ส.ส. LGBT

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 15:08, 1 กุมภาพันธ์ 2564 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " '''ผู้เรียบเรียง'''      <br/> 1.รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง      
1.รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู  แก้วหานาม 
2.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ลิขิต  แก้วหานาม
3.นายเด่นพงษ์ แสนคำ
4.นายเฉลิมพล แสงแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ


'ส.ส. 'LGBT

1. ความนำ

          ความหลากหลายทางเพศเป็นประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งในสังคมร่วมสมัย ทั้งในแง่ของความเท่าเทียมทางเพศ ที่เปิดโอกาสให้บุคคลที่ไม่ได้อยู่ในฐานะที่สามารถระบุอย่างชัดเจนว่าตัวเองเป็นเพศชายหรือหญิง สามารถที่จะกระทำการได้ตามกฎหมายในประเด็นต่าง ๆ ได้อย่างเท่าเทียมกันกับเพศชายหรือหญิง จึงทำให้เกิดกระแสเรียกร้องให้มีการยอมรับเพศทางเลือกอื่น ๆ ตามมา ซึ่งเรามักจะเข้าใจกันในความหมายว่า LGBT แทนความหลากหลายทางเพศ อันหมายรวมถึง เลสเบี้ยน (Lesbian) เกย์ (Gay) คนรักร่วมสองเพศ (Bisexual) และ คนข้ามเพศ (Transgender) โดยเรียกรวมว่า LGBT[1] ปัญหาในอดีตที่เกิดขึ้นกับกลุ่ม LGBT ก็คือว่า ผู้คนได้ตีตรากับกลุ่ม LGBT อย่างหนัก ซึ่งนำมาสู่การถูกคุกคามและเลือกปฏิบัติ อย่างไรก็ตามในช่วงเวลาที่ผ่านมาประเทศตะวันตกส่วนใหญ่ได้ทำการเคลื่อนไหวเพื่อให้ได้สิทธิทางกฎหมายบนพื้นฐานของรสนิยมทางเพศ และ / หรืออัตลักษณ์ทางเพศ[2] ทั้งนี้ก็เพราะว่าการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับความอยู่ดีมีสุข (well-being) ของกลุ่ม LGBT[3] จึงเห็นได้ว่า การไม่ยอมรับกลุ่มคน LGBT ให้มีบทบาทเท่าเทียมกับกลุ่มอื่น ๆ ในสังคม ก่อให้เกิดปัญหาในระดับสิทธิมนุษยชนตามมา ปัจจุบันนี้ ประเทศไทยยังคงมีความขัดแย้งในตัวเองเกี่ยวกับประเด็น LGBT โดยเป็นประเทศที่องค์กรการท่องเที่ยวส่งเสริมภาพลักษณ์ของเมืองไทยว่าเป็นดั่งสวรรค์ของเกย์ ในขณะที่การพูดคุยอภิปรายเกี่ยวกับวิถีทางเพศในสังคมเป็นเรื่องต้องห้ามและ การศึกษาเรื่องเพศในโรงเรียนยังมีข้อจำกัดอยู่ กลุ่ม LGBT โดยส่วนมากอาศัยอยู่ในเขตเมืองมากกว่าเขตชนบท พวกเขาถูกกดดันในหลายด้าน ทั้งที่จะต้องทำหน้าที่พลเมืองที่ดีของสังคม ในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นลูกที่ดีมีความกตัญญูต่อครอบครัว ประกอบกับแนวคิดค่านิยมที่ว่าเพศวิถีหรือเพศสภาวะของบุคคลไม่ควรที่จะขัดแย้งกับบรรทัดฐานที่สังคมยอมรับโดยไม่ควรสร้าง ความอับอายให้กับตัวเองและครอบครัว ส่งผลให้พวกเขามีชีวิตอยู่ในสังคมด้วยความกดดันยิ่งขึ้นไปอีก[4] เมื่อไม่นานมานี้ในประเทศไทยมีปรากฏการณ์สำคัญอย่างหนึ่งนั่นก็คือ มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่มาจากกลุ่มที่ LGBT ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคอนาคตใหม่[5] ทำให้มีกระแสตอบรับจากกลุ่ม LGBT และนักสิทธิมนุษยชนมากขึ้นในการให้เสียงสนับสนุนปรากฏการณ์สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรดังกล่าว

