พรรคฝ่ายประชาธิปไตย
ผู้เรียบเรียง
1.รองศาสตราจารย์ ดร.กตัญญู แก้วหานาม
2.ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พิมพ์ลิขิต แก้วหานาม
3.นายเด่นพงษ์ แสนคำ
4.นายเฉลิมพล แสงแก้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ ดร.สติธร ธนานิธิโชติ
1. ความนำ
ในระบบการเมืองการปกครองทั่วไป ประชาธิปไตยถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นอุดมการณ์สำคัญในโลกปัจจุบัน หลายประเทศมุ่งเน้นให้มีการสร้างจิตสำนึกของพลเมืองให้มีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ก็เพราะว่าประชาธิปไตยเป็นอุดมการณ์ที่มุ่งนำเสนอหลักการที่ปกครองโดยประชาชนและเพื่อประชาชน และเห็นความสำคัญกับทุก ๆ คนในรัฐ ด้วยเหตุนี้อุดมการณ์ประชาธิปไตยจึงถูกหยิบยกเอามาสร้างฐานอำนาจอันชอบธรรมในการสนับสนุนตนเองของกลุ่มต่าง ๆ ทางการเมืองอยู่เสมอ ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ผลการเลือกตั้งพบว่ามีพรรคการเมืองหลายพรรคที่ได้คะแนนเสียงล้นหลามและผู้สมัครหลายคนได้มีโอกาสเข้าไปเป็นผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยทั่วไปแล้วในรัฐสภาไทยจะแบ่งฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายค้านที่ทำหน้าที่ตรวจสอบซึ่งกันและกัน กล่าวคือฝ่ายค้านจะทำหน้าที่ตรวจสอบการบริหารงานของฝ่ายรัฐบาล และมีการแต่งตั้งผู้นำฝ่ายค้านโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา กระนั้นก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรไทยเป็นการทั่วไป พ.ศ. 2562 ที่ผ่านมานั้น ผลปรากฏว่าการรวมตัวกันของฝ่ายค้านที่เกิดขึ้นเรียกตนเองว่า “พรรคฝ่ายประชาธิปไตย” อันมีอุดมการณ์ชัดเจนคือการต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าและเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการลงคะแนนเสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา
2. ลักษณะของพรรคฝ่ายประชาธิปไตย
การให้คำนิยามหรือความหมายของพรรคฝ่ายประชาธิปไตยนั้น อาจพิจารณาได้จากคุณลักษณะของพรรคการเมืองนั้น ๆ ว่ามีคุณลักษณะที่เป็นประชาธิปไตยหรือไม่ ก่อนอื่นจำเป็นที่จะต้องเข้าใจก่อนว่าโดยรากศัพท์แล้วประชาธิปไตยคืออะไร คำว่า “ประชาธิปไตย” (democracy) มีรากเหง้ามาจากคำภาษากรีกว่า “demokratia” ซึ่งหมายถึง “การปกครองโดยประชาชน” (popular rules หรือ rule of the people) เมื่อกล่าวถึงระบอบการเมือง คำนี้มักหมายถึงระบอบที่ประชาชนซึ่งเป็นสมาชิกของสังคมการเมืองร่วมกันตัดสินใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสังคมส่วนรวม ทุกคนมีอำนาจการตัดสินใจที่เท่าเทียมกัน (equal power)[1] โดยเมื่อคุณลักษณะของประชาธิปไตยนั้น โดยทั่วไปไม่อาจหาคำนิยามที่ชัดเจนอย่างแม่นตรงได้ที่สุด หากแต่ประชาธิปไตยมีคุณลักษณะคือ การมีความเท่าเทียมกันทางกฎหมาย (legal equality) ความมีเสรีภาพทางการเมือง (political freedom) และมีหลักนิติธรรม (rule of law) เป็นลักษณะสำคัญ[2] หลักการเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงการที่ทุกคนมีความเสมอภาคทั้งก่อนและหลังการเข้าถึงกระบวนการทางกฎหมายอย่างเท่าเทียมกัน และเสรีภาพของพลเมืองในรัฐก็จะได้รับการปกป้องคุ้มครองจากกฎหมายสูงสุขในระบอบประชาธิปไตย นั่นคือรัฐธรรมนูญ[3] ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่ชัดเจนว่าในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยนั้นรัฐธรรมนูญที่มาจากประชาชนผ่านผู้แทนถือเป็นกฎหมายสำคัญด้วย
อย่างไรก็ตามภายใต้การปกครองของรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานั้น กฎหมายต่าง ๆ
