เค้าโครงการเศรษฐกิจ
เค้าโครงการเศรษฐกิจ
ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.นิยม รัฐอมฤต
ความหมาย
“เค้าโครงการเศรษฐกิจ” เป็นหลักการหนึ่งที่อยู่ภายใต้หลัก 6 ประการของคณะราษฎร ที่เกิดขึ้นภายหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 โดยเค้าโครงการเศรษฐกิจนี้ เป็นส่วนหนึ่งของหลักเศรษฐกิจ ที่ระบุไว้ในประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ว่า “ต้องบำรุงความสุขสมบูรณ์ ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก” จึงเป็นที่มาที่ทำให้รัฐบาลหลังจากนั้นต้องกำหนดให้มีเค้าโครงการเศรษฐกิจ ซึ่งแรกเริ่มนั้นมีการเสนอ “โครงการณ์ เศรษฐกิจ พาณิชยการ กสิกรรม และอุตสาหกรรม” และต่อมานายปรีดี พนมยงค์ ได้เสนอ “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2475 (หรือเดือนมีนาคม พ.ศ. 2476 ตามปฏิทินปัจจุบัน) ซึ่งเป็นจุดหักเหสำคัญในการเมืองไทยหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว โดยเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรี พนมยงค์ เป็นที่รู้จักในกันอีกชื่อหนึ่งว่า “สมุดปกเหลือง”
ก่อนจะเป็น “เค้าโครงการเศรษฐกิจ”
ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หรือการปฏิวัติสยาม ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 นั้น ได้นำไปสู่การประกาศหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ซึ่งถือเป็นหลักการที่ต้องดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย โดย 1 ใน 6 ประการนั้น ระบุถึง “หลักเศรษฐกิจ” ที่เน้นการบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ โดยรัฐบาลใหม่จะจัดหางานให้ราษฎรทุกคนทำ จะวางโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก การที่คณะราษฎรระบุเช่นนี้นั้น สะท้อนให้เห็นว่าสังคมไทยในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2475 เผชิญกับภาวะวิกฤต ทางเศรษฐกิจ ซึ่งคณะราษฎรมีความพยายามที่จะแก้ปัญหาดังกล่าว จนกระทั่งเกิดเป็น “เค้าโครงการเศรษฐกิจ” ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2475 (หรือเดือนมีนาคม พ.ศ. 2476 ตามปฏิทินปัจจุบัน)
ปัญหาเศรษฐกิจก่อนการปฏิวัติ พ.ศ. 2475 กล่าวได้ว่า ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจที่รุนแรงในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งหรือที่รู้จักกันในชื่อ “ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)” ที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกเกิดภาวะชะงักงัน ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเวลานั้น คือ ราคาข้าวตกต่ำลงถึง 2 ใน 3 ชาวนาสูญเสียที่ดิน และภาวะหนี้สินเพิ่มขึ้น โรงงานและธุรกิจทั้งกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดปิดตัวลง การว่างงานเพิ่มขึ้น[1] และส่งผลต่อการบริหารงานของรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ไม่สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ดีเท่าที่ควร[2] โดยรัฐบาลขณะนั้นประสบปัญหาสำคัญ อาทิ ปัญหาการขาดแคลนเงินลงทุนในกิจการทางเศรษฐกิจต่างๆ และปัญหาเงินของกรมพระคลังข้างที่ในธนาคารฝรั่งเศสลดลงอย่างรวดเร็ว แม้ว่ารัฐบาลพยายามลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ลง[3] จนในท้ายที่สุดรัฐบาลตัดสินใจใช้วิธีดุลข้าราชการออก ซึ่งข้าราชการที่ถูก ให้ออกจากงานนั้นส่วนใหญ่เป็นข้าราชการระดับกลางถึงระดับล่างที่มีฐานเงินเดือนไม่สูงนัก ขณะที่ข้าราชการระดับสูงซึ่งส่วนใหญ่เป็นเชื้อพระวงศ์และตระกูลขุนนางไม่ได้รับการดุลออกแต่ประการใด ส่งผลให้เกิดความเสื่อมถอยของรัฐบาลในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ที่กลุ่มชนชั้นกลาง ได้แก่ นักหนังสือพิมพ์ พ่อค้า และข้าราชการ ซึ่งเริ่มมีการรับการศึกษาแบบตะวันตก มองว่าระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น เป็นระบอบ ที่สร้างความไม่เท่าเทียมให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะในการบริหารประเทศที่มีเฉพาะเชื้อพระวงศ์เท่านั้นที่มีอำนาจตัดสินใจ และไม่สามารถแก้ปัญหาให้กับประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงเริ่มมีการนำเสนอแนวทางที่จะทำให้มีกลไกที่สามารถแก้ปัญหาให้กับประชาชนโยทั่วไปได้อย่างแท้จริง[4]