 

'2. สังคมไทยกับประเด็นปัญหา 'LGBT

          ประเด็นเรื่องความหลากหลายทางเพศในสังคมไทยได้รับความสนใจมานานมากแล้วในทางกฎหมาย แต่ก็ไม่ได้พิจารณาในแง่มุมของสาระสำคัญมากนัก นอกจากนี้ในแง่มุมทางวัฒนธรรมและความเข้าใจในความหลากหลายทางเพศก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางพอ ซึ่งเมื่อกลับไปพิจารณาความเป็นมาในอดีตก็จะพบว่า กิจกรรมทางเพศของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศนั้นกำหนดให้เป็นความผิดมาอย่างน้อยตั้งแต่ พ.ศ. 2451 เนื่องจากได้มีการประกาศใช้กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 ขึ้น โดยในมาตรา 242 บัญญัติไว้ว่า

 

"ผู้ใดทำชำเรา ผิดธรรมดามนุษย์ ด้วยชายก็ดี หญิงก็ดี หรือทำชำเราด้วยสัตว์เดียรฉานก็ดี ท่านว่ามันมีความผิด ต้องรวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนขึ้นไปจนถึงสามปี แลให้ปรับตั้งแต่ห้าสิบบาทขึ้นไป จนถึงห้าร้อยบาท ด้วยอีกโสดหนึ่ง"[6]

 

          จากความในกฎหมายดังกล่าวชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยเริ่มต้นมองความหลากหลายทางเพศว่าเป็นสิ่งที่ผิด แต่ถึงกระนั้นประเทศไทยได้มีพัฒนาการทางกฎหมายมาตลอดจนถึงปัจจุบัน และพยายามสร้างความเท่าเทียมทางเพศให้กับกลุ่ม LGBT ด้วย แม้จะมีบทบัญญัติทางกฎหมาย แต่ในหลาย ๆ ด้านก็ยังไม่อาจชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยเปิดโอกาสให้กับบุคคลกลุ่ม LGBT อย่างเสรีจริง ๆ ยกตัวอย่างเช่นการรับรองเพศสถานะทางกฎหมายและเอกสารราชการของประเทศไทย ในปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายที่อนุญาตให้บุคคลข้ามเพศหรือกลุ่ม LGBT สามารถเปลี่ยนคำนำหน้านาม และเพศในเอกสารราชการได้ ส่งผลให้อัตลักษณ์ทางเพศของบุคคลข้ามเพศยังคงเป็นประเด็นที่ท้าทายสำหรับบุคคลข้ามเพศในการเข้าถึงสินค้าและบริการ ทำให้เกิดความจำเป็นในการปฏิรูปกฎหมายในการรับรองเพศสถานะของบุคคลข้ามเพศ หรือการรับรองเพศสถานะทางกฎหมายในสถานที่ทำงาน มีมาตรฐานและนโยบายจำนวนหนึ่งที่เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการรับรองเพศสถานะในสถานที่ทำงาน แม้ว่าจะไม่ได้เจาะจงไปที่มิติอัตลักษณ์ทางเพศสถานะและการแสดงออก แต่หลักการของมาตรฐานและนโยบายเหล่านั้น อาทิ ส่วนที่ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติในมาตรฐานแรงงานไทย ก็ได้ครอบคลุมถึงการเลือกปฏิบัติด้วยเหตุแห่งเพศ และสามารถนำมาสู่การถกแถลงถึงแนวทางในการตีความมาตรฐานดังกล่าวภายใต้บริบทของการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พุทธศักราช 2558 นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีข้อกำหนดซึ่งจำกัดการแสดงออกทางเพศ เช่น ข้อกำหนดโดยระเบียบว่าด้วยเครื่องแบบราชการพลเรือน เป็นต้น[7]

          จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าแม้จะมีกฎหมายที่แสดงถึงการเปิดพื้นที่ให้กับคนข้ามเพศหรือกลุ่ม LGBT
ก็ตาม แต่ในแง่มุมเชิงปฏิบัติจริง ๆ แล้ว เรากลับพบว่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นยังไม่อาจยอมรับกลุ่มคนข้ามเพศได้อย่างจริงจัง เช่น การแต่งกายของคนข้ามเพศในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา หรือผู้ที่ทำงานในหน่วยงานราชการต่าง ๆ แต่ในบางประเด็นเช่นการส่งเสริมการท่องเที่ยวได้ประกาศแผนการส่งเสริมประเทศไทยในฐานะที่เป็นมิตรกับ LGBT[8] ถึงกระนั้นในความเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมในสังคมไทย การยอมรับ LGBT ยังเป็นเรื่องยากในการเข้าใจความหลากหลายทางเพศที่จะนำไปสู่การเข้าใจถึงสารัตถะของความเท่าเทียมกันของมนุษย์นั่นเอง

 

'3. การเมืองสมัยใหม่กับ สส. 'LGBT ของไทย

          เนื่องจากสังคมไทยมักจะยอมรับการทำงานของระบบราชการ ซึ่งมักจะแฝงความเป็นอนุรักษ์นิยมไว้ค่อนข้างมาก และประเด็นเรื่องกลุ่มคนข้ามเพศหรือ LGBT ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ระบบราชการแบบไทยยังไม่อาจเปิดพื้นที่ให้มากพอ ตลอดถึงในทางการเมืองก็ยังถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นมากนัก จนกระทั่งในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ก็ปรากฏว่ามีการเคลื่อนไหวของกลุ่ม สส. LGBT เกิดขึ้นครั้งแรก ซึ่งนับว่าเป็นการเปิดพื้นที่ของการทำงานเป็นตัวแทนของประชาชนที่แสดงออกถึงบทบาทของกลุ่มคนข้ามเพศหรือ LGBT ซึ่งเป็น สส. ที่มาจากพรรคอนาคตใหม่ขณะนั้นนั่นก็คือ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ซึ่งเป็นผู้แทนราษฎรที่มีบทบาทสำคัญในการเรียกร้องต่อสร้างความเท่าเทียมทางเพศของกลุ่ม LGBT ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์อดีตเป็นผู้กำกับภาพยนตร์ หนังสั้น ไปจนถึงกำกับละคร ซีรีย์ ผลงานหนังของเธอวนเวียนกับการนำเสนอชีวิตของผู้คนหลากหลายทางเพศ อย่างเช่น แมลงรักในสวนหลังบ้าน (Insects in the Backyard) ที่เคยถูกคณะกรรมการเซ็นเซอร์หนัง สั่งห้ามฉายและปิดป้ายหนังของเธอว่า "ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน" นอกจากนี้ธัญญ์วาริน ยังเคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยด้วย นับตั้งแต่วันที่แต่ละพรรคการเมืองต่างเปิดตัวผู้สมัคร ธัญญ์วาริน เป็นบุคคลหลากหลายทางเพศคนแรก ๆ ที่ประกาศลงสมัครเลือกตั้ง ก่อนตามมาด้วยพรรคอื่น เช่น พรรคมหาชน บรรยากาศที่ประเด็นสิทธิของกลุ่ม LGBT ได้รับการกล่าวถึงในระดับนโยบายช่วงหาเสียงเลือกตั้งเบ่งบานอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน[9] การเริ่มต้นของธัญญ์วาริน จึงนำไปสู่การชูนโยบายเรื่องคนข้ามเพศมากขึ้น นอกจากนี้ยังมี ส.ส. อีก 3 คนของพรรคอนาคตใหม่ขณะนั้นที่เป็นกลุ่มคน LGBT ได้ถูกเลือกเข้าไปเป็นผู้แทนราษฎรด้วย การเมืองไทยสมัยใหม่จึงดูท่าทีที่เปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มคนข้ามเพศอย่างชัดเจน และดูเป็นเรื่องที่อาจกล่าวได้ว่าจะเป็นนิมิตรหมายที่ดีขึ้นต่อไป ที่จะทำให้กลุ่มคนข้ามเพศหรือ LGBT ได้รับการยอมรับมากิยิ่งขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งธัญญ์วารินสนใจและต้องการผลักดันการแก้ไขกฎหมายสิทธิความเท่าเทียมทางเพศ อันได้แก่ แก้ไขกฎหมายว่าด้วยการสมรส หรือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ด้วยการยกเลิกการใช้คำว่า ชาย หญิง และใช้คำว่า "บุคคล" แทน เพื่อให้ทุกคน ทุกเพศ สามารถใช้กฎหมายสมรสได้อย่างเท่าเทียม รวมทั้งกฎหมายเกี่ยวกับด้านศิลปวัฒนธรรม[10]

