หลวงสวัสดิ์รณชัย
พลโท สวัสดิ์ : ผู้จี้ให้นายกฯ ควง ลาออก
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
วันที่ 6 เมษายน เป็นวันจักรี จึงเป็นวันหยุดราชการ ในวันที่ 6 เมษายน ปี 2491 ขณะที่นายกรัฐมนตรี ควง อภัยวงศ์ อยู่ที่บ้านพักหน้าสนามกีฬาได้มีนายทหารระดับนายพล และนายพันของกองทัพบก 4 คน
ไปพบที่บ้าน และยื่นคำขาดของคณะรัฐประหารที่คุ้มครองรัฐบาลอยู่ในตอนนั้นให้นายกรัฐมนตรีควง อภัยวงศ์ ลาออก เพราะปกครองบ้านเมืองไม่ดีตามความต้องการของคณะรัฐประหาร
คณะรัฐประหาร คือใคร คำตอบคือ คณะนายทหารนำโดยพลโทนอกราชการ ผิน ชุณหะวัณ ที่เข้ายึดอำนาจล้มรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 และล้มรัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ที่มาตามรัฐธรรมนูญ ตอนแรก
คณะรัฐประหารยังไม่เข้ามาเป็นรัฐบาลเอง จึงได้ขอแรงนายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ให้เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีจัดตั้งรัฐบาล เพราะเป็นพรรคฝ่ายค้านสำคัญในตอนนั้น นายกรัฐมนตรีควงจึงเข้ามาตั้งรัฐบาลและจัดการเลือกตั้ง ที่พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคที่มีคะแนนนำจึงได้จัดตั้งรัฐบาลหลังเลือกตั้ง
และได้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งต่อมา
ก็คือรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 แต่นายควง อภัยวงศ์ เข้ามาเป็นนายกฯ หลังเลือกตั้งได้ยังไม่เท่าไหร่
ก็ถูกนายทหาร 4 นาย ตบเท้าเข้ามาที่บ้านและ “จี้” ให้ออก ในบรรดานายทหาร 4 คนนี้ คนหนึ่ง
คือ พลตรี สวัสดิ์ สวัสดิ์รณชัย สวัสดิเกียรติ
หลวงสวัสดิ์รณชัย หรือชื่อเดิมว่าสวัสดิ์ นามสกุล สวัสดิเกียรติ เป็นคนเมืองชล เกิดที่บ้านพานทอง อำเภอพานทอง จังหวัดชลบุรี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ปี 2442 บิดาชื่อนายเซ็ง สวัสดิเกียรติ มารดาชื่อนางจีน หลังการศึกษาเบื้องต้นแล้ว ในปี 2458 ขณะที่อายุได้ 16 ปี ท่านได้เข้ามาเรียนที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก
ในวันที่ 1 เมษายน ปี 2468 และได้เข้ารับราชการเป็นนายร้อยตรี ที่กรมทหารปืนใหญ่ ที่ 4 อีก 6 ปีต่อมาได้ไปเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการกองพลที่ 2 และได้รับยศนายร้อยโทในปี 2474 ปีถัดมาได้เลื่อนยศเป็นนายร้อยเอกเมื่อวันที่ 1 เมษายน ปี 2475 โดยยังเป็นนายทหารฝ่ายเสนาธิการกองพลที่สองอยู่เหมือนเดิม และเมื่อ
มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองฯ ในปี 2475 ท่านไม่ได้มีส่วนร่วมกับเขา แต่ท่านก็ไม่ได้รับความกระทบกระเทือนแม้หลังการเกิดกบฏบวรเดชในเดือนตุลาคม ปี 2476 ที่รัฐบาลปราบปรามได้ โดยมีนายทหารหลายคนที่ถูกข้อหาเข้าข้างกบฏนั้น นายร้อยเอกสวัสดิ์ก็มิได้เกี่ยวข้องด้วย ส่วนชีวิตครอบครัว ท่านได้แต่งงานกับนางสาวประทุม พัสดุรักษา ตั้งแต่ปี 2467
จนกระทั่งผ่านสงครามโลกครั้งที่ 2 มาแล้ว ถึงปี 2490 ในวันที่ 1 มีนาคมในสมัยที่นายควง อภัยวงศ์
