อรุณ ทวาทศิน

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:31, 12 กุมภาพันธ์ 2564 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " '''อรุณ ทวาทศิน : วันดับกับเหตุการณ์ดุ'''   ผู้เรียบเรียง...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

อรุณ ทวาทศิน : วันดับกับเหตุการณ์ดุ

 

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต

 

        วันเสาร์ที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 เป็นวันที่คนกรุงเทพฯตื่นขึ้นมาได้รับข่าวสารทั่วไปว่ามีคณะทหาร
กลุ่มหนึ่งนำโดยพลเอกฉลาด หิรัญศิริ นำกำลังเข้ายึดอำนาจ โดยมุ่งหมายล้มรัฐบาลของนายกรัฐมนตรี ธานินทร์ กรัยวิเชียร และล้มคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ซึ่งเป็นคณะทหารที่มี พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้า ประกาศของคณะทหารผู้ยึดอำนาจนั้นอ้างชื่อพลเอก ประเสริฐ ธรรมศิริ รองผู้บัญชาการทหารบกซึ่งในขณะนั้นถูกเชิญตัวมาอยู่ที่กองบัญชาการของคณะผู้ยึดอำนาจคือที่สวนรื่นฤดี ถนนสุโขทัยแล้ว
เมื่อมีแถลงการณ์จากคณะผู้ยึดอำนาจออกประกาศมาเช่นนั้น ผู้คนก็คิดว่าเหตุการณ์คงเรียบร้อยไปแล้ว
เพราะฝ่ายรัฐบาลก็เงียบไป จนสายมากจึงได้มีประกาศจากทางฝ่ายรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากผู้บัญชาการทหารบก พลเอกเสริม ณ นคร ว่า รัฐบาลยังอยู่ในอำนาจและได้ปิดล้อมกำลังฝ่ายกบฏไว้ได้แล้ว ต่อมาก็มีข่าว
ที่ประชาชนเองแปลกใจมากขึ้นก็คือได้มีการยิงกันภายในกองบัญชาการที่สวนรื่นฤดี และผู้ที่ถูกยิงที่ถูกนำส่งโรงพยาบาล คือผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ พลตรี อรุณ ทวาทศิน ที่นายทหารฝ่ายยึดอำนาจ
ได้เชิญตัวมาควบคุมไว้ที่สวนรื่นฤดีนั่นเอง และพลตรี อรุณ ผู้นี้คือ ผู้ที่เสียชีวิตให้กับการยึดอำนาจในครั้งนั้น อันมีผลทำให้การยึดอำนาจในวันที่ 26 มีนาคม ปี 2520 ล้มเหลว

        อรุณ ทวาทศิน เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดเมื่อวันที่ 17 กันยายน ปี 2465 ที่บ้านตำบลสุริยวงศ์ ในเขตอำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร มีบิดาเป็นนายทหารคือนายพันโท หลวงเลขกิจสุนทร (บั้ม ทวาทศิน) และมารดาชื่อสร้อย ทางด้านการศึกษานั้น อรุณ ทวาทศีน เรียนจากโรงเรียนหลายแห่ง แต่ไปเรียนชั้นมัธยมปลายที่โรงเรียนมัธยมหอวัง (สมัยก่อนโน้น) จากนั้นจึงได้เข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก จบออกมารับราชการ
เป็นนายร้อยตรีเมื่อปี 2488 ท่านเป็นทหารที่เจริญเติบโตมาในราชการเป็นอย่างดี ถึงปี 2496 ก็ได้ยศเป็น
พันตรี ในสมัยรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลสงคราม และท่านมาได้ยศเป็นพันเอกใน ปี 2505 เมื่อครั้งที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนั้นอีก 10 ปีต่อมาในสมัยที่จอมพลถนอม กิตติขจร
เป็นนายกรัฐมนตรี ท่านก็ได้รับการเลื่อนยศขึ้นเป็นนายพลตรีใน ปี 2515 ครั้นถึง ปี 2518 ท่านได้ตำแหน่ง
เป็นผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ที่มีหน้าที่สำคัญในการดูแลพื้นที่กรุงเทพมหานคร สำหรับ
ชีวิตครอบครัวนั้นท่านได้แต่งงานกับนางสาวจำลอง กาญจนกุญชร

        ดังนั้นในวันเกิดเหตุการณ์ยึดอำนาจ พลตรี อรุณ ทวาทศิน จึงเป็นนายพลทหารบกที่มีความสำคัญคนหนึ่ง  ที่เข้าไปอยู่ที่กองบัญชาการฝ่ายผู้ก่อการฯ ซึ่งนำโดยพลเอก ฉลาด หิรัญศิริ แต่ไม่มีพลเอก เสริม ณ นคร
ผู้บัญชาการทหารบก ที่ทางทหารซึ่งไปเชิญทำงานพลาด ปล่อยให้ท่านหลุดพ้นการเชิญตัวไปได้ การยึดอำนาจ
ที่ทำท่าจะสำเร็จได้เปลี่ยนไปในทางตรงกันข้าม เกิดขึ้นจากเหตุสองประการ เหตุประการแรก ทหารไม่ได้ตัวพลเอก เสริม ณ นคร ผู้บัญชาการทหารบก มาที่สวนรื่นฤดี อันเป็นที่ตั้งกองบัญชาการของฝ่ายผู้ก่อการ
และประการที่สอง พลตรี อรุณ ทวาทศิน ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 ได้ถูกยิงและเสียชีวิต

