พรรคจิ๋ว
ผู้เรียบเรียง:
1. รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู แก้วหานาม
2. อาจารย์ ดร. นพพล อัคฮาด
3. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิมพ์ลิขิต แก้วหานาม
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย
พรรคจิ๋ว
การเมืองไทยภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป พ.ศ. 2562 ได้เกิดพรรคขนาดจิ๋ว
ที่มีสมาชิกผู้แทนราษฎรสังกัดเพียงเพียงไม่กี่คน แต่กลายเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งทำให้ภาพของระบบพรรคการเมืองไทยกลายเป็นระบบหลายพรรคผสมกันจัดตั้งรัฐบาลและมีพรรคจิ๋วเหล่านี้เป็นตัวแปรในการดำเนินการทางการเมืองของไทยภายหลังการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้เขียนจะได้อธิบายลักษณะของพรรคจิ๋วดังต่อไปนี้
1.ความหมาย หรือ แนวคิด
การนิยามพรรคจิ๋วนั้นจำเป็นต้องเข้าใจในหลายด้านทั้งนโยบายทางการเมือง อุดมการณ์ทางการเมือง หรือบริบททางการเมืองของประเทศต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดพรรคจิ๋วขึ้น โดยลักษณะทางทฤษฎีของพรรคเล็ก
หรือพรรคจิ๋วในทางการเมืองของประเทศต่าง ๆ มีดังนี้1]
กรณีของสหรัฐอเมริกานั้น คำว่า พรรคที่สาม (third party) นั้นมีการใช้ค่อนข้างกำกวม เพราะหมายถึงพรรคที่ไม่ใช่สองพรรคใหญ่ทั้งหมด หรือบางทีก็หมายถึงผู้สมัครที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง หรือตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ที่มีบทบาทในการรณรงค์หาเสียงประธานาธิบดีเท่านั้น ในการวิเคราะห์การเมืองอเมริกันนั้น แม้ว่าส่วนใหญ่จะเห็นพ้องต้องกันว่าพรรคที่สาม (third party) ไม่ค่อยได้รับความนิยมในการเลือกตั้งมากเท่าไหร่ ด้วยว่าระบบกฎหมายบางอย่างนั้นมีผลทำให้การต่อสู้กันในการแข่งขันประธานาธิบดีนั้นเกิดการสอดแทรกจากฝ่ายที่สามได้ยาก เช่น การลงทะเบียนเลือกตั้ง และการมีคณะเลือกตั้งที่พรรคที่ชนะในมลรัฐนั้นได้คะแนนเสียงไปทั้งมลรัฐ แม้ว่าคะแนนจะสูสีก็ตาม แต่กระนั้นก็ดีพรรคที่สาม (third party) ทางการเมืองในอเมริกานั้นก็ปรากฏตัวและมีบทบาทสำคัญมาโดยตลอดตั้งแต่ราว ค.ศ. 1877 เป็นต้นมา ที่มีวุฒิสมาชิกถึง 31 คน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 11 คน ผู้ว่าการมลรัฐ 22 คน ที่มาจากการเลือกตั้งโดยไม่ได้เป็นสมาชิกสองพรรคใหญ่ ในจำนวนนี้ไม่รวมบรรดาเหล่านายกเทศมนตรีอีกจำนวนไม่น้อย นอกจากนั้นแล้ว บทบาทของพรรคที่สาม (third party) ยังทำหน้าที่สำคัญในทางการเมืองในแง่ของการทำเสนอประเด็นทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม ที่สำคัญที่มีผลทำให้ผู้สมัครพรรคใหญ่จำต้องมีจุดยืนในเรื่องนั้นและในบางกรณีหากได้รับความนิยม แม้ว่าจะไม่ได้รับการเลือกตั้ง ก็อาจมีผลทำให้ผู้สมัครของพรรคใหญ่เสียคะแนนไปได้ หรืออาจจะพ่ายแพ้ไปในที่สุด ถ้าการแข่งขันระหว่างพรรคใหญ่สองพรรคนั้นเข้าขั้นดุเดือด สูสีมากในการเลือกตั้ง
