ผู้มีสิทธิเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ผู้เรียบเรียง ผศ.ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
1. บทนำ
การเลือกตั้งของประเทศไทยเป็นกระบวนการตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่สะท้อนรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยเพื่อให้ได้ตัวแทนเข้าไปทำหน้าที่ในการปกครองประเทศ ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเป็นการทั่วไปมาแล้วถึง 28 ครั้ง การเลือกตั้งครั้งล่าสุดได้มีการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2562
2. คุณสมบัติของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
การกำหนดให้สิทธิแก่ประชาชนในการออกเสียงลงคะแนนเลือกตั้งภายใต้ระบบผู้แทนราษฎรนี้ไม่สามารถกำหนดให้สิทธิแก่ประชาชนทุกคนภายในรัฐได้อย่างไม่มีเงื่อนไขด้วยข้อจำกัดของวุฒิภาวะของบุคคล และข้อจำกัดอื่น ๆ ดังนี้
ก. บุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งต้องมีคุณสมบัติดังนี้[1]
(1) มีสัญชาติไทย แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี
(2) มีอายุไม่ต่ำกว่าสิบแปดปีในวันเลือกตั้ง
(3) มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านในเขตเลือกตั้งมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่าเก้าสิบวันนับถึงวันเลือกตั้ง
ข. ลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิเลือกตั้ง[2]
(1) เป็นภิกษุ สามเณร นักพรต หรือนักบวช
(2) อยู่ในระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่ว่าคดีนั้นจะถึงที่สุดแล้วหรือไม่
(3) ต้องคุมขังอยู่โดยหมายของศาลหรือโดยคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย
(4) วิกลจริตหรือจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ
3. บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
เมื่อมีการประกาศกำหนดวันเลือกตั้งครั้งใดแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งหรือผู้ซึ่งคณะกรรมการมอบหมาย[3]
- จัดทำ “บัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งของแต่ละหน่วย” ปิดประกาศไว้ ณ ที่เลือกตั้ง หรือบริเวณใกล้เคียงกับที่เลือกตั้ง หรือสถานที่ที่ประชาชนสะดวก ในการตรวจสอบก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่ายี่สิบห้าวัน
- ให้แจ้งรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งในทะเบียนบ้านไปยังเจ้าบ้านให้ทราบก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่ายี่สิบวัน ทั้งนี้ ในการแจ้งรายชื่อไปยังผู้มีสิทธิเลือกตั้งนี้มิให้ระบุเลขประจําตัวประชาชนของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
หากผู้มีสิทธิเลือกตั้งตรวจสอบบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งแล้วเห็นว่าเป็นกรณีตามเงื่อนไขสามารถดำเนินการต่าง ๆ ได้ดังนี้
- ไม่พบรายชื่อของตนผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถยื่นคําร้องขอเพิ่มชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสิบวัน[4]
- ปรากฏชื่อบุคคลอื่นอยู่ในทะเบียนบ้านของตน ผู้มีสิทธิเลือกตั้งหรือเจ้าบ้านผู้นั้นมีสิทธิยื่นคําร้องต่อ คณะกรรมการการเลือกตั้งประจำเขตเลือกตั้งได้ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่าสิบวันเพื่อให้ถอนชื่อผู้ซึ่งไม่มีสิทธิเลือกตั้งนั้นออกจากบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง[5]
4. บรรณานุกรม
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135/ตอนที่ 68ก/12 กันยายน 2561. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134/ตอนที่ 40 ก/6 เมษายน 2560. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช '25'60
[1] มาตรา 95 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
[2] มาตรา 96 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
[3] มาตรา 36 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
[4] มาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561
[5] มาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561