ขั้วที่สาม

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 15:49, 13 มกราคม 2564 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม) (สร้างหน้าด้วย " '''เรียบเรียง''':        1.รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู ...")
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

เรียบเรียง:       

1.รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู  แก้วหานาม
2.อาจารย์ ดร. นพพล อัคฮาด
3.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. พิมพ์ลิขิต แก้วหานาม

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ


การเมืองไทยภายหลังการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วไป พ.ศ. 2562 ได้เกิดพรรคขนาดกลาง ที่ได้มีที่นั่งสมาชิกผู้แทนราษฎรสังกัดประมาณ 50 ที่นั่งพยายามรวมตัวกันเป็น “ขั้วที่สาม” เพื่อกลายเป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลแทนพรรคการเมืองใหญ่อันดับ 1 และ 2 ที่พยายามรวบรวมเสียงจากพรรคการเมืองต่างๆ เพื่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งทำให้ภาพของระบบพรรคการเมืองไทยกลายเป็นระบบหลายพรรคผสมกันจัดตั้งรัฐบาลและมีพรรคขนาดกลางเหล่านี้เป็นตัวแปรในการดำเนินการทางการเมืองของไทยภายหลังการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น ซึ่งผู้เขียนจะได้อธิบายลักษณะของพรรคขั้วที่สามดังต่อไปนี้

 

1.  ความหมายหรือ แนวคิด

การรวมกันเป็นองค์กรพรรคการเมืองเกิดขึ้นก็เพื่อปฏิบัติงานและประสานให้ภารกิจต่างๆ ในสังคมบรรลุวัตถุประสงค์ การเข้ามาทำหน้าที่ของพรรคการเมืองจะเสนอตัวเป็นตัวกลางระหว่างประชาชนกับรัฐบาลหรือกลุ่มอิทธิพลกับรัฐบาล เพื่อพยายามจัดสรรและสนองผลประโยชน์ให้เกิดแก่ประชาชนหรือกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ มากที่สุด มีเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายที่จะได้มาซึ่งการจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ ดังนั้นพรรคการเมือง ก็คือ กลุ่มบุคคลที่รวมกันขึ้นเพื่อแสวงหาอำนาจทางการเมืองตามวิถีทางของแต่ละรัฐซึ่งกำหนดไว้[1]

นอกจากนี้มีผู้ให้ความหมายของพรรคการเมืองไว้มากมาย โดยส่วนใหญ่มีลักษณะร่วมกันอยู่สามประการ ดังนี้[2]

1. เป็นกลุ่มบุคคลที่มีการจัดตั้งองค์กรร่วมกัน

2. มีอุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกัน คือ สมาชิกส่วนใหญ่มีความเห็นในทางการเมือง เศรษฐกิจ
และสังคมในแนวทางกว้างๆคล้ายๆกัน

3. มีวัตถุประสงค์ให้ได้มาซึ่งอำนาจมหาชน และใช้อำนาจนั้นดำเนินการหรือบริหารประเทศให้บรรลุวัตถุประสงค์ข้างต้น ลักษณะประการนี้สำคัญยิ่งเพราะโดยธรรมชาติในสังคมอาจมีการรวมตัวกันของบุคคลที่มีความคิดเห็นคล้ายกันเข้าด้วยกัน หากแต่ถ้ากลุ่มดังกล่าวไม่ประสงค์จะเข้ามาบริหารประเทศแล้ว ย่อมไม่ใช่พรรคการเมือง อาจเป็นสหภาพแรงงาน สมาคม หรือมูลนิธิเท่านั้น โดยสรุป ความหมายของพรรคการเมือง คือ กลุ่มบุคคลที่มีการจัดตั้งองค์กรร่วมกันโดยมีอุดมการณ์ทางการเมืองเหมือนกัน โดยกลุ่มดังกล่าวมีวัตถุประสงค์จะยึดกุมอำนาจรัฐ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ เข้าเป็นรัฐบาลเพื่อดำเนินการตามอุดมการณ์ของตนให้สัมฤทธิ์ผล

          ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองโดยตรง นั้นคือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560[3] ซึ่งได้นิยาม “พรรคการเมือง” หมายความว่า
คณะบุคคลที่รวมตัวกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองโดยได้จดทะเบียน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ ซึ่งการจัดตั้งพรรคการเมืองนั้นมีขั้นตอนตามที่กฎหมายดังกล่าวกำหนดไว้ดังนี้ มาตรา 9 บุคคลซึ่งมีอุดมการณ์ทางการเมืองในแนวทางเดียวกัน และมีคุณสมบัติและ ไม่มีลักษณะต้องห้ามดังต่อไปนี้ จํานวนไม่น้อยกว่าห้าร้อยคนอาจร่วมกันดําเนินการเพื่อจัดตั้ง พรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญนี้ได้

(1) มีสัญชาติไทยโดยการเกิด ในกรณีเป็นผู้มีสัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ ต้องได้สัญชาติไทยมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี

(2) มีอายุไม่ต่ํากว่ายี่สิบปี

(3) ไม่เป็นบุคคลต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งรัฐธรรมนูญ

(4) อยู่ในระหว่างถูกสั่งห้ามมิให้ดํารงตําแหน่งใดในพรรคการเมืองตามพระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญนี้

(5) ไม่เป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นหรือผู้ยื่นคําขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองอื่น หรือผู้แจ้งการเตรียมการจัดตั้งพรรคการเมืองอื่น

สำหรับการนิยามพรรคขั้วที่สามนั้นจำเป็นต้องเข้าใจในหลายด้านทั้งนโยบายทางการเมือง อุดมการณ์ทางการเมือง หรือบริบททางการเมืองของประเทศต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดพรรคลักษณะขึ้น โดยลักษณะทางทฤษฎีของพรรคขนาดกลางที่พยายามทำตัวเป็นขั้วที่สามในทางการเมืองของประเทศต่าง ๆ มีดังนี้[4]

กรณีของสหรัฐอเมริกานั้น คำว่า พรรคที่สาม (third party) นั้นมีการใช้ค่อนข้างกำกวม เพราะหมายถึงพรรคที่ไม่ใช่สองพรรคใหญ่ทั้งหมด หรือบางทีก็หมายถึงผู้สมัครที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง หรือตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ที่มีบทบาทในการรณรงค์หาเสียงประธานาธิบดีเท่านั้น ในการวิเคราะห์การเมืองอเมริกันนั้น แม้ว่าส่วนใหญ่จะเห็นพ้องต้องกันว่าพรรคที่สาม (third party) ไม่ค่อยได้รับความนิยมในการเลือกตั้งมากเท่าไหร่ ด้วยว่าระบบกฎหมายบางอย่างนั้นมีผลทำให้การต่อสู้กันในการแข่งขันประธานาธิบดีนั้นเกิดการสอดแทรกจากฝ่ายที่สามได้ยาก เช่น การลงทะเบียนเลือกตั้ง และการมีคณะเลือกตั้งที่พรรคที่ชนะในมลรัฐนั้นได้คะแนนเสียงไปทั้งมลรัฐ แม้ว่าคะแนนจะสูสีก็ตาม แต่กระนั้นก็ดีพรรคที่สาม (third party) ทางการเมืองในอเมริกานั้นก็ปรากฏตัวและมีบทบาทสำคัญมาโดยตลอดตั้งแต่ราว ค.ศ. 1877 เป็นต้นมา ที่มีวุฒิสมาชิกถึง 31 คน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 11 คน ผู้ว่าการมลรัฐ 22 คน ที่มาจากการเลือกตั้งโดยไม่ได้เป็นสมาชิกสองพรรคใหญ่ ในจำนวนนี้ไม่รวมบรรดาเหล่านายกเทศมนตรีอีกจำนวนไม่น้อย นอกจากนั้นแล้ว บทบาทของพรรคที่สาม (third party) ยังทำหน้าที่สำคัญในทางการเมืองในแง่ของการทำเสนอประเด็นทางการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคม ที่สำคัญที่มีผลทำให้ผู้สมัครพรรคใหญ่จำต้องมีจุดยืนในเรื่องนั้นและในบางกรณีหากได้รับความนิยม แม้ว่าจะไม่ได้รับการเลือกตั้ง ก็อาจมีผลทำให้ผู้สมัครของพรรคใหญ่เสียคะแนนไปได้ หรืออาจจะพ่ายแพ้ไปในที่สุด ถ้าการแข่งขันระหว่างพรรคใหญ่สองพรรคนั้นเข้าขั้นดุเดือด สูสีมากในการเลือกตั้ง

