกลือ เป็นต้น[12]
ในด้านวิทยาลัยพยาบาลนั้น รองศาสตราจารย์นายแพทย์กุศล จันทรกุล และคณะ ดำริตั้งเงินกองทุนสำหรับให้นักเรียนพยาบาลยืมใช้เพื่อการศึกษาและการทำกิจกรรม โดยได้ร่วมกันบริจาคเงินตั้งทุนการศึกษา ในการนี้ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี พระราชทานพระราชานุญาตให้ใช้ชื่อ “ทุนประชาธิปกบรมราชานุสรณ์” และพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เพิ่มเติมให้แก่กองทุน ทั้งเมื่อแรกตั้งและตลอดมาทุกปี อีกทั้งมีผู้โดยเสด็จพระราชกุศลทูลเกล้าฯ ถวายเงินสมทบทุนนี้เพิ่มเติมทุกปีที่เสด็จฯ ไปพระราชทานประกาศนียบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาวิชาพยาบาล พระราชกรณียกิจสำคัญนี้ช่วยให้นักเรียนพยาบาลสามารถยืมเงินจากบัญชีเงินฝากเผื่อเรียกเป็นประจำ ส่วนดอกผลทางบัญชีฝากประจำนั้นได้นำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อพระราชทานเป็นรางวัลแก่นักเรียนที่เรียนดีและมีความประพฤติดี[13]
กองทุนประชาธิปกบรมราชานุสรณ์ได้พัฒนาเป็น “มูลนิธิประชาธิปก” เมื่อ พ.ศ. 2518 โดยสมเด็จ พระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี พระราชทานเงินทั้งหมดของกองทุนรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน 2,715,041.50 บาท มูลนิธิประชาธิปกได้รับการจดทะเบียนที่กระทรวงมหาดไทยเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2518 โดยมีวัตถุประสงค์ ที่จะบำรุงโรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี วิทยาลัยพยาบาลพระปกเกล้า และวิทยาลัยครูจันทบุรี เพื่อใช้ในการก่อสร้าง การจัดซื้อวัสดุเครื่องมือเครื่องใช้ รวมไปถึงทุนการศึกษาของนักเรียนพยาบาลของวิทยาลัยพยาบาล และทุนการศึกษาของนักศึกษาวิทยาลัยครูจันทบุรี ที่เรียนดี มีความประพฤติดี แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ โดยไม่จำกัดสาขาวิชา เนื่องจากมีพระราชประสงค์ที่จะกระจายทรัพยากรมนุษย์ออกจากกรุงเทพฯ ไปช่วยพัฒนาท้องถิ่นชนบท ดังนั้น เงื่อนไขสำคัญในการรับทุนจึงกำหนดให้ผู้รับจะต้องกลับไปทำงานพัฒนาท้องถิ่นของตนต่อไป[14]
การที่โรงพยาบาลพระปกเกล้าได้รับพระมหากรุณาธิคุณทรงรับไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ เป็นผลให้โรงพยาบาลมีการเจริญเติบโตเป็นลำดับ มีศักยภาพสูงสามารถรองรับการให้บริการทางสาธารณสุขแก่ประชาชน ทั้งในพื้นที่จังหวัดจันทบุรีและในพื้นที่ภาคตะวันออกเป็นลำดับมา เมื่อสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จสวรรคตเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2527 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระราชอิสริยยศในครั้งนั้น) ทรงรับเป็นพระราชธุระในการบำรุงกิจการของโรงพยาบาลพระปกเกล้าต่อมา โดยเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2533 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานเงินจำนวน 13 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดเป็นเงินที่ประชาชนทูลเกล้าฯ ถวายเนื่องในงานพระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลถวายพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี โดยโรงพยาบาลได้นำเงินจำนวนดังกล่าวไปใช้ในการสร้างหออภิบาลผู้ป่วยเด็กอาการหนักแยกจากของผู้ใหญ่ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานนามอาคาร “หออภิบาลรำไพพรรณี” และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ เสด็จฯ ไปเป็นประธานในพิธีเปิดเมื่อวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2537 พร้อมกับพิธีเปิด “อาคารเทพรัตน์” ซึ่งเป็นตึกอุบัติเหตุที่ใช้งบประมาณแผ่นดินในการสร้าง ที่หน้าหออภิบาลรำไพพรรณีนั้น ทางโรงพยาบาลพระปกเกล้าได้ติดตั้งแผ่นทองเหลืองทรงกลม ตรงกลางเป็นที่ประดิษฐานพระฉายาลักษณ์สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี[15] เป็นอนุสรณ์แห่งพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีแก่โรงพยาบาลพระปกเกล้า และชาวจันทบุรีตลอดมาตราบจนปัจจุบัน
[1] “ประวัติโรงพยาบาลพระปกเกล้า จันทบุรี,” โรงพยาบาลพระปกเกล้า Prapokklao Hospital [ออนไลน์] แหล่งที่มา : https://www.ppkhosp.go.th/
[2] หม่อมราชวงศ์พฤทธิสาณ ชุมพล, กุลสตรีศรีสยาม สง่างามทุกกาลสถาน (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2560), หน้า 361.
[3] พระอิสริยยศแรกพระราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
[4] สำนักราชเลขาธิการ, พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7, ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ 9 เมษายน พุทธศักราช 2528 (กรุงเทพฯ : สำนักราชเลขาธิการ, 2531), หน้า 146.
[5] หม่อมราชวงศ์พฤทธิสาณ ชุมพล, กุลสตรีศรีสยาม สง่างามทุกกาลสถาน (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2560), หน้า 360.
[6] ดูพระฉายาลักษณ์และรายละเอียดได้ใน สำนักราชเลขาธิการ, ประมวลพระฉายาลักษณ์และภาพพระราชกรณียกิจ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ในรัชกาลที่ 7, ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดพิมพ์สำหรับพระราชทานในงานพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันอังคารที่ 9 เมษายน พุทธศักราช 2528 (กรุงเทพฯ : สำนักราชเลขาธิการ, 2528), หน้า 193.
[7] หม่อมราชวงศ์พฤทธิสาณ ชุมพล, กุลสตรีศรีสยาม สง่างามทุกกาลสถาน (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2560), หน้า 360.
[8] หม่อมราชวงศ์พฤทธิสาณ ชุมพล, กุลสตรีศรีสยาม สง่างามทุกกาลสถาน (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2560), หน้า 363.
[9] สำนักราชเลขาธิการ, พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7, ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ 9 เมษายน พุทธศักราช 2528 (กรุงเทพฯ : สำนักราชเลขาธิการ, 2531), หน้า 147.
[10] ธัม วศินเกษม, รัตนา ไศลทอง, สุดารัตน์ สิงหโกวินท์, พระราชบันทึกทรงเล่าในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี
พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 (กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า, 2545), หน้า 20.
[11] หม่อมราชวงศ์พฤทธิสาณ ชุมพล, กุลสตรีศรีสยาม สง่างามทุกกาลสถาน (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2560), หน้า 363.
[12] สำนักราชเลขาธิการ, พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7, ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ 9 เมษายน พุทธศักราช 2528 (กรุงเทพฯ : สำนักราชเลขาธิการ, 2531), หน้า 147.
[13] สำนักราชเลขาธิการ, พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7, ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ 9 เมษายน พุทธศักราช 2528 (กรุงเทพฯ : สำนักราชเลขาธิการ, 2531), หน้า 148.
[14] สำนักราชเลขาธิการ, พระราชประวัติ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7, ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทานในงานพระบรมศพ สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 ณ พระเมรุมาศท้องสนามหลวง วันที่ 9 เมษายน พุทธศักราช 2528 (กรุงเทพฯ : สำนักราชเลขาธิการ, 2531), หน้า 148.
[15] หม่อมราชวงศ์พฤทธิสาณ ชุมพล, กุลสตรีศรีสยาม สง่างามทุกกาลสถาน (กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2560), หน้า 368-369.