สงวน จันทรสาขา
สงวน จันทรสาขา : เลขาธิการพรรคสหภูมิ
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
พรรคสหภูมินั้นมิใช่พรรคการเมืองธรรมดา หากแต่เป็นพรรคการเมืองที่ผู้เรืองอำนาจ
อย่างจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จัดตั้งขึ้นหลังการเลือกตั้ง 26 กุมภาพันธ์ ปี 2500 และก่อนการยึดอำนาจ
16 กันยายนปีเดียวกันที่ล้มรัฐบาลของ จอมพลป.พิบูลสงคราม ซึ่งเคย ร่วมมือร่วมใจกันมาในการล้มรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์เมื่อปี 2490 และบีบให้นายกรัฐมนตรีควง อภัยวงศ์ลาออกจากตำแหน่งในตอนต้นปี 2491 ประวัติพรรคสกภูมิระบุว่า ตั้งขึ้นในวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2500 มีศาสตราจารย์ สุกิจ นิมมานเหมินทร์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่จากพรรคเสรีมนังคศิลาของรัฐบาล ย้ายพรรคออกมาเป็นหัวหน้าพรรคใหม่
และมีนายสงวน จันทรสาขา ผู้แทนราษฎรหน้าใหม่ของจังหวัดนครพนม ที่เป็นสมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลา
อยู่ก่อนแล้วเหมือนกัน ย้ายออกมาเป็นเลขาธิการพรรค เป้าหมายนั้นตอนแรกตั้งใจให้เป็นพรรคที่มีเสียง
ในสภาอยู่บ้าง ที่จะหนุนจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพราะตอนนั้นปรากฎชัดแล้วว่า แม้จอมพลสฤษดิ์
จะเป็นรองหัวหน้าพรรคเสรีมนังคศิลาที่มีจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้า และมีพล ต.อ.เผ่า ศรียานนท์
เป็นเลขาธิการพรรคก็ตาม แต่ในทางการเมืองทั้งสองฝ่ายมีความเห็นต่างกัน และถึงกับเกิดความขัดแย้ง
ปรากฏแก่สายตามหาชนคนไทย อย่างชัดเจน
หลังการยึดอำนาจของจอมพลสฤษดิ์แล้ว ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปกันใหม่ พรรคสหภูมิ
จึงเป็นพรรคการเมืองที่ต้องการแข่งขันแย่งชิงการสนับสนุนของประชาชนมาให้ฝ่ายจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ นั่นเอง หาไม่ก็จะเป็นการยึดอำนาจแล้วปล่อยให้พรรคประชาธิปัตย์ที่มีนายควง อภัยวงศ์ เป็นหัวหน้า
ชิงการสนับสนุนของประชาชนไปง่ายๆแต่ฝ่ายเดียว ที่จริงตัวหัวหน้าพรรคสหภูมินั้น แม้จะเป็นศาสตราจารย์ และเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคยเป็นรัฐมนตรีมาแล้วก็ตาม ในวันนั้น ผู้คนในวงการเมืองดูจะให้ความสนใจไปที่ตัวเลขาธิการพรรคมากกว่า เพราะรู้ดีว่าคุณสงวน จันทรสาขา นั้นไม่ใช่ใครอื่น หากแต่เป็นน้องชายร่วมมารดากันกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งคุ้มกำลังทหารอยู่ในเวลานั้น
สงวน จันทรสาขา เป็นคนเมืองนครพนม เกิดที่พื้นที่นั้นในปี 2461 มีบิดาเป็นนายอำเภอเมืองนครพนมคือหลวงพิทักษ์พนมเขต (สีห์ จันทรสาขา) มีปู่คือพระยาศศิวงศ์ประวัติ (เมฆ จันทรสาขา) ผู้เป็นเจ้าเมืองมุกดาหาร ส่วนมารดานั่นคือนางจันทร์ทิพย์ วงษ์หอม ที่เป็นมารดาของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์นั่นเอง
นางจันทร์ทิพย์เคยแต่งงานกับพันตรีหลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนะรัชต์) ก่อนที่จะเลิกกัน
และท่านได้เดินทางกลับไปบ้านเกิด ต่อมาท่านได้แต่งงานกับหลวงพิทักษ์พนมเขต มีบุตรชายอีก 3 คน
และ คนหนึ่งก็คือคุณสงวน จันทรสาขา ที่ปรากฏชื่อมีบทบาททางการเมืองได้รับการเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรจังหวัดนครพนมในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2500 โดยสังกัดพรรคเสรีมนังคศิลา
