การสิ้นสภาพ การเลิก และการยุบพรรคการเมือง

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:45, 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " ผู้เรียบเรียง  ผศ.ดร. พนารัตน์ มาศฉมาดล  ผู้ทรงคุณวุ...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง  ผศ.ดร. พนารัตน์ มาศฉมาดล 

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ. ดร. นิยม รัฐอมฤต


การสิ้นสภาพ การเลิก และการยุบพรรคการเมือง

1. บทนำ

          การดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในประเทศไทยอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายเพื่อควบคุมให้เกิดการปฏิรูปทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย โดยมีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560
และ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 กำหนดให้พรรคการเมืองต้องดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ดี เมื่อการดำเนินการของพรรคการเมืองไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ทางการเมือง หรือ ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้จะต้องมาถึงจุดจบของพรรคการเมือง กฎหมายจึงกำหนดในเรื่องการสิ้นสภาพของพรรคการเมือง การเลิกพรรคการเมือง ตลอดถึงการถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมืองด้วยเหตุการณ์ดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองที่ขัดต่อกฎหมาย ดังนี้

 

2. สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจากการเลิก การยุบ หรือ การสิ้นสภาพของพรรคการเมือง

          ประเทศไทยภายหลังการเลือกตั้งโดยทั่วไปใน พ.ศ. 2562 ได้มีปรากฏการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นหลายกรณี เช่น กรณีมติของคณะกรรมการบริหารพรรคประชาชนปฏิรูปให้ยกเลิกการเป็นพรรคการเมือง หรือ กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ จึงเกิดปัญหาที่ตามมาถึงสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของสมาชิกพรรคการเมืองที่มีการยุบ หรือ การเลิกพรรคการเมือง ในกรณีที่กฎหมายเปิดช่องให้คณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองสามารถยกเลิกพรรคการเมืองได้ และ คุ้มครองให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหาสังกัดพรรคการเมืองภายใน 60 วัน[1] จะกลายเป็นการสร้างระบบเผด็จการในระบบรัฐสภาขึ้นหรือไม่
เมื่อกฎหมายเปิดโอกาสให้มีการย้ายสังกัดพรรคการเมืองใหม่ได้ภายหลังการเลิก หรือยุบ หรือ การสิ้นสภาพของพรรคการเมือง

 

'3'. การสิ้นสุดของพรรคการเมือง

          พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 กำหนดให้การสิ้นสุดของพรรคการเมืองไว้ 3 กรณี คือ

                    (1) สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองตามที่กฎหมายบัญญัติ

(2) ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง

(3) มีการควบรวมพรรคการเมือง

          3'.'1 'การสิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมือง' ในกรณีดังต่อไปนี้[2]

                    - ไม่แก้ไขข้อบังคับให้ถูกต้องหรือครบถ้วนภายในระยะเวลา 60 วัน

- ไม่สามารถหาสมาชิก 5,000 คน และจัดตั้งสาขาภาคละ 1 สาขา ภายใน 1 ปี นับแต่วันจดแจ้งจัดตั้งพรรคการเมือง หรือ ภายใน 4 ปี มีจำนวนสมาชิกพรรคการเมืองน้อยกว่า 10,000 คน

- ภายใน 1 ปี ไม่สามารถจัดตั้งสาขาได้ครบทุกภาค (ไม่ถึง 4 สาขา) ภาคละ 1 สาขา

- ไม่มีการประชุมใหญ่พรรคการเมืองหรือไม่มีการดำเนินกิจกรรมใดทางการเมือง
เป็นระยะเวลาติดต่อกัน 1 ปีโดยมิได้มีเหตุอันจะอ้างได้ตามกฎหมาย

- ไม่ส่งสมาชิกลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งทั่วไปสองครั้ง ติดต่อกันหรือเป็นเวลา 8 ปีติดต่อกัน สุดแต่ระยะเวลาใดจะยาวกว่ากัน

- มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย

- พรรคการเมืองเลิกตามข้อบังคับ เช่น กรณีการเลิกพรรคประชาชนปฏิรูป เป็นต้น

เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริง ถ้าเห็นว่ามีกรณีที่เป็นเหตุให้พรรคการเมืองสิ้นสภาพ ให้เสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณา ถ้าคณะกรรมการการเลือกตั้งเห็นว่ามีกรณีดังกล่าวเกิดขึ้น ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศสิ้นสภาพของพรรคการเมืองในราชกิจจานุเบกษา

 

          3'.'2 'การเลิกพรรคการเมือง'

          พรรคการเมืองสามารถเลิกสภาพความเป็นนิติบุคคลได้ 2 กรณี คือ

  1. มีเหตุต้องเลิกตามข้อบังคับพรรคการเมือง เช่น กรณีการเลิกพรรคประชาชนปฏิรูป เป็นต้น
  2. มีการควบรวมพรรคการเมือง

เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมืองว่าพรรคการเมืองใดมีเหตุต้องเลิกตามข้อบังคับพรรค
หรือ มีการควบรวมพรรคให้นายทะเบียนพรรคการเมืองดำเนินการสอบสวนข้อเท็จจริง ถ้าเห็นว่ามีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งเลิกพรรคการเมืองนั้นโดยออกเป็นประกาศในราชกิจจานุเบกษา

 

'3'.'3 'การยุบพรรคการเมืองโดยศาลรัฐธรรมนูญ

การกระทำที่อาจเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคการเมือง[3] เช่น

(1) กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ ในรัฐธรรมนูญ

(2) กระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ ทรงเป็นประมุข

(3) กระทำการฝ่าฝืนกฎหมาย ระเบียบ หรือประกาศของคณะกรรมการการเลือกตั้ง ซึ่งมีผลให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม เช่น

- พรรคการเมืองต้องดำเนินกิจการอันมีลักษณะเป็นการแสวงหากําไรมาแบ่งปันกัน

- การยินยอมหรือกระทำการใดอันทำให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่สมาชิกกระทำการอันเป็นการควบคุม ครอบงำ หรือชี้นํา กิจกรรมของพรรคการเมืองในลักษณะที่ทำให้พรรคการเมืองหรือสมาชิกขาดความอิสระ

- พรรคการเมืองหรือผู้ใดให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อมเพื่อจูงใจให้บุคคลหนึ่งบุคคลใด สมัครเข้าเป็นสมาชิก

- สาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดจะจัดตั้งขึ้น
นอกราชอาณาจักรมิได้

- พรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง และสมาชิกรับบริจาค จากผู้ใดเพื่อกระทำการหรือสนับสนุนการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของราชอาณาจักร ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือราชการแผ่นดิน

- พรรคการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองกระทำการ หรือส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้ใดกระทำการอันเป็นการก่อกวนหรือคุกคามความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี ของประชาชน หรือกระทำการอันเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ

- พรรคการเมือง สมาชิก หรือผู้ใด เรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดจากผู้ใด เพื่อให้ผู้นั้นหรือบุคคลอื่นได้รับแต่งตั้ง หรือสัญญาว่าจะให้ได้รับ แต่งตั้ง หรือเพราะเหตุที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือตำแหน่งใดในการบริหารราชการแผ่นดินหรือในหน่วยงานของรัฐ

- พรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด  โดยรู้หรือควรจะรู้ว่าได้มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่ามีแหล่งที่มาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

- พรรคการเมืองหรือสมาชิกรับบริจาคเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ อื่นใดจากบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย นิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศที่ประกอบธุรกิจหรือกิจการหรือจดทะเบียนสาขาอยู่ใน หรือนอกราชอาณาจักร เป็นต้น

(4) มีเหตุอันจะต้องยุบพรรคการเมืองตามที่มีกฎหมายกำหนด เช่น

- กระทำการอันอาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐทั้งภายในและภายนอกราชอาณาจักร หรือขัดต่อกฎหมาย หรือความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน

- ไม่รายงานการดำเนินกิจการของพรรคการเมือง หรือใช้จ่ายเงินสนับสนุนจากกองทุนไม่ถูกต้อง หรือไม่รายงานการใช้จ่ายเงินสนับสนุน

