ฉลอง ปึงตระกูล
ฉลอง ปึงตระกูล : เสรีไทยสายอเมริกากับงานที่สกลนคร
ผู้เรียบเรียง : ศาสตราจารย์นรนิติ เศรษฐบุตร
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ : รองศาสตราจารย์ ดร.นิยม รัฐอมฤต
เสรีไทยจำนวนมากได้อาสาทำงานเสรีไทยโดยผู้คนทั่วไปไม่ทราบ นอกจากคนใกล้ชิดที่ทำงานด้วยกันเจ้าตัวเองก็ไม่ได้คุยบอกใคร ฉลอง ปึงตระกูล ก็เป็นเสรีไทยคนหนึ่งที่เคยอาสาทำงานให้บ้านเมืองมา ซึ่งบุคคลทั่วไปไม่ค่อยจะทราบว่าท่านเป็นเสรีไทย แต่มักทราบว่าท่านเคยเป็นเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจ เคยเป็นรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่ไม่เกรงใคร ถูกวิจารณ์โดยไม่ถูกต้องยังกล้าลาออกจากตำแหน่งโดยไม่เสียดายเงินเดือนสูงๆ และเคยเข้าสู่ตำแหน่งการเมือง ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง สำหรับงานเสรีไทยนั้นท่านเป็นเสรีไทยสายอเมริกา ที่เข้ามาทำงานปฏิบัติการทางภาคอีสาน ภายใต้การนำของ
“ขุนพลภูพาน” ครูเตียง ศิริขันธ์ ที่จังหวัดสกลนคร
ฉลอง ปึงตระกูล เป็นคนกรุงเทพฯ เกิดเมื่อวันที่ 7 มกราคม ปี 2463 มีบิดาชื่อ เฉลิม ปึงตระกูล มารดาชื่อแช่ม สกุลเดิม ภู่เจริญยศ ฉลองได้รับการศึกษาโดยเรียนจบมัธยมปีที่ 6 ที่โรงเรียนวัดราชบพิธ เมื่อปี 2476 หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ได้ไม่ถึงปี และได้ไปเรียนต่อที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย จนจบ
ชั้นมัธยมปีที่ 8 ในปี 2478 ขณะที่มีอายุเพียง 15 ปี นับว่าเป็นคนเรียนเร็วมาก จากนั้นจึงได้เข้าเรียนระดับอุดมศึกษาที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จบได้ด้วยดี ในปี 2482 นับเป็นรุ่นที่ 5
ท่านเป็นคนที่เรียนเก่ง จึงสอบได้ทุนรัฐบาลไปเรียนภาษาฝรั่งเศสที่ประเทศแคนาดา ระหว่างปี 2483
ถึงปี 2484 ที่มหาวิทยาลัยลาวาล เรียนเสร็จจบกลับมายังไม่ทันไร สอบชิงทุนรัฐบาลตามความต้องการ
ของกรมสหกรณ์ กระทรวงเกษตร ให้ไปเรียนต่อทางด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยวิสคอนซินในประเทศสหรัฐอเมริการะหว่างปี 2484 ถึง 2486 ไปศึกษาต่อคราวนี้นี่เอง ขณะที่เรียนยังไม่ทันจบ รัฐบาลไทย
ของนายกรัฐมนตรีหลวงพิบูลสงครามได้ยอมให้กองทัพญี่ปุ่นเดินเข้าไทย ตอนปลายปี 2484 และรัฐบาล
ยังประกาศสงครามกับประเทศสหรัฐอเมริกาและประเทศอังกฤษอีกด้วย ฉลอง ปึงตระกูล ก็เป็นนักศึกษาไทยในสหรัฐอเมริกาคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการดำเนินงานของรัฐบาลไทยในขณะนั้น และเห็นด้วย
กับทางสถานทูตไทยที่กรุงวอชิงตัน ที่นำโดยอัครราชทูต หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช ที่ชักชวนคนไทย
ให้รวมกันตั้งกลุ่มเสรีไทยขึ้นที่อเมริกา ตามประวัติของฉลอง ปึงตระกูล ระบุว่าท่านได้ “เป็นทหารเสรีไทยระหว่าง 23 ตุลาคม 2486 ถึง 1 มกราคม 2489” จนหลังสงครามแล้ว ฉลอง ปึงตระกูล จึงได้กลับไปเรียนต่อ
ที่สหรัฐอเมริกาจนจบเป็นมหาบัณฑิตทางเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน สำหรับชีวิตครอบครัว
ของท่านนั้น ฉลองได้สมรสกับคุณหญิงศศิวงศ์ สกุลเดิม อมาตยกุล
