พระยาศราภัยพิพัฒ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 08:53, 12 กุมภาพันธ์ 2564 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " '''ศราภัย : คน น.ส.พ. ที่สฤษดิ์เกรงใจ'''   ผู้เรียบเรียง : ศา...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ศราภัย : คน น.ส.พ. ที่สฤษดิ์เกรงใจ

 

ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต


          “ศราภัย” ในที่นี้คือ พระยาศราภัยพิพัฒ ท่านมียศทางทหารเป็นนาวาเอกจากราชนาวีไทย
และเป็นนายทหารนอกราชการ ส่วนสฤษดิ์นั้นก็คือ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก
และนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจมากที่สุดคนหนึ่งของไทยในตอนนั้น ที่กล้าบอกว่าจอมพล สฤษดิ์เกรงใจก็เพราะ เมื่อเดือน กรกฎาคม ปี 2503 เจ้าคุณที่เป็นนายทหารนอกราชการผู้นี้ได้เขียนวิจารณ์การเมืองชื่อ
“ทัศนะวิจารณ์การเมือง-มาตรา 17” โดยใช้นามปากกาว่า “ศราภัย” ลงในหนังสือพิมพ์ปิยะมิตรรายสัปดาห์ ฉบับที่ 164 วันที่ 18 กรกฎาคม ปี 2503 ทำให้ “เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลได้เรียกบรรณาธิการไปไต่สวน
จดปากคำและซักข้อความหลายประการ ให้ลงนามไว้เป็นหลักฐานเป็นเชิงจะเอาผิดในข้อความเหล่านั้น”

เจ้าคุณศราภัยจึงเขียนคำอำลา ขอเลิกเขียนบทความในหนังสือพิมพ์ปิยะมิตร เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2503 โดยได้ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ปิยะมิตร  ฉบับวันที่ 18 กันยายน ปี 2503 ข่าวที่ตำรวจเรียกบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ปิยะมิตรไปซักถามนั้นคงรู้ถึงหูนายกรัฐมนตรี จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ท่านจึงได้เขียนจดหมายถึงเจ้าคุณศราภัย ลงวันที่ 25 สิงหาคม ปี 2503 ที่เป็นจดหมาย “ลับ-เฉพาะ-ส่วนตัว” จอมพล สฤษดิ์
ธนะรัชต์  ได้เขียนว่า ท่านทราบว่าทางหนังสือพิมพ์ปิยะมิตรถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเรียกไปพบ ความในจดหมาย
มีเนื้อหาสำคัญตอนหนึ่งว่า

“... ขอท่านเจ้าคุณอย่าได้คิดเห็นผมเป็นอย่างอื่น ขอได้กรุณาคิดว่าผมเป็นเด็กที่ยินดีรับฟังความคิดเห็นของท่านเจ้าคุณ หรือจากทุกๆ คนเสมอ ฉะนั้นหากท่านเจ้าคุณมีข้อคิดเห็นประการใด ก็ใคร่จะขอร้องว่าได้กรุณาติดต่อกับผมโดยตรง ผมจะรู้สึกเป็นเกียรติ และจะนับเป็นความกรุณาปราณีที่ท่านเจ้าคุณมีต่อผม
เป็นอย่างยิ่ง”

ส่วนที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เขียน “ลับ-เฉพาะ-ส่วนตัว” นั้น ท่านได้อธิบายไว้ในอีกย่อหน้าหนึ่งว่า

“.... ผมจึงได้ถือโอกาสนี้เขียนจดหมาย “ลับ-เฉพาะ-ส่วนตัว” ฉบับนี้มายังท่านเจ้าคุณ เพื่อให้ท่าน
เจ้าคุณได้ทราบความรู้สึกอันแท้จริงจากดวงใจของผมไว้เป็นการยืนยันอีกประการหนึ่ง และก็เป็นความประสงค์ของผมอย่างมากที่ไม่ต้องการจะบรรยายความรู้สึกของผมนี้ให้ผู้อื่นทราบ จึงได้เขียนมาเป็นจดหมาย ลับ-เฉพาะ-ส่วนตัว ถึงท่านเจ้าคุณโดยตรง”

มารู้จักนายทหารนอกราชการที่เป็นนักหนังสือพิมพ์ชื่อดัง ซึ่งเคยมีบทบาททางการเมืองท่านนี้ดูบ้าง

