อุทธรณ์ พลกุล
“อุทธรณ์ พลกุล : ขุนพลหนังสือพิมพ์”
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
เมื่อนึกถึงนักหนังสือพิมพ์กับการเมือง ในยุคสร้างหรือยุคร้างประชาธิปไตยก็ดี เราจะมองข้ามชื่อ
อุทธรณ์ พลกุล ไปไม่ได้ เพราะท่านผู้นี้ได้เลือกมาเดินในเส้นทางของนักหนังสือพิมพ์ที่เป็นตัวของตัวเอง
และได้แสดงความคิดเห็นของตนออกมาในหน้าหนังสือพิมพ์อย่างแหลมคมเป็นที่ถูกอกถูกใจของคนอ่าน
จำนวนมาก และไม่ถูกใจผู้มีอำนาจในรัฐบาลบ้าง ทั้งในรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งและที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งการแสดงบทบาทแบบนี้อุทธรณ์ พลกุล จึงเคยถูกตั้งข้อหากบฏจนต้องเข้าไปอยู่ในคุกในตาราง ท่านเคยได้รับแต่งตั้งเป็นนักการเมืองเฉพาะกิจบ้าง เช่นเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และเป็นสมาชิกวุฒิสภา แต่อาชีพที่ท่านเป็นจนถึงวาระสุดท้ายคือนักหนังสือพิมพ์
อุทธรณ์ พลกุล เป็นคนกรุงเทพ ท่านเป็นบุตรชายของข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คือ พระยาวินัยสุนทร
และมารดาชื่อ ม.ร.ว.สงัด ท่านเกิดเมื่อวันที่ 11 มกราคม ปี 2462 ทางด้านการศึกษานั้นท่านได้เข้าเรียนที่โรงเรียนฝรั่งที่มีชื่อเสียง ได้แก่โรงเรียนอัสสัมชัญ จนจบชั้นมัธยมปีที่ 6 จึงได้เข้าเรียนที่โรงเรียนเตรียมปริญญามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง รุ่นที่ 1 จบจากโรงเรียนเตรียมปริญญาฯแล้ว ท่านจึงได้เรียนต่อที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ตอนที่มาเรียนที่โรงเรียนเตรียมปริญญาฯตั้งแต่ปี 2481 อุทธรณ์พลกุล ก็ได้เข้าทำงานหนังสือพิมพ์ หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 แล้วหนังสือพิมพ์ก็มีเสรีภาพมากขึ้น อุทธรณ์จึงสนุกกับการทำงานหนังสือพิมพ์ หลงใหลในกลิ่นน้ำหมึก ดังนั้นการเรียนต่อระดับปริญญาตรี
ในมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์ฯ จึงไม่ประสบความสำเร็จ แต่ท่านก็ประสบความสำเร็จในวงการหนังสือพิมพ์เพราะในปี 2487 ขณะที่มีอายุได้เพียง 25 ปีอุทธรณ์ก็ได้เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ อิทธิธรรมตอนนั้นอยู่ในสมัยรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม อุทธรณ์ได้เปลี่ยนงานอยู่ในแวดวงหนังสือพิมพ์สองสามฉบับ และในวงการหนังสือพิมพ์นี่เอง ที่อุทธรณ์ได้พบและเป็นเพื่อนกับผู้ชอบงานหนังสือพิมพ์ที่สำคัญมากในภายหลังอีกท่านหนึ่งคือนายกำพล วัชรพล ในปี 2491 กำพล วัชรพล นี่เองที่ได้เป็นนายทุนร่วมกันออกหนังสือพิมพ์ ข่าวภาพรายสัปดาห์ ตอนนั้นเป็นช่วงรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นยุคที่กลุ่มนายทหารที่เรียกกันว่าคณะรัฐประหารมีอำนาจทางทหารสนับสนุนรัฐบาล และมีความขัดแย้งมากกับกลุ่มคณะราษฎรที่ถูกล้มอำนาจไป ในช่วงเวลานี้อีกเช่นกัน กลุ่มที่สนับสนุนประชาธิปไตยได้รวมกลุ่มการคัดค้านสงครามและเรียกร้องในเรื่องสันติภาพ ซึ่งเกิดตรงกับแนวทางของสหภาพโซเวียตที่ได้สนับสนุนอยู่ในตอนนั้น กลุ่มเคลื่อนไหวของไทยกลุ่มนี้ จึงถูกรัฐบาลของหลวงพิบูลสงครามเพ่งเล็งและบุคคลในกลุ่มถูกจับกุม