กรณีของอังกฤษ อาจกล่าวได้ว่ากฎหมายมีผลสำคัญที่สุดในการทำให้พรรคเล็กไม่มีบทบาทในสภาอังกฤษ และสาเหตุสำคัญของการไม่เกิดพรรคเล็กนั้นเพราะว่าอังกฤษนั้นมีวัฒนธรรมสองพรรค แต่เอาเข้าจริงพรรคที่สาม (third party) เคยมีบทบาทในสภาอังกฤษ และเมื่อไม่นานมานี้พรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democracy) ก็เคยได้รับเลือกมาถึงขั้นที่เป็นตัวแปรสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาลผสมมาแล้ว แต่อย่างไรก็ตามในภาพรวมนั้นพรรคเล็กๆ (small party หรือ smaller party) ในอังกฤษก็ยังมีมาต่อเนื่อง โดยเฉพาะพรรคที่เป็นที่จัดตั้งตามประเด็นและอุดมการณ์ที่ชัดเจนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น พรรค WE ที่ย่อมาจากพรรค Women ‘s Equality Party) หรือพรรคเพื่อความเสมอภาคของสตรี ที่แม้ว่าจะตั้งได้ไม่นาน แต่สุดท้ายก็ได้รับเลือกหนึ่งเก้าอี้ในสภามหานครลอนดอนซึ่งเป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นของอังกฤษ นอกจากนี้พรรคเล็กๆ ในอังกฤษ
ส่วนหนึ่งถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของประชาธิปไตย เพราะทำให้คนกระตือรือร้นทางการเมือง และส่งสัญญาณจุดยืนในประเด็นนโยบายและอุดมการณ์ไปยังพรรคใหญ่

 

2.  ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น

ปรากฏการณ์การเมืองไทยก่อนการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ฉบับ พ.ศ. 2540 เคยมีปรากฏการณ์ที่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปในปี พ.ศ. 2517 ที่พรรคขนาดกลาง หรือค่อนไปทางเล็กที่มีจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสังกัดพรรคเพียง 18 ที่นั่งอย่างพรรคกิจสังคม ของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมทย์ สามารถรวบรวมพรรคอื่นๆ จัดตั้งรัฐบาลแข่งกับพรรคการเมืองใหญ่ได้ หรือกรณีที่พรรคระดับกลางอีกเช่นเดียวกันใช้เงื่อนไขที่ไม่พรรคการเมืองใดที่ชนะเลือกตั้งเป็นเสียงข้างมาก สามารถต่อรองเก้าอี้รัฐมนตรีได้ตามจำนวนโควต้า ส.ส. ของพรรค และยังต่อรองได้เพิ่มเติมทุกครั้งที่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ อย่างกรณีของพรรคชาติไทยสมัยนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นหัวหน้าพรรคที่ทำให้บทบาทพรรคขนาดกลางมีอำนาจในการต่อรองและอำนาจทางการเมืองไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าพรรคขนาดใหญ่ที่แม้จะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลแต่ต้องพึ่งพาและต่อรองกับพรรคขนาดกลางเหล่านั้นเช่นกัน ซึ่งในบางครั้งจึงเห็นได้ว่าการตั้งพรรคขนาดกลางกลายเป็นตัวแบบที่เหมาะสมกับสภาวะทางการเมืองไทยมากกว่าการจัดตั้งพรรคขนาดใหญ่