พระยาศราภัยพิพัฒ เป็นคนเมืองนครสวรรค์ เดิมชื่อ เลื่อน นามสกุล ศราภัยวานิช เกิดเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ปี 2432  มีบิดาชื่อ นายโซว เทียนโป๊ และมารดาชื่อกี่ แต่ท่านมาเติบโตที่กรุงเทพฯ เพราะทางครอบครัวของท่านได้ย้ายเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ บริเวณตลาดน้อย บิดาทำมาค้าขาย มีฐานะค่อนข้างดี เด็กชายเลื่อนจึงได้เข้าเรียนที่โรงเรียนอัสสัมชันจนจบชั้นมัธยมปีที่ 5 และท่านได้ประกาศนียบัตรทางด้านหนังสือพิมพ์จาก School of Journalism ที่เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย เมื่อครั้งที่ท่านลี้ภัยไปอยู่ที่เมืองเมลเบิร์น ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วย ตอนที่อายุได้ 20 ปีก็ถูกเกณฑ์ทหาร โดยท่านเลือกเป็นทหารเรือ ความรู้ด้านภาษาอังกฤษของท่านดี อีกสองปีต่อมาแม้จะเป็นเพียงนายเรือตรี ยังได้เป็นเลขานุการและล่ามให้พลเรือตรียอนชไนเลอร์ ซึ่งเป็นที่ปรึกษาราชการของกองทัพเรือ ชาวสวีเดน จากนั้นในปี 2456 ขณะที่อายุเพียง 24 ปีท่านก็ได้เป็นเลขานุการของจอมพลเรือสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธ์วงวรเดช ผู้เป็นจเรทหารทั่วไป
และ ท่านเคยเป็นเลขานุการของเสนาบดีกระทรวงทหารเรือ คือ จอมพลเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิจ
ในปี 2558 อยู่กับเสนาบดีไม่นานท่านก็ได้รับบรรดาศักดิ์เป็นหลวงวิเศษสรนิต และมียศเป็นนายนาวาตรี
เมื่อปี 2460 อีก 4 ปีต่อมาท่านได้รับการเลื่อนบรรดาศักดิ์เป็นพระนเรนทรบดินทร์ พอถึงวันที่ 1 เมษายน
ปี 2472 ท่านก็ได้เลื่อนบรรดาศักดิ์จากคุณพระเป็นพระยาศราภัยพิพัฒ นามที่พ้องกับคำแรกของนามสกุล
ของท่าน

ตอนที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดินฯ ปี 2475 นาวาเอกพระยาศราภัยพิพัฒมีตำแหน่ง
เป็นเจ้ากรมเสมียนตรา กระทรวงกลาโหม หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองครั้งนั้น พระยาศราภัยฯ ได้ออกจากราชการทหารมาเป็นนายทหารบำนาญ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมปี 2475 ตามคำสั่งที่ออกมาเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคมปี 2475 นั่นเอง สำหรับชีวิตครอบครัว ท่านได้สมรสกับหม่อมหลวงฉลอง อิศระภักดี เมื่อลาจากราชการทหารแล้ว เจ้าคุณศราภัยฯ ก็ไม่ได้ไปเก็บตัวแต่อย่างใด หากแต่ได้ไปคุยกับเพื่อนสนิท ที่มีทั้งข้าราชการและพ่อค้า คิดจะเข้าสู่วงการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ถึงกับคิดตั้งพรรคการเมืองชื่อคณะชาติ และคิดทำหนังสือพิมพ์เพื่อเผยแพร่ความคิดทางการเมืองแก่ราษฎรด้วย เรื่องจัดตั้งคณะชาติที่สมัยนั้นก็คือพรรคการเมืองนั้น น่าจะต้องการคานกับคณะราษฎรของคณะผู้เปลี่ยนแปลงการปกครองฯ นั่นเองและการจัดตั้งคณะชาติก็ไม่ได้เป็นความลับแต่อย่างใด ในเดือนมกราคมปี 2475 ท่านมีหนังสือกราบทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เนื้อความในหนังสือนั้นบอกชัดเจนดีว่าเมื่อคณะราษฎรซึ่งเป็นรัฐบาลตั้งคณะราษฎร
เป็นสมาคมการเมืองได้ ทางท่านกับพวกก็ต้องการตั้งคณะชาติขึ้นมาทำงานการเมืองบ้าง แต่ก็อย่างที่รู้ๆกัน
ในที่สุดนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น คือ พระยามโนปกรณ์นิติธาดาก็ไม่ให้ตั้งคณะชาติขึ้นมา พร้อมกับห้ามมีให้คณะราษฎรดำเนินการเป็นสมาคมการเมืองต่อไปด้วย สำหรับการทำหนังสือพิมพ์นั้น เจ้าคุณศราภัยฯ
ได้ไปร่วมทำหนังสือพิมพ์ ถึงขนาดรับเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์เดลีเมล์ ภาคภาษาอังกฤษเลยทีเดียว
ท่านจึงเป็นบุคคลที่ทางรัฐบาลได้ติดตามดูอย่างใกล้ชิด

