การเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรี

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 14:11, 4 กุมภาพันธ์ 2564 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง  ผศ.ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล  ผู้ทรงคุณวุ...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง  ผศ.ดร.พนารัตน์ มาศฉมาดล 

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ศ.ดร.บรรเจิด สิงคะเนติ

 

การเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรี

1. บทนำ

ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยของประเทศไทยที่มีพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจผ่านทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล[1] โดยมีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้นำฝ่ายบริหาร ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจึงถือเป็นตำแหน่งที่สำคัญในการบริหารประเทศภายใต้นโยบายของพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนเป็นอันดับหนึ่งของประเทศสำหรับการเลือกตั้งทั่วไป ทั้งนี้ หากย้อนดูตลอดประวัติศาสตร์การเมืองไทย จากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทั้งหมด 19 ฉบับ มีเพียง 4 ฉบับเท่านั้นที่กำหนดกำหนดให้ “นายกรัฐมนตรี” ต้องมาจากการเลือกตั้ง หรือ ต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้แก่ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับปี 2517 ฉบับปี 2534 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2535 ฉบับปี 2540 และฉบับปี 2550[2]

เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดการเข้าสู่ตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีใหม่เป็นเหตุให้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้งหรือไม่จำเป็นต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อนึ่ง กฎหมายหลักที่กำหนดที่มาของนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยจึงมาจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเป็นหลัก

 

2. หลักการเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรี

          รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดรูปแบบการได้มาของตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแบบใหม่ โดยให้สิทธิแก่พรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแจ้งรายชื่อบุคคล ซึ่งพรรคการเมืองนั้นมีมติว่าจะเสนอให้สภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งเป็น “นายกรัฐมนตรี” ไม่เกินสามรายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง และให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศรายชื่อบุคคลดังกล่าวพร้อมกับชื่อของพรรคการเมืองนั้นให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป[3] เมื่อพรรคการเมืองแจ้งรายชื่อบุคคลใดเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว บุคคลนั้นหรือพรรคการเมืองนั้น จะถอนรายชื่อหรือเปลี่ยนแปลงรายชื่อบุคคลเพื่อแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีได้เฉพาะกรณีบุคคลนั้นตาย หรือ ขาดคุณสมบัติ หรือ มีลักษณะต้องห้าม และ ต้องกระทำก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้ง[4]

          รูปแบบในการเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ส่งผลให้ในแต่ละพรรคการเมืองต้องเสนอชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรีแยกออกมาเป็นอีกบัญชีหนึ่ง และ ผู้ถูกเสนอรายชื่อเป็นว่าที่นายกรัฐในตรีของพรรคการเมืองนั้นไม่จำเป็นต้องลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเหมือนเช่นหลักที่เคยเป็นมา นอกจากนั้น บุคคลที่ถูกเสนอชื่อจะขอถอนรายชื่อหรือเปลี่ยนแปลงรายชื่อโดยใจสมัครเองไม่ได้เช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดี หากพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่ประสงค์จะเสนอรายชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรีก็ได้[5]

          หลักเกณฑ์การเสนอรายชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรี[6] ประกอบด้วยสองเงื่อนไข คือ

                    (1) ต้องมีหนังสือยินยอมของบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อ โดยมีรายละเอียดตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนด

                    (2) ผู้ได้รับการเสนอชื่อต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรี ตามมาตรา 160 และไม่เคยทำหนังสือยินยอมตาม (1) ให้พรรคการเมืองอื่นในการเลือกตั้ง คราวนั้น

ทั้งนี้ หากการเสนอชื่อบุคคลใดที่มิได้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อบุคคลนั้น

 

3. หลักการพิจารณาให้ความเห็นชอบแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี

          เมื่อพรรคการเมืองใดเสนอรายชื่อบุคคลเพื่อให้ดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้างต้น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจากบุคคลซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม และเป็นผู้มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ในการพิจารณาแต่งตั้งผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจะต้องมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่มีสมาชิกได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไม่น้อยกว่าร้อยละห้าของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร[7] หมายความว่า พรรคการเมืองนั้นต้องได้จำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 25 คนขึ้นไป เนื่องจากจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 กำหนดจำนวนไว้ทั้งหมดรวม 500 คน[8] ดังนี้

          (1) สมาชิกซึ่งมาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งจำนวนสามร้อยห้าสิบคน

(2) สมาชิกซึ่งมาจากบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจำนวนหนึ่งร้อยห้าสิบคน

การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคการเมืองใดต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร[9] หมายความว่า การเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) รับรอง อย่างน้อย 50 คน เป็นผู้รับรอง

สำหรับมติของสภาผู้แทนราษฎรที่เห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรีต้องกระทำโดยการลงคะแนนโดยเปิดเผย และมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสภาผู้แทนราษฎร[10] หมายความว่า ต้องได้คะแนนเสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนมากกว่า 250 คน จากจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 500 คน อย่างไรก็ดี ภายใต้บทเฉพาะกาลในระหว่างห้าปีแรกนับแต่วันที่มีรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้การพิจารณาให้ความเห็นชอบโดยการประชุมร่วมกันของรัฐสภา และต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา ดังนั้น ในช่วงห้าปีแรกการพิจารณารับรองนายกรัฐมนตรีต้องได้นนเสียงมากกว่า 375 เสียงขึ้นไป เนื่องจากปัจจุบันรัฐสภาประกอบด้วยสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 250 คน[11] และ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 500 คน รวมเป็น 750 คน

 

4. บรรณานุกรม

โชคสุข กรกิตติชัย. นายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช '2560'. เอกสารทางวิชาการสำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. มิถุนายน 2560

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 135/ตอนที่ 68ก/12 กันยายน 2561. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134/ตอนที่ 40 ก/6 เมษายน 2560'. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช '25'6'0

 

อ้างอิง

[1] มาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

[2] โชคสุข กรกิตติชัย', นายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช '2560, เอกสารทางวิชาการสำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, มิถุนายน 2560

[3] มาตรา 88 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

[4] มาตรา 87 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบมาตรา 13 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

[5] มาตรา 88 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบมาตรา 13 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

[6] มาตรา 89 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

[7]  มาตรา 159 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

[8]  มาตรา 83 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

[9]  มาตรา 159 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

[10]  มาตรา 159 วรรคสี่ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

[11]  มาตรา 269 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560