'4. บทบาทสำคัญของ ส.ส. 'LGBT กับการเมืองไทย

          การเมืองไทยร่วมสมัยถือว่ามีความเข้มข้นของการเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดขั้วการเมืองที่แบ่งชัดเจนระหว่างพรรคฝ่ายประชาธิปไตยกับพรรครัฐบาล โดยในพรรคฝ่ายประชาธิปไตยนั้น ส.ส. LGBT ถือเป็น ส.ส. ที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวทางด้านความเท่าเทียมและสิทธิมนุษยชนสำหรับกลุ่มคนข้ามเพศหรือ LGBT ซึ่งไม่ค่อยจะปรากฏให้เห็นเท่าใดนักในอดีตที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลักดันให้มีการตั้งกรรมาธิการความหลากหลายทางเพศ แต่ถึงกระนั้นการตั้งกรรมาธิการดังกล่าวก็ไม่ผ่านการลงมติของสภาให้ตั้งได้ วันที่ 22 สิงหาคม 2562 ที่รัฐสภา (เกียกกาย) ธัญญ์วาริน สุขะพิศิษฐ์, ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์, ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อพรรคอนาคตใหม่ และ กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.พรรคอนาคตใหม่ จ.ชลบุรี ในฐานะ ส.ส.กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ร่วมแถลงข่าวภายหลังจาก สภาผู้แทนราษฎรมีการลงมติ ในการขอจัดตั้งคณะกรรมาธิสามัญสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศแยก จากคณะกรรมาธิการสามัญ กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และกลุ่มความหลากหลายทางเพศ แล้วได้มีการแปรญัตติ ซึ่งสมาชิกเห็นด้วย 101 เสียง เเละไม่เห็น 365 เสียง งดออกเสียง 13 เสียง ซึ่งการตั้งกรรมาธิการชุดดังกล่าวก็เนื่องจากปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่ถูกทับถมมาอย่างยาวนาน ที่ทำให้ขาดความเป็นมนุษย์และตัดตอน ความฝัน ในการลงมติครั้งนี้ถือว่าเป็นการสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองไทยเเละรัฐสภาไทย ในการร่วมจัดตั้งคณะกรรมาธิการสมัญเเยกออกมา เพื่อดูเเลสิทธิเเละความเท่าเทียมของผู้มีความหลากหลายทางเพศ[11] นอกจากจะมีการผลักดันให้ตั้งกรรมาธิการในการทำงานเกี่ยวกับ LGBT โดยตรงแล้วนั้น ยังมีการเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงานของกลุ่มคนข้ามเพศหรือ LGBT ด้วย

