ค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 17:12, 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง  ผศ.ดร. พนารัตน์ มาศฉมาดล  ผู้ทรงคุณวุ...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง  ผศ.ดร. พนารัตน์ มาศฉมาดล 

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ. ดร. นิยม รัฐอมฤต


ค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง

 

'1'. แนวคิด

          การใช้จ่ายของพรรคการเมืองมีผลต่อระบอบการปกครองประชาธิปไตย เพราะหากไม่มีการควบคุมการใช้จ่ายของพรรคการเมือง อาจนำมาซึ่งการทุจริตคอร์รับชั่นในทางการเมืองได้ จึงมีความจำเป็นต้องมีกฎหมายเข้ามาควบคุมและตรวจสอบการใช้จ่ายของพรรคการเมืองให้สอดคล้องกับรายรับของพรรคการเมืองในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองประเภทต่าง ๆ โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ตลอดทั้งรายการอื่น ๆ ในการควบคุมการใช้จ่ายของพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 กำหนดไว้ตั้งแต่มาตรา 87 ถึง 89 โดยมีหลักการสำคัญของการใช้จ่ายดังต่อไปนี้

 

'2'. หลักการสำคัญของการใช้จ่ายของพรรคการเมือง

การใช้จ่ายของพรรคการเมืองถูกกฎหมายควบคุมให้ต้องใช้จ่ายในเรื่องที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่จะต้องตรวจสอบ และควบคุมมิให้มีการนําเงินหรือทรัพย์สินของพรรคการเมืองไปใช้จ่ายเพื่อการอื่นใดนอกจากที่กำหนดไว้[1] โดยเงินและทรัพย์สินของพรรคการเมืองต้องนำไปใช้จ่าย ในกรณีดังต่อไปนี้[2]

1) ค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมือง สาขาพรรคการเมือง
และตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดตามมาตรา 23

2) ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเลือกตั้งของพรรคการเมืองและสมาชิก

3) ค่าใช้จ่ายในการบริหารพรรคการเมือง

4) การพัฒนาพรรคการเมืองและสมาชิกให้มีคุณภาพและคุณธรรมอันดีงาม

5) การส่งเสริมความรู้แก่สมาชิกและประชาชนในทางการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

โดยพรรคการเมืองต้องเปิดเผยค่าใช้จ่ายในการโฆษณาหรือประชาสัมพันธ์การดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองทุกประเภทไม่ว่าในรูปแบบใดเพื่อให้สมาชิกและประชาชนทราบเป็นการทั่วไป โดยประกาศหรือเผยแพร่ผ่านในระบบฐานข้อมูลพรรคการเมืองหรือวิธีการอื่นใดที่ประชาชนเข้าถึงได้โดยสะดวก หรือปิดประกาศให้ประชาชนทราบ ณ ที่ทำการของพรรคการเมืองภายในระยะเวลาสามสิบวันนับแต่ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว

ในกรณีที่พรรคการเมือง ผู้บริหารพรรคการเมือง หรือบุคคลใดให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดแก่สมาชิกซึ่งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ไม่ว่าโดยทางตรง หรือทางอ้อม และไม่ว่าจะให้เป็นประจำหรือเป็นครั้งคราว ถ้าการให้หรือรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดนั้นไม่เป็นความผิดในกรณีใดกรณีหนึ่ง ดังนี้[3]

1) ไม่เป็นความผิดฐาน “การให้สินบน” เพื่อจูงใจเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัดหรือสมาชิกสภาเทศบาล ให้กระทำการ ไม่กระทำการ หรือประวิงการกระทำอันมิชอบด้วยหน้าที่[4]

2) ไม่เป็นความผิดฐาน “การรับสินบน” โดยเจ้าพนักงาน สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ สมาชิกสภาจังหวัด หรือสมาชิกสภาเทศบาล เรียก รับ หรือยอมจะรับทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดสำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่[5]

ให้พรรคการเมือง ผู้บริหารพรรคการเมือง หรือบุคคลผู้ให้เงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดนั้น แล้วแต่กรณี แจ้งให้นายทะเบียนทราบถึงการให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดนั้น ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่นายทะเบียนกำหนด และให้ประกาศให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไปด้วย

ทั้งนี้ กฎหมายยังได้ห้ามมิให้สมาชิกซึ่งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด จากบุคคลใดโดยไม่มีมูลอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย เนื่องจากไม่ต้องการมีการนำเงินที่ผิดกฎหมายมาใช้ในทางการเมืองอันจะนำไปสู่การกระทำที่ผิดกฎหมายส่งผลให้ระบอบประชาธิปไตยไม่เป็นที่น่าเชื่อถือของประชาชน

 

3. การจัดทำบัญชีค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง

ในการจัดทำบัญชีของพรรคการเมืองต้องมีรายละเอียดของระบบบัญชีครบถ้วน ถูกต้อง ตามมาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 ซึ่งประกอบด้วยบัญชีทั้ง 4 ประเภท ดังนี้

          1) บัญชีรายวันแสดงรายได้หรือรายรับ และแสดงค่าใช้จ่ายหรือรายจ่าย

          2) บัญชีแสดงรายรับจากการบริจาค

3) บัญชีแยกประเภทส่วนใหญ่จะจำแนกรายการบัญชีแยกประเภทไว้ 5 ประเภท ได้แก่ บัญชีทรัพย์สิน บัญชีหนี้สิน บัญชีทุน บัญชีรายรับ และบัญชีรายจ่าย

4) บัญชีแสดงสินทรัพย์ และหนี้สิน

สำหรับบัญชีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของพรรคการเมืองต้องมีความชัดเจน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง และรายการอื่นตามที่คณะกรรมการกำหนด[6] สำหรับสิ่งของที่ได้รับบริจาคที่ไม่อาจนําส่งพรรคการเมืองได้หรือเป็นของสดเสียต้องบันทึกมูลค่าของสิ่งนั้นไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการหาเสียงเลือกตั้งของผู้สมัครผู้นั้น[7]

 

'4'. บรรณานุกรม

ราชกิจจานุเบกษา เลม 115/ตอนที่ 35 ก/9 มิถุนายน 2541. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. '2541'

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134/ตอนที่ 105 ก/7 ตุลาคม 2560. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136/ตอนที่ 69 ก/27 พฤษภาคม 2562'. พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา พ.ศ. '2499

 

'5'. หนังสืออ่านเพิ่มเติม

จิตรภาณี นราวีรวุฒิ, มาตรการทางกฎหมายเพื่อให้การเลือกตั้งเป็นไปโดยบริสุทธิ์ยุติธรรม : ศึกษาเฉพาะกรณีค่าใช้จ่ายของพรรคการเมือง, นิติศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยรามคำแหง, 2540.

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ศ. 2560

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561

 

อ้างอิง 

[1] มาตรา 89 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[2] มาตรา 84 และ มาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[3] มาตรา 88 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[4] มาตรา 144 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

[5] มาตรา 149 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

[6] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 60 วรรคสาม

[7] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 68 วรรคสอง