ที่มีนายกรัฐมนตรี จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้าพรรค จังหวัดนครพนมมีผู้แทนราษฎรได้ 3 คน
คุณสงวนเป็นสมาชิกพรรคเสรีมนังคศิลาคนเดียวที่ชนะในจังหวัดนี้ ส่วนผู้แทนราษฎรอีก 2 คนเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ หลังการเลือกตั้งครั้งนี้ ที่รัฐบาลถูกประท้วงว่าจัดการเลือกตั้งทุจริต จึงทำให้จอมพลสฤษดิ์ขัดแย้งกับจอมพล ป.ในทางการเมือง และ คุณสงวน จันทรสาขา ได้แยกตัวออกมาตั้งพรรคสหภูมิดังที่กล่าวมาแล้ว
เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจ ล้มรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม และตั้งนายพจน์ สารสิน
เป็นนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลนี้ คุณสงวน จันทรสาขาก็ได้เข้าร่วมเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและคุณสงวนก็เป็นตัวจักรสำคัญ ในฐานะเลขาธิการพรรคสหภูมิ นำพรรคสู้เลือกตั้งวันที่ 15 ธันวาคม ปี 2500 ปรากฏว่าพรรคสหภูมิชนะได้ที่นั่งมากเป็นลำดับหนึ่งคือได้ 44 ที่นั่งจากทั้งหมด 160 ที่นั่ง
ในสภา ในขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ได้ที่นั่งเพียง 39 ที่นั่ง ตามมาเป็นที่ 2 แต่ที่ทำให้คุณสงวนเด่นขึ้นมามากก็คือในการเลือกตั้งคราวนี้คุณสงวนสามารถนำผู้สมัครของพรรคสหภูมิในจังหวัดนครพนมชนะยกทั้งจังหวัดจำนวน 3 คน และคนหนึ่งในนั้นก็คืออดีตผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ที่ย้ายมาสมัครในนามพรรคสหภูมิด้วย
แต่เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต้องการตั้งพรรคใหม่ของตน เพื่อรวบรวมผู้แทนราษฎรที่ไม่สังกัด
พรรคซึ่งมีมากถึง 59 คน และรวมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2 ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง ให้มาร่วมสนับสนุนรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ คุณสงวน จันทรสาขา จึงนำเอาพรรคสหภูมิยุบเข้ามารวมกับพรรคที่ตั้งใหม่ของพี่ชาย พรรคนี้ชื่อพรรคชาติสังคม อันเป็นพรรคที่สนับสนุนให้พลโทถนอม กิตติขจร นายทหาร
ที่จอมพลสฤษดิ์ไว้วางใจ ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี ในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี พลโทถนอมนี้ คุณสงวนได้เข้าร่วมเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเช่นเดิม รัฐบาลของพลโทถนอมนี้มีนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งเข้ามาร่วมอยู่หลายคน ต่อมาได้มีการขัดแย้งภายในรัฐบาล จนนำไปสู่การยึดอำนาจซ้ำ
ของจอมพลสฤษดิ์ในวันที่ 20 ตุลาคม ปี 2501 ครั้นถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2502 เมื่อมีการตั้งสภา
ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมีสมาชิก 240 คน คุณสงวน ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูนด้วยคนหนึ่ง ต่อมาจอมพลสฤษดิ์ก็ได้รับตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และระหว่างที่จอมพลสฤษดิ์เป็นนายกรัฐมนตรีจนถึง
แก่อสัญกรรมในวันที่ 8 ธันวาคม ปี 2506 นั้น แม้คุณสงวนจะไม่ได้เข้าร่วมเป็นรัฐมนตรี แต่ก็เป็นคนที่จอมพลสฤษดิ์ไว้วางใจให้ไปคุมถุงเงินสำคัญคือไปเป็นผู้อำนวยการกองสลากกินแบ่งรัฐบาลอยู่นานจนเปลี่ยนรัฐบาล
หลังจอมพลสฤษดิ์ได้อสัญกรรมไปแล้ว มีเรื่องที่ทายาทฟ้องร้องกันเรื่องมรดกจนนำไปสู่การใช้มาตรา 17 ยึดทรัพย์ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ บทบาทของคุณสงวน จันทรสาขา ก็หายไปจากวงการเมืองตลอดมา