ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:30, 4 กุมภาพันธ์ 2564 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง  ผศ.ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล  ผู้ทรงคุณวุ...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง  ผศ.ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล 

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ

 

ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

1. บทนำ

          ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในแต่ละครั้งจำเป็นต้องมีการควบคุมค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเป็นธรรม ไม่ก่อให้เกิดการใช้เงินในการหาเสียงเลือกตั้งในทางที่ผิด เช่น การซื้อสิทธิขายเสียงเพื่อให้เลือกผู้สมัคร หรือ ไม่ก่อให้เกิดความเลื่อมล้ำระหว่างพรรคการเมืองขนาดใหญ่ พรรคการเมืองขนาดกลาง หรือ พรรคการเมืองขนาดเล็ก พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 จึงได้กำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งเพื่อไม่ให้พรรคขนาดใหญ่ที่มีทรัพยากรมากได้เปรียบพรรคขนาดกลางและขนาดเล็กมากเกินไป

 

2. หลักการสำคัญ

          พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561กำหนดให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่าย 2 ประเภท คือ[1]

(1) ค่าใช้จ่ายของผู้สมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง

(2) ค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองที่จะใช้จ่ายในการเลือกตั้ง

ในการกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งต้องหารือกับหัวหน้าพรรคการเมือง และให้มีการทบทวนการกำหนดจำนวนเงินดังกล่าวให้สอดคล้องกับความจําเป็นและสภาวะทางเศรษฐกิจอย่างน้อยทุกสี่ปี และ ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใช้จ่ายในการเลือกตั้งเกินจำนวนค่าใช้จ่ายที่กำหนด[2] โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ออกประกาศเรื่อง กำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 กำหนดอัตราค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งไว้ ดังนี้

          (1) ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละคนต้องใช้จ่าย ในการเลือกตั้งไม่เกิน 1,500,000 บาท[3]

          (2) พรรคการเมืองต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่เกิน 35,000,000 บาท[4]

          (3) กรณีก่อนประกาศผลการเลือกตั้งและจำเป็นต้องรับสมัครผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรใหม่ ให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละคน ต้องใช้จ่ายไม่เกิน 750,000 บาท[5]

          (4) กรณีที่มีการประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว และมีเหตุให้ต้องมีการเลือกตั้งแทนตำแหน่งที่ว่าง ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแต่ละคนต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้งไม่เกิน 1,500,000 บาท[6]

 

3. ที่มาของค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง

ค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง หมายความว่า ค่าใช้จ่ายที่ใช้จ่ายจริงในการเลือกตั้งของผู้สมัครและพรรคการเมือง ทั้งนี้ ให้รวมถึงบรรดาเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดที่บุคคลใด ๆ จ่ายหรือรับว่าจะจ่ายแทน หรือนำมาใช้โดยไม่คิดค่าตอบแทนเพื่อประโยชน์ในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยผู้สมัครหรือพรรคการเมืองนั้นยินยอมหรือไม่คัดค้าน ในกรณีที่นำทรัพย์สินมาให้ใช้ ให้คำนวณตามอัตราค่าเช่าหรือค่าตอบแทนตามปกติในท้องที่นั้น[7] โดยเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของผู้สมัคร ได้แก่ (1) เงินที่พรรคการเมืองจัดสรรให้ (2) เงินส่วนตัวของผู้สมัคร และ (3) การรับบริจาคตามกฎหมายพรรคการเมือง[8] ส่วนเงินที่ใช้จ่ายในการเลือกตั้งของพรรคการเมือง ได้แก่ (1) เงินของพรรคการเมือง (2) เงินที่พรรคการเมืองได้รับการจัดสรรจากกองทุนเพื่อพัฒนาการเมืองตามกฎหมายพรรคการเมือง และ (3) การรับบริจาค[9]

 

'4. 'ประเภทค่าใช้จ่าย

ประเภทของค่าใช้จ่ายผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและพรรคการเมือง ได้แก่[10]

