การประชุมใหญ่พรรคการเมือง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:47, 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง  ผศ.ดร. พนารัตน์ มาศฉมาดล  ผู้ทรงคุณวุ...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง  ผศ.ดร. พนารัตน์ มาศฉมาดล 

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ. ดร. นิยม รัฐอมฤต


การประชุมใหญ่พรรคการเมือง

1. บทนำ

          พรรคการเมืองถือเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาการเมืองในระบอบ ประชาธิปไตยในฐานะที่เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงระหว่างภาครัฐกับภาคประชาชน โดยการนำเอาปัญหา หรือความต้องการของประชาชนมาแปลงเป็นนโยบายเพื่อนำนโยบายเหล่านั้นไปปฏิบัติเมื่อได้รับเลือกตั้งเข้าไปทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหาร[1] รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 45 บัญญัติรับรองเสรีภาพในการรวมกันจัดตั้งพรรคการเมืองวิถีทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยต้องมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการบริหารพรรคการเมือง ซึ่งต้องกำหนดให้เป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้ เปิดโอกาสให้สมาชิกมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในการกำหนดนโยบาย และการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง และกำหนดมาตรการให้สามารถดำเนินการโดยอิสระไม่ถูกครอบงำหรือชี้นำ โดยบุคคลซึ่งมิได้เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองนั้น รวมทั้งมาตรการกำกับดูแลมิให้สมาชิกของพรรคการเมือง กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง

          จากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่รับรองเสรีภาพของบุคคลนำไปสู่การตรากฎหมายพรรคการเมือง คือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองให้สอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ กฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับนี้ได้กำหนดเนื้อหาสำคัญในหลายประเด็นของการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง โดยมีเนื้อหากำหนดความสำคัญของ “การประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง” ไว้อย่างมีนัยยะสำคัญดังจะกล่าวถึงต่อไป

 

2. สถานการณ์โควิดกับการประชุมใหญ่พรรคการเมือง

          เมื่อมีสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) แพร่กระจายไปทั่วโลกในช่วงต้นปี พ.ศ. 2563 เป็นต้นมา ประเทศไทยโดยกระทรวงสาธารณสุขได้ประกาศโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
เป็นโรคติดต่ออันตรายตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 และ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินทั่วราชอาณาจักร ตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 สาระสำคัญของประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวได้มีข้อห้ามจัดให้มีกิจกรรมซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจำนวนมากในลักษณะมั่วสุมประชุมกัน ส่งผลให้พรรคการเมืองจำนวน 22 พรรค สอบถามว่าสามารถเลื่อนการจัดประชุมใหญ่พรรคการเมือง
ที่ต้องดำเนินการภายในเดือน เมษายน พ.ศ. 2563 ออกไปได้หรือไม่ เนื่องจากหากไม่ได้มีการจัดประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองตามกฎหมายเป็นระยะเวลาติดต่อกันหนึ่งปีโดยมิได้มีเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมายย่อมส่งผลให้พรรคการเมืองสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง ทั้งนี้ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้งในฐานะนายทะเบียนพรรคการเมืองได้ตอบข้อซักถามของ 22 พรรคการเมืองว่าการดำเนินการจัดประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองเป็นกรณีที่กฎหมายกำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติแก่หัวหน้าพรรค โดยไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายใดให้อำนาจแก่คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ นายทะเบียนพรรคการเมืองในการเลื่อนหรือขยายระยะเวลาดังกล่าว แต่หากพรรคการเมืองใดไม่สามารถจัดประชุมใหญ่ได้เนื่องจากสถาณการณ์โรคระบาดดังกล่าวสามารถแจ้งเหตุดังกล่าวต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองเพื่อจะได้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป[2]

 

3. การจัดประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง

          กฎหมายกำหนดให้พรรคการเมืองต้องดำเนินการจัดประชุมใหญ่อย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง[3] เนื่องจากมีกิจกรรมทางการเมืองบางประเภทที่กฎหมายกำหนดให้ต้องดำเนินการโดยที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง ดังนี้

          (1) การแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองของพรรคการเมืองหรือนโยบายของพรรคการเมือง

(2) การแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อบังคับ

(3) การเลือกตั้งหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง
นายทะเบียนสมาชิก และกรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง

(4) การเลือกตั้งคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง

(5) ให้ความเห็นชอบรายงานการเงินและการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองที่ได้ดำเนินการไปในรอบปีที่ผ่านมา

(6) กิจการที่เสนอโดยคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือหัวหน้าสาขาพรรคการเมือง

(7) กิจการอื่นตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ กฎหมาย หรือข้อบังคับ[4]

(8) รายงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองที่ได้ดำเนินการในรอบปีที่ผ่านมา[5]

(9) แต่งตั้งผู้สอบบัญชีและการรับรองงบการเงินประจำปีของพรรคการเมือง[6]

(10) การรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดให้แก่พรรคการเมืองเกินปีละห้าล้านบาท[7]

(11) การควบรวมพรรคการเมือง[8]

 

 

 

4. องค์ประชุมและการลงมติการประชุมใหญ่ของพรรคการเมือง

การจัดประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองต้องมีสมาชิกมาประชุมครบองค์ประชุมตามที่กฎหมายกำหนดและในการลงมติในที่ประชุมใหญ่ให้กระทำโดยเปิดเผย แต่การลงมติเลือกบุคคลเป็นหัวหน้าพรรคการเมือง เลขาธิการพรรคการเมือง เหรัญญิกพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก และกรรมการบริหารอื่นของพรรคการเมือง หรือ คณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งของพรรคการเมืองให้ลงคะแนนลับ[9] ในกรณีสมาชิกซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนหนึ่งคนใด หรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคน เห็นว่ามติของพรรคการเมืองที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ขัดต่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้หรือกฎหมายอื่น ให้มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งเพื่อพิจารณาวินิจฉัยได้[10]