ความพยายามในการเสนอโครงการเศรษฐกิจของคณะราษฎร เกิดขึ้นหลังจากที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 แล้ว มีการตั้งสถาบันทางการเมืองในรูปแบบใหม่ๆ ขึ้นมา อาทิ รัฐธรรมนูญ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร (ภายหลังเรียกชื่อเป็น คณะรัฐมนตรี) ซึ่งในแต่ละสถาบันทางการเมืองต่างดำเนินมาตรการที่สะท้อนถึงหลัก 6 ประการของคณะราษฎร แต่ในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรมีบทบาทที่น่าสนใจ นั่นคือ บทบาทของนายมังกร สามเสน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ได้เสนอ “โครงการ เศรษฐกิจ พาณิชยการ กสิกรรม และอุตสาหกรรม” โดยมีการเสนอเป็นญัตติต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2475[5] ถือเป็นร่างเค้าโครงการเศรษฐกิจฉบับแรกภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยเนื้อหาที่นายมังกร สามเสน นำเสนอนั้น ในส่วนแรกได้สะท้อนข้อมูลของประเทศในขณะนั้น อาทิ จำนวนประชากร และลักษณะอาชีพ ส่วนต่อมาได้นำเสนอปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในรอบ 10 ปี ที่ผ่านมา ซึ่งนายมังกร สามเสน ได้สรุปข้อตกต่ำทางเศรษฐกิจเอาไว้ 6 ประการ[6] ประกอบด้วย (1) อาชีพของราษฎรถูกบีบจนหมดกำลัง (2) สยามขาดพ่อค้าที่เป็นคนไทย (3) สยามขาดโรงงานอุตสาหกรรม (4) สยามยังไม่มีธนาคารของประเทศ (5) สยามบกพร่องในความช่วยเหลืออุดหนุนตัวเอง และ (6) เงินสยาม สูงมากเป็นเหตุให้ราคาสินค้าตกต่ำ
โครงการเศรษฐกิจของนายมังกร สามเสน ยังเสนอแนวทางสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจของชาติเอาไว้ โดยเสนอไว้ 19 ประการ[7] ประกอบด้วย (1) ตั้งธนาคารของชาติขึ้น (2) ขอให้ตั้งบริษัทรับซื้อของดิบ (3) ตั้งบริษัทกสิกรรมขึ้น (4) ตั้งบริษัทรับจ้างไถนาสูบน้ำ (5) ตั้งบริษัทคอกสัตว์ (6) ตั้งบริษัทโรงงานโรงสี (7) ตั้งบริษัทค้าไม้ (8) ตั้งบริษัททอกระสอบป่าน (9) ตั้งโรงงานทอผ้า (10) โรงงานทำถ้วยชาม (11) ตั้งบริษัทยาสูบ (12) ตั้งบริษัททำน้ำตาล (13) ตั้งบริษัทบดแป้งสาลี (14) สินค้าน้ำมันมะพร้าวและละหุ่ง (15) ตั้งโรงทำกระดาษ (16) ควรตั้งกองทุนอุดหนุนศิลปวิทยา (17) วางหลักสูตรการศึกษาของนักเรียนให้ช่วยเศรษฐกิจ (18) ควรออกกฎหมายช่วย และ (19) วางหลักทางราชการส่งเสริมเศรษฐกิจ จะเห็นได้ว่า ข้อเสนอของ นายมังกร สามเสน มีบางประการสอดคล้องกับข้อเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ หรือข้อเสนอบางประการได้นำไปสู่การเกิดขึ้นจริงในภายหลัง เช่น การตั้งธนาคารแห่งประเทศไทย การตั้งโรงงานยาสูบ การตั้งบริษัทข้าวไทย เป็นต้น
สาระสำคัญของเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์
หลังจากที่ข้อเสนอของนายมังกร สามเสน ได้เสนอต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว แต่ไม่ได้รับการตอบสนองจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ต่อมาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2475 (หรือเดือนมีนาคม พ.