เมื่อปรากฏต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง ให้นายทะเบียนพรรคการเมือง รวบรวมข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน เสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณาเพื่อยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินคดี นายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งจะขอให้อัยการสูงสุดช่วยเหลือดำเนินการในชั้นการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญจนกว่าจะเสร็จสิ้นก็ได้[4]

หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคการเมือง ให้นายทะเบียนพรรคการเมืองประกาศคำสั่งยุบพรรคการเมืองนั้นในราชกิจจานุเบกษา และห้ามมิให้บุคคลใดใช้ชื่อ ชื่อย่อ หรือ ภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองซ้ำ หรือพ้องกับชื่อ ชื่อย่อ หรือภาพเครื่องหมายของพรรคการเมืองที่ถูกยุบนั้น[5] ตลอดจน ห้ามมิให้ผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งกรรมการบริหารของพรรคการเมืองที่ถูกยุบและถูกเพิกถอน สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเพราะเหตุดังกล่าวไปจดทะเบียนพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือเป็นกรรมการบริหารพรรคการเมือง หรือ มีส่วนร่วมในการจัดตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่อีก ภายในกำหนด 10 ปีนับแต่วันที่พรรคการเมืองนั้นถูกยุบ[6]

 

4'. หน้าที่ของพรรคการเมืองที่สิ้นสภาพ หรือ ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบ'พรรค

ในกรณีที่พรรคการเมืองสิ้นสภาพ หรือ ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ยุบพรรคเพราะมีเหตุการณ์กระทำผิดตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ กฎหมายพรรคการเมืองกำหนดหน้าที่ให้แก่บุคคลที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการภายในระยะเวลาที่กำหนด ดังนี้[7]

(1) ให้หัวหน้าพรรคการเมืองมีหน้าที่จัดส่งบัญชีและงบแสดงฐานะทางการเงิน รวมทั้งเอกสาร เกี่ยวกับการเงินของพรรคการเมือง ภายใน 30 วันนับแต่วันที่พรรคการเมืองสิ้นสภาพหรือถูกสั่งให้ยุบ

(2) ให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีหน้าที่ต้องชำระบัญชีให้เสร็จสิ้นภายใน 180 วันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากนายทะเบียนพรรคการเมือง ถ้าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินชำระบัญชีไม่เสร็จสิ้นภายในระยะเวลาดังกล่าวให้ขยายเวลาได้อีกไม่เกิน 180 วันโดยแจ้งให้คณะกรรมการการเลือกตั้งทราบ

ในการชำระบัญชีให้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินมีอำนาจใช้จ่ายเงินของพรรคการเมืองหรือจำหน่ายทรัพย์สินของพรรคการเมืองเพื่อนำเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายในการชำระบัญชีได้ เมื่อได้หักหนี้สินและค่าใช้จ่ายแล้วยังมีทรัพย์สินเหลืออยู่เท่าใดให้โอนให้แก่ “องค์การสาธารณกุศล” ตามที่ระบุไว้ในข้อบังคับ
ถ้าในข้อบังคับไม่ได้ระบุไว้ให้ทรัพย์สินที่เหลือนั้นตกเป็นของกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง

ในกรณีที่พรรคการเมืองนั้นไม่มีเงิน หรือทรัพย์สินเพียงพอกับค่าใช้จ่ายในการชำระบัญชี ให้คณะกรรมการการเลือกตั้งสั่งจ่ายเงินจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมือง

(3) ให้หัวหน้าพรรคการเมืองและกรรมการบริหารพรรคการเมืองยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่อยู่จนกว่าการชำระบัญชีจะแล้วเสร็จ แต่จะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในนามพรรคการเมืองที่สิ้นสภาพหรือยุบมิได้

 

5. บรรณานุกรม

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134/ตอนที่ 105 ก/7 ตุลาคม 2560. พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134/ตอนที่ 40 ก/6 เมษายน 2560. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

 

อ้างอิง

[1] มาตรา 101 (10) แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560

[2] มาตรา 91 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[3] มาตรา 92 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[4] มาตรา 93 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[5] มาตรา 94 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[6] มาตรา 94 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560

[7] มาตรา 95 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560