ส.ส. ปัดเศษ

จาก ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า
รุ่นแก้ไขเมื่อ 16:22, 30 พฤศจิกายน 2563 โดย Apirom (คุย | ส่วนร่วม)
(ต่าง) ←รุ่นแก้ไขก่อนหน้า | รุ่นแก้ไขล่าสุด (ต่าง) | รุ่นแก้ไขถัดไป→ (ต่าง)

ผู้เรียบเรียง รองศาสตราจารย์ ดร.อรรถสิทธิ์ พานแก้ว

ผู้ทรงคุณวุฒิประจำบทความ รศ.ดร.ยุทธพร อิสรชัย


ความนำ

          แม้ว่าระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 จะมุ่งทำให้ทุกคะแนนมีความหมายไม่ถูกทิ้งให้เสียเปล่า หรือที่เรียกกันว่า “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” หรือ Mixed Member Apportionment System (MMA) ก็ตาม แต่อย่างไรก็ดี ภายหลังการประกาศผลคะแนนจาการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากเกี่ยวกับวิธีการคำนวณผลคะแนนเพื่อหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งการคำนวณผลคะแนนของ กกต. ทำให้พรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนรวมทั้งประเทศน้อยกว่าคะแนนเฉลี่ยที่พรรคการเมืองพึงมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 1 คน กลับได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ จนเป็นที่มาของคำว่า “ส.ส. ปัดเศษ”

 

กลไกใหม่ในการนับจำนวน ส.ส. และ ส.ส. ปัดเศษ

รัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 ได้สร้างระบบการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นใหม่
โดยกำหนดให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนเลือกตั้งได้หนึ่งคะแนนสำหรับการเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และยังใช้บัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว และจึงนำคะแนนจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งที่พรรคการเมืองส่งผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งมาคำนวณหา ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ด้วย ซึ่งเรียกระบบการเลือกตั้งนี้ว่า “ระบบจัดสรรปันส่วนผสม” โดยการเลือกตั้งระบบนี้มีความมุ่งหมายที่สำคัญ ดังนี้[1]

  • มุ่งทำให้ทุกคะแนนมีความหมายไม่ถูกทิ้งให้เสียเปล่า โดยทุกคะแนนที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ได้รับเลือกตั้งหรือไม่ได้รับเลือกตั้งก็ตาม จะถูกนำไปรวมเป็นคะแนนของพรรคการเมืองที่ส่งผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ
    เพื่อคำนวณหาจำนวน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้
  • มุ่งให้ความสำคัญทั้งผู้ที่พรรคการเมืองส่งลงสมัครแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง และบัญชีรายชื่อผู้ที่ถูกเสนอให้เป็นนายกรัฐมนตรีประกอบกัน
  • มุ่งให้พรรคการเมืองกำกับดูแลผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งของตน มิให้กระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง เพราะหากผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทุจริต พรรคการเมืองที่ส่งสมัครก็จะไม่ได้คะแนนเพื่อคำนวณหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อไปด้วย
  • มุ่งสร้างระบบการเลือกตั้งที่เรียบง่ายโดยใช้บัตรเลือกตั้ง ส.ส. แบบแบ่งเขตเพียงใบเดียว
    และเป็นระบบที่บริหารจัดการเลือกตั้งได้ง่ายกว่าเดิม สามารถลดจำนวนกรรมการประจำหน่วยลงได้จึงเป็นการประหยัดงบประมาณ อีกทั้งจำนวน ส.ส. ที่พรรคการเมืองได้รับจะสัมพันธ์กับจำนวนคะแนนที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งของพรรคการเมืองนั้น

อย่างไรก็ตาม ระบบการเลือกตั้งใหม่นี้แบ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คนออกเป็นสมาชิกที่มาจากเขตเลือกตั้งและบัญชีรายชื่อ โดยภายใต้ระบบนี้ ส.ส. 350 คนคือผู้ได้คะแนนสูงสุด (first-past-the-post)
จากแต่ละเขตที่มีผู้แทนได้หนึ่งคน ส่วนที่เหลืออีก 150 คนมาจากระบบสัดส่วนบัญชีรายชื่อแบบปิด
โดยจำนวนที่นั่งบัญชีรายชื่อคำนวณจากคะแนนเสียงทั่วประเทศที่แต่ละพรรคได้มาโดยใช้วิธีแบบเศษทศนิยมสูงสุด (the largest remainder method) และวิธี Hare quota ซึ่งระบบการเลือกตั้งนี้ส่งผลอย่างสำคัญ คือ[2]