แต่ปรากฏการณ์ภายหลังการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2560 การทำให้เกิดพรรคขนาดกลางอย่างพรรคประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย ที่พยายามยื่นข้อเสนอการเป็น “ขั้วที่ 3” ให้ประชาชนตัดสินหลังพบว่าขั้ว 1 คือพรรคเพื่อไทยซึ่งได้ที่นั่ง ส.ส. อันดับหนึ่ง และ ขั้ว 2  คือพรรคพลังประชารัฐซึ่งได้ที่นั่ง ส.ส. เป็นอันดับสอง จัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ เพราะเหตุแต่ละฝ่ายต่างมากด้วยเงื่อนไขต่างๆ ทำให้เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2562 ได้มีการรายงานข่าวแจ้งว่า ภายหลังที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ได้โพสต์
เฟซบุ๊กส่วนตัวที่ชื่อ Anutin Charnvirakul ระบุว่า “ทำงานกันอยู่นะครับ ไม่ได้มากินกันเฉยๆ ตามที่ได้พูดไว้ทุกอย่าง” พร้อมปรากฏภาพ นายอนุทิน ชาญวีรกูล กับนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และนายมนตรี ปาน้อยนนท์ ส.ส ประจวบคีรีขันธ์ พรรคประชาธิปัตย์ รับประทานอาหารกลางวัน ที่ร้านทีเฮ้าส์ เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2562 ทั้งนี้จากข้อความและภาพประกอบดังกล่าวได้มีการตีความประเด็นสำคัญที่ทั้ง 2 ฝ่ายหารือ คือ พรรคประชาธิปัตย์ได้เสนอขั้วที่ 3 หากพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 52 เสียง และพรรคภูมิใจไทย จำนวน 51 เสียง รวมกันจะได้ ส.ส. 103 เสียง ที่สามารถไปเชื้อเชิญพรรคการเมืองต่างๆ มาร่วมรัฐบาล เพื่อเป็นทางออกของประเทศในเวลานี้ เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์ขั้วที่ 1 และขั้วที่ 2 ยังจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ โดยเฉพาะคนในพรรคประชาธิปัตย์มีความเห็นไปหลายทิศทาง อาทิ ไม่สามารถไปร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยได้ บางกลุ่มก็ไม่สามารถสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีตามที่พรรคพลังประชารัฐเสนอได้ รวมทั้งบางคนยังสนับสนุนให้เป็นฝ่ายค้านอิสระ ในขณะที่ทางฝั่งพรรคภูมิใจไทย ก็พบปัญหาหลากหลายไม่ต่างกัน เพราะหลังจากการรับฟังความคิดเห็นของ ส.ส. ระหว่างการประชุมที่จังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา โดยพบว่า ส.ส. บางคนเกรงว่าไปร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ ก็จะมีปัญหาในพื้นที่เพราะมีกระแสต่อต้านทหาร หรือบางคนก็บอกว่าไปร่วมรัฐบาลกับฝ่ายไหนก็ได้แต่ขอให้สามารถผลักดันนโยบายแก้ปัญหาปากท้อง และทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบได้ก็พอ ซึ่งจากการรายงานข่าวได้แจ้งต่อว่า ทั้งนี้การหารือเรื่องขั้วที่ 3 ดังกล่าวนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน จะนำเรื่องนี้ไปหารือกับพรรคของตัวเอง ว่าเห็นด้วยกับแนวทางนี้หรือไม่ พร้อมทั้งรับฟังกระแสสังคมควบคู่กันไปในช่วงนี้ ว่าจะขานรับแนวทางขั้วที่ 3 ด้วยหรือไม่ หากประชาชนเห็นด้วยและสนับสนุนไปให้ตลอดรอดฝั่ง ก็เชื่อว่าโอกาสของขั้วที่ 3 ด้วยจำนวนตั้งต้นที่มี ส.ส. จำนวน 103 เสียง จะมีโอกาสเดินหน้าไปได้ที่จะชักชวนพรรคการเมืองต่างๆ มาจัดตั้งรัฐบาล แต่หากสังคมไม่เห็นด้วย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ก็แยกย้ายไปตามแนวทางของตัวเองหรือเงื่อนไขที่เปิดรับในการร่วมรัฐบาลหรือสุดท้ายต้องเป็นฝ่ายค้าน[5]