กรณีของอังกฤษ อาจกล่าวได้ว่ากฎหมายมีผลสำคัญที่สุดในการทำให้พรรคเล็กไม่มีบทบาทในสภาอังกฤษ และสาเหตุสำคัญของการไม่เกิดพรรคเล็กนั้นเพราะว่าอังกฤษนั้นมีวัฒนธรรมสองพรรค แต่เอาเข้าจริงพรรคที่สาม (third party) เคยมีบทบาทในสภาอังกฤษ และเมื่อไม่นานมานี้พรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democracy) ก็เคยได้รับเลือกมาถึงขั้นที่เป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลผสมมาแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม
ในภาพรวมนั้นพรรคเล็กๆ (small party หรือ smaller party) ในอังกฤษก็ยังมีมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะพรรคที่เป็นที่จัดตั้งตามประเด็นและอุดมการณ์ที่ชัดเจนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น พรรค WE ที่ย่อมาจากพรรค
Women ‘s Equality Party) หรือพรรคเพื่อความเสมอภาคของสตรี ที่แม้ว่าจะตั้งได้ไม่นาน แต่สุดท้ายก็ได้รับเลือกหนึ่งเก้าอี้ในสภามหานครลอนดอนซึ่งเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นของอังกฤษ นอกจากนี้พรรคเล็กๆ
ในอังกฤษ ส่วนหนึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของประชาธิปไตย เพราะทำให้คนกระตือรือร้นทางการเมือง และส่งสัญญาณจุดยืนในประเด็นนโยบายและอุดมการณ์ไปยังพรรคใหญ่ แต่ในอีกด้านหนึ่งนักวิเคราะห์การเมืองอังกฤษก็มองว่าการเลือกตั้งที่มีมากเกินไปหลายระดับทั้งระดับท้องถิ่น และระดับชาตินั้นอาจเป็นประเด็นท้าทายต่อพรรคเล็กๆ เพราะพรรคเล็กๆ นั้นอาจมีทรัพยากรไม่พอในการรณรงค์
กรณีอิตาลี ความเป็นจริงทางการเมืองอาจไม่เหมือนอเมริกาหรืออังกฤษ เพราะอิตาลีไม่มีรัฐบาลเสียงข้างมากเด็ดขาดจากพรรคเดียว และพรรคเล็กๆ ในอิตาลีก็มีหลายรูปแบบ คือ พวกที่เน้นนโยบาย/จุดยืนเรื่องนโยบายใดนโยบายหนึ่งพวกนั้นเน้นภูมิภาคเดียว หรือพวกที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองเดียว หรือพวกที่ผสมปนเปไปหมด รวมทั้งพวกที่ตั้งโดยผู้นำทางการเมืองคนใดคนหนึ่งเพื่อจะเข้าสู่อำนาจ
กรณีออสเตรเลีย มีงานวิชาการที่น่าสนใจจากนักวิชาการที่สนใจเรื่องการเมืองออสเตรเลียที่มองว่าการวิเคราะห์เรื่องพรรคเล็ก หรือพรรคจิ๋วนั้นยังมีการศึกษากันน้อย และที่ศึกษาก็ไม่มีการทำความเข้าใจมิติในแง่ของความคิดรวบยอด (concept) ที่ชัดเจน คือจะนิยามอย่างไร และจัดประเภทอย่างไร ทำให้มีข้อเสนอใหม่ของนักวิชาการออสเตรเลีย จากการทำความเข้าใจผ่านบริบทการเมืองของออสเตรเลียเองว่า ควรแบ่งพรรคการเมืองออกเป็น 3 กลุ่มตามความสำคัญหรือนัยสำคัญของพรรคการเมืองต่อระบบการเมือง
(the relevance and importance of the party) โดยมองว่าพรรคการเมืองนั้นประกอบด้วย 3 กลุ่ม ได้แก่ (1) พรรคใหญ่ (Major Parties) คือ พรรคที่เรามักจะคาดหวังได้ว่ามีศักยภาพในการจัดตั้งรัฐบาลด้วยตัวเอง หรือน่าจะกลายเป็นพรรคใหญ่ที่สุดในการจัดตั้งรัฐบาลได้ (พรรคแกนนำ) (2) พรรคเล็ก (Minor Parties) หมายถึงพรรคที่เราไม่น่าจะคาดหวังได้ว่าจะจัดตั้งรัฐบาลได้เอง หรือเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตาม พรรคระดับนี้ก็มีหลายบทบาทสำคัญในระบบพรรคการเมือง เพราะยังเป็นพรรคที่สามารถสร้างสมดุล