เป็นนายกรัฐมนตรี คุณสวัสดิ์ดำรงตำแหน่งในราชการทหารเป็นเกียกกายทหารบก ตอนนั้นมียศเป็นพันเอกและเมื่อมีผู้คบคิดกันจะทำการรัฐประหารปี 2490 ในเดือนพฤศจิกายนนั้น มีข้อมูลอ้างได้ว่าท่านเป็นแกนนำของกลุ่มทหารบกในราชการอยู่ด้วย เป็นกลุ่มที่ 3 นอกเหนือไปจากกลุ่มที่ 1 ที่นำโดยพันเอก หลวงกาจสงคราม และกลุ่มที่ 2 ที่นำโดยพลโท ผิน ชุณหะวัณ นายทหารนอกราชการ ดังนั้น พันเอก สวัสดิ์จึงเป็นผู้นำทหารที่มีความสำคัญคนหนึ่งของคณะรัฐประหารปี 2490 หลังจากยึดอำนาจเสร็จไม่ทันถึงเดือนท่านก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการโรงเรียนในร้อยทหารบก นับว่าเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนในร้อยคนที่ 13
จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อคณะรัฐประหารต้องการเปลี่ยนรัฐบาลของนายควง อภัยวงศ์ ที่คณะรัฐประหาร
เองได้ไปขอให้นายควง มาเป็นนายกรัฐมนตรี จัดตั้งรัฐบาลหลังการยึดอำนาจเสร็จในปี 2490 และให้จัดการเลือกตั้งทั่วไปใหม่เพื่อให้นานาชาติให้การรับรองรัฐบาลจนได้การรับรองแล้ว คณะรัฐประหารจึงได้ส่ง
พลตรี สวัสดิ์นำนายทหารอีก 3 ท่านประกอบด้วยพันโท ก้าน จำนงค์ภูมิเวท พันเอก ศิลป์ ศิลปะศรชัย
รัตนวราหะ และพันตำรวจตรีละม้าย อุทยานานนท์ ไปพบนายควง อภัยวงศ์ นายกรัฐมนตรีที่บ้านพัก
และยื่นคำขาดว่าคณะรัฐประหารต้องการให้ท่านลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งนายควง อภัยวงศ์
ก็ยอมลาออกในสองวันต่อมา หลังจากนั้น จอมพล ป.พิบูลสงคราม ผู้ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของคณะรัฐประหาร
และอยู่เบื้องหลังการยึดอำนาจ ปี 2490 ด้วยคนหนึ่งก็ได้กลับเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
ครั้นถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน ปี 2491 พลตรี สวัสดิ์ สวัสดิเกียรติ ก็ได้เข้าร่วมรัฐบาลเป็นครั้งแรก
ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ตอนนั้นท่านต้องยอมลาออกจากราชการทหารประจำการไปเป็นนายทหารกองหนุน และในปีถัดมาเมื่อมีวุฒิสภาเกิดขึ้น พลตรี สวัสดิ์ก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาในวันที่ 21 มิถุนายน ปี 2492 อีกเจ็ดวันต่อมาท่านก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลสงคราม ท่านได้อยู่ในตำแหน่งจนถึงวันที่ 1 มกราคม ปี 2494 จึงมีการปรับคณะรัฐมนตรี ท่านได้ย้ายขึ้นไปเป็นรองนายกรัฐมนตรี ครั้นมีการรัฐประหารเงียบโดยคณะผู้บริหารประเทศชั่วคราวที่ประกอบด้วยนายทหารจาก 3 เหล่าทัพจำนวน 9 คน ในวันที่ 29 พฤศจิกายน ปี 2494 ที่ได้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 จึงทำให้มีการยกเลิกวุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร และมีผลให้หลวงพิบูลสงครามพ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปด้วย แต่ในวันเดียวกันนั่นเองหลวงพิบูลสงครามก็ได้รับการแต่งตั้งกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง คราวนี้ พลโท สวัสดิ์ สวัสดิเกียรติ ก็ได้กลับเข้ามาเป็นรองนายกรัฐมนตรีควบตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมด้วย และในวันรุ่งขึ้นคือวันที่ 30 พฤศจิกายน ปี 2494 พลโท สวัสดิ์ก็ยังได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประเภทที่ 2
ตามรัฐธรรมนูญอีกด้วย
แต่พลโท สวัสดิ์ สวัสดิ์รณชัย สวัสดิเกียรติ ก็ได้อยู่ในตำแหน่งรัฐมนตรีต่อมาอีกไม่นาน เพราะในวันที่ 16 พฤษภาคม ปี 2495 ท่านได้ถึงแก่อนิจกรรมด้วยโรคตับ