  • ระบบดังกล่าวเอื้อต่อพรรคเล็กและลดทอนพรรคใหญ่ มีกระบวนการคิดคำนวณที่ยุ่งยาก เนื่องจากการจะทราบจำนวนที่นั่งแบบบัญชีรายชื่อที่แต่ละพรรคควรจะได้ก็ต้องภายหลังจากหักจำนวนที่นั่ง ส.ส. แบบแบ่งเขตที่พรรคได้เสียก่อน พรรคที่ได้ ส.ส. จากเขตเลือกตั้งจำนวนมากอาจไม่ได้ที่นั่งในระบบบัญชีรายชื่อเลย ในขณะที่พรรคที่ได้คะแนนเสียงมามากพอสมควรแต่ไม่ชนะในระบบแบ่งเขตก็อาจได้ที่นั่งในระบบบัญชีรายชื่อได้
  • การที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งสามารถกาและหย่อนบัตรเพียง “ใบเดียว” โดยเลือกได้เพียงผู้สมัครในเขตของตนและไม่มีโอกาสแสดงออกเกี่ยวกับผู้สมัครตามบัญชีรายชื่อของพรรคการเมือง
    เป็นการปิดโอกาสของประชาชนที่จะมีเสรีภาพในการเลือกพรรคหรือผู้สมัครทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ
  • ระบบใหม่นี้คะแนนของผู้สมัครที่ไม่ได้รับเลือกตั้งในระดับเขตจะไม่ ถูกทิ้งไปแต่ถูกนำไปนับรวมเพื่อคำนวณสัดส่วนที่นั่งแบบบัญชีรายชื่อในระดับประเทศ เป็นการลดทอนการให้ความสำคัญกับเสียงข้างมากในระบบผู้ได้เสียงมากที่สุดได้รับเลือกตั้ง (first-past-the-post voting)
  • การจัดสรรที่นั่งแบบบัญชีรายชื่อจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อผลการเลือกตั้งทุกหน่วยเสร็จสิ้นสมบูรณ์และน่าเชื่อถือแล้วเท่านั้น ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ของผลการเลือกตั้งของเขตหนึ่งไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งใหม่หรือเลือกตั้งซ่อม ก็จะกระทบต่อผลคะแนนทั้งประเทศและทำให้ต้องมาคำนวณสัดส่วน ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อกันใหม่

ภายใต้บัญญัติมาตรา 91 (1) และ (2) ของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 ซึ่งกำหนดวิธีการคำนวณหาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของแต่ละพรรคการเมือง โดยให้นำคะแนนรวมทั้งประเทศที่พรรคการเมืองทุกพรรคที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งหารด้วยห้าร้อยอันเป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎร หลังจากนั้นให้นำผลลัพธ์ตาม (1) ไปหารจำนวนคะแนนรวมทั้งประเทศของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ได้รับจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทุกเขต จำนวนที่ได้รับให้ถือเป็นจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมีได้ โดยการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้มีผลรวมคะแนนทั้งประเทศ จำนวน 35,561,556 คะแนน เมื่อนำคะแนนดังกล่าวมาหารด้วย 500 อันเป็นจำนวนสมาชิกทั้งหมดของสภาผู้แทนราษฎรจึงได้เท่ากับ 71,123.1120 คะแนน หลังจากนั้นนำคะแนนนี้ไปหารจำนวนคะแนนรวมของพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่ได้รับจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งทุกเขต และจำนวนที่ได้รับให้ถือเป็นจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมี[3]