สถานการณ์ทางการเมืองหลังวันที่ 24 มิถุนายนปี 2475 นั้นสงบลงชั่วคราว ฝ่ายผู้ก่อการฯ
คุมสถานการณ์ได้ มีการโยกย้ายและเปลี่ยนแปลงทั้งตำแหน่งผู้นำทางทหาร และตำแหน่งสำคัญในการบริหารประเทศด้านพลเรือน ด้านการเมืองนั้นก็ยังมีความขัดแย้งอยู่เงียบๆ พอถึงวันที่ 1 เมษายน ปี 2476 นายกรัฐมนตรี พระยามโนปกรณ์นิติธาดาก็ได้เสนอออกพระราชกฤษฎีกาปิดสภาผู้แทนราษฎร
เพราะนายกรัฐมนตรีขัดกับสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งนำไปสู่การยึดอำนาจซ้ำ ของพระยาพหลพลพยุหาเสนา
หลวงพิบูลสงครามและหลวงศุภชลาศัยในวันที่ 20 มิถุนายน ปี 2476 ที่ทำให้ผู้ก่อการฯ เกิดขัดแย้งกันเองด้วย เพราะพระยาทรงสุรเดช และพระประศาสน์พิทยายุทธ ได้หลุดออกไปจากวงจรอำนาจ และในเดือนตุลาคมขณะที่เริ่มดำเนินการเลือกตั้งครั้งแรกในประเทศไทย ก็เกิดความพยายามยึดอำนาจจากกลุ่มทหารที่นำโดยพระองค์เจ้าบวรเดช แต่การยึดอำนาจล้มเหลว กลายเป็นกบฏบวรเดช ที่มีชื่อพระยาศราภัยพิพัฒ ว่ามีส่วนร่วมด้วย

พระยาศราภัยไม่ได้ไปร่วมจับปืนออกไปรบด้วย แต่ได้มีส่วนร่วมเขียนใบปลิวสนับสนุนฝ่ายกบฏ
ที่ท่านได้เล่าเอาไว้เองว่า

“...ใบปลิวที่ข้าพเจ้าพิมพ์ด้วยโรเนียวนั้นมีถ้อยคำรุนแรงมากโจมตีคณะราษฎรในเรื่องไม่ได้รักษาวาจาสัตย์ ตามหลัก '6 ประการ ประชาชนพลเมืองไม่ได้รับประชาธิปไตยอันแท้จริง วิธีการเลือกสมาชิกประเภท
ที่สอง ได้ถูกแปลงสารว่าพระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงตั้งไม่ใช่ผู้เลือก...”

ดังนั้นท่านจึงถูกตามจับตัวได้ที่เกาะไผ่ และถูกนำตัวขึ้นฟ้องต่อศาลพิเศษที่ตั้งขึ้นมากพิพากษา คดีกบฏบวรเดช โดยพระยาศราภัยฯ ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ต้องถูกจองจำที่คุกบางขวางนานกว่า 4 ปี แล้วจึงได้ถูกย้ายไปกักตัวที่เกาะนรก คือ เกาะตะรุเตา การถูกย้ายไปเกาะตะรุเตา จึงทำให้ท่านมีโอกาสหลบหนีออกจากเกาะของไทยไปยังเกาะลังกาวีของมลายู ซึ่งในวันนั้นเป็นดินแดนอาณานิคมของอังกฤษ ท่านไปอยู่ที่เกาะ
ตะรุเตาเพียงหนึ่งเดือนเท่านั้นเอง ก็กล้าเสี่ยงภัยหลบหนีด้วยเรือเล็ก หลบรอดไปได้กับเพื่อนนักโทษ
ผู้ร่วมชะตากรรมอีก 4 คนในที่นี้รวมทั้งพระยาสุรพันธ์เสนี และนายหลุย คิรีวัต เจ้าของหนังสือพิมพ์ ที่วันเกิดกบฏบวรเดชได้อยู่ร่วมกันทำใบปลิวและแปลใบปลิวด้วยกัน

 เมื่อหนีรอดจากคุกโหดมาได้ เจ้าคุณเคยบอกเพื่อนว่าเป็นวันที่ดีใจมากที่สุดในชีวิตวันหนึ่ง แล้วท่าน
ก็ตกเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง อยู่ที่มลายูชีวิตก็ไม่ได้สบาย แต่ก็ลำบากไม่มาก เพราะยังสามารถรับจ้างเป็นครูสอนภาษาจีนที่โรงเรียนจีนในเมืองนั้นได้ และเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่สองขึ้น ท่านจึงได้เดินทางไปอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย ทำงานที่สถานีวิทยุ นับว่าเป็น “เสรีไทย” คนหนึ่งที่ส่งเสียงทางวิทยุมาให้คนไทยฟัง