เป็นกฎหมายที่เขียนขึ้นเองโดยรัฐบาล หาใช่กฎหมายที่มาจากอำนาจของประชาชนไม่ เพราะในยุคดังกล่าวนี้ เป็นยุคที่รูปแบบของการปกครองเป็นไปในทิศทางที่เรียกว่าเป็นระบอบเผด็จการมากกว่าประชาธิปไตย ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงแสดงถึงบทบาทสำคัญของรัฐบาลที่ใช้อำนาจในการปราบปรามแนวคิดต่าง ๆ ที่เห็นว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ[4] ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากฎหมายนี้ไม่ได้มาจากประชาชนและกระทำขึ้นมาเพื่อประชาชนโดยตรง จึงทำให้เกิดการแบ่งแยกอย่างชัดเจนหลังการเลือกตั้งว่า ฝ่ายรัฐบาลที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้าคณะรัฐบาลในฐานะนายกรัฐมนตรีนั้น เป็นการสืบทอดอำนาจการปกครองที่ไม่โปร่งใสและไม่เป็นไปตามครรลองของระบอบประชาธิปไตยอันยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง ดังนั้นฝ่ายรัฐบาลในรัฐสภาจึงไม่ใช่ฝ่ายประชาธิปไตยตามความหมายที่เข้าใจกันทั่วไป ในขณะที่ฝ่ายค้านซึ่งรวมตัวกันนั้นเรียกตัวเองว่าฝ่ายประชาธิปไตย ซึ่งมีจุดมุ่งหมายคือการต่อต้านการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นอกจากนี้คุณลักษณะสำคัญของพรรคฝ่ายประชาธิปไตยกับฝ่ายรัฐบาลนั้น ถ้ามองด้วยกรอบของนิยามคำว่าประชาธิปไตยผ่านแนวคิดทางนโยบายของทั้งสองฝ่ายอาจไม่ได้ค่อนข้างแตกต่างกัน หากแต่ถ้ามองจากอุดมการณ์ทางการเมืองจะเห็นได้ชัดเจนว่า พรรคฝ่ายประชาธิปไตยนั้นมุ่งให้ความสำคัญกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยทั้งในแง่ของเชิงหลักการและเชิงปฏิบัติ โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับประชาชนในการเป็นเจ้าของอำนาจผ่านกฎหมายที่เอื้อต่อการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลเองกลับไม่ได้สนใจในเรื่องนี้เท่าใดนัก ดังนั้นกล่าวโดยสรุปก็คือว่าพรรคฝ่ายประชาธิปไตยคือพรรคที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองที่เอื้อต่อการเป็นประชาธิปไตยและให้ความสำคัญกับประชาชน
3. พรรคฝ่ายประชาธิปไตยกับบทบาทในการเมืองไทย
การก่อตัวของพรรคฝ่ายประชาธิปไตยนั้น มีขึ้นก่อนช่วงเลือกตั้ง โดยก่อนหน้านั้นยังมิได้ปรับความเข้าใจในการทำงานร่วมกันของแต่ละพรรค แต่ทั้งนี้พรรคที่ภายหลังมาร่วมจับมือกันเป็นพรรคฝ่ายประชาธิปไตยนั้น ในก่อนหน้านี้ก็คือพรรคที่มีท่าทีที่ปฏิเสธการสืบทอดอำนาจของ คสช และต้องการสร้างความชอบธรรมให้เกิดขึ้น และดำเนินไปสู่การปกครองและปฏิรูปการเมืองไทยให้เกิดมีความเป็นประชาธิปไตยมากยิ่งขึ้น ซึ่งอย่างไรก็ตามถ้าหากนิยามตามนี้ ก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ก็มีแนวทางการดำเนินการเป็นไปทางนี้ แต่ภายหลังกลับเข้าร่วมกับรัฐบาลในการสานต่อนโยบายของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ดังนั้น ความชัดเจนของพรรคฝ่ายประชาธิปไตยจึงมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้นหลังจากที่มีการจัดตั้งรัฐบาลแล้วนั่นเอง
ดังที่ได้อธิบายไปแล้วว่าพรรคฝ่ายประชาธิปไตยคือพรรคการเมืองที่รวมกลุ่มกันและมีอุดมการณ์ร่วมกันในการต่อต้านการสืบทอดอำนาจของฝ่ายรัฐบาลที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยในวันที่ 27 มีนาคม 2563 มีรายงานว่า พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย, คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้ง, และนายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้นำทีมแกนของพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยแกนนำ 5 พรรคการเมือง ได้แก่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ และนายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการพรรคอนาคตใหม่, พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคพรรคเสรีรวมไทย, นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรค และพ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติ, นายสงคราม กิจเลิศไพโรจน์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ, และนายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทย และภายหลังก็มีการเข้าร่วมของพรรคเศรษฐกิจใหม่โดยการนำของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ หัวหน้าพรรคร่วมแถลงข่าวและลงสัตยาบันต่อต้านการสืบทอดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ[5]
พรรคฝ่ายประชาธิปไตยมีความมุ่งหมายในการทำงาน เพื่อที่จะร่วมกันส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข และผลักดันให้บ้านเมืองเดินหน้าเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง โดยพรรคร่วมฝ่ายค้านยืนยันจะทำหน้าที่การเมืองอย่างสร้างสรรค์ และมุ่งหมายผลักดันที่อยากจะให้รัฐบาลนี้ทำงานอยู่ภายใต้หลักนิติธรรม[6]
กระแสสำคัญของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้นจากเหล่าของผู้ที่ฝักไฝ่อุดมการณ์ประชาธิปไตยเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มของนักวิชาการและนิสิตนักศึกษาที่เรียกตนเองว่า “คนรุ่นใหม่” ออกมาสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ก็เพราะว่าทุกคนต่างมองว่าอุดมการณ์ทางการเมืองแบบประชาธิปไตยจะนำประเทศไทยก้าวไปสู่การสร้างความเท่าเทียมกันทางสังคมและสามารถแก้ไขปัญหาพื้นฐานทางสังคมอาทิ ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ฯลฯ ได้ การสนับสนุนโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่นี้สอดคล้องกับการสำรวจความคิดเห็นโดย “นิด้าโพล” สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ในหัวข้อ พลังคนรุ่นใหม่กับการเลือกตั้งครั้งแรก ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่ไม่เคยลงคะแนนเสียงเลือกตั้งที่มีอายุระหว่าง 18 –25 ปี โดยเกิดระหว่างปี พ.ศ.2537-2544 ชี้ให้เห็นว่าการไปลงคะแนนเสียงของคนรุ่นใหม่ในการเลือกตั้ง 2562 นี้ ร้อยละ 84.93 ระบุว่าไปแน่นอน รองลงมาร้อยละ 8.53 ระบุว่า ไม่ไปแน่นอน ส่วนร้อยละ 6.54 ระบุว่า ไม่แน่ใจ ดังนั้นจากผลการสำรวจดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่เป็นกลุ่มคนที่ให้ความสนใจในการเลือกตั้ง 2562 อยู่ในอัตราส่วนที่สูง และจากผลการสำรวจดังกล่าวยังชี้ให้เห็นพรรคการเมืองที่คนรุ่นใหม่ต้องการให้ได้คะแนนเสียงมากที่สุดและเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ร้อยละ 18.47 พรรคเพื่อไทย รองลงมาร้อยละ 13.86 พรรคอนาคตใหม่ รองลงมา ร้อยละ 10.73 พรรคประชาธิปัตย์[7] เห็นได้ชัดว่าความนิยมในพรรคการเมืองที่เป็นแกนนำของพรรคฝ่ายประชาธิปไตยมีความนิยมที่สูงที่สุดในทัศนะของคนรุ่นใหม่ที่มีการเลือกตั้งครั้งแรก กลุ่มคนเหล่านี้เกิดและเติบโตในช่วงที่เข้าถึงการศึกษาขั้นพื้นฐานและการศึกษาขั้นสูงในระดับปริญญาได้ทั่วไป ทำให้สามารถพินิจพิเคราะห์การเลือกตั้งตามแนวทางของตนเองได้ ผนวกกับการศึกษาไทยสมัยใหม่ที่มุ่งเน้นส่งเสริมคุณลักษณะทางประชาธิปไตย และสื่อการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่เปิดเสรีผ่านโลกดิจิตอล (Digital place) ทำให้การเข้าถึงข้อมูลมีมากขึ้น ด้วยเหตุนี้การส่งเสริมโลกเสรีประชาธิปไตยของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยจึงมีอิทธิพลกับกลุ่มคนรุ่นใหม่เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเสนอนโยบายที่เกี่ยวกับการสร้างความเท่าทียมทางเพศ นโยบายทางด้านการศึกษา นโยบายเศรษฐกิจ ฯลฯ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นบทบาทสำคัญที่ทำให้คนรุ่นใหม่หันมาสนใจการเมืองในระบอบประชาธิปไตย