ศ. 2476 ตามปฏิทินปัจจุบัน) นายปรีดี พนมยงค์ ได้เสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจขึ้นมาอีกครั้ง โดยมีสาระสำคัญที่มีทั้งจุดร่วมและจุดที่แตกต่างจากเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายมังกร สามเสน ซึ่งรายละเอียดของเค้าโครงการเศรษฐกิจฉบับของนายปรีดี พนมยงค์ มีทั้งสิ้น 11 หมวด ได้แก่ (1) ประกาศของคณะราษฎร (2) ความไม่เที่ยงแท้แห่งการเศรษฐกิจ (3) การประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร (4) แรงงานที่สูญเสียไปและพวกหนักโลก (5) วิธีซึ่งรัฐบาลจะหาที่ดิน แรงงาน เงินทุน (6) การจัดทำให้รายได้และรายจ่ายของรัฐบาลเข้าสู่ดุลยภาพ (7) การแบ่งงานออกเป็นสหกรณ์ (8) รัฐบาลจะจัดให้มีการเศรษฐกิจชนิดใดบ้างในประเทศ (9) การป้องกันความยุ่งยาก ในปัญหาเรื่องนายจ้างกับลูกจ้าง (10) แผนเศรษฐกิจแห่งชาติ และ (11) ผลสำเร็จอันเกี่ยวแก่หลัก 6 ประการ ทั้งนี้ จุดเน้นสำคัญของเค้าโครงการเศรษฐกิจ ของนายปรีดี พนมยงค์ คือ การสร้างเศรษฐกิจในระบบสหกรณ์ โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งจุดเน้นนี้ ได้มีการกล่าวถึงอยู่ในรายละเอียดทั้ง 11 หมวด[8] อยู่เป็นระยะ โดยมีสาระสำคัญในแต่ละหมวด ดังนี้
(1) ประกาศของคณะราษฎร เป็นการขยายความสาระสำคัญของหลักการข้อที่ 3 จากหลัก 6 ประการของคณะราษฎร เพื่อยืนยันถึง “การบำรุงความสุขสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจ” ภายใต้วิธีการคือ การมีเค้าโครงการเศรษฐกิจ[9]
(2) ความไม่เที่ยงแท้แห่งการเศรษฐกิจ ในส่วนนี้เป็นการเน้นที่สภาพปัญหาเศรษฐกิจที่สังคมไทยเผชิญอยู่ โดยเน้นไปที่ปัญหา “ความแร้นแค้นของราษฎร” ซึ่งสะท้อนถึงความไม่เที่ยงแท้ในการดำรงชีวิต ของทุกๆ กลุ่มในสังคม ที่เป็นผลมาจากการพึ่งพาเงินตรา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่มีความแน่นอน ส่งผลให้ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจที่ผ่านมานั้น ทั้งคนมั่งมี คนชั้นกลาง และคนยากจน ก็อยู่ในสภาวะแร้นแค้นทั้งสิ้น[10]
(3) การประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร เป็นหลักการที่บอกว่ารัฐบาลจะต้องใช้แนวทาง การประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร (Social Assurance) เป็นวิธีการแก้ปัญหาความไม่เที่ยงแท้นั้น โดยรัฐบาลจะต้องเป็นผู้ให้หลักประกันว่าตั้งแต่แรกเกิดนั้น ราษฎรทุกคนจะมีอาหาร เครื่องนุ่งห่ม สถานที่อยู่ และปัจจัยแห่งการดำรงชีวิตที่ครบถ้วน โดยจะต้องมี “พระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ราษฎร” เพื่อเป็นหลักประกันดังกล่าว และรัฐบาลต้องประกอบการเศรษฐกิจ เพื่อมีเงินมาจ่ายเป็นเงินเดือน ให้ราษฎรในลักษณะของสหกรณ์ ซึ่งรัฐบาลมีความพร้อมมากกว่าราษฎรในเรื่องของที่ดินและเงินทุน ส่วนราษฎรมีเพียงแค่แรงงาน ซึ่งไม่เพียงพอสำหรับประกอบการเศรษฐกิจได้โดยลำพัง[11]
(4) แรงงานที่สูญเสียไปและพวกหนักโลก แบ่งย่อยออกเป็น 4 บท ได้แก่
(1) แรงงานเสียไป โดยที่มิได้ใช้เต็มที่ กล่าวถึงการใช้แรงงานของราษฎรที่ผ่านมาในรอบ 1 ปี พบว่า ราษฎรใช้แรงงานในการ ทำนาเพียง 6 เดือน ทำให้อีก 6 เดือนที่เหลือสูญเสียไปโดยเปล่าประโยชน์
(2) แรงงานเสียไปเพราะจัดการเศรษฐกิจไม่เหมาะ กล่าวถึงการใช้แรงงานของราษฎรที่มีลักษณะแยกกันทำ ผลลัพธ์ที่ได้จึงน้อยกว่า การร่วมกันทำ
(3) แรงงานที่เสียไปโดยไม่ใช้เครื่องจักรกล กล่าวถึงการทำงานที่ใช้แรงงานตนเองและแรงงานสัตว์ ซึ่งให้ผลลัพธ์น้อยกว่าการใช้เครื่องจักรกล ซึ่งถ้ารัฐบาลเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจก็จะมีความสามารถในการจัดหาเครื่องจักรกลสำหรับใช้ทำงานได้ และ
(4) แรงงานที่เสียไป เพราะบุคคลที่เกิดมาหนักโลก กล่าวถึงผู้ที่ไม่ประกอบการเศรษฐกิจที่เหมาะสมกับแรงงานของตน เป็นกลุ่มคนที่ดำรงชีวิตอยู่ด้วยการเบียดเบียนปัจจัยแห่งการดำรงชีวิตของคนอื่น[12]
(5) วิธีซึ่งรัฐบาลจะหาที่ดิน แรงงาน เงินทุน แบ่งย่อยออกเป็น 3 บท ได้แก่ (1) การจัดหาที่ดิน กล่าวถึงการที่รัฐบาลจะซื้อที่ดินกลับคืนมาโดยใช้วิธีออกใบกู้ เพื่อประกอบการเศรษฐกิจ ขณะที่ที่ดินสำหรับ อยู่อาศัยจะไม่ซื้อคืน (2) การจัดหางาน กล่าวถึงการที่รัฐบาลจะจ่ายเงินเดือนให้แก่ราษฎรตามกำลังความสามารถ และหากใครประสงค์จะประกอบอาชีพอิสระก็สามารถกระทำได้เช่นกัน และ (3) การจัดหาทุน กล่าวถึงทุนสำหรับประกอบการเศรษฐกิจที่มี 2 ชนิด คือ เงินทุนที่รัฐบาลมีไว้เพื่อซื้อเครื่องจักรและวัตถุ ที่รัฐบาลยังทำไม่ได้ และเงินทุนที่รัฐบาลมีไว้เพื่อจ่ายเป็นค่าแรงงาน โดยรัฐบาลจะหาเงินทุนนี้จากภาษีทางอ้อม เช่น ภาษีมรดก ภาษีรายได้ เป็นต้น จากการกู้เงิน และจากการหาเครดิต[13]