เจ้าคุณศราภัยอยู่ที่ออสเตรเลียจนสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้ยุติลง และรัฐบาลไทยสมัยนายกรัฐมนตรี
ควง  อภัยวงศ์ ได้ประกาศอภัยโทษนักโทษการเมืองทั้งหมดท่านเจ้าคุณฯจึงเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอน

จะเป็นเพราะเจ้าคุณฯ ได้รับการอภัยโทษสมัยที่มีนายกรัฐมนตรีชื่อนายควง อภัยวงศ์ ซึ่งต่อมาท่านผู้นี้ได้มาเป็นหัวหน้าพรรคการเมืองชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้น เมื่อท่านเจ้าคุณฯ จะลงเล่นการเมืองเพราะท่านถูกการเมืองเล่นงานมานักหนาแล้ว ท่านจึงเลือกเข้าเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และลงเลือกตั้งครั้งที่มีการเลือกตั้งเพิ่มเติมในวันที่5 สิงหาคม ปี 2489 ที่เขต 1 จังหวัดธนบุรี แม้จะเป็นการลงเลือกตั้งครั้งแรก
แต่ชื่อเสียงของท่านเจ้าคุณเองและของพรรคประชาธิปัตย์ก็ส่งให้ท่านเจ้าคุณได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน ท่านเป็นผู้แทนราษฎรอยู่มาจนถึงวันที่ 8 พฤศจิกายน ปี 2490 ก็ต้องพ้นตำแหน่ง เพราะคณะรัฐประหารได้ยึดอำนาจ ยกเลิกรัฐธรรมนูญและล้มรัฐสภา แต่อีกสองวันต่อมาเมื่อนาย ควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี ตั้งรัฐบาล เจ้าคุณศราภัยฯ ก็ได้รับตำแหน่งเป็น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเป็นงานที่ท่านสนใจและท้าทาย ข้าราชการระดับสูง
ของกระทรวงศึกษาได้เคยเขียนชื่นชมว่าท่านเจ้าคุณฯได้ทำงานที่กระทรวงศึกษาเป็นอย่างดี

รัฐบาลของนายกรัฐมนตรีควง อภัยวงศ์ ที่ท่านร่วมด้วยได้เข้ามาจัดการเลือกตั้งใหม่ ในวันที่ 29 มกราคม ปี 2491 ซึ่งครั้งนี้เจ้าคุณฯ ไม่ได้ลงเลือกตั้ง หลังการเลือกตั้ง นายควง ได้กลับมาเป็นนายกฯ
อีกครั้งแต่เจ้าคุณฯ ก็ไม่ได้กลับมาเป็นรัฐมนตรี อย่างไรก็ตามต่อมาเมื่อมีรัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2492
ที่บัญญัติให้มีวุฒิสภา ปรากฎว่าท่านเจ้าคุณก็ได้กลับเข้าสู่วงการเมืองอีกครั้ง โดยได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ในปี 2494 สมัยรัฐบาลของจอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีผู้นี้เคยเป็นไม้เบื่อไม้เมากับท่าน
เจ้าคุณฯ มาก่อน แต่เจ้าคุณศราภัยฯ ก็เป็นสมาชิกวุฒิสภาได้ไม่นานเพราะในวันที่ 29 พฤศจิกายน ปี 2494
ปีเดียวกันนั่นเอง คณะนายทหาร 9 นาย ได้นำกำลังเข้ายึดอำนาจยกเลิกรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2492 อันเป็นผลให้รัฐสภาถูกล้มไปด้วย ดังนั้น ปลายปี 2494 จึงเป็นเวลาที่พระยาศราภัยพิพัฒเดินทางออกจากวงการเมือง
อีกครั้ง

แต่พระยาศราภัยพิพัฒไม่ได้ยุติบทบาทที่จะดูการเมือง และเมื่อทำได้ท่านก็กล้าวิจารณ์การเมือง เพียงแต่ท่านได้เปลี่ยนบทบาทจากนักการเมือง มาเป็นนักหนังสือพิมพ์ ดังที่ได้ยกมาในตอนต้นแล้วว่าการเขียนบทความของท่านในหนังสือพิมพ์ทำให้นายกรัฐมนตรีจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งเป็นนายทหารที่มีอำนาจมากที่สุดในตอนนั้นเกรงใจ ถึงกับเขียนจดหมายส่วนตัวมาปรับความเข้าใจ

นาวาเอก พระยาศราภัยพิพัฒ ได้อยู่ดูการเมืองและเขียนวิจารณ์การเมืองบ้าง เป็นครั้งเป็นคราวต่อมาจนถึงวันที่ 21 กันยายน ปี 2511 ท่านจึงได้ถึงแก่อนิจกรรม