หลังจากนั้นไม่นานพบว่า พรรคชาติไทยพัฒนาซึ่งมี ส.ส. 10 เสียง ภายใต้การนำของนางสาวกัญจนา ศิลปอาชา ได้แถลงเข้าร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชารัฐอย่างเป็นทางการทำให้ความพยายามที่จะฟื้นขั้วที่ 3 ของพรรคประชาธิปัตย์มาจัดตั้งรัฐบาล แข่งกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องหมดลงไปทันที ทั้งนี้เนื่องจากขั้วที่ 3 นั้นหากลุ้นชิงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีนั้นจะต้องรวมเสียงของ 4 พรรค ซึ่งประกอบด้วยพรรคประชาธิปัตย์ 52 เสียง พรรคภูมิใจไทย 51 เสียง พรรคชาติพัฒนา 3 เสียง และพรรคชาติไทยพัฒนา 10 เสียง รวมกันเป็น 117 เสียง  โดยจะต้องมารวมกับขั้ว  7 พรรคฝ่ายประชาธิปไตย ที่นำโดยพรรคเพื่อไทยและอนาคตใหม่ ซึ่งรวมกันไว้ตั้งแต่แรกแล้วที่จำนวน 246 เสียง แต่ในขณะนั้นนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าอนาคตใหม่ อยู่ระหว่างหยุดปฏิบัติหน้าที่ตามที่ศาลรัฐธรรมนูญสั่งจึงเหลือเพียง 245 เสียง และเมื่อรวมกันทั้งหมดแล้ว จะมีเสียงสนับสนุนเพียง 362 เสียง ซึ่งยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของทั้ง ส.ส. และ ส.ว รวมกัน คือ 750 เสียงที่เป็นองค์ประชุมในการลงคะแนนเสียงเลือกบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จึงต้องไปหวังน้ำบ่อหน้าจากเสียงส.ว. อีกประมาณ 15 - 20 เสียง เพื่อให้ได้เสียงเกิน 375 เสียงขึ้นไปถึงสามารถพลิกขั้วที่ 3 ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้

จากนั้นจึงมีการติดตามความคืบหน้าว่าพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย จะเดินเกมกันอย่างไร เมื่อความหวังในการฟื้นขั้วที่ 3 ดับลง ซึ่งสถานการณ์ในขณะนั้นทางพรรคพลังประชารัฐ ก็ยังไม่ยืนยันข้อเสนอที่เคยตกลงกับกับพรรคประชาธิปัตย์ ที่จะให้ 8 ตำแหน่ง 7 คน คือ 1 รองนายกรัฐมนตรี 3 รัฐมนตรีว่าการ ประกอบด้วย รมว. เกษตรและสหกรณ์ รมว.พาณิชย์ รมว.พัฒนาสังคมฯ และ อีก 4 รัฐมนตรีช่วย คือ รมช.มหาดไทย รมช.ศึกษาธิการ รมช.คมนาคม และรมช.สาธารณสุข แต่ภายหลังทางพรรคพลังประชารัฐขอต่อรองใหม่ โดยขอคืน รมว.เกษตรฯ แลกกับเก้าอี้ รมว. อุตสาหกรรม แต่พรรคประชาธิปัตย์ไม่ยอม จึงทำให้ต่างฝ่ายต่างหาเกมมาต่อรองกัน โดยทางพรรคพลังประชารัฐต้องการล้มข้อตกลงของตนเองที่มีการแบ่งโควต้ารัฐมนตรีในส่วนของพรรคออกไปก่อนจนกว่าจะมีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีให้เสร็จสิ้นก่อน ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ ประกาศไม่ยอมลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีก่อนจะมีการแบ่งโควต้ารัฐมนตรีตามเกมพรรคพลังประชารัฐ เพราะหากลงคะแนนเลือกให้พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีก่อน อำนาจการต่อรองเรื่องเก้าอี้รัฐมนตรีของพรรคประชาธิปัตย์จะลดลงทันที  ซึ่งระหว่างที่พักการเจรจาเพื่อรอความชัดเจนกันอยู่ ทางพรรคประชาธิปัตย์ ก็เดินแผนขั้วที่ 3 ควบคู่ขึ้นมา เพื่อบีบให้พรรคพลังประชารัฐ ตกลงตามเงื่อนไขที่ได้เจรจากัน แต่ทางพรรคพลังประชารัฐกลับไม่สนใจ พร้อมเดินหน้าสู่ขอพรรคชาติไทยพัฒนาทันที โดยตกลงตอบรับตามที่พรรคชาติไทยพัฒนาเสนอคือ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ รมช.เกษตรฯ พร้อมขอให้พรรคชาติไทยพัฒนาแถลงประกาศเข้าร่วมรัฐบาลเพื่อปิดเกมไม่ให้พรรคประชาธิปัตย์ เล่นเกมขั้วที่ 3  ในขณะที่พรรคภูมิใจไทย ก็พลอยถูกหางเลขตามพรรคประชาธิปัตย์ไปด้วยเมื่อนายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรค ประกาศว่าหากเสียง ส.ส. ในสภาผู้แทนราษฎร ไม่ถึง 250 คน ทางพรรคภูมิใจไทยก็ไม่ร่วมรัฐบาลด้วย ทำให้แกนนำพลังประชารัฐไม่พอใจและหยุดความเคลื่อนไหวในการเจรจาเท่านั้นยังไม่พอ คนในพรรคพลังประชารัฐยังส่งสัญญาณว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่สบายใจที่พรรคภูมิใจไทย จะส่งนายชาดา ไทยเศรษฐ ส.ส.อุทัยธานี มาเป็น รมช. มหาดไทย จึงได้ตั้งเงื่อนไขขอคัดรัฐมนตรีเอง[6]