องค์ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองแบ่งออกเป็น 2 ประเภทการประชุม คือ[11]

1) องค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยกรรมการบริหารพรรคการเมืองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการบริหารพรรคการเมืองทั้งหมด ผู้แทนของสาขาพรรคการเมืองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสาขาพรรคการเมือง ซึ่งในจำนวนนี้จะต้องประกอบด้วยผู้แทนของสาขาพรรคการเมืองไม่น้อยกว่าสองสาขาซึ่งมาจากภาคต่างกันที่คณะกรรมการกำหนดตามมาตรา 33 ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด
และสมาชิก ทั้งนี้ มีจำนวนรวมกันทั้งหมดไม่น้อยกว่า 250 คน

          2) องค์ประชุมของที่ประชุมใหญ่สาขาพรรคการเมือง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในข้อบังคับซึ่งอย่างน้อยต้องประกอบด้วยกรรมการสาขาพรรคการเมืองไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการสาขาพรรคการเมืองทั้งหมด และสมาชิกสาขาพรรคการเมือง ทั้งนี้ มีจำนวนรวมกันทั้งหมดไม่น้อยกว่า 100 คน

         

5. การประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคการเมือง

          กฎหมายเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคการเมือง หรือ กรรมการบริหารพรรคการเมืองใช้สิทธิเข้าชื่อเพื่อยื่นคำร้องขอให้จัดการประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคการเมืองได้ โดยต้องมีองค์ประกอบของจำนวนสมาชิกดังนี้[12]

          - สมาชิกซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสี่ของจำนวนสมาชิกซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

          - กรรมการบริหารพรรคการเมืองจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสามของจำนวนกรรมการบริหารพรรคการเมือง

          - สมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่มีอยู่ของพรรคการเมืองหรือไม่น้อยกว่าสองร้อยห้าสิบคน

 

6. ผลการไม่ดำเนินการจัดประชุมใหญ่พรรคการเมือง

          กฎหมายพรรคการเมืองกำหนดให้กิจกรรมทางการเมืองบางประเภทต้องดำเนินการโดยที่ประชุมใหญ่พรรคการเมือง ดังนั้น หากพรรคการเมืองใดไม่ดำเนินการจัดให้มีการประชุมใหญ่ของพรรคขึ้นโดยมิได้มีเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมายย่อมอาจมีผลทำให้พรรคการเมืองสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองได้[13]

ในกรณีที่หัวหน้าพรรคการเมือง นายทะเบียนสมาชิก หรือเหรัญญิกพรรคการเมืองผู้ใดไม่ดำเนินกิจกรรมที่ต้องนำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่จะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาทและปรับอีกวันละ 1,000 บาทตลอดระยะเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง รายละเอียดดังนี้

          - ไม่จัดทำรายงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองในรอบปีปฏิทินที่ผ่านมา (มาตรา 43 วรรคหนึ่ง)

- ไม่ส่งรายงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมืองซึ่งที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองอนุมัติต่อนายทะเบียนภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองอนุมัติ (มาตรา 43 วรรคสาม)

- ไม่เสนองบการเงินที่ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตตรวจสอบและรับรองแล้วต่อที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองเพื่ออนุมัติภายในเดือนเมษายนของทุกปี หรือ ไม่ส่งงบการเงินซึ่งที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองอนุมัติแล้วให้หัวหน้าพรรคการเมืองรับรองความถูกต้องร่วมกับเหรัญญิกพรรคการเมือง และส่งให้แก่นายทะเบียนภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ที่ประชุมใหญ่ของพรรคการเมืองอนุมัติพร้อมทั้งบัญชี (มาตรา 61)

 

7. บรรณานุกรม

แนวหน้า. 74 พรรคเฮ!! กกต.ส่งหนังสือแจ้ง 'เลื่อนประชุมใหญ่' อ้าง'โควิด' เป็นเหตุ. ออนไลน์จาก https://www.naewna.com/politic/486659. เมื่อ 7 มิถุนายน 2563

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134/ตอนที่ 105 ก/7 ตุลาคม 2560. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. '2560'

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134/ตอนที่ 40 ก/6 เมษายน 2560. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช '2560'

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง. พรรคการเมือง.

ออนไลน์จาก https://www.ect.go.th/ect_en/news_page.php?nid=863&filename=. เมื่อ 7 มิถุนายน 2563.

อ้างอิง

[1] สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง, พรรคการเมือง, ออนไลน์จาก https://www.ect.go.th/ect_en/news_page.php?nid=863&filename=, เมื่อ 7 มิถุนายน 2563

[2] แนวหน้า, 74 พรรคเฮ!! กกต.ส่งหนังสือแจ้ง 'เลื่อนประชุมใหญ่' อ้าง'โควิด' เป็นเหตุ, ออนไลน์จาก https://www.naewna.com/politic/486659, เมื่อ 7 มิถุนายน 2563

[3] มาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[4] มาตรา 38 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[5] มาตรา 43 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[6] มาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[7] มาตรา 66 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[8] มาตรรา 98 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[9] มาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[10] มาตรา 42 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[11] มาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[12] มาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[13] มาตรา 91(4) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560