(6) การจัดทำให้รายได้และรายจ่ายของรัฐบาลเข้าสู่ดุลยภาพ แบ่งย่อยออกเป็น 2 บท ได้แก่ (1) ดุลยภาพภายในประเทศ เช่น การหักลบกลบหนี้ การตอบความต้องการของมนุษย์ในปัจจัย ที่ดำรงชีวิต เป็นต้น และ (2) ดุลยภาพระหว่างประเทศ กล่าวถึงการทำสิ่งที่เหลือใช้ภายในให้มาก และควรนำเข้าเฉพาะสิ่งที่จำเป็น และทั้งหมดจะต้องอยู่บนฐานที่ว่าให้ราษฎรมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์[14]
(7) การแบ่งงานออกเป็นสหกรณ์ เนื่องจากรัฐบาลกลางไม่สามารถควบคุมได้ทั่วถึง จึงได้ใช้รูปแบบสหกรณ์ โดยให้ราษฎรทุกคนที่เป็นสมาชิกสหกรณ์จะได้รับเงินเดือนตามกำลังแรงงานที่ใช้ไป มีการได้รับรางวัลพิเศษ การมีส่วนร่วมในการประดิษฐ์ จำหน่าย และขนส่ง รวมทั้งราษฎรที่รวมกลุ่มกันในรูปแบบของสหกรณ์สามารถจัดการปกครองแบบเทศบาล เพื่อร่วมกันทำบริการสาธารณสุข การศึกษา และการอบรวมวิชา ทหารได้[15]
(8) รัฐบาลจะจัดให้มีการเศรษฐกิจชนิดใดบ้างในประเทศ โดยรัฐบาลจะต้องจัดการกสิกรรม และอุตสาหกรรมทุกอย่างให้มีขึ้น เพื่อไม่ต้องอาศัยการพึ่งพาต่างประเทศ ที่อาจเกิดการปิดประตูการค้าได้[16]
(9) การป้องกันความยุ่งยาก ในปัญหาเรื่องนายจ้างกับลูกจ้าง เพราะหากให้เอกชนเป็นเจ้าของโรงงานก็จะก่อให้เกิดปัญหาระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างได้ ดังที่เคยเกิดขึ้นในประเทศยุโรป เพราะเอกชนมุ่งเน้นกำไรสูงสุดที่เจ้าของทุน แต่หากรัฐบาลเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจ จะไม่เกิดปัญหาดังกล่าว เพราะรัฐบาล จะจ่ายค่าแรงตามแรงงานของราษฎรแต่ละคน[17]
(10) แผนเศรษฐกิจแห่งชาติ เป็นกลไกที่ทำให้การดำเนินการเพื่อประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎรมีความยั่งยืน โดยจะต้องคิดความเป็นอยู่ของอารยประเทศ เพื่อดูว่าปัจจัยแห่งการดำรงชีวิตตามความต้องการของราษฎรนั้นมีอะไรบ้าง และต้องมีจำนวนเท่าใด จากนั้นจึงมาคำนวณว่าถ้าจะทำขึ้นจะต้องอาศัยที่ดิน แรงงาน เงินทุน เป็นจำนวนเท่าใด และสามารถใช้เครื่องจักรทุ่นแรงได้ในส่วนใด และเมื่อเริ่มใช้แผนแล้ว ต้องกำหนดพื้นที่ว่าส่วนใดจะทำการเศรษฐกิจใด และต้องมีการอบรมเพื่อให้มีผู้ชำนาญในเรื่องต่างๆ[18]
(11) ผลสำเร็จอันเกี่ยวแก่หลัก 6 ประการ เป็นการระบุว่าหากมีการดำเนินการตามเค้าโครงการเศรษฐกิจแล้ว จะก่อให้เกิดผลสำเร็จในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ได้แก่ (1) หลักเอกราช (2) หลักความปลอดภัย (3) หลักเศรษฐกิจ (4) หลักเสมอภาค (5) หลักเสรีภาพ และ (6) หลักการศึกษา[19]
และในส่วนท้ายของเค้าโครงการเศรษฐกิจที่นายปรีดี พนมยงค์ นำเสนอนั้น มีการแนบร่างกฎหมาย 2 ฉบับที่เกี่ยวข้อง นั่นคือ (1) ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร (Assurance Social) และ (2) ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการประกอบเศรษฐกิจ พุทธศักราช… ทั้งนี้ เมื่อมีการนำเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจดังกล่าว จนเป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า “สมุดปกเหลือง” แล้วนั้น ต่อมาเค้าโครง
การเศรษฐกิจดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงสำคัญในการเมืองไทย นั่นคือ กลายเป็นความขัดแย้งระหว่างคณะราษฎรกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยตอบโต้ในชื่อ
“สมุดปกขาว”
“เค้าโครงการเศรษฐกิจ” กับจุดหักเหของสังคมการเมืองไทย
หลังจากเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ เผยแพร่ออกมาและได้นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมานุการพิจารณาเค้าโครงการเศรษฐกิจก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี ซึ่งความเห็นในที่ประชุมแตกออกเป็น 2 ฝั่ง คือ ฝั่งที่เห็นควรใช้ระบบเศรษฐกิจแบบเก่า นำโดยพระยา มโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรี และฝั่งที่เห็นสมควรให้ใช้แนวทางตามเค้าโครงการเศรษฐกิจ นำโดย นายปรีดี พนมนงค์ และคณะกรรมานุการส่วนใหญ่จะเห็นคล้อยไปในแนวทางของนายปรีดี พนมยงค์ ส่งผลให้เค้าโครงการเศรษฐกิจฉบับนี้กลายเป็นที่ถกเถียงอย่างกว้างขวาง และทำให้ความคิดของคณะรัฐมนตรี และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในช่วงนั้นแบ่งออกเป็น 2 ฝ่ายที่ชัดเจน นั่นคือ ฝ่ายที่เห็นด้วยกับเค้าโครงการเศรษฐกิจ กับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับเค้าโครงการเศรษฐกิจ ซึ่งฝ่ายนี้มองว่าข้อเสนอนี้เป็นการกระทำที่เป็นคอมมิวนิสต์ และในท้ายที่สุดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยตอบโต้ เค้าโครงการเศรษฐกิจ ในชื่อ “สมุดปกขาว” ทั้งหมดนี้เป็นร่องรอยความขัดแย้งที่สุดท้ายกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างกลุ่มคณะราษฎรกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉะนั้น จึงกล่าวได้ว่าเค้าโครงการเศรษฐกิจฉบับนี้ก่อให้เกิดจุดหักเหที่สำคัญในสังคมการเมืองไทย 3 กรณี นั่นคือ ความขัดแย้งระหว่างคณะราษฎรกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์ และผลพวงด้านสังคม
ที่เกิดขึ้นจากเค้าโครงการเศรษฐกิจ
“ความขัดแย้งระหว่างคณะราษฎรกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว” ปรากฏขึ้นให้เห็นผ่าน “สมุดปกขาว” ซึ่งเป็นพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวต่อเค้าโครงการเศรษฐกิจ โดยพระองค์ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยและไม่ทรงยินยอม เพราะแทนที่จะนำความสุขสมบูรณ์มาสู่ประเทศบ้านเมืองดังกล่าว จะเป็นการนำมาซึ่งความร้อนทุกหย่อมหญ้าจนเป็นความหายนะถึงความพินาศแห่งประเทศ
และชาติบ้านเมือง ซึ่งในพระบรมราชวินิจฉัยนั้น พระองค์มีการตอบโต้ในหลายประเด็น อาทิ ประเด็นเรื่องความแร้นแค้นของราษฎรนั้น พระองค์มองว่าราษฎรไม่ได้ทุกข์ยากแร้นแค้น เพราะไม่เคยมีราษฎรอดตาย หรือในกรณีเรื่องการตั้งธนาคารแห่งชาตินั้น พระองค์ก็ไม่ทรงเห็นด้วย เนื่องจากทรงเห็นว่าจะไม่ประสบความสำเร็จ และในท้ายที่สุดพระองค์สรุปว่าเค้าโครงการเศรษฐกิจนี้เป็นรูปแบบที่ประเทศรัสเซีย ซึ่งขณะนั้นเป็นสหภาพโซเวียตใช้ ในหลายเรื่อง อาทิ การมีแผนเศรษฐกิจ การไม่ให้ราษฎรมีสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ การที่รัฐบาลเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจ และหากใช้เค้าโครงการนี้จะทำให้ประเทศกลายเป็นรูปแบบ การปกครองแบบคอมมิวนิสต์เช่นเดียวกับรัสเซีย[20]
พระบรมราชวินิจฉัยนี้ เผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2476 จึงยิ่งเป็นการตอกย้ำ ความขัดแย้งที่สำคัญระหว่างฝ่ายที่เห็นด้วยกับเค้าโครงการเศรษฐกิจ นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ และกลุ่มคณะราษฎรส่วนใหญ่ กับฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับเค้าโครงการเศรษฐกิจ นำโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา และคณะราษฎรบางส่วน[21] และในระหว่างการประชุมสภาวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2475 พระยามโนปกรณ์ นิติธาดา นายกรัฐมนตรี ได้อ้างเหตุว่าในการประชุมก่อนหน้านั้นหนึ่งวันมีสมาชิกบางรายพกอาวุธเข้าที่ประชุม จึงนำกำลังทหารประมาณหนึ่งกองร้อยเข้ามาควบคุมการประชุมของสภา ทำให้มีการโจมตีการใช้อำนาจ อย่างเด็ดขาด และในวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2476 พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ได้ออกพระราชกฤษฎีกา เพื่อปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ถัดมาในวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2476 ได้ออกพระราชบัญญัติ ว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2476 โดยไม่ผ่านการพิจารณาของสภา และเมื่อพระบรมราชวินิจฉัยนี้เผยแพร่ออกมา ในวันเดียวกับที่นายปรีดี พนมยงค์ ต้องเดินทางไปต่างประเทศ และนายปรีดีได้ประกาศว่าจะเผยแพร่เค้าโครงการเศรษฐกิจในนามส่วนตัวเท่านั้น[22]