ทั้งนี้ เมื่อประกอบกับมาตรา 91 (4) ของรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2560 ซึ่งระบุว่า ในการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อให้แก่พรรคการเมืองต่าง ๆ เพื่อให้ได้จำนวนรวมเท่ากับ 150 คนนั้น จะต้องไม่มีผลให้จำนวนรวมของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคการเมืองนั้น ๆ เกินกว่าจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่พรรคการเมืองนั้นจะพึงมี ดังนั้น ตรงจุดนี้เองที่นำมาสู่การถกเถียงว่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพึงมีของพรรคการเมืองหนึ่งจะเท่ากับ 1 คนหรือ 1 ที่นั่งได้ เมื่อพรรคการเมืองนั้นได้คะแนนเท่ากับ 1/500 หรือ 0.2% ของคะแนนรวมทุกพรรคทั้งประเทศ คะแนนรวมนี้เท่ากับประมาณ 35.5 ล้าน ทำให้มีขีดแบ่งขั้นต่ำโดยปริยายที่ 0.2% หรือประมาณ 7.1 หมื่นคะแนน ทำให้เข้าใจว่าพรรคการเมืองที่คะแนนน้อยกว่า 7.1 หมื่นคะแนน และไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลย จะไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในสภา[4]

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาด้วยวิธีการคำนวณตามนี้จะทำให้มีเพียง 16 พรรคการเมืองเท่านั้นที่จะมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตรงกันข้ามกับการคำนวณของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งทำให้มีพรรคการเมืองถึง 26 พรรคได้ที่นั่งในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งตามการคำนวณของ กกต. แล้ว พรรคการเมืองที่มีคะแนนรวมทั้งประเทศน้อยกว่า 71,123.1120 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนพึงมีต่อ ส.ส. 1 คน และได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคละ 1 ที่นั่ง ได้แก่ พรรคประชาภิวัฒน์ พรรคไทยศรีวิไลย์ พรรคพลังไทยรักไทย พรรคครูไทยเพื่อประชาชน พรรคประชานิยม พรรคประชาธรรมไทย พรรคประชาชนปฏิรูป พรรคพลเมืองไทย พรรคประชาธิปไตยใหม่ และพรรคพลังธรรมใหม่ ซึ่งมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าพรรคเล็กพรรคน้อยเหล่านี้ได้รับอานิสงส์ปัดเศษคะแนนเลือกตั้งจนได้ที่นั่ง[5]

ข้อวิพากษ์วิจารย์การคำนวณ ส.ส.

          ภายหลังการประกาศคะแนนเลือกตั้งจากการเลือกตั้งทั่วไป พ.ศ. 2562 ด้วยความไม่ชัดเจนของ กกต. ในเรื่องสูตรที่ใช้สำหรับการคำนวณผลคะแนน ทำให้กระบวนการดังกล่าวเกิดความล่าช้าและก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จำนวนมาก เช่น มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าในการคำนวณหาจำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคพึงมี เช่น พรรค ก. มีคะแนนเลือกตั้งรวมทั้งประเทศ 13.1 ล้านเสียง เมื่อหารกับ 59,000 เสียง จะได้ผลลัพธ์ 222.03 ดังนั้น จำนวนที่พรรค ก. พึงมี ส.ส. คือ 222 คน เศษทศนิยมของแต่ละพรรคที่เหลือให้เก็บไว้คิดหาเศษที่เหลือของจำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคพึงมี เช่น เศษที่เหลือของจำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคพึงมี มี 7 คน ให้กระจายจำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคพึงมีไปอีกพรรคละ 1 คน สำหรับ 7 พรรค ที่มีเศษทศนิยมสูงสุด 7 ลำดับแรก โดยประเด็นสำคัญมากก็คือ จะไม่มีการตัดพรรคที่มี ส.ส. พึงมี น้อยกว่า 1 ออกไปก่อน ดังนั้น กระบวนการปัดเศษอาจช่วยให้พรรคที่มีคะแนนดิบน้อยกว่า “อัตราคะแนนต่อ 1 ส.ส.” กลับได้ ส.ส. พึงมี 1 คน[6] หรือข้อสังเกตว่า ความขัดแย้งในเรื่องสูตรคำนวณคะแนน ส.ส. เกิดจากกฎหมายที่เขียนไว้ไม่ชัดเจนจนตีความได้อย่างน้อยสองแบบ ทั้งนี้ ปัญหาทางเทคนิคที่เกิดจากการปัดเศษหลายรอบ ทำให้พรรคที่ได้คะแนนแค่ 2-3 หมื่นเสียงได้ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ ขณะที่พรรคที่ไม่ได้ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่ออย่างเพื่อไทยได้คะแนนเฉลี่ยเกือบ 60,000 ต่อ ส.ส. 1 คน ซึ่งดูย้อนแย้งเพราะระบบนี้ไม่ให้ ส.ส.บัญชีรายชื่อกับเพื่อไทยเพราะบอกว่าได้เสียงน้อยเกินไป แต่มาให้กับพรรคที่ได้คะแนนไม่ถึงครึ่งของคะแนนเฉลี่ยที่ ส.ส.เพื่อไทยได้ด้วย จึงดูน่ากังขาว่ากรณีเช่นนี้นั้นขัดกับหลักการเรื่องไม่มีเสียงไหนตกน้ำหรือไม่[7] เป็นต้น

          ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่าง ๆ ทำให้ กกต. ได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยว่า
ผู้ร้องจะคำนวณหาจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 128 ได้หรือไม่ และการดำเนินการดังกล่าวชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 หรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากว่า กรณีดังกล่าวเป็นอำนาจและหน้าที่ของผู้ร้องตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2561 มาตรา 128 ซึ่งต้องกระทำหลังจากมีการประกาศผลการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตแล้ว และข้อเท็จจริงตามคำร้อง ยังไม่ปรากฎว่าผู้ร้องได้ใช้หน้าที่และอำนาจตามที่รัฐธรรมนูญและกฎหมายบัญญัติ กรณีนี้จึงยังถือไม่ได้ว่ามีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของผู้ร้องเกิดขึ้นแล้ว คำร้องนี้จึงไม่ต้องด้วยหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 วรรคหนึ่ง (2) ประกอบ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 44 ที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้พิจารณาวินิจฉัยได้[8] นอกจากนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินเองก็ยังได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 128 มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 หรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญก็ได้มีมติเอกฉันท์วินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 128 ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 91[9] อีกด้วย

          อย่างไรก็ตาม มีการคาดหมายกันว่าสูตรคำนวณ ส.ส. ที่สำนักงาน กกต. เตรียมเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ กกต. จะมี 3 วิธี ได้แก่

1) วิธีการคำนวณที่ กกต. มีอยู่ และสอดคล้องกับกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นสูตรที่คำนวณอัตราส่วน “โอเวอร์แฮง ซีท” (overhang คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรส่วนเกิน) โดยวิธีการเกลี่ยที่นั่ง ส.ส. ตามลำดับ พรรคที่มีเศษทศนิยมมากที่สุด พรรคละ 1 ที่นั่ง จนครบ 150 ที่นั่ง ซึ่งเป็นการเกลี่ยไปตามลำดับ โดยไม่ต้องคำนึงถึงคะแนนพึงมีต่อ ส.ส. 1 คน ทำให้พรรคที่อยู่ในเกณฑ์ทศนิยม ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ รวม 25 พรรค แม้มีคะแนนเลือกตั้ง ไม่ถึงคะแนนพึงมีต่อ ส.ส. 1 คน ก็ตาม

2) วิธีการคำนวณของนายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. เป็นวิธีคำนวณแบบเกลี่ยที่นั่ง
ส.ส. ตามลำดับพรรคที่มีเศษทศนิยมสูงสุด แต่ให้เฉพาะพรรคที่มีคะแนนเลือกตั้งที่ไม่ต่ำกว่าคะแนนพึงมีต่อ ส.ส. 1 คน ทำให้มีพรรคการเมืองที่ได้ที่นั่ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ เพียง 14 พรรค โดยไปเพิ่มที่นั่ง ส.ส.โอเวอร์แฮง ซีท ที่เกิน มา 1 ที่นั่ง ให้กับพรรคอนาคตใหม่ ในรอบที่ 2 เนื่องจากเป็นพรรคที่มีคะแนนส่วนต่างของจำนวนส.ส.พึงมีกับเศษทศนิยมที่สามารถเพิ่ม ส.ส. ได้