 

3. หลักการสำคัญ/ความสำคัญ

ขั้วที่สาม เป็นหลักการสำคัญของพรรคที่มีจำนวน ส.ส .ขนาดกลางหรือราวครึ่งร้อยที่นั่ง อย่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย ที่เดินเกมเพื่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ซึ่งเป็นที่จับตาทั้งก่อนและหลังการเปิดประชุมรัฐสภา สมัยสามัญประจำปี 2562 เนื่องจากพรรคทั้งสองยังไม่เคยประกาศท่าทีชัดเจนว่าจะจับมือกับฝ่ายใด ระหว่างขั้วที่ 1 นำโดยพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นพรรคที่มีจำนวน ส.ส. อันดับหนึ่งและพรรคแนวร่วมรวม 7 พรรคการเมืองกับขั้วที่ 1 นำโดยพรรคพลังประชารัฐซึ่งเป็นพรรคที่มีจำนวน ส.ส. อันดับสองบวกพรรคเล็ก และการสนับสนุนจากวุฒิสภาชิกที่มาจากการแต่งตั้ง เหตุผลคล้ายกันของทั้งสองพรรคที่ยังไม่แสดงท่าทีชัดเจนคือรอฟังเสียงต่างๆ ทั้งภายในพรรคและจากประชาชน  จาก'สถานการณ์การเมืองที่ผ่านจุดที่ประชาธิปไตยตกต่ำและล้มลุกคลุกคลานมานานพอแล้วตลอดระยะเวลา '5 ปีที่คณะรัฐประหารปกครองประเทศ จนถึงช่วงที่มีผู้แทนมาจากประชาชน ทำให้ผู้แทนเหล่านั้นต้องคิดและพูดกันอย่างตรงไปตรงมา หากพรรคการเมืองตั้งเงื่อนไขการร่วมรัฐบาลว่าต้องรับทุกนโยบายของพรรคตนเองไปปฏิบัติ เงื่อนไขดังกล่าวย่อมเป็นขั้นตอนการเจรจาต่อรองตามปกติทางการเมือง เพราะการเมืองเป็นเรื่องของการต่อรองผลประโยชน์ คำสัญญาหรือคำหาเสียงที่แจ้งไว้กับประชาชนจนพรรคได้รับเลือกมาเป็นเรื่องที่ต้องผลักดันให้เป็นรูปธรรม[7] แต่การเกิดขั้วที่สามในการเมืองไทย สิ่งที่ตามมาคือการต่อรองระหว่างแกนนำพรรคในการจัดตั้งรัฐบาล กับพรรคที่จะดึงมาร่วมรัฐบาล อาทิ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย และพรรคขนาดเล็กที่จะรวมตัวกัน 7 คนขึ้นไป เพื่อต่อรองตำแหน่งโควต้ารัฐมนตรี ต่อมาก็คือ ปรากฏการณ์ที่สมาชิกผู้แทนราษฎรลงมติสวนทางกับมติพรรคหรือกลุ่มที่ตนสังกัด ซึ่งเรียกว่า ส.ส. งูเห่า ตั้งแต่การโหวตเลือกประธานสภาไปจนถึงการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี
และกฎหมายสำคัญต่างๆที่จะเข้าสภา ดังนั้นการเกิดขั้วที่สามจึงหนีไม่พ้นเรื่องของผลประโยชน์ทางการเมืองของพรรคการเมืองขนาดกลางนั่นเอง

 