“ความหวาดกลัวคอมมิวนิสต์” ปรากฏชัดเจนเมื่อมีการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2476 และในพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ระบุถึงการใช้แนวทาง ตามเค้าโครงการเศรษฐกิจอาจนำพาประเทศไปสู่การปกครองแบบคอมมิวนิสต์ และเมื่อพระยามโนปกรณ์ นิติธาดาออกพระราชกฤษฎีกาปิดสภานั้น ใช้ข้ออ้างเรื่องคอมมิวนิสต์และพระมหากษัตริย์ในการก่อการ โดยมีเป้าหมายเพื่อกำจัดคณะราษฎรออกจากเวทีทางการเมือง ทั้งในสภาผู้แทนราษฎรและในเวที การเลือกตั้ง[23] ซึ่งภายหลังเมื่อนายปรีดี พนมยงค์ เดินทางไปต่างประเทศแล้วได้ให้สัมภาษณ์กับหนังสือพิมพ์ “สเตรตไทย” ณ เมืองสิงคโปร์ว่า “ข้าพเจ้าไม่ใช่คอมมูนิสต์ และทั้งมิได้นิยมชมชื่นคอมมูนิสต์เล็กแต่น้อยเลย ข้าพเจ้ายอมรับแต่ว่า ข้าพเจ้าเป็น ‘'Radical’ และเป็น ‘Radical’ ที่เป็นไปในแนวโซเซียลลิสต์ แต่ไม่ใช่คอมมูนิสต์แน่ๆ”[24] จนกระทั่งความไม่ลงรอยระหว่างกลุ่มพระยามโนปกรณ์นิติธาดากับกลุ่มคณะราษฎร ส่วนใหญ่ได้ปะทุออกมาเป็นการรัฐประหารในวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2476 โดยกลุ่มผู้ก่อการหลักคือ พันตรี หลวงพิบูลสงคราม เมื่อรัฐประหารสำเร็จได้เสนอให้พระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อฟื้นฟูแนวทางการปกครองในระบอบรัฐธรรมนูญที่คณะราษฎรได้วางเอาไว้ และต่อมารัฐบาลของพระยาพหลพลพยุหเสนาได้เชิญให้นายปรีดี พนมยงค์ กลับเข้ามาในประเทศอีกครั้ง ซึ่งการกลับเข้ามาครั้งนี้ ทำให้ฝ่ายต่อต้านคณะราษฎรไม่พอใจนัก และนำไปสู่ความพยายามในการยึดอำนาจของ “คณะกู้บ้านกู้เมือง” ที่นำโดยพลเอก พระองค์เจ้าบวรเดช โดยระบุเหตุผลของการพยายามยึดอำนาจครั้งนี้ส่วนหนึ่งคือ “คณะรัฐมนตรีปล่อยให้คนดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเอาหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับมาเพื่อดำเนินการปกครองแบบคอมมิวนิสต์”[25] แต่การกระทำครั้งนี้ไม่สำเร็จและถูกเรียกขานว่า “กบฏบวรเดช”[26]
“ผลพวงด้านสังคมที่เกิดขึ้นจากเค้าโครงการเศรษฐกิจ” แม้ว่าเค้าโครงการเศรษฐกิจจะไม่สามารถนำมาออกมาใช้ได้ แต่ข้อเสนอจากเค้าโครงการเศรษฐกิจหลายประการได้ถูกนำมาใช้ในภายหลัง อาทิ สหกรณ์ที่เกี่ยวกับการหาทุนและที่ดิน เริ่มมีการดำเนินการในช่วงปี พ.ศ. 2478 – 2480 ที่มีการจัดตั้งในหลายพื้นที่ เช่น สหกรณ์เช่าซื้อที่ดินที่จังหวัดปทุมธานี สหกรณ์บ้านเกาะจำกัดสินใช้ เพื่อช่วยเหลือ ประชาชนเกี่ยวกับปัญหาค่าครองชีพ เป็นต้น[27] หรือในกรณีการจัดตั้งธนาคารแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2483 และต่อมาในปี พ.ศ. 2485 มีการตราพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 ซึ่งปัจจุบันคือ “ธนาคารแห่งประเทศไทย”[28] หรือในกรณีการวางแผนเศรษฐกิจแห่งชาติ ที่ริเริ่มขึ้นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2504 ในชื่อ “แผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ” โดยมีระยะเวลา ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2504 – 2509 และมีการจัดทำแผนดังกล่าวเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ที่ใช้ชื่อเรียกว่า “แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ”[29]
บทสรุป