          1) ค่าใช้จ่ายในการสมัครรับเลือกตั้ง เช่น ค่าสมัครรับเลือกตั้ง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง กับการสมัครรับเลือกตั้ง เป็นต้น 

          2) ค่าจ้างแรงงาน เช่น ค่าจ้างผู้ช่วยหาเสียง ค่าจ้างในการปิดป้ายโฆษณาหาเสียง ค่าจ้าง แจกใบปลิว แผ่นพับ รวมทั้งค่าจ้างแรงงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง และไม่มีพฤติการณ์ ที่ส่อไปในการกระท าความผิดกฎหมายเลือกตั้ง เป็นต้น

          3) ค่าจ้างทำของ เช่น ค่าจ้างทำเสื้อแจ็กเก็ต หมวก และเสื้อยืด หรืออื่น ๆ สำหรับผู้ช่วยหาเสียง เป็นต้น

          4) ค่าโฆษณาในสื่อต่าง ๆ เช่น ค่าสื่อสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ค่าผลิตสื่อเพื่อการออกอากาศ รวมถึงค่าโฆษณาอื่นที่เป็นการกระทำเพื่อการหาเสียงเลือกตั้ง เป็นต้น

          5) ค่าจัดทำป้าย เอกสาร สิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ที่ใช้ในการโฆษณาหาเสียง

          6) ค่าใช้จ่ายในการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือค่าบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ ทวิตเตอร์ ยูทูป อินสตราแกรม กูเกิ้ล แอปพลิเคชัน เป็นต้น

          7) ค่าจัดซื้อหรือเช่าวัสดุ และอุปกรณ์สำหรับใช้ในการหาเสียงเลือกตั้ง

          8) ค่าเช่าสถานที่ และค่าตกแต่งสถานที่ เช่น ค่าเช่าสำนักงานเพื่อเป็นศูนย์รณรงค์หาเสียง เลือกตั้ง ค่าเช่าสถานที่เพื่อปราศรัยหาเสียง เป็นต้น

          9) ค่าเช่ายานพาหนะ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง หรือค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เช่น ค่าจ้างเหมา รถยนต์ เรือยนต์หรือยานพาหนะอื่น ๆ ค่าน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อการหาเสียงเลือกตั้ง ค่าเช่าที่พัก เป็นต้น

          10) ค่าสาธารณูปโภค เช่น ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา ค่าโทรศัพท์ ค่าบริการทางไปรษณีย์ ค่าถ่ายเอกสาร เป็นต้น

          11) ค่าอาหารและเครื่องดื่ม สำหรับผู้ช่วยหาเสียง

          12) ค่าอบรมผู้สมัครหรือผู้ช่วยหาเสียง

          13) ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งซึ่งไม่ขัดต่อกฎหมาย หรือเป็นเหตุให้ การเลือกตั้งไม่สุจริตและเที่ยงธรรม

 

4. บรรณานุกรม

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136/ตอนที่ 6ก/11 มกราคม 2562. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136/ตอนที่ 6ก/11 มกราคม 2562. ประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ประเภทของค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135/ตอนที่ 68ก/12 กันยายน 2561. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136/ตอนที่ 6ก/11 มกราคม 2562. ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยแบบบัญชีรายรับและรายจ่ายค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

อ้างอิง

[1] มาตรา 62 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

[2] มาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

[3] ข้อ 4 แห่งประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

[4] ข้อ 5 แห่งประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

[5] ข้อ 6 แห่งประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

[6] ข้อ 8 แห่งประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง กำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

[7] ข้อ 3 ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยแบบบัญชีรายรับและรายจ่ายค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

[8] ข้อ 5 แห่งระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยแบบบัญชีรายรับและรายจ่ายค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

[9] ข้อ 6 แห่งระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง ว่าด้วยแบบบัญชีรายรับและรายจ่ายค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

[10] ข้อ 3 แห่งประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่อง ประเภทของค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561