ขุนรณนภากาศ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 13:50, 3 มีนาคม 2564 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


ขุนรณนภากาศ :ผู้ปราบกบฏแมนแฮตตัน

  เหตุการณ์กบฏแมนฮัตตัน เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ปี 2494 นั้นเป็นการก่อการ ที่นำโดยนายทหารเรือระดับกลาง คือ นาวาตรีมนัส จารุภา ที่ดำเนินการจับตัวนายกรัฐมนตรี จอมพล ป. พิบูลสงคราม ไปคุมตัวไว้ในเรือรบหลวงศรีอยุธยาที่ลอยลำอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา และได้ยื่นคำขาดให้รัฐบาลลาออกไป ทางรัฐบาลนอกจากไม่ทำตามคำขาดแล้ว ยังสั่งใช้กำลังปราบปรามอย่างรุนแรง และได้ใช้เครื่องบินของกองทัพอากาศ ที่นำโดยนาวาตรี พร่างเพชร บุญยรัตนพันธ์ ไปทิ้งระเบิดใส่เรือรบหลวงศรีอยุธยา จนเกิดระเบิดเรือรบหลวงเสียหายและจมลงสู่ก้นแม่น้ำเจ้าพระยา ดังที่ได้มีการบันทึกไว้ในการปราบกบฏที่สำคัญของรัฐบาล ตอนนั้น
แม่ทัพอากาศที่มีบทบาทสำคัญ คือจอมพลอากาศฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี หรือ ขุนรณนภากาศ ผู้ซึ่งเป็นจอมพลอากาศคนแรกของกองทัพอากาศไทย ชีวิตทางการทหารและการเมืองของขุนรณนภากาศ ซึ่งขอคืนบรรดาศักดิ์ “ขุน” และใช้ชื่อเดิมว่า ฟื้น แต่มีชื่อกลางว่า รณนภากาศ จากบรรดาศักดิ์เดิม และใช้นามสกุลว่าฤทธาคนี นั้นมีเรื่องน่าเล่าพอสมควรทีเดียว

ฟื้น ฤทธาคนี เป็นบุตรของนายฟุ้ง และนางพุดตาน ฤทธาคนี  เกิดเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ปี 2443 สำหรับการศึกษานั้นท่านเคยเรียนที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเมื่อปี 2452 จากนั้นจึงได้ไปเข้าเรียนที่โรงเรียนในร้อยทหารบกในปี 2456 และ เรียนจบออกมาเป็นนายร้อยรับกระบี่ในปี 2463 แม้จะเรียนจบมาจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกก็ตาม แต่นายร้อยตรีฟื้นสนใจเกี่ยวกับการบิน ดังนั้น อีกสองปีต่อมาจึงสมัครไปเรียนด้านการบินและจบเป็นนักบินในปี 2466 ท่านเป็นนายทหารที่เรียนหนังสือดี ดังนั้น อีกหกปีต่อมาคือ ในปี 2472 ขณะที่มียศเป็นนายร้อยโท ท่านใด้สอบเข้าโรงเรียนเสนาธิการทหารบกโดยได้คะแนนเป็นที่หนึ่งและได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็นขุนรณนภากาศ อันแสดงถึงความเป็นทหารอากาศอย่างเด่นชัด ผ่านมา 2 ปี ในปี 2474 ท่านเรียนจบจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบกโดยได้ที่หนึ่ง จึงมีสิทธิ์จะได้ทุนไปเรียนต่อต่างประเทศ หากแต่เวลานั้นเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในประเทศ ประกอบกับมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินในเดือนมิถุนายน ปี 2475 และในปีถัดมาก็ยังมีกบฏบวรเดชเกิดขึ้น ท่านจึงไม่ได้รับโอกาสให้ไปศึกษาต่อในตอนแรก จนถึงปี 2477 ท่านจึงได้ไปเรียนต่างประเทศ ที่ท่านเลือกเรียนด้านการบินที่ประเทศอังกฤษอยู่หลายปี  ส่วนหน่วยการบินของกองทัพบกนี้ ได้มีการพัฒนายกฐานะขึ้นเป็นกรมทหารอากาศในวันที่ 12 เมษายนปี 2478 ครั้นถึงวันที่ 9 เมษายนปี 2480 จึงได้รับการสถาปนาเป็นกองทัพอากาศที่มีนายนาวาอากาศตรี พระเวชยันรังสฤษฎ์เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศคนแรก

ขุนรณนภากาศ รับราชการเป็นนายทหารอากาศสืบต่อมาจนถึงปี 2484 สมัยนายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลสงครามได้เกิดสงครามระหว่างไทยกับอินโดจีนของฝรั่งเศส ขณะนั้นขุนรณนภากาศมียศเป็นนายนาวาอากาศโท ตำแหน่งรองเสนาธิการทหารอากาศ และเป็นผู้บังคับฝูงบินพิบูลสงคราม ท่านได้รับการบันทึกว่ามีวีรกรรม โดยนำเครื่องบินทิ้งระเบิดไปปฏิบัติการในเขตเขมรของฝรั่งเศส และได้ทำการรบกลางอากาศกับเครื่องบินของฝรั่งเศสถึง 4 ลำ แต่ท่านรอดปลอดภัย นำเครื่องบินกลับเข้าไทยได้เรียบร้อยอันเป็นการรบกลางอากาศสมชื่อรณนภากาศเลยทีเดียว หลังการรัฐประหาร ปี 2490 แล้วหลวงพิบูลสงครามได้กลับมาเป็นนายกฯอีกครั้งในปี 2491 

ครั้นถึงเดือนมิถุนายนปี 2492 ได้เกิดกบฏวังหลวง และในปีนี้เองที่ขุนรณนภากาศฤทธาคนี ได้ตำแหน่งสูงสุดในกองทัพอากาศ ได้เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศแทนหลวงเทวฤทธิ์พันลึก ดังนั้นเมื่อมีกบฏแมนฮัตตันเกิดขึ้นตอนปลายเดือนมิถุนายนปี 2494 ขุนรณนภากาศหรือพลอากาศเอก ฟื้นฤทธาคนี ในฐานะผู้บัญชาการทหารอากาศจึงโดดเด่นขึ้นมา เพราะทหารอากาศเป็นหน่วยที่มีบทบาทสำคัญในการปราบปรามฝ่ายกบฏแมนฮัตตัน ด้วยการทิ้งระเบิดทำลายเรือรบหลวงศรีอยุธยาจมลงในแม่น้ำเจ้าพระยา การใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดในการปราบคณะผู้ยึดอำนาจนั้น ก่อนหน้านี้ก็ไม่เคยทำและต่อมาเมื่อคณะรัฐบาลทนต่อแรงเสียดทานของวุฒิสภา และไม่ชอบใจบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญปี 2492 คณะนายทหารจำนวนเก้าคนจากสามกองทัพจึงได้ร่วมกันประกาศยึดอำนาจ เรียกคณะของตนว่า “คณะบริหารประเทศชั่วคราว” ในกองทัพอากาศนั้นนายทหาร 3 ท่านที่เข้าร่วม คือพลอากาศเอกฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี ผู้บัญชาการทหารอากาศกับพลอากาศโท หลวงเชิดวุฒากาศ และพลอากาศโทหลวงปรุงปรีชากาศ

เมื่อมีการตั้งรัฐบาลขึ้นหลังการยึดอำนาจครั้งนั้นแล้ว หลวงพิบูลสงครามได้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี
อีกครั้ง ในรัฐบาลนี้พลอากาศเอกฟื้นได้เข้าร่วมรัฐบาลเป็นครั้งแรกโดยได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมตั้งแต่วันที่ 6 ธันวาคมปี 2494 สามปีถัดมาในปี 2497 ท่านก็ได้รับแต่งตั้งเป็นจอมพลอากาศ ท่านได้อยู่ร่วมรัฐบาลเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมจนถึงเดือนสิงหาคม ปี 2498 จึงได้เปลี่ยนไปเป็นรองนายกรัฐมนตรีสืบต่อมาจนถึงวันที่ 16 กันยายน ปี 2500 จึงพ้นตำแหน่งไป เพราะจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจล้มรัฐบาลของหลวงพิบูลฯ ในวันนั้น ไม่เพียงแต่พ้นตำแหน่งในรัฐบาลเท่านั้น ท่านยังต้องพ้นตำแหน่งผู้บัญชาการทหารอากาศไปด้วย โดยถูกย้ายออกจากกองทัพอากาศไปเกษียณราชการในปี 2504 ที่กองบัญชาการทหารสูงสุด งานสำคัญงานหนึ่งที่ท่านฝากไว้ให้เห็นคือตั้งโรงเรียนนายเรืออากาศขึ้นสำเร็จในปี 2496 ซึ่งตอนนั้นเป็นช่วงเวลาที่ท่านมีอำนาจมาก ทางรัฐบาลได้ให้สนับสนุน

จอมพลอากาศ ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี ได้ถึงแก่อสัญกรรมในวันที่ 8 กรกฎาคม ปี 2530