3) วิธีคำนวณของนายโคทม อารียา อดีต กกต. วิธีนี้คล้ายกับของนายสมชัย มีพรรคได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพียง 14 พรรคเช่นกัน เนื่องจากเป็นการคำนวณ เฉพาะพรรคที่มีคะแนนเลือกตั้งที่ไม่ต่ำกว่าคะแนนพึงมีต่อ ส.ส. 1 คน แต่ส่วนที่ต่างกันก็ตรงที่การคำนวณอัตราส่วนโอเวอร์แฮง ซีท นั้นคำนวณโดยการตัดเศษทศนิยมของพรรคเพื่อไทยและพรรคประชาชาติทิ้ง เนื่องจากเป็นพรรคที่คำนวณแล้วไม่ได้ที่นั่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อเพิ่ม และเพิ่มที่นั่ง ส.ส.โอเวอร์แฮง ซีท ที่เกินมา 1 ที่นั่งให้กับพรรคอนาคตใหม่[10]

จนในท้ายที่สุดแล้ว  กกต. เลือกที่จะใช้วิธีการคำนวณคะแนนแบบแรก เป็นผลให้พรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนรวมทั้งประเทศน้อยกว่า 71,123.1120 คะแนน ซึ่งเป็นคะแนนพึงมีต่อ ส.ส. 1 คน ได้รับการจัดสรรสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อพรรคละ 1 ที่นั่ง จึงเป็นที่มาของคำว่า “ส.ส. ปัดเศษ”

 

นัยสำคัญต่อการเมืองไทย

          การที่ กกต. เลือกที่จะใช้วิธีการคำนวณดังที่กล่าวมานี้ จนทำให้พรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนรวมทั้งประเทศน้อยกว่าคะแนนพึงมีต่อ ส.ส. 1 คน จนเป็นที่มาของคำว่า “ส.ส. ปัดเศษ” นั้น ได้ส่งผลให้สำคัญต่อการเมืองไทยหลายประการ อาทิ พรรคการเมืองขนาดเล็กได้เปรียบพรรคการเมืองขนาดใหญ่ในแง่ที่ว่าพรรคการเมืองขนาดใหญ่ต้องมีคะแนนเฉลี่ยอย่างน้อย ๆ 70,000 คะแนนจึงจะได้ ส.ส. 1 คน แต่พรรคการเมืองขนาดเล็กที่ได้รับการจัดสรร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อพรรคละ 1 คน ซึ่งเป็นผลมาจากสูตรการคำนวณของ กกต. นี้ ไม่จำเป็นต้องได้รับคะแนนถึง 70,000 คะแนน นอกจากนั้นแล้ว ด้วยวิธีการคำนวณแบบนี้ทำให้แนวโน้มในอนาคตอาจมีพรรคการเมืองขนาดเล็กลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นจำนวนมาก ทำให้มีลักษณะแบบที่เรียกว่า
“เบี้ยหัวแตก” กล่าวคือ จะมี ส.ส. ที่มาจากพรรคการเมืองขนาดเล็กหรือพรรคการเมืองขนาดกลาง ทำให้ไม่มีพรรคการเมืองใดสามารถคุมเสียงข้างมากเด็ดขาด นอกจากนี้ ยังทำให้ “มุ้งการเมือง” หรือ “กลุ่มการเมือง” ภายในพรรคมีความเข้มแข็งและอำนาจต่อรองมากกว่าตัวพรรคการเมืองเอง ซึ่งในแง่นี้จะทำให้สถาบันพรรคการเมืองมีความอ่อนแอ และอาจส่งผลให้รัฐบาลขาดเสถียรภาพต่อไป

 

บรรณานุกรม

Arguelles Cleve และคณะ (เขียน) เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว และพงษ์เลิศ พงษ์วนานต์ (แปล), การเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทย พ.ศ. 2562 : โอกาสที่หลุดลอยไปสำาหรับการกลับสู่ประชาธิปไตย (กรุงเทพฯ: เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี, 2562).

ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ. ข่าวที่ 7/2562, วันที่ 24 เมษายน 2562.