หรือยับยั้งข้อเสนอหรือประเด็นทางการเมือง หรือมีศักยภาพในการสร้างเครือข่ายพันธมิตรที่ทำให้การแข่งขันระหว่างพรรคนั้นมีความเข้มข้นดุเดือด ทั้งนี้ ขึ้นกับอีกเงื่อนไขสำคัญคือเรื่องของระบบการเลือกตั้งด้วย
(พรรคมีอำนาจต่อรอง) และ (3) พรรคชายขอบ (Peripheral Parties) คือพรรคที่ไม่มีผลต่อระบบพรรคการเมืองในภาพรวม แต่อาจจะได้รับเลือก มีคะแนนเสียง หรือมีตัวแนในสภา และอาจจะมีบทบาทในระบบพรรค อย่างไรก็ตาม พรรคชายขอบนี้ไม่ได้มีค่าหรือความสำคัญอะไรในระดับที่จะมีอำนาจในการต่อรองหรือกดดัน รวมทั้งสร้างพันธมิตรกับพรรคอื่นๆ ได้ด้วย
จากการยกกรณีพรรคจิ๋ว หรือพรรคเล็กในประเทศต่างๆมา จะเห็นว่าปรากฏการณ์พรรคจิ๋วเกิดขึ้นได้ทั่วโลก แต่นิยามความหมายยากและขึ้นอยู่กับบริบทของประเทศและพลวัตในสังคมเหล่านั้นด้วย แต่ในสถานการณ์การเมืองไทยภายหลังการประกาศผลการเมืองตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562 มีมิติทางการเมืองที่น่าสนใจคือการมีพรรคขนาดเล็ก หรือพรรคจิ๋ว ซึ่งมีจำนวน ส.ส. 1 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรจำนวนถึง 13 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคพลังปวงชนไทย พรรคพลังชาติไทย พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคพลังไทยรักไทย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคประชานิยม พรรคประชาธรรมไทย พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคพลเมืองไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ พรรคพลังธรรมใหม่ และพรรคไทรักธรรม ซึ่งอาจต้องมานั่งทบทวนกันใหม่ว่ากรณีของสิ่งที่เกิดขึ้นในการเมืองไทยภายหลังการเลือกตั้งดังกล่าวจำเป็นต้องเข้าใจพรรคจิ๋วให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในสื่อมวลชนหรือในวงวิชาการนั้น จะสนใจแต่พรรคใหญ่ๆ ที่ชนะการเลือกตั้งที่เป็นพรรคตัวแปรสำคัญ แต่พรรคขนาดเล็กหรือพรรคจิ๋วไม่ค่อยให้ความสนใจแม้พรรคการเมืองเหล่านี้จะมีคะแนนเสียงอยู่จำนวนหนึ่ง
2. ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น
ปรากฏการณ์การเมืองไทยก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 เคยมีปรากฏการณ์ที่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2517 ที่พรรคขนาดกลาง หรือค่อนไปทางเล็กที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดพรรคเพียง 18 ที่นั่งอย่างพรรคกิจสังคม ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ สามารถรวบรวมพรรคอื่นๆ จัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคการเมืองใหญ่ได้ หรือกรณีที่พรรคระดับกลางอีกเช่นเดียวกันใช้เงื่อนไขที่ไม่พรรคการเมืองใดที่ชนะเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมาก สามารถต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีได้ตามจำนวนโควต้า ส.