ในปี 2495 ปีนี้เป็นปีที่รัฐบาลของหลวงพิบูลสงครามมีความมั่นคงทางการเมืองมากทีเดียว เพราะผ่านการพยายามยึดอำนาจที่ล้มเหลวกลายเป็นกบฏมาแล้วถึง 3 ครั้ง และยังหลังการยึดอำนาจซ้ำของคณะทหารกลุ่มรัฐประหาร ในเดือนพฤศจิกายน ปี 2494 ด้วย การถูกจับครั้งนั้น ทำให้อุทธรณ์ต้องติดคุกอยู่นานประมาณ 5 ปี ท่านพ้นโทษออกมาในปี 2500 เพราะรัฐบาลปล่อยนักโทษการเมืองในโอกาสงานฉลอง 25 พุทธศตวรรษ สำหรับชีวิตครอบครัว ท่านได้สมรสกับคุณศิริวรรณ สกุลเดิม พัฒนพงษ์
ออกจากคุกแล้ว อุทธรณ์ก็กลับมาทำหนังสือพิมพ์และเขียนแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ ดังนั้น
เมื่อจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจซ้ำในวันที่ 20 ตุลาคมปี 2501 อุทธรณ์จึงถูกจับในวันรุ่งขึ้น คราวนี้ท่านเจอข้อหาคอมมิวนิสต์ ที่รัฐบาลส่งตัวท่านเข้าคุกอยู่เป็นเวลาประมาณเจ็ดปี จนจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ถึงแก่อสัญกรรมในเดือนธันวาคมปี 2506 เวลาผ่านมาถึงปี 2508 อุทธรณีจึงพ้นผิดและพ้นคุก ในสมัย
จอมพล ถนอม กิตติขจรเป็นนายกรัฐมนตรี รวมเวลาแล้วอุทธรณ์ติดคุกเพราะการเมืองแท้ๆอยู่นานถึง 12 ปี
ออกมาจากคุกครั้งหลังนี้ อุทธรณ์ได้ไปทำงานหนังสือพิมพ์กับเพื่อนคนเดิมที่รักกันมาก คือกำพล วัชรพล
ที่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ อุทธรณ์ใช้นามปากกาอยู่หลายชื่อ เช่น “ทิวา อดิสัย” และอื่นๆ แต่นามปากกาหลังออกจากคุกคือ “งาแซง” ก็เป็นที่รู้จักของผู้อ่านและเป็นที่ชื่นชอบในข้อเขียนของท่าน การเมืองไทยช่วงนั้นเปลี่ยนแปลงมากในปี 2511 การร่างรัฐธรรมนูญที่ยาวนานก็จบลงพร้อมกับรัฐธรรมนูญ ปี 2511 และในปีถัดมาก็มีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้น ที่นำจอมพลถนอมกลับมานายกรัฐมนตรีอีกครั้ง แต่แล้วอีกสองปีต่อมาในเดือนพฤศจิกายนปี 2414 จอมพลถนอม กิตติขจร ก็ยึดอำนาจล้มรัฐบาลของตัวเองและจัดการปกครองประเทศโดยอาศัยธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ปี 2515 จนนำไปสู่การเรียกร้องรัฐธรรมนูญและล้มรัฐบาล
จอมพลถนอม ได้โดยเหตุการณ์ที่เรียกว่า “เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516”
หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ได้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อแก้ไขความ
ไม่มั่นคงทางการเมือง อุทธรณ์ พลคุณ ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสมัชชาแห่งชาติ และได้รับเลือกให้เป็นสมาชิก
สภานิติบัญญัติชาติด้วย หลังการเลือกตั้งใหม่แล้ว ท่านก็ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ท่านจึงเป็นนักหนังสือพิมพ์ไม่กี่ราย ที่ได้เข้ามาเป็นนักการเมืองเฉพาะกิจ ทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติให้กับประเทศในยาม
ที่การเมืองไม่ปกติ ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ อุทธรณ์ ศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ที่ไม่ได้จบปริญญาแต่เป็นผู้รู้และมีประสบการณ์เกี่ยวกับสังคมและบ้านเมืองอย่างมาก ก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของสภามหาวิทยาลัยที่ท่านเป็นศิษย์เก่า คือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อุทธรณ์ พลกุล ทำงานต่อมาได้ไม่นาน เชื่อกันว่าการถูกจำคุกอยู่นานทำให้สุขภาพของท่านเสื่อมโทรม ท่านจึงเสียชิวิตลงในวันที่ 14 กันยายน ปี 2519 ขณะที่มีอายุเพียง 57 ปี