          กรณีที่มีการยิงกันในห้องบัญชาการนั้น พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ที่ตอนนั้นยศเป็นพันโท
ได้อยู่กับแกนนำสำคัญระดับนายพันอีกสามนายในห้องถัดไป ท่านบอกว่า ท่านสามารถมองเห็นในห้องบัญชาการได้ถนัด จากคำให้การของท่านนั้นมีว่า

        “ผมเห็นพลเอก ฉลาด หิรัญศิริ นั่งอยู่ที่หัวโต๊ะ พลตรี อรุณ ทวาทศิน นั่งอยู่ข้างๆ เบื้องหลังที่
พลตรีอรุณ ทวาทศิน นั่ง มีร้อยโท ชูชีพ ปานวิเชียร นายทหารจากกองพล 9 กาญจนบุรี ถือปืนเอ็ม 16 รักษาการณ์อยู่...”

        ตามมาด้วยนาทีวิกฤติ ที่พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ เล่าสืบต่อมาว่า

        “พลตรี อรุณ ลุกขึ้นไปชงกาแฟ แล้วนำไปยื่นให้กับพลเอก ฉลาด พลเอกฉลาดรับกาแฟแล้ววางถ้วยไว้
ที่โต๊ะ ยังไม่ทันจิบกาแฟ ก็ลุกขึ้นเดินไปที่หน้าต่าง เพื่อจะดูกำลังทหารที่รักษาการณ์อยู่ในบริเวณสวนรื่นฯระหว่างนั้นพลตรี อรุณก็เดินกลับมายังที่นั่งของตัวเอง แต่ฉับพลันนั้น อย่างไม่มีใครคาดคิด พลตรี อรุณ
ตรงเข้าแย่งปืนเอ็ม 16 จากร้อยโทชูชีพ เกิดการยื้อยุดกันเป็นพัลวัน...”

        ตอนนี้พลตรีสนั่น ขจรประศาสน์ เล่าว่าท่านกับนายพันทั้งสามก็วิ่งเข้าไปในห้องบัญชาการ

        “แต่วินาทีนั้นผมบอกตัวเองว่าเราเข้าถึงตัวพลตรี อรุณ ช้าเกินไปเสียแล้ว เพราะปืนเอ็ม 16 กระบอกนั้นกำลังตกอยู่ในมือของพลตรี อรุณอย่างเป็ดเสร็จ วินาทีแห่งความเป็นความตาย ผมได้ยินเสียงพลเอก ฉลาด
สั่งให้พลตรี อรุณ วางปืน แต่พอสิ้นคำว่าวางปืน เสียงปืนก็ดังระเบิดขึ้นหนึ่งนัด...”

        กระสุนปืนวิ่งเข้าร่างพลตรี อรุณ ทวาทศิน ท่านจึงไม่สามารถใช้ปืนเอ็ม 16 ที่อยู่ในมือท่านได้ แล้วท่านถูกยิงซ้ำอีกจนร่าง ทรุดลงและถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล แต่ไปถึงโรงพยาบาลได้ไม่นานท่านก็สิ้นใจ

        พลตรี อรุณ ทวาทศิน ถึงแก่กรรมในวันที่ 26 มีนาคม ปี 2520 นั่นคือวันที่เกิดการกบฏนั่นเอง

        เรื่องต่อมาก็อย่างที่รู้กัน. การก่อการในวันนั้นกลายเป็นกบฏ 26 มีนาคม ปี 2520 ที่หัวหน้าถูกคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้ประหารชีวิตและผู้ร่วมก่อการหลายคนถูกจำคุก ภายหลังต่อมา จึงได้มีการนิรโทษกรรม

        พลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ผู้ที่ได้เป็นนายกรัฐมนตรีคนต่อมาหลังเหตุการณ์ครั้งนั้นผ่านไปได้ 7 เดือนได้เขียนถึงพลตรีอรุณ ทวาทศิน ที่ได้เลื่อนยศเป็น"พลเอก" ดังปรากฏในหนังสืองานพระราชทานเพลิงศพ
พลเอก อรุณ ทวาทศิน เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2521 ว่า

        “..คุณค่าของ พลเอก อรุณ ทวาทศิน ก็เสมือนเพชรน้ำหนึ่ง ควรแก่การภูมิใจของกองทัพไทยโดยแท้”