เค้าโครงการเศรษฐกิจเป็นแนวทางดำเนินการเศรษฐกิจที่เสนอโดยนายปรีดี พนมยงค์ เพื่อให้เป็นไปตามแนวทางหลักเศรษฐกิจ อันเป็น 1 ในหลัก 6 ประการของคณะราษฎร ที่มุ่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่สังคมเผชิญอยู่ในสมัยรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และหลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 มีความพยายามเสนอ “โครงการณ์ เศรษฐกิจ พาณิชยการ กสิกรรม และอุตสาหกรรม” โดยนายมังกร สามเสน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ที่เชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจแบบเดิม ต่อมานายปรีดี พนมยงค์ จึงเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจขึ้นมา โดยมีหลักการสำคัญคือ ทางการประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร (Social Assurance) ที่จะทำให้ราษฎรทุกคน มีปัจจัยในการดำรงชีวิตโดยสมบูรณ์เสมอกัน โดยมีรัฐบาลเป็นผู้ประกอบการเศรษฐกิจ ซึ่งข้อเสนอนี้ทำให้คณะราษฎรและคณะรัฐมนตรีแตกออกเป็น 2 กลุ่ม นั่นคือ กลุ่มที่เห็นด้วยกับเค้าโครงการเศรษฐกิจ นำโดยนายปรีดี พนมยงค์ และกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับเค้าโครงการเศรษฐกิจ นำโดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา จนในท้ายที่สุดเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระบรมราชวินิจฉัยว่าเค้าโครงการเศรษฐกิจฉบับของนายปรี พนมยงค์ มีลักษณะที่จะนำไปสู่การปกครองแบบคอมมิวนิสต์ จึงกลายเป็นรอยแยกสำคัญระหว่างฝ่ายของคณะราษฎรกับพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในเวลาต่อมา
บรรณานุกรม
หนังสือ
คริส เบเกอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร. (2557). ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์
มติชน).
นครินทร์ เมฆไตรรัตน์. (2553). การปฏิวัติสยาม พ.ศ. '2475'. (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน).
มังกร สามเสน. (2490). โครงการณ์ เศรษฐกิจ พาณิชยการ กสิกรรม และอุตสาหกรรม. (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ใต้เชียง).
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. (2551). สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย. (กรุงเทพฯ : มูลนิธิสายธารประชาธิปไตย).
หลวงประดิษฐ์มนูธรรม. (2542). เค้าโครงการเศรษฐกิจ. (กรุงเทพฯ : สถาบันปรีดี พนมยงค์).
วิทยานิพนธ์
นัยนา หงส์ทองคำ. (2520). พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและคณะราษฎร. (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย แผนกประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย).
เว็บไซต์
“ประวัติการสหกรณ์ในประเทศไทย,” กรมส่งเสริมสหกรณ์, สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2564, https://www.cpd.go.th/cpdth2560/component/k2/item/183.
ประวัติธนาคารแห่งประเทศไทย, “จากสำนักงานธนาคารชาติ...ธนาคารแห่งประเทศไทย,” ธนาคารแห่งประเทศไทย, สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2564, https://www.bot.or.th/Thai/AboutBOT/RolesAndHistory/Pages/History.aspx.
ผลงานของปรีดี, “ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจ,” สถาบันปรีดี พนมยงค์, สืบค้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2564, https://pridi.or.th/th/libraries/1583466113.
แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, “แผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1,” สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2564, https://www.nesdc.go.th/ewt_w3c/main.php?filename=develop_issue.
พอพันธ์ อุยยานนท์, “คณะราษฎรกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษ 2470 กับอุปสรรคที่ทำให้แก้ไขได้อย่างจำกัด,” ศิลปวัฒนธรรม, สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564, https://www.silpa-mag.com/history/article_69941.
