สิทธิในกระบวนการทางศาลกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:13, 4 กุมภาพันธ์ 2564 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง  ผศ.ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล  ผู้ทรงคุณวุ...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง  ผศ.ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล 

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ


สิทธิในกระบวนการทางศาลกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

1. บทนำ

          เมื่อมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นใช้บังคับ คณะกรรมการการเลือกตั้งจะต้องดำเนินกระบวนการจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และ ดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ในการดำเนินการของคณะกรรมการการเลือกตั้งอาจออกคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งในการตัดสิทธิของประชาชนบางประการที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง เช่น การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งออกจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลหรือของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมือง เป็นต้น ทั้งนี้ การออกคำสั่งเพิกถอนสิทธิเหล่านี้ย่อมกระทบต่อสิทธิของประชาชนจึงจำเป็นจะต้องมีช่องทางให้ประชาชนที่ถูกกระทบสิทธิจากการออกคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งให้สามารถใช้สิทธิในกระบวนการทางศาลเพื่อให้เกิดการตรวจสอบการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

 

'2. 'สิทธิของประชาชนในการยื่นขอให้ศาลตรวจสอบเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

          การดำเนินการเพื่อให้มีการเลือกตั้งและเพื่อให้ได้มาซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งในบางกรณีอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำที่กระทบต่อสิทธิของประชาชนจึงจำเป็นต้องให้ “องค์กรตุลาการ” เข้ามาตรวจสอบเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ประชาชน ทั้งนี้ บทบาทของศาลในการเลือกตั้งถูกกำหนดไว้ในสองกฎหมายหลัก ได้แก่ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560 กำหนดให้สิทธิแก่ประชาชนในการร้องขอให้ตรวจสอบสิทธิของตนที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ดังต่อไปนี้

          1) การขอเพิ่มชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

          ในกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตตรวจสอบหลักฐานแล้วสั่งให้ยกคำร้องเมื่อเห็นว่าผู้ยื่นคำร้องหรือผู้มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านเป็นผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง ผู้ยื่นคำร้องมีสิทธิยื่นคำร้องต่อ “ศาลจังหวัด” ที่ตนมีภูมิลำเนาอยู่ หรือต่อ “ศาลแพ่ง” สำหรับผู้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานครก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าห้าวัน โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลในการดำเนินกระบวนการพิจารณา เพื่อให้ศาลวินิจฉัยว่าจะให้เพิ่มชื่อในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งตามที่ได้รับคำร้องหรือไม่ คำสั่งของศาลให้เป็นที่สุด และให้ศาลแจ้งคำสั่งไปยังคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งเพื่อปฏิบัติการตามคำสั่งโดยเร็วที่สุด[1]  

          2) การขอทบทวนสิทธิการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

          กรณีที่ผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งไม่รับสมัครผู้ใด หรือไม่ประกาศรายชื่อบุคคลใดเป็นผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และ แบบบัญชีรายชื่อ[2] ให้บุคคลนั้นมีสิทธิยื่นคําร้องต่อ “ศาลฎีกา” ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ไม่รับสมัครหรือวันที่ประกาศรายชื่อผู้สมัคร แล้วแต่กรณี โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมศาล

ในการดำเนินกระบวนพิจารณา โดยในการพิจารณาและวินิจฉัยของศาลฎีกา ให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสามวัน และเมื่อศาลฎีกามีคําวินิจฉัยเช่นใดแล้ว ให้ศาลแจ้งคําวินิจฉัยไปยัง ผู้อํานวยการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งเพื่อดำเนินการตามคำวินิจฉัยต่อไปโดยเร็ว แต่ทั้งนี้ ไม่กระทบกระเทือนถึงการปฏิบัติก่อนทราบคําวินิจฉัยของศาล[3]

          3) การขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

          ในกรณีที่คณะกรรมการมีคําวินิจฉัยให้ถอนการรับสมัครของผู้ใด ให้ผู้นั้นมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่อ “ศาลฎีกา” ได้ภายในสามวันนับแต่วันที่ถูกถอนการรับสมัคร และในกรณีที่ศาลฎีกายังมิได้มีคําวินิจฉัยเป็นประการใดก่อนวันเลือกตั้ง ให้การพิจารณาเป็นอันยุติ และให้ดำเนินการเลือกตั้งไปตามคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้ง[4]

          4) สิทธิร้องขอให้เพิกถอนการระงับธุรกรรมทางการเงิน

          เมื่อปรากฎหลักฐานอันควรเชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งว่ามีบุคคลดำเนินการด้านธุรกรรมทางการเงิน ผลิตหรือเตรียมการผลิตวัสดุอุปกรณ์ที่อาขใช้ในการจัดการเลือกตั้งโดยไม่มีอำนาจ ใช้เงินหรือทรัพย์สินหรืออิทธิพลคุกคามเพื่อให้คุณให้โทษแก่ผู้สมัครหรือพรรคกรเมืองเพื่อให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจสั่งให้บุคคลนั้นระงับการดำเนินการนั้นไว้เป็นการชั่วคราวภายในเวลาที่กำหนดแต่ต้องไม่เกินหกสิบวัน ทั้งนี้ ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการออกคำสั่งของคณะกรรมการการเลือกตั้งมีสิทธิร้องขอต่อ “ศาลปกครองสูงสุด” ให้เพิกถอนคำสั่งนั้นได้[5]

 

'3'. บรรณานุกรม

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135/ตอนที่ 68ก/12 กันยายน 2561. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134/ตอนที่ 93ก/13 กันยายน 2560. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560

 

อ้างอิง

[1] มาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

[2] มาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

[3] มาตรา 49 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

[4] มาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

[5] มาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560