ส. ของพรรค และยังต่อรองได้เพิ่มเติมทุกครั้งที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อย่างกรณีของพรรคชาติไทยสมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นหัวหน้าพรรคที่ทำให้บทบาทพรรคขนาดกลางมีอำนาจในการต่อรองและอำนาจทางการเมืองไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพรรคขนาดใหญ่ที่แม้จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแต่ต้องพึ่งพาและต่อรองกับพรรคขนาดกลางเหล่านั้นเช่นกัน ซึ่งในบางครั้งจึงเห็นได้ว่าการตั้งพรรคขนาดกลางกลายเป็นตัวแบบที่เหมาะสมกับสภาวะทางการเมืองไทยมากกว่าการจัดตั้งพรรคขนาดใหญ่
แต่ปรากฏการณ์ภายหลังการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 การทำให้เกิดพรรคขนาดเล็กหรือพรรคจิ๋วที่เกิดขึ้นก็มาจากกฎเกณฑ์ใหม่ ที่มีการตีความกฎเกณฑ์ดังกล่าวโดยเฉพาะสูตรการคำนวณคะแนนที่นั่งสามชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่มีการตีความออกไปอย่างมาก ทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กที่มีคะแนนรวมทั้งประเทศไม่ถึงเกณฑ์ที่ควรได้จำนวนที่นั่ง ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรแต่กลับถูกคำนวณให้มีที่นั่ง ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎร กอรปกับการที่ผลคะแนนการเลือกตั้งของพรรคการเมืองใหญ่มีความสูสีกันมาก ทำให้พรรคจิ๋วนั้นเมื่อมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรแล้วจึงสามารถมีอำนาจต่อรองขึ้น ซึ่งผิดไปจากกรอบทางทฤษฎีของพรรคการเมืองทั่วไปที่มองว่าพรรคจิ๋วระดับนี้ไม่ควรจะเป็นพรรคที่มีอำนาจต่อรองหรือแม้กระทั่งพรรคแกนนำเองก็ไม่ควรให้ค่ามากนัก ซึ่งปรากฏการณ์เหล่านี้คือสถานการณ์ที่สำคัญของพรรคจิ๋วที่แม้จะมีเพียงที่นั่งเดียวในสภาผู้แทนราษฎรซึ่งถูกมองว่าไม่มีความสำคัญ กลับมีความสำคัญในการเมืองไทยภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562 ที่มีบทบาทและอำนาจต่อรองมากขึ้น และกรณีของไทยทำให้ต้องเริ่มทำความเข้าใจเรื่องราวของพรรคจิ๋วเหล่านี้มากขึ้นภายใต้พลวัตการเมืองไทยในประเทศตัวเอง และรวมไปถึงการเกิดขึ้นของสื่อใหม่ๆ ที่ทำให้รูปแบบการเข้าถึงประชาชนของพรรคเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมด้วย
จากปรากฏการณ์ภายหลังการเลือกตั้งที่มีพรรคขนาดจิ๋วจำนวน 13 พรรค ได้ ส.ส.ไปพรรคละ 1 ที่นั่งดังนี้
ตารางแสดงผลการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคจิ๋วที่มีที่นั่ง ส.ส. ตามสูตรของ กกต.[2]
อันดับ |
พรรคจิ๋ว |
คะแนนที่นำมาคิด |
ส.ส.พึงมีได้ |
ส.ส.เขต |
ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่ได้รับเบื้องต้น |
ส.ส.บัญชีรายชื่อที่ได้รับการจัดสรร |
รวม |
1 |
พลังปวงชนไทย |
81,733 |
1.1502 |
0 |
1.1502 |
1 |
1 |
2 |
พลังชาติไทย |
73,871 |
1.0396 |
0 |
1.0396 |
1 |
1 |
3 |
ประชาภิวัฒน์ |
69,417 |
0.9769 |
0 |
0.9769 |
1 |
1 |
4 |
พลังไทยรักไทย |
60,840 |
0.8562 |
0 |
0.8562 |
1 |
1 |
5 |
ไทยศรีวิไลย์ |
60,421 |
0.8503 |
0 |
0.8503 |
1 |
1 |
6 |
ประชานิยม |
56,617 |
0.7968 |
0 |
0.7968 |
1 |
1 |
7 |
ครูไทยเพื่อประชาชน |
56,617 |
0.7929 |
0 |
0.7929 |