เมื่อเรียนจบปริญญาโทจากสหรัฐอเมริกาแล้ว ฉลอง ปึงตระกูล ได้กลับมารับราชการใช้ทุนที่
กรมสหกรณ์กระทรวงเกษตร ตั้งแต่ปี 2491
สำหรับการทำงานเสรีไทยของ ฉลอง ปีงตระกูล ที่ยกมาตอนต้นนั้นจะเห็นได้ว่า ทางครอบครัวของท่านบันทึกไว้ค่อนข้างสั้นมาก แต่จากหนังสือ ตำนานเสรีไทย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร บันทึกไว้น่าสนใจว่า
“... ร.ต.ฉลอง ปึงตระกูลเข้ามาปฏิบัติการในเมืองไทยที่จังหวัดสกลนครและอุดรธานี โดยกระโดดร่ม
ลงที่สกลนครพร้อมกับ พ.ต.จอห์น ฮอลลาเดย์ เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2488 หลังจากนั้นไม่นาน
นายแพทย์อ้วน นาครทรรพ และ นาย เพ่ง โพธิจินดา ศึกษาธิการจังหวัดอุดรธานี มารับไปปฏิบัติการ
ณ ค่ายพลพรรคเสรีไทยในป่าใกล้อุดรธานี ซึ่งเป็นเทือกเขาเดียวกับภูพาน เพื่อฝึกพลพรรคและรับอาวุธ
จากเครื่องบินอเมริกัน จนสงครามเลิก "
ฉลอง ปึงตระกูล ได้ทำงานใช้ทุนที่กระทรวงเกษตร 1 ปี แล้วจึงย้ายงาน โดยโอนไปรับราชการ
ที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติตั้งแต่ปี 2493 มีคนบอกว่าท่านเป็นนักเศรษฐศาสตร์คนหนึ่งที่มีบทบาทในการทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรกของไทย เพราะต่อมาท่านได้เป็นเลขาธิการสภาพัฒนาฯคนที่สองต่อจาก
นายสุนทร หงส์ลดารมณ์ คือได้เป็นในช่วงปี 2499 ถึง 2506 แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับแรกนี้เริ่มใช้ใน ปี 2504 จากบันทึกด้วยลายมือของท่านเองทำให้เห็นได้ว่าสภาวะทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2500 นั้นวิกฤติ
“ใน พ.ศ.2500 ต่อกับ พ.ศ.2501 ประเทศไทยประสบความแห้งแล้งเป็นประวัติการณ์ เขื่อนใหญ่
ไว้กักเก็บน้ำก็ไม่มี อ่างเก็บน้ำก็ไม่มี ข้าวที่เคยผลิตปีละ 7-8 ล้านตัน ลดเหลือ 5 ล้านตัน เป็นเหตุให้ขาดแคลนอาหาร ชาวบ้านในชนบทต้องรับประทานเผือก มัน แลขุยไผ่ มูลค่าสินค้าออกลดลงมาก...”
พ้นตำแหน่งจากเลขาธิการสภาพัฒนาฯในปี 2506 ท่านไปเป็นที่ปรึกษากระทรวงการคลังอยู่ 1 ปีก่อนที่จะถูกย้ายไปอยู่ต่างประเทศเป็นที่ปรึกษาเศรษฐกิจและการคลังที่สถานทูตไทยประจำกรุงวอชิงตันใน ปี 2507
ถึงปี 2510 จึงย้ายกลับมาเป็นผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังกระทรวงการคลังจนถึง ปี 2514
ก็ได้รับแต่งตั้งไปเป็นรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยที่มีผู้ว่าการชื่อ ป๋วย อึ้งภากรณ์ และเป็นรองผู้ว่าการอยู่ถึงปี 2518 จึงได้ลาออก เพราะทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการชุดหนึ่งพิจารณาเรื่องออกมาแล้ว
ถูกประท้วง ทั้งๆที่ท่านมีความเห็นตรงกันข้ามกับมติ แต่ท่านก็เคารพมติ และต้องเป็นผู้ชี้แจงแทนด้วย
แต่ท่านหายไปจากความวุ่นวายประมาณ 4 ปี ก็กลับมาปรากฏชื่อให้คนเห็นในฐานะนักการเมือง
เฉพาะกิจในปี 2520 โดยได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังในรัฐบาลของ นายกรัฐมนตรี
พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ที่เข้ามามีอำนาจหลังการยึดอำนาจล้มรัฐบาลของนายธานินทร์ กรัยวิเชียร
อยู่จนถึงปี 2522
พ้นจากงานการเมืองชั่วคราวแล้ว ฉลอง ปึงตระกูล ได้มีชีวิตยืนนานต่อมา จนถึงแก่อนิจกรรมในปี 2558