วันนี้ในอดีต, “20 มิ.ย. 2476 พระยาพหลฯ “ยึดอำนาจ” หลังพระยามโนฯ สั่งปิดสภา ระงับใช้รธน.บางมาตรา,” ศิลปวัฒนธรรม, สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2564, https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_469
วาทะประวัติศาสตร์, “หลวงประดิษฐ์มนูธรรมขอปฏิเสธ! “ข้าพเจ้าไม่ใช่คอมมูนิสต์”,” ศิลปวัฒนธรรม, สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2564, https://www.silpa-mag.com/quotes-in-history/article_28640.
[1] พอพันธ์ อุยยานนท์, “คณะราษฎรกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษ 2470 กับอุปสรรคที่ทำให้แก้ไขได้อย่างจำกัด,” ศิลปวัฒนธรรม, สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564, https://www.silpa-mag.com/history/article_69941.
[2] คริส เบเกอร์ และผาสุก พงษ์ไพจิตร, ประวัติศาสตร์ไทยร่วมสมัย, (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์มติชน, 2557), หน้า 153-162.
[3] พอพันธ์ อุยยานนท์, “คณะราษฎรกับปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำในทศวรรษ 2470 กับอุปสรรคที่ทำให้แก้ไขได้อย่างจำกัด,” ศิลปวัฒนธรรม, สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564, https://www.silpa-mag.com/history/article_69941.
[4] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, การปฏิวัติสยาม พ.ศ. '2475', (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน, 2553), หน้า 108-118.
[5] มังกร สามเสน, โครงการณ์ เศรษฐกิจ พาณิชยการ กสิกรรม และอุตสาหกรรม, (กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ใต้เชียง, 2490), หน้า 40.
[6] เพิ่งอ้าง, หน้า 4-12.
[7] เพิ่งอ้าง, หน้า 12-39.
[8] ผลงานของปรีดี, “ร่างเค้าโครงเศรษฐกิจ,” สถาบันปรีดี พนมยงค์, สืบค้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2564, https://pridi.or.th/th/libraries/1583466113.
[9] หลวงประดิษฐ์มนูธรรม, เค้าโครงการเศรษฐกิจ, (กรุงเทพฯ : สถาบันปรีดี พนมยงค์, 2542), หน้า 4.
[10] เพิ่งอ้าง, หน้า 5-6.
[11] เพิ่งอ้าง, หน้า 6-10.
[12] เพิ่งอ้าง, หน้า 10-15.
[13] เพิ่งอ้าง, หน้า 16-25.
[14] เพิ่งอ้าง, หน้า 26-29.
[15] เพิ่งอ้าง, หน้า 30-32.
[16] เพิ่งอ้าง, หน้า 32-33.
[17] เพิ่งอ้าง, หน้า 34-35.
[18] เพิ่งอ้าง, หน้า 35-39.
[19] เพิ่งอ้าง, หน้า 39-44.
[20] เพิ่งอ้าง, หน้า 60-100.
[21] นัยนา หงษ์ทองคำ, พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและคณะราษฎร, (วิทยานิพนธ์ปริญญามหาบัณฑิต บัณฑิตวิทยาลัย แผนกประวัติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2520), หน้า 117-153.
[22] วันนี้ในอดีต, “20 มิ.ย. 2476 พระยาพหลฯ “ยึดอำนาจ” หลังพระยามโนฯ สั่งปิดสภา ระงับใช้รธน.บางมาตรา,” ศิลปวัฒนธรรม, สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2564, https://www.silpa-mag.com/this-day-in-history/article_469.
[23] นัยนา หงษ์ทองคำ, อ้างแล้ว, หน้า 117-153.
[24] วาทะประวัติศาสตร์, “หลวงประดิษฐ์มนูธรรมขอปฏิเสธ! “ข้าพเจ้าไม่ใช่คอมมูนิสต์”,” ศิลปวัฒนธรรม, สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2564, https://www.silpa-mag.com/quotes-in-history/article_28640.
[25] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, อ้างแล้ว, หน้า 377.
[26] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, สายธารประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยไทย, (กรุงเทพฯ : มูลนิธิสายธารประชาธิปไตย, 2551), หน้า 37.
[27] “ประวัติการสหกรณ์ในประเทศไทย,” กรมส่งเสริมสหกรณ์, สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2564, https://www.cpd.go.th/cpdth2560/component/k2/item/183.
[28] ประวัติธนาคารแห่งประเทศไทย, “จากสำนักงานธนาคารชาติ...ธนาคารแห่งประเทศไทย,” ธนาคารแห่งประเทศไทย, สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2564, https://www.bot.or.th/Thai/AboutBOT/RolesAndHistory/Pages/History.aspx.
[29] แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, “แผนพัฒนาการเศรษฐกิจแห่งชาติ ฉบับที่ 1,” สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, สืบค้นเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2564, https://www.nesdc.go.th/ewt_w3c/main.php?filename=develop_issue.