“ความเห็นในการคำนวณ ส.ส. วิธีคิดแบบ "โคทม" อดีต 5 เสือ กกต..” โพสต์ทูเดย์ (12 เมษายน 2562).  เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/social/think/586179>. เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2563.

“‘ธนาธร'แฉเองไล่ดูดสส.ย้ายค่ายตั้งรัฐบาล.” ข่าวสด (31 มีนาคม 2562), หน้า 1 และ 10.

“เปิด‘3 สูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์’แบบละเอียด ฉบับ‘กรธ.-โคทม-สมชัย’.” แนวหน้า (30 เมษายน 2562). เข้าถึงจาก <https://www.naewna.com/likesara/410873>. เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2563.

“เลือกตั้ง 2562 : มติเอกฉันท์ ศาลรัฐธรรมนูญชี้ พ.ร.ป. ส.ส. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ.” บีบีซีไทย (8 พฤษภาคม 2062). เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-48197015>. เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2563.

“วัดกันที่ตัวเลขจริง”. ไทยรัฐ (29 มีนาคม 2562), หน้า 3.

สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร. (2562). ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560. กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร.

“หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (ประกาศครั้งที่ 2 ข้อมูล ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2562)”. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (28 พฤษภาคม 2562). เข้าถึงจาก<https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20190528140635.pdf>. เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2563.

“อดีตอธิการบดีเอไอทีชี้อภินิหารของ'นิติคณิตบริกร'.” ไทยโพสต์ (30 มีนาคม 2562) เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/main/detail/32567?read_meta=%7B%22label%22%3A%
22articlepage_number2%22%2C%22group%22%3A%22NA%22%7D>. เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2563.

อ้างอิง

[1] ดู สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, ความมุ่งหมายและคำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 (กรุงเทพฯ: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร, 2562), หน้า 154-159.

[2] ดู Arguelles Cleve และคณะ (เขียน) เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว และพงษ์เลิศ พงษ์วนานต์ (แปล), การเลือกตั้งทั่วไปของประเทศไทย พ.ศ. 2562 : โอกาสที่หลุดลอยไปสำาหรับการกลับสู่ประชาธิปไตย (กรุงเทพฯ: เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี, 2562), หน้า 22-30.

[3] “หลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ (ประกาศครั้งที่ 2 ข้อมูล ณ วันที่ 28 พฤษภาคม 2562)”, สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (28 พฤษภาคม 2562), เข้าถึงจาก

<https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20190528140635.pdf>. เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2563.

[4] “ความเห็นในการคำนวณ ส.ส. วิธีคิดแบบ "โคทม" อดีต 5 เสือ กกต.,” โพสต์ทูเดย์ (12 เมษายน 2562),  เข้าถึงจาก <https://www.posttoday.com/social/think/586179>. เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2563.

[5] “วัดกันที่ตัวเลขจริง”, ไทยรัฐ (29 มีนาคม 2562), หน้า 3.

[6] “อดีตอธิการบดีเอไอทีชี้อภินิหารของ'นิติคณิตบริกร',” ไทยโพสต์ (30 มีนาคม 2562) เข้าถึงจาก <https://www.thaipost.net/main/detail/32567?read_meta=%7B%22label%22%3A%22articlepage_number2%22%2C%22group%22%3A%22NA%22%7D>.เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2563.

[7] “'ธนาธร'แฉเองไล่ดูดสส.ย้ายค่ายตั้งรัฐบาล,” ข่าวสด (31 มีนาคม 2562), หน้า 1 และ 10.

[8] ข่าวสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ, ข่าวที่ 7/2562, วันที่ 24 เมษายน 2562.

[9] “เลือกตั้ง 2562 : มติเอกฉันท์ ศาลรัฐธรรมนูญชี้ พ.ร.ป. ส.ส. ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ,” บีบีซีไทย (8 พฤษภาคม 2062), เข้าถึงจาก <https://www.bbc.com/thai/thailand-48197015>. เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2563.

[10] “เปิด‘3 สูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์’แบบละเอียด ฉบับ‘กรธ.-โคทม-สมชัย’,” แนวหน้า (30 เมษายน 2562), เข้าถึงจาก <https://www.naewna.com/likesara/410873>. เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2563.