และพร้อมส่งเสริมสนัสนุนการเมืองและอุดมการณ์แบบประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้บทบาทสำคัญอีกอย่างหนึ่งของพรรคฝ่ายประชาธิปไตยก็คือการสร้างรากฐานและส่งเสริมอุดมการณ์ประชาธิปไตยในระดับจิตสำนึกได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้การสร้างความสัมพันธ์ของพรรคการเมืองกับภาคประชาชนถือเป็นหัวใจหลักสำคัญของการพัฒนาประชาธิปไตย เพราะ “กิจกรรมทางการเมืองการปกครองเป็นหน้าที่ที่ทุกคนต้องเอาใจใส่รับผิดชอบจะหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธให้พ้นความรับผิดชอบของตนหาได้ไม่” หรือ “การเมืองเป็นเรื่องของทุกคน”[8] ซึ่งพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยก็เป็นส่วนหนึ่งในการนำภาคประชาชนตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2560 นั้น ให้อำนาจกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติซึ่งต่อมาก็เป็นรัฐบาล มากกว่าให้อำนาจประชาชน ดังนั้นหน้าที่หลักของพรรคร่วมฝ่ายค้านจึงจำเป็นต้องสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับประชาชนในหลักของประชาธิปไตย และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ซึ่งจะทำการรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพร้อมยืนยันว่าที่ประชุมของคณะทำงานร่วมชุดนี้ไม่มีการครอบงำการทำงานจากพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่จะเป็นการมอบหมายบทบาทหน้าที่ให้แต่ละพรรคร่วมฝ่ายค้านหรือพรรคฝ่ายประชาธิปไตยได้มีส่วนร่วมกับภาคประชาชน เดินหน้าทำงานนอกสภาร่วมกับนักวิชาการในสาขาต่าง ๆ แก้ไขรัฐธรรมนูญ และตรวจสอบอำนาจรัฐอย่างจริงจัง[9] กล่าวได้ว่าบทบาทสำคัญของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยในยุคปัจจุบันนี้ในสังคมไทยนั้น มุ่งสร้างความเป็นประชาธิปไตยโดยการวางรากฐานผ่านจิตสำนึกของประชาชน เพื่อเปิดทางให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของพรรครัฐบาลโดยการนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งจะทำให้การเมืองไทยเดินไปในทิศทางที่ควรจะเป็นได้ในอนาคตต่อไป
4. บทสรุป
กล่าวได้ว่าบทบาทสำคัญของพรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยในยุคปัจจุบันนี้ในสังคมไทยนั้น มุ่งสร้างความเป็นประชาธิปไตยโดยการวางรากฐานผ่านจิตสำนึกของประชาชน เพื่อเปิดทางให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการทำงานของพรรครัฐบาลโดยการนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งจะทำให้การเมืองไทยเดินไปในทิศทางที่ควรจะเป็นได้ในอนาคตต่อไป นอกจากนี้พรรคการเมืองฝ่ายประชาธิปไตยที่เกิดขึ้น ยังทำให้เห็นว่าสามารถสร้างความมั่นใจและความเข้มแข็งให้กับภาคประชาชนมากกว่าในอดีต เพราะเมื่อใดก็ตามพรรคการเมืองเหล่านี้ถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม ก็จะเห็นได้ว่าประชาชนพร้อมที่จะเคลื่อนไหวทางการเมืองเพื่อคืนความเป็นธรรมให้
บรรณานุกรม
กัญจิรา วิจิตรวัชรารักษ์, “พรรคการเมือง: กับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ในการเลือกตั้ง 2562”, วารสารมหาจุฬานาครทรรศน์, 6 ฉบับที่ 3 (พฤษภาคม 2562) : 1076-1094.
เด่นพงษ์ แสนคำ, “อ้างอย่างไรก็ไม่น่ามอง: สิทธิและเสรีภาพใน ยุค คสช.” ประชาไท (1 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2019/05/82277>, สืบค้นเมื่อ สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2563
ประหยัด หงส์ทองคำ, การพัฒนาทางการเมืองโดยกระบวนการปกครองส่วนท้องถิ่น, กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด พาพาส, ม.ป.ป..
