หลักเกณฑ์การออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:37, 4 กุมภาพันธ์ 2564 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง  ผศ.ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล  ผู้ทรงคุณวุ...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง  ผศ.ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล 

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ


หลักเกณฑ์การออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง

บทนำ

          การออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง คือ การกำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถไปใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งจริง หรือ ที่มักจะเรียกว่าการเลือกตั้งล่วงหน้านั่นเอง สำหรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้งถูกกำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 รายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้

 

1) ผู้มีสิทธิของออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง ได้แก่[1]

(1) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งอยู่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน หรือ

(2) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 90 วัน นับถึงวันเลือกตั้ง

(3) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีถิ่นที่อยู่นอกราชอาณาจักร หรือ ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่เดินทางไปนอกราชอาณาจักรในวันเลือกตั้ง

(4) ผู้มีสิทธิเลือกตั้งซึ่งได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง

 

2) การยื่นคำขอ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ[2]

2.1 การยื่นคำขอลงทะเบียนขอใช้สิทธิลงคะแนนล่วงหน้านอกเขตเลือกตั้ง

ให้ผู้ประสงค์จะขอใช้สิทธิล่วงหน้ายื่นคำขอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้งหรือที่ตนประสงค์จะขอใช้สิทธิเลือกตั้งก็ได้ หรือ คณะกรรมการการเลือกตั้งจะกําหนดให้ลงทะเบียนผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดก็ได้โดยสามารถยื่นคำขอ 3 ช่องทาง ดังนี้ ยื่นด้วยตนเอง หรือมอบหมายผู้อื่นยื่นแทน ยื่นทางไปรษณีย์ และหรือ ยื่นทางอินเทอร์เน็ต

2.2 การยื่นคำขอลงทะเบียนขอใช้สิทธิลงคะแนนล่วงหน้าในเขตเลือกตั้ง

ให้ยื่นต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งที่ตนมีสิทธิเลือกตั้ง และยื่นคำขอลงทะเบียนล่วงหน้าได้ 2 ช่องทาง คือ ยื่นคำขอด้วยตนเอง หรือ มอบหมายผู้อื่นยื่นแทน พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาบัตรที่มีรูปถ่ายและหมายเลขประจำตัวประชาชน คำสั่งแต่งตั้งและชี้แจงเหตุผลความจำเป็นและหลักฐาน หรือ ยื่นคำขอทางไปรษณีย์พร้อมสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนหรือสำเนาบัตรที่มีรูปถ่ายและหมายเลขประจำตัวประชาชน คำสั่งแต่งตั้งและชี้แจงเหตุผลความจำเป็นและหลักฐาน

 

3) การออกเสียงลงคะแนนก่อนวันเลือกตั้ง

          ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปถึงจำนวนผู้ลงทะเบียนขอใช้สิทธิเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรแยกตามประเทศ[3] และเมื่อได้ดำเนินการลงคะแนนเสร็จสิ้นแล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้งอาจจัดให้มีการดำเนินการล่วงหน้าเพื่อนําบัตรเลือกตั้งมานับรวมในวันเลือกตั้งได้ เว้นแต่ มีเหตุจําเป็นเฉพาะท้องที่ ในการออกเสียงลงคะแนนนอกราชอาณาจักรจะกําหนดให้มีการนับคะแนนนอกราชอาณาจักรก็ได้ หากจะเป็นการสะดวก รวดเร็ว และมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่า[4] และในกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าทั้งในและนอกราชอาณาจักรมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือมีการส่งบัตรเลือกตั้งมาถึงสถานที่นับคะแนนของเขตเลือกตั้งใดหลังจากเริ่มนับคะแนนแล้ว หรือหีบห่อที่ส่งบัตรเลือกตั้งมีลักษณะถูกเปิดมาก่อน โดยมีเหตุอันสมควรเชื่อได้ว่าเกิดจากการกระทําที่ไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือมีบัตรเลือกตั้งจากที่ใดสูญหาย ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจสั่งมิให้นับคะแนนนั้นโดยให้ถือว่าเป็นบัตรเสีย[5]

 

4. บรรณานุกรม

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135/ตอนที่ 68ก/12 กันยายน 2561. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

 

อ้างอิง

[1] มาตรา 106 มาตรา 107 และมาตรา 109 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

[2] มาตรา 107 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

[3] มาตรา 112 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

[4] มาตรา 113 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

[5] มาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561