          ประเด็นการเคลื่อนไหวเกี่ยวกับสิทธิแรงงานของกลุ่มคน LGBT เริ่มต้นเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2562 โดย วรรณวิภา ไม้สน ส.ส. บัญชีรายชื่อ, ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ, ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ, ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อ ร่วมเสวนารับฟังปัญหา หัวข้อ “สิทธิ สวัสดิการ และความเท่าเทียมของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในสถานประกอบการ” โดยมี จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ ส.ส. ฉะเชิงเทรา เป็นผู้ดำเนินรายการ ทั้งนี้ กลุ่มคนใช้แรงงานที่เป็น LGBT ต้องการเรียกร้องให้ผู้ประกอบการและหัวหน้างานให้สิทธิการทำงานโดยเท่าเทียมกันและไม่เลือกปฏิบัติ​ โดยที่ผ่านมา กลุ่มคนแรงงานที่เป็น LGBT ถูกกดดันและเลือกปฏิบัติ​อย่างไม่เป็นธรรม​ภายในสถานประกอบการ​ต่างๆ ประชาชนที่เข้ามารับฟังงานเสวนาในครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนใช้แรงงาน LGBT ที่ได้รับผลกระทบในหน้าที่การงาน เนื่องจากเป็นกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ จึงถูกเลือกปฏิบัติ แม้จะมีความสามารถและมีความเป็นผู้นำ แต่ไม่มีโอกาสได้ใช้ศักยภาพอย่างเต็มที่ เพราะโดนกีดกันการดำรงตำแหน่งต่างๆ ภายในสถานประกอบการ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ก่อให้เกิดความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมภายในสังคม และนี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สังคมไม่พัฒนา เนื่องจากเป็นการกีดกันบุคลากรที่มีคุณภาพ ไม่มีพื้นที่ได้แสดงผลงาน โดยในช่วงระหว่างการเสวนา มีการสะท้อนปัญหาในการดำเนินชีวิต ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนใช้แรงงาน ไปจนถึงนักศึกษา ของคนที่มีความหลากหลายทางเพศ บ้างว่าถูกมองด้วยสายตาที่เหยียดหยาม บ้างโดนกีดกันการจ้างงาน หรือปฏิเสธการจ้างงาน

          วรรณวิภา ไม้สน กล่าวว่า เรื่อง LGBT กับการทำงาน เรื่องโครงสร้างกับความเหลื่อมล้ำ ล้วนเป็นเรื่องเดียวกันทั้งสิ้น แต่เหนือสิ่งอื่นใด เราควรจะสร้างความคิดพื้นฐานของสิทธิ เสรีภาพ และความเท่าเทียมให้กับคนรอบข้าง ก่อนที่จะแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ และหากพูดถึงในเรื่องของกฎหมายแรงงาน สิ่งที่ยากที่สุดคือ การนำกฎหมายที่ออกมาไปใช้ได้จริง และใช้อย่างเท่าเทียม ดังนั้น พรรคอนาคตใหม่จึงมีนโยบายรัฐสวัสดิการที่เห็นคนเป็นคน และคนทุกคนเท่าเทียมกันต่อหน้ากฎหมาย และความเท่าเทียมกันนี้ครอบคลุมถึงกลุ่มคน LGBT ไม่ว่าจะเพศไหน หน้าตาเป็นอย่างไร รวยหรือจน เราทุกคนล้วนเป็นมนุษย์ที่เสียภาษีเหมือนกัน และตราบใดที่เรายังมองคนเป็นคน และเคารพสิทธิซึ่งกันและกัน ปัญหาความกดขี่ กดทับ และเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้างจะค่อยๆ หมดไป[12]

5. บทสรุป

          บทบาทของ สส. LGBT ในการเมืองไทยถือเป็นบทบาทใหม่ที่ไม่เคยปรากฎมาก่อนในการสร้างภาพลักษณ์ของกลุ่ม LGBT ในฐานะของการเป็นตัวแทนประชาชน และยังทำให้เห็นอย่างชัดเจนมากขึ้นมากว่าในอดีต นั่นคือการเมืองไทยสมัยใหม่จึงอาจดูเหมือนว่าจะมีท่าทีที่เปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มคนข้ามเพศอย่างชัดเจน และดูเป็นเรื่องที่อาจกล่าวได้ว่าจะเป็นนิมิตรหมายที่ดีขึ้นต่อไป ที่จะทำให้กลุ่มคนข้ามเพศหรือ LGBT ได้รับการยอมรับมากยิ่งขึ้นในสังคมไทย

 

บรรณานุกรม

ธันยพร บัวทอง, “อนาคตใหม่ : ส.ส. ข้ามเพศคนแรกของรัฐสภาไทย กับการแต่งกายตามเพศสภาพ และก้าวแรกของความเป็นมนุษย์เท่ากัน”, บีบีซีไทย (24 พฤษภาคม 2562),
จาก < https://www.bbc.com/thai/thailand-48382940> สืบค้นเมื่อ 3 มิถุนายน 2563

ราชกิจจานุเบกษา กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗

“ส.ส.LGBT อนาคตใหม่ ขอบคุณเสียงหนุนแม้ตั้ง กมธ.ความหลากทางเพศไม่สำเร็จ ยันผลักดันต่อ”, มติชนสุดสัปดาห์ (22 สิงหาคม 2562), จาก < https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_222527> สืบค้นเมื่อ 3 มิถุนายน 2563

UNDP & APTN, การรับรองเพศสถานะตามกฎหมายในประเทศไทย: การทบทวนกฎหมายและนโยบาย, กรุงเทพฯ: โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติสำนักงานประเทศไทย, 2560.

Ellis, Sonja J., "Diversity and inclusivity at university: A survey of the experiences of lesbian, gay, bisexual and trans (LGBT) students in the UK", Higher Education 57.6 (2009): 723-739.

Sheppard, Helen E., and Julie E. Towell, International Acronyms, Initialisms & Abbreviations Dictionary: A Guide to Over 110,000 Foreign and International Acronyms, Initialisms, Abbreviations, Alphabetic Symbols, Contractions, and Similar Condensed Appellations in All Fields, Farmington Hills: Gale Research Company, 1987.

Toomey, Russell B., et al. "High school gay–straight alliances (GSAs) and young adult well-being: An examination of GSA presence, participation, and perceived effectiveness." Applied developmental science 15.4 (2011): 175-185.

“Thailand still lags in LGBT issues” Bangkok Post (May 19, 2019),

from < https://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/1680244/thailand-still-lags-in-lgbt-issues>, June 2, 2020

UNDP, USAID, Being LGBT in Asia: The Thailand Country Report, Bangkok: UNDP, 2014.

 

อ้างอิง 

[1] Sheppard, Helen E., and Julie E. Towell, International Acronyms, Initialisms & Abbreviations Dictionary: A Guide to Over 110,000 Foreign and International Acronyms, Initialisms, Abbreviations, Alphabetic Symbols, Contractions, and Similar Condensed Appellations in All Fields, (Farmington Hills: Gale Research Company, 1987). p. 1.

[2] Ellis, Sonja J., "Diversity and inclusivity at university: A survey of the experiences of lesbian, gay, bisexual and trans (LGBT) students in the UK", Higher Education 57.6 (2009): 723-739.

[3] Toomey, Russell B., et al. "High school gay–straight alliances (GSAs) and young adult well-being: An examination of GSA presence, participation, and perceived effectiveness." Applied developmental science 15.4 (2011): 175-185.

[4] UNDP, USAID, Being LGBT in Asia: The Thailand Country Report, (Bangkok: UNDP, 2014). p. 6.

[5] ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคก้าวไกล ซึ่ง สส. เดิมย้ายมาสังกัดพรรคก้าวไกลเป็นจำนวนมากและมีบางส่วนย้ายไปสังกัดพรรคอื่น ๆ

[6] ราชกิจจานุเบกษา กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ.๑๒๗

[7] UNDP & APTN, การรับรองเพศสถานะตามกฎหมายในประเทศไทย: การทบทวนกฎหมายและนโยบาย, (กรุงเทพฯ: โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติสำนักงานประเทศไทย, 2560), หน้า 3-4.

[8] “Thailand still lags in LGBT issues” Bangkok Post (May 19, 2019), from < https://www.bangkokpost.com/opinion/opinion/1680244/thailand-still-lags-in-lgbt-issues>, June 2, 2020

[9] ธันยพร บัวทอง, “อนาคตใหม่ : ส.ส. ข้ามเพศคนแรกของรัฐสภาไทย กับการแต่งกายตามเพศสภาพ และก้าวแรกของความเป็นมนุษย์เท่ากัน”, บีบีซีไทย (24 พฤษภาคม 2562), จาก < https://www.bbc.com/thai/thailand-48382940> สืบค้นเมื่อ 3 มิถุนายน 2563

[10] เรื่องเดียวกัน

[11] “ส.ส.LGBT อนาคตใหม่ ขอบคุณเสียงหนุนแม้ตั้ง กมธ.ความหลากทางเพศไม่สำเร็จ ยันผลักดันต่อ”, มติชนสุดสัปดาห์ (22 สิงหาคม 2562), จาก < https://www.matichonweekly.com/hot-news/article_222527> สืบค้นเมื่อ 3 มิถุนายน 2563

[12] เรื่องเดียวกัน