4.  สรุป

ขั้วที่สาม เป็นชื่อเรียกยุทธศาสตร์ทางการเมืองของพรรคที่มีจำนวน ส.ส .ขนาดกลางหรือราวครึ่งร้อยที่นั่ง อย่างพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทย ที่เดินเกมเพื่อเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้เสนอขั้วที่ 3 หากพรรคประชาธิปัตย์ จำนวน 52 เสียง และพรรคภูมิใจไทย จำนวน 51 เสียง รวมกันจะได้ ส.ส. 103 เสียง ที่สามารถไปเชื้อเชิญพรรคการเมืองต่างๆ มาร่วมรัฐบาล เพื่อเป็นทางออกของประเทศในขณะนั้นซึ่งเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญแล้วแต่พรรคขั้วที่ 1 และขั้วที่ 2 ยังจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จ แต่อย่างไรก็ตามสุดท้ายยุทธศาสตร์นี้ก็ล้ม และกลายเป็นเพียงข้ออ้างของพรรคประชาธิปัตย์และพรรคภูมิใจไทยเพื่อไว้ต่อรองตำแหน่งโควต้ารัฐมนตรีและผลประโยชน์ของพรรคตนต่อพรรคพลังประชารัฐที่เป็นแกนนำรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรเพื่อสนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
เป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562 เท่านั้นเอง

 

5. บรรณานุกรม

โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. (ม.ป.ป.). หลักรัฐศาสตร์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. น.114 – 115

ข่าวสดออนไลน์. (2562). ขั้วที่สาม : บทบรรณาธิการ,

สืบค้นจาก: https://www.khaosod.co.th/hot-topics/news_2536076 , เข้าถึงเมื่อ 10 กรกฎาคม 2563

เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง. (ม.ป.ป.). “พรรคการเมือง” สืบค้นจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title,

สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2563

ไทยรัฐออนไลน์. (2562). ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์ เสนอขั้วที่ 3 ตั้งรัฐบาล พร้อมลุยหากสังคมเอาด้วย,

สืบค้นจาก:

https://www.thairath.co.th/news/politic/1573213?fbclid=IwAR3kUtMGQQnUOSx2eZfwTzXv0XzRMJ4tyoS1iBU-sVBAQG-JbN_mfnZdBd0, เข้าถึงเมื่อ 10 กรกฎาคม 2563

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560. สืบค้นจาก

https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20171031151304.pdf, เข้าถึงเมื่อ 6 มิถุนายน 2563

พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์. (2562). ว่าด้วยพรรคเล็กๆ / พรรคจิ๋ว : โดยพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ สืบค้นจาก

https://www.matichon.co.th/columnists/news_1661960, สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2563

โพสต์ทูเดย์. (2562). ปิดเกม!!!ขั้วที่ 3 คืนชีพ, สืบค้นจาก

https://www.posttoday.com/politic/analysis/590814?fbclid=IwAR3HdX1hwNNipSd7dqb5rEW0FQtSVtDhVF4V9SU3NgJhpe5n4ZibDE8prZo, เข้าถึงเมื่อ 10 กรกฎาคม 2563

 

อ้างอิง


[1] โกวิท วงศ์สุรวัฒน์. (ม.ป.ป.). หลักรัฐศาสตร์. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. น.114 – 115

[2] เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง. (ม.ป.ป.). “พรรคการเมือง”สืบค้นจาก http://wiki.kpi.ac.th/index.php?title,

สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2563

[3] พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560. สืบค้นจาก

https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20171031151304.pdf, เข้าถึงเมื่อ 6 มิถุนายน 2563

[4] พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์. (2562). ว่าด้วยพรรคเล็กๆ / พรรคจิ๋ว : โดยพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ สืบค้นจาก

https://www.matichon.co.th/columnists/news_1661960, สืบค้นเมื่อ 8 มิถุนายน 2563

[5] ไทยรัฐออนไลน์. (2562). ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์ เสนอขั้วที่ 3 ตั้งรัฐบาล พร้อมลุยหากสังคมเอาด้วย, สืบค้นจาก:

https://www.thairath.co.th/news/politic/1573213?fbclid=IwAR3kUtMGQQnUOSx2eZfwTzXv0XzRMJ4tyoS1iBU-sVBAQG-JbN_mfnZdBd0, เข้าถึงเมื่อ 10 กรกฎาคม 2563

[6] โพสต์ทูเดย์. (2562). ปิดเกม!!!ขั้วที่ 3 คืนชีพ, สืบค้นจาก

https://www.posttoday.com/politic/analysis/590814?fbclid=IwAR3HdX1hwNNipSd7dqb5rEW0FQtSVtDhVF4V9SU3NgJhpe5n4ZibDE8prZo, เข้าถึงเมื่อ 10 กรกฎาคม 2563