ปิยฤดี ไชยพร, “ประชาธิปไตย” สารานุกรมปรัชญาออนไลน์ (16 เมษายน 2554), เข้าถึงจาก < http://www.parst.or.th/philospedia/democracy.html>, สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2563
O’donnell, Guillermo, “Why the rule of law matters” in Assessing the quality of democracy. (eds.) Diamond, Larry and Morlino, Leonardo, Baltimore: Johns Hopkins University Press, 2005.
Dahl, Robert Alan, Ian Shapiro, and José Antônio Cheibub, The democracy sourcebook, Cambridge, Massachusetts: MIT Press, 2003.
“7 พรรคการเมือง ร่วมลงสัตยาบัน ตั้งรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย” Voice Online (27 มีนาคม 2563), เข้าถึงจาก < https://voicetv.co.th/read/SAMhUIfvA>, สืบค้นเมื่อ สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2563
“7 พรรคฝ่ายประชาธิปไตยดันแก้ไข รธน. พร้อมรับลูกภาคประชาชนเดินหน้าปลดอาวุธ คสช.” ประชาไท (24 มิถุนายน 2563), เข้าถึงจาก < https://prachatai.com/journal/2019/06/83113>, สืบค้นเมื่อ สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2563
“7 พรรคฝ่ายค้าน ประชุมมอบหมายทำหน้าที่ร่วมภาคประชาชน ตรวจสอบอำนาจรัฐ” ไทยรัฐออนไลน์ (24 มิถุนายน 2563), เข้าถึงจาก < https://www.thairath.co.th/news/politic/1598991>, สืบค้นเมื่อ สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2563
อ้างอิง
[1] ปิยฤดี ไชยพร, “ประชาธิปไตย” สารานุกรมปรัชญาออนไลน์ (16 เมษายน 2554), เข้าถึงจาก < http://www.parst.or.th/philospedia/democracy.html>, สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2563
[2] O’donnell, Guillermo, “Why the rule of law matters” inAssessing the quality of democracy. (eds.) Diamond, Larry and Morlino, Leonardo, (Baltimore: Johns Hopkins University Press, 2005), p. 3.
[3] Dahl, Robert Alan, Ian Shapiro, and José Antônio Cheibub, The democracy sourcebook, (Cambridge, Massachusetts: MIT Press, 2003)
[4] เด่นพงษ์ แสนคำ, “อ้างอย่างไรก็ไม่น่ามอง: สิทธิและเสรีภาพใน ยุค คสช.” ประชาไท (1 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงจาก <https://prachatai.com/journal/2019/05/82277>, สืบค้นเมื่อ สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2563
[5] “7 พรรคการเมือง ร่วมลงสัตยาบัน ตั้งรัฐบาลฝ่ายประชาธิปไตย” Voice Online (27 มีนาคม 2563), เข้าถึงจาก < https://voicetv.co.th/read/SAMhUIfvA>, สืบค้นเมื่อ สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2563
[6] “7 พรรคฝ่ายประชาธิปไตยดันแก้ไข รธน. พร้อมรับลูกภาคประชาชนเดินหน้าปลดอาวุธ คสช.” ประชาไท (24 มิถุนายน 2563), เข้าถึงจาก < https://prachatai.com/journal/2019/06/83113>, สืบค้นเมื่อ สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2563
[7] กัญจิรา วิจิตรวัชรารักษ์, “พรรคการเมือง: กับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่ในการเลือกตั้ง 2562”, วารสารมหาจุฬานาครทรรศน์, 6 ฉบับที่ 3 (พฤษภาคม 2562) : 1076-1094.
[8] ประหยัด หงส์ทองคำ, การพัฒนาทางการเมืองโดยกระบวนการปกครองส่วนท้องถิ่น, (กรุงเทพฯ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด พาพาส, ม.ป.ป.), หน้า 7.
[9] “7 พรรคฝ่ายค้าน ประชุมมอบหมายทำหน้าที่ร่วมภาคประชาชน ตรวจสอบอำนาจรัฐ” ไทยรัฐออนไลน์ (24 มิถุนายน 2563), เข้าถึงจาก < https://www.thairath.co.th/news/politic/1598991>, สืบค้นเมื่อ สืบค้นเมื่อ 25 พฤษภาคม 2563