1 |
1 |
8 |
ประชาธรรมไทย |
47,848 |
0.6734 |
0 |
0.6734 |
1 |
1 |
9 |
ประชาชนปฏิรูป |
45,508 |
0.6404 |
0 |
0.6404 |
1 |
1 |
10 |
พลเมืองไทย |
44,766 |
0.6300 |
0 |
0.6300 |
1 |
1 |
11 |
ประชาธิปไตยใหม่ |
39,792 |
0.5600 |
0 |
0.5600 |
1 |
1 |
12 |
พลังธรรมใหม่ |
35,533 |
0.5001 |
0 |
0.5001 |
1 |
1 |
13 |
ไทรักธรรม |
33,748 |
0.4749 |
0 |
0.4749 |
1 |
1 |
จากตารางสามารถแบ่งพรรคจิ๋วออกเป็นพรรคที่มีคะแนนเฉลี่ยถึงเกณฑ์เฉลี่ยที่พึงมี ส.ส. ได้ 1 ที่นั่ง จำนวน 2 พรรค ได้แก่ (1) พรรคพลังปวงชนไทย ได้คะแนน 81,733 คะแนน คำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่ได้รับเบื้องต้นจำนวน 1.1502 คน และ (2) พรรคพลังชาติไทย ได้คะแนน 73,871 คะแนน คำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่ได้รับเบื้องต้นจำนวน 1.0396 คน และพรรคจิ๋วที่มีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยถึงเกณฑ์เฉลี่ยที่พึงมี ส.ส. ได้ 1 ที่นั่ง จำนวน 11 พรรค ซึ่งคะแนนที่ได้รับและผลการคำนวณที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อที่ได้รับเบื้องต้นไม่ถึง 1 คน แต่ได้รับการเกลี่ยที่นั่งด้วยการปัดเศษทศนิยมตามสูตรการคำนวณที่คณะกรรมการการเลือกตั้งประกาศออกมา จึงทำให้พรรคจิ๋วทั้ง 11 พรรคการเมืองเหล่านั้นได้รับการจัดสรรที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคละ 1 ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร และภายหลังการประกาศผลการเลือกตั้งแล้ว ผลปรากฎต่อมาว่าพรรคจิ๋วจำนวน 12 พรรค ยกเว้นพรรคพลังปวงชนไทย โดยเฉพาะผู้ที่เป็นหัวหน้าพรรคและอยู่ในบัญชีลำดับที่ 1 ของพรรคจิ๋วต่าง ๆ เหล่านั้น ได้แถลงจุดยืนทางการเมือง โดยร่วมลงสัตยาบันจับมือกับพรรคพลังประชารัฐ และยกมือสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคระรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นนายกรัฐมนตรีสืบต่อด้วย[3]
3. หลักการสำคัญ / ความสำคัญ
การเลือกตั้งเป็นกลไกการใช้อำนาจอธิปไตยหรือการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย โดยการไปใช้สิทธิเลือกตั้งผู้แทนที่มีนโยบายตรงกับความต้องการของตนเองให้ไปใช้อำนาจอธิปไตยแทนตนด้วยความชอบธรรม ในการปกป้องผลประโยชน์และดูแลทุกข์สุขของประชาชน รวมทั้งบริหารงบประมาณของประเทศชาติถึงปีละ 3.2 ล้านล้านบาท ดังนั้น การเลือกผู้แทนที่เป็น "คนดี” มีความซื่อสัตย์ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนให้เข้าไปทำงานทางการเมือง จะทำให้สามารถใช้งบประมาณทุกบาททุกสตางค์ที่มาจากเงินภาษีของประชาชนไปพัฒนาประเทศชาติได้อย่างเต็มที่ซึ่ง ส.ส. มีทั้งหมด 500 คน มาจากการเลือกตั้ง 2 แบบ ได้แก่
1) ส.ส. แบบแบ่งเขต มีจำนวน 350 คน คือ ส.ส. ที่มาจากเขตเลือกตั้งโดยการแบ่งเขตเลือกตั้งทั่วประเทศออกเป็น 350 เขต ในแต่ละเขตเลือกตั้งมี ส.ส. ได้ 1 คน ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดและมีคะแนนสูงกว่าคะแนนเสียงไม่เลือกผู้ใดเป็นผู้ได้รับเลือกเป็น ส.ส.
2) ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ มีจำนวน 150 คน โดยพรรคการเมืองจะต้องจัดทำบัญชีรายชื่อพรรคละหนึ่งบัญชี ซึ่งรายชื่อไม่ซ้ำกับรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขต ส่งให้กรรมการการเลือกตั้งก่อนปิดการรับสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง การลงคะแนนเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวกันกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง โดยการคำนวณจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคพึงจะได้รับ มาจากการจัดสรรคะแนนที่ประชาชนเลือกผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. จากพรรคต่าง ๆ ทั้งประเทศ มาคำนวณจำนวน ส.ส. ของพรรคการเมืองที่จะได้รับในการเลือกตั้ง โดยพรรคการเมืองจะมีจำนวน ส.ส. ทั้งสองประเภทได้ไม่เกินจำนวนโควตาที่พรรคการเมืองได้รับ
การได้มาของ ส.ส. ในการเลือกตั้ง 24 มีนาคม 2562 ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มีการใช้บัตรเลือกตั้งเพียงบัตรเดียว ซึ่งแตกต่างจากการเลือกตั้งในอดีต ที่ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แยกกันระหว่าง ส.ส. แบบแบ่งเขต กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ ทำให้การคิดคำนวณการใช้สูตรคำนวณหาคะแนน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองจากคะแนนรวมทั้งประเทศจึงมีความสำคัญของพรรคการเมืองต่างๆ ตามมา
ด้วยเหตุนี้จากผลการใช้สูตรคำนวณคะแนน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทำให้สังคมมีการวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่คำนวณที่นั่ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อให้กับพรรคการเมืองที่ได้คะแนนต่ำเกณฑ์เฉลี่ยที่พึงมี ส.ส. ได้ 1 ที่นั่ง ซึ่งถือเป็นจำนวนที่พรรคการเมืองที่มีคะแนนขั้นต่ำเมื่อรวบรวมจากจำนวนคะแนนเสียงทั่วประเทศที่พรรคการเมืองนั้นได้รับจึงเป็นพรรคที่ควรได้รับการจัดสรรให้มี ส.ส. พึงมีได้ แต่เมื่อการประกาศวิธีการใช้สูตรคำนวณของ กกต. และประกาศจำนวนที่นั่ง ส.ส. ของบรรดาพรรคการเมืองที่ได้คะแนนต่ำกว่าเกณฑ์เฉลี่ยที่พึงมี ส.ส. ได้ 1 ที่นั่ง คะแนนซึ่งมีกว่า 10 พรรคตามที่ปรากฏออกมา จึงทำให้ผู้เขียนเห็นด้วยกับความเห็นของสิริพรรณ นกสวน สวัสดี ที่อธิบายว่า ตัวสูตรมันนิ่งอยู่แล้ว แต่วลีที่เขียนในกฎหมายมันไม่ชัดเจน คณะกรรมาธิการร่างรัฐธรรมนูญมีการใช้วลีว่าให้จัดสรรกับพรรคที่ ส.ส.ต่ำกว่าจำนวนที่พรรคจะพึงมี แต่ต้องไม่เกินจำนวน ส.ส.พึงมีได้ ผลปรากฏว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ไม่ให้ปัดเลขทศนิยม แต่ให้เกลี่ยให้พรรคเล็กจนครบ 150 ที่นั่ง แม้ว่าจะได้คะแนนไม่ถึงเกณฑ์คะแนนขั้นต่ำที่คำนวณได้ เรียกระบบ Loser Bonus System (ให้รางวัลกับพรรคที่ได้เสียงน้อย) เพราะถ้าไม่ทำแบบนี้ ส.ส.จะไม่ถึง 150 ที่นั่ง[4]
4. สรุป
ภายหลังการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 การทำให้มีพรรคขนาดเล็กหรือพรรคจิ๋วที่เกิดขึ้นมาจากกฎเกณฑ์ใหม่ โดยเฉพาะสูตรการคำนวณคะแนนที่นั่งสามชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อที่มีการตีความออกไปอย่างมาก ทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กที่มีคะแนนรวมทั้งประเทศไม่ถึงเกณฑ์ที่ควรได้จำนวนที่นั่ง ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎรแต่กลับถูกคำนวณให้มีที่นั่ง ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎร กอรปกับการที่ผลคะแนนการเลือกตั้งของพรรคการเมืองใหญ่มีความสูสีกันมาก ทำให้พรรคจิ๋วนั้นเมื่อมีที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎรแล้วจึงสามารถมีอำนาจต่อรองขึ้น ซึ่งความสำคัญของพรรคจิ๋วที่แม้จะมีเพียงที่นั่งเดียวในสภาผู้แทนราษฎร กลับมีความสำคัญในการเมืองไทยภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562 ขึ้นมา
5. บรรณานุกรม
ประชาชนจิตอาสา (นามแฝง) วิธีการคำนวณ สส บัญชีรายชื่อ ที่ถูกต้อง ตาม พรบ ประกอบรัฐธรรมนูญ
สืบค้นจาก
http://sudoku.in.th/election2562/partylist.html?fbclid=IwAR1Fqi4gpRBMFKxJcBUvUXxfKczhNQppGBuVfWBUsepiIf66JTgE3HT7QCk,เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563
'พัชรพรรณ โอภาสพินิจ. ('2562). ใครเป็นใคร “11 หัวหน้าพรรคจิ๋ว” ลงสัตยาบันหนุน “บิ๊กตู่”
เปิดสวิตประเทศ, ใน สยามรัฐออนไลน์ สืบค้นจาก https://siamrath.co.th/n/79468, สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2563
พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์. (2562). ว่าด้วยพรรคเล็กๆ / พรรคจิ๋ว : โดยพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ สืบค้นจาก
https://www.matichon.co.th/columnists/news_1661960, สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2563
สิริพรรณ นกสวน สวัสดี. (2562). ไขปัญหาสูตรคำนวณเลือกตั้ง 62 เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563
เข้าถึงจาก https://www.chula.ac.th/cuinside/19196/
[1] พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์. (2562). ว่าด้วยพรรคเล็กๆ / พรรคจิ๋ว : โดยพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ สืบค้นจาก
https://www.matichon.co.th/columnists/news_1661960, สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2563
[2] ประชาชนจิตอาสา (นามแฝง) วิธีการคำนวณ สส บัญชีรายชื่อ ที่ถูกต้อง ตาม พรบ ประกอบรัฐธรรมนูญ
สืบค้นจาก
http://sudoku.in.th/election2562/partylist.html?fbclid=IwAR1Fqi4gpRBMFKxJcBUvUXxfKczhNQppGBuVfWBUsepiIf66JTgE3HT7QCk,เข้าถึงเมื่อ 6 เมษายน 2563
[3] พัชรพรรณ โอภาสพินิจ. ('2562).' ใครเป็นใคร “11 หัวหน้าพรรคจิ๋ว” ลงสัตยาบันหนุน “บิ๊กตู่”
เปิดสวิตประเทศ, ใน สยามรัฐออนไลน์ สืบค้นจาก https://siamrath.co.th/n/79468, สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2563
[4] สิริพรรณ นกสวน สวัสดี. (2562). ไขปัญหาสูตรคำนวณเลือกตั้ง 62 เข้าถึงข้อมูลเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563
เข้าถึงจาก https://www.chula.ac.th/cuinside/19196/