การแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
ผู้เรียบเรียง ผศ.ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ
การแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
1. บทนำ
บทบัญญัติในมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้รับรองอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยไว้ การแสดงออกซึ่งอำนาจอธิปไตยของประชาชนคนไทย คือ การใช้สิทธิเลือกตั้งเพื่อแสดงเจตจำนงค์ในการเลือกตัวแทนเพื่อทำหน้าที่แทนตนภายใต้ระบอบประชาธิปไตยแบบผู้แทน ทั้งนี้ มาตรา 95 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดคุณสมบัติผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้ว ไม่น้อยกว่าห้าปี และมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีในวันเลือกตั้งสามารถใช้สิทธิในการเลือกตั้งได้ อย่างไรก็ดี ในกรณีที่มีเหตุอันจำเป็นทำให้ไม่สามารถไปใช้สิทธิของตนเองได้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องแจ้งเหตุอันสมควรไม่เช่นนั้นอาจนำมาซึ่งการถูกจํากัดสิทธิบางประการตามที่กฎหมายบัญญัติ
2. การแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้ง
ในกรณีที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่อาจไปเลือกตั้งได้จำเป็นต้องแจ้งเหตุอันสมควรตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 กำหนดวิธีการไว้ดังนี้
(1) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทำเป็นหนังสือหรือโดยวิธีการอื่นเพื่อ “ชี้แจงเหตุ” ที่ไม่อาจไปทำการเลือกตั้งได้ เช่น มีเหตุจำเป็นต้องเดินทางไปต่างถิ่น เป็นผู้สูงอายุเดินทางลำบาก หรือ ประสบอุบัติเหตุ หรือ ภัยพิบัติ เป็นต้น การแจ้งเหตุดังกล่าวนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งอาจมอบหมายให้บุคคลใดไปยื่นต่อบุคคลซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งแทน หรือจัดส่งหนังสือชี้แจงเหตุนั้นทางไปรษณีย์ลงทะเบียน หรือแจ้งโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ได้[1]
ทั้งนี้ ในการแจ้งเหตุ วิธีการแจ้งเหตุทางอิเล็กทรอนิกส์ บุคคลที่จะรับแจ้งเหตุ สถานที่การพิจารณาการแจ้งเหตุ และการอุทธรณ์ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด โดยคำนึงถึงการอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนเป็นหลัก[2]
(2) ระยะเวลาในการแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งภายในเจ็ดวันก่อนวันเลือกตั้ง หรือ ภายใจเจ็ดวันนับแต่วันเลือกตั้ง แต่ถ้ามีเหตุจําเป็นไม่อาจแจ้งได้ภายในเจ็ดวันก่อนวันเลือกตั้ง ให้ดำเนินการแจ้งตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด[3]
(3) การแจ้งเหตุดังกล่าวไม่เป็นการตัดสิทธิที่ผู้นั้นจะไปใช้สิทธิเลือกตั้ง[4]
3. การพิจารณาเหตุที่แจ้ง
เมื่อมีการแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดแล้ว กฎหมายกำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ บุคคลที่คณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้ง ทำหน้าที่ในการพิจารณาเหตุที่แจ้งนั่นว่าเป็นเหตุอันสมควรหรือไม่ หากผลการพิจารณาเหตุที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งแจ้งนั้นมิใช่เหตุ อันสมควร ให้แจ้งให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทราบภายในสามวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง[5] ทั้งนี้ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ได้รับแจ้งผลการพิจารณามีสิทธิ “ยื่นอุทธรณ์” ต่อ “ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด” ภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง[6]
เมื่อครบกำหนดหกสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง ให้บุคคลซึ่งคณะกรรมการแต่งตั้งให้ทำหน้าที่ในการพิจารณาการแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งประกาศรายชื่อผู้ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งและมิได้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปเลือกตั้งได้ หรือ แจ้งเหตุไว้แล้วแต่เหตุนั้นมิใช้เหตุอันสมควร เพื่อนำไปสู่ขั้นตอนในการจำกัดสิทธิบางประการต่อไป อย่างไรก็ดี หากการประกาศรายชื่อมีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริงให้ผู้มีส่วนได้เสียยื่นคำร้องต่อผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดหรือบุคคลซึ่งคณะกรรมการการเลือกตั้งแต่งตั้งเพื่อดำเนินการแก้ไขต่อไป[7]
4. บรรณานุกรม
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135/ตอนที่ 68ก/12 กันยายน 2561. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. ๒๕๖๑
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134/ตอนที่ 40 ก/6 เมษายน 2560. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช '25'60
อ้างอิง
[1] มาตรา 33 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
[2] มาตรา 33 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
[3] มาตรา 33 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
[4] มาตรา 33 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
[5] มาตรา 33 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
[